2 ธ.ค. 2022 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกดดันการส่งออกหดตัวตัวครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี
เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงส่งผลต่อเนื่องมาถึงเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนออกมาผ่านตัวเลขการส่งออกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งประกาศออกมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี
📌 ภาคการผลิตและส่งออกที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบหนัก
จากข้อมูลการส่งออกล่าสุดในเดือนตุลาคมที่ประกาศออกมา -4.4% (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 20 เดือนของภาคการส่งออกไทย ซึ่งที่ผ่านมาทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองเศรษฐกิจที่สำคัญในขณะที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวจากช่วงโควิดอย่างเต็มที่
ซึ่งเมื่อพิจารณากลุ่มสินค้า 10 อันดับที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด หมวดสินค้าสำคัญที่หดตัวอย่างหนักในเดือนที่ผ่านมา คือ
  • 1.
    กลุ่มสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (-25.5 %YoY)
  • 2.
    กลุ่มเม็ดพลาสติก (-26.8% YoY)
  • 3.
    กลุ่มเคมีภัณฑ์ (-15.2 YoY)
  • 4.
    และก็ยังมี กลุ่มน้ำมันสำเร็จรูป (-26.6% YoY)
ทั้งหมดนี้มีเหตุผลสำคัญมาจาก สภาวะความไม่แน่นอนและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของโลกและคู่ค้าสำคัญของไทยหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ยูโรโซน และจีน สะท้อนผ่านออกมาผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตที่ทั้งสามเขตเศรษฐกิจประกาศออกมาต่ำกว่าระดับ 50 ที่เป็นระดับที่ชี้ว่า หดตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าด้วยกันทั้งสิ้น
ที่น่าสนใจ คือ ทิศทางของดัชนี PMI ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มปรับลดลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกันจากระดับ 51.8 ลงมาสู่ 49.9 และ 47.6 ในเดือนล่าสุด สะท้อนความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แสดงออกมาชัดเจนมากขึ้น ท่ามกลางการประกาศปลดคนงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกาหลายบริษัท
จากที่ก่อนหน้านี้เหมือนกับว่า เศรษฐกิจอเมริกาจะยังพอเติบโตไปได้ แต่เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจนกว่าจะจัดการเงินเฟ้อเด็ดขาด และเริ่มส่งผลต่อการตัดสินใจภาคเศรษฐกิจจริงมากขึ้นแล้ว
ส่วนทางยูโรโซนและจีน แม้ทิศทางของ PMI จะปรับตัวดีขึ้นมาเล็กน้อย แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 อย่างที่กล่าวไป และทั้งสองก็มีปัญหาเศรษฐกิจซึ่งยังไม่ถูกจัดการเสร็จสิ้น คือ
เรื่องปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงในยูโรโซนที่แม้จะเห็นการชะลอตัวลงมาในเดือนล่าสุดแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งเป็นแรงกดดันทั้งภาคการผลิตและภาคการบริโภคให้ชะลอตัวลงไป
ส่วนในกรณีของจีนก็ยังมีปัญหานโยบายโควิด ที่ยากจะเลือกได้ว่า การลดมาตรการลงอย่างถาวร กับการเลือกใช้นโยบายควบคุมโควิดอย่างเข้มงวดต่อไป ทางเลือกไหนเป็นทางเลือกที่ดีกว่ากัน และปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า จะคลี่คลายกันไปในทางไหน
นอกจากนี้ ในส่วนของ PMI ภาคการผลิตของไทยก็ปรับตัวลงมาเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 50 ซึ่งแสดงการขยายตัวจากเดือนก่อนหน้าได้อยู่ ซึ่งก็มีผลส่วนหนึ่งมาจากการสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง และแรงกดดันด้านราคาที่ยังสูงอยู่
📌 การใช้จ่ายภาคบริการยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย
ในส่วนของข้อมูลภาคการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนล่าสุดที่ออกมาล่าสุดในเดือนตุลาคมทั้งดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) และดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าทั้งคู่
โดยเฉพาะในส่วนของ PCI ที่เริ่มทรงตัวมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน สะท้อนว่า ภาคการบริโภคของคนในประเทศเริ่มหมดแรงในการขยายตัวต่อไป ซึ่งแม้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จะทำให้อัตราการขยายตัวภาคการบริโภคยังเป็นบวกอยู่พอสมควร
แต่ในระยะต่อไปหากการบริโภคเอกชนยังทรงตัวอยู่แบบนี้ แรงส่งจากเครื่องยนต์นี้ก็อาจจะแผ่วลงไปด้วย
อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกสำคัญที่ไม่ได้สะท้อนออกมายัง PCI โดยตรงตอนนี้ คือ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง อันที่เราจะเห็นได้จากหมวดย่อยการใช้จ่ายภาคบริการที่ยังฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งเป็นผลมาจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม มีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 1.4 ล้านคน รวมนักท่องเที่ยวทั้งปีตอนนี้ 7 ล้านคน
สัดส่วนนักท่องเที่ยวสำคัญในตอนนี้มาจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่มาเที่ยวไทยรวมกันเกือบ 3 ล้านคนในปีนี้ โดยเฉพาะชาวมาเลเซียซึ่งมาเที่ยวไทยกว่า 1.2 ล้านคน
โดยการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ส่งผลกระทบในวงกว้างไปสู่ภาคการจ้างงานที่สะท้อนออกมาจากตัวเลขผู้ประกันตนประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และยังช่วยกระจายรายได้ไปสู่ภาคบริการที่มีการจ้างงานเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งเป็นส่วนที่ครอบคลุมสัดส่วนคนจำนวนมากในไทย
ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องอาศัยโอกาสสร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยว พร้อมทั้งสร้างโครงสร้างสำหรับแหล่งรายได้จากอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มเติม ซึ่งไทยยังมีศักยภาพเป็นจุดศูนย์กลางภูมิภาคแห่งอนาคตอย่างอาเซียน
ส่วนภาคธุรกิจก็ต้องเตรียมรับมือความผันผวนและบริหารความเสี่ยงให้ดีในช่วงนี้และปรับตัวเตรียมรับโอกาสที่จะเข้ามาหลังจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่สถานการณ์ปกติอีกครั้งหนึ่ง
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา