2 ธ.ค. 2022 เวลา 16:28 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เราจะสามารถหมุนเวียนทรัพยากรบนอวกาศอย่างยั่งยืนได้อย่างไร?
โจทย์สั้น ๆ ข้อนี้เป็นหนึ่งในข้อท้าทายที่สำคัญที่สุดของการสำรวจอวกาศยุคใหม่ที่จะเป็นกุญแจนำทางที่สำคัญอย่างมากที่จะนำไปสู่การใช้ชีวิตในอวกาศ (และบนดาวเคราะห์ดวงอื่น) ในระยะยาว โดยไม่ต้องพึ่งพาทุกสิ่งทุกอย่างจากบนโลก
เหตุปัจจัยข้อนี้ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการทดลองและโครงการด้านอวกาศมากมายที่หลายคนอาจเคยได้ยินผ่านหูบ้าง ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการปลูกพืช (Veggie/Advanced Plant Habitat) หรือหมุนเวียนน้ำ (ECLSS) บนสถานีอวกาศนานาชาติ การสร้างพลังงานด้วยวิธีต่าง ๆ ไปจนถึงการสร้างออกซิเจนบนดาวอังคาร (MOXIE)
อนาคตของการปลูกพืชในอวกาศ ความมั่นคงด้านอาหารแห่งอนาคต - https://spaceth.co/plants-in-space/
นักเรียน ป.เอก จาก MIT ส่ง MOXIE ไปสังเคราะห์ออกซิเจนครั้งแรกบนดาวอังคาร - https://spaceth.co/moxie-first-run/
พลาสติกเป็นทรัพยากรที่สำคัญและถูกใช้มากที่สุดประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้นเอง ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องไขปริศนาและหาวิธีหมุนเวียนทรัพยากรประเภทนี้อย่างมีประสิทธิภาพให้ได้โดยเร็ว และหนึ่งในภารกิจที่เพิ่งถูกส่งขึ้นไปบน ISS กับ CRS-26 ก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหาความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหานี้นี่เอง
MicroPET เป็นการทดลองอัพไซเคิลพลาสติก PET (พลาสติกประเภทที่ถูกในการผลิตขวดน้ำหรือภาชนะใส่อาหารมากที่สุด) บนอวกาศ ซึ่งเริ่มจากการย่อยมันโดยใช้เอนไซม์จากจุลชีพ ก่อนใช้แบคทีเรียในการเปลี่ยนสารประกอบที่ได้ไปเป็นโมโนเมอร์ของไนลอนที่สามารถนำไปใช้ใหม่ได้ โดยการวิจัยชิ้นนี้สนใจผลกระทบของสภาวะในอวกาศ อย่างสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำหรือรังสีที่เข้มข้น ต่อสมรรถภาพของจุลชีพ ที่การศึกษาบางชิ้นในอดีตได้ชี้ให้เห็นว่าสภาวะเหล่านี้อาจเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานบางชนิด เช่นการผลิตโปรตีนบางชนิด ให้มากขึ้นกว่าบนโลกเสียอีก
การทดลองนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง SeedLabs บริษัทด้านวิทยาศาสตร์จุลินทรีย์ MIT Media Lab ห้องทดลองพลังงานหมุนเวียนแห่งชาติ (NREL) Weill Cornell Medicine มหาวิทยาลัยคอร์เนล และ Harvard Medical School มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยมีพีพี พัทน์ ภัทรนุธาพร คนไทยใน MIT Media Lab เป็นหนึ่งในนักวิจัยหลักของโครงการอีกด้วย
1
ฟังบทสัมภาณ์ของพีพีใน Spaceth.co | พัทน์ ภัทรนุธาพร: เล่าประสบการณ์วิจัยใน Zero-G ครั้งแรก กับ MIT Media Lab - https://www.facebook.com/spaceth/videos/4302548346457012/
Payload ของการทดลองที่ถูกส่งขึ้นไปบน ISS ประกอบไปด้วยกลไกอัตโนมัติต่าง ๆ สำหรับดำเนินการทดลองที่กล่าวมาข้างต้น เซนเซอร์ตรวจวัดและบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ไปจนถึงระบบการเก็บรักษาตัวอย่างสำหรับการทดลองขั้นถัดไปหลัง Payload กลับลงมายังโลก โดยทีมวิจัยเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ได้อาจนำไปสู่การพัฒนาระบบหมุนเวียนพลาสติกในระดับใหญ่ทั้งบนโลกและในอวกาศต่อไป
อ่านเพิ่มเติม MicroPET : Investigation of Biodegradation of PET Plastics in Spaceflight - https://www.media.mit.edu/projects/micropet/overview/
โฆษณา