5 ธ.ค. 2022 เวลา 01:42 • หุ้น & เศรษฐกิจ
​ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง (Repost)
3
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หรือในหลวง ร.9 และวันพ่อแห่งชาติ ผู้เขียนขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอีกวาระหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระองค์ได้พระราชทานไว้ และทรงปรารถนาให้เป็นแก่นสำคัญในการดำเนินชีวิตเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน
2
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเข้าใจผิด สับสน และสงสัยเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงอยู่มากในสังคมไทย โดยเฉพาะการตีความหมายอย่างคับแคบและตื้นเขินเกินไป วันนี้จึงขออุทิศบทความเพื่อไขข้อสงสัยและความเข้าใจผิดสำคัญ ๆ โดยสังเขปอีกครั้ง ดังต่อไปนี้ครับ
ความพอเพียง ห้ามมีมาก ห้ามใช้ของหรูหรา?
1
เป็นความเข้าใจผิดที่มักได้ยินกันบ่อย แต่ที่จริงแล้วคำว่าพอเพียงนั้น เป็นเชิงสัมพัทธ์ (relative) คือ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสถานะของแต่ละบุคคล หรือพูดง่าย ๆ ว่า เป็นการทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตนเอง มีการพัฒนา ก้าวหน้าและร่ำรวยได้ แต่ให้มีเพียงพอกับความต้องการโดยไม่ไปเบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิต
2
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีรายได้สูง มีไลฟ์สไตล์หรูหรา รับประทานอาหารที่ภัตตาคารเป็นประจำ ใส่เสื้อผ้าแบรนด์เนม แต่ยังสามารถบริหารจัดการการเงินของตนเองได้ คือมีเงินเก็บและมีหนี้แบบที่ชำระได้ไหว แบบนี้ก็ยังพอเพียงในแบบของเขา คือไม่เกินตัว
3
ดังความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของในหลวง ร.9 เมื่อปี 2544 ความว่า “...ฉันพูดเศรษฐกิจพอเพียงความหมายคือ ทำอะไรให้เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง คือทำจากรายได้ 200-300 บาท ขึ้นไปเป็นสองหมื่น สามหมื่นบาท คนชอบเอาคำพูดของฉัน เศรษฐกิจพอเพียงไปพูดกันเลอะเทอะ เศรษฐกิจพอเพียง คือทำเป็น Self-Sufficiency มันไม่ใช่ความหมายไม่ใช่แบบที่ฉันคิด
3
ที่ฉันคิดคือเป็น Self-Sufficiency of Economy เช่น ถ้าเขาต้องการดูทีวี ก็ควรให้เขามีดู ไม่ใช่ไปจำกัดเขาไม่ให้ซื้อทีวีดู เขาต้องการดูเพื่อความสนุกสนาน ในหมู่บ้านไกลๆ ที่ฉันไป เขามีทีวีดูแต่ใช้แบตเตอรี่ เขาไม่มีไฟฟ้า แต่ถ้า Sufficiency นั้น มีทีวีเขาฟุ่มเฟือย เปรียบเสมือนคนไม่มีสตางค์ไปตัดสูทใส่ และยังใส่เนคไทเวอร์ซาเช่ อันนี้ก็เกินไป...”
3
ความพอเพียงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกษตรกรโดยเฉพาะ?
2
เป็นความเข้าใจผิดอย่างมากอีกประการหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเพราะเรามักจะเห็นตัวอย่างหลัก ๆ คือ เกษตรกรที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ เช่นนำไปประยุกต์กับเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่อันที่จริงความพอเพียงเป็นหลักการที่ใช้ได้กับคนทุกอาชีพ ทุกวัย และทุกภาคส่วน
2
ในหลวง ร.9 ทรงเสนอแนะให้ใช้แนวคิดนี้เพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังถาโถมอยู่ตั้งแต่ปี 2540 เพื่อให้ประเทศเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน เพราะความพอเพียง คือ การยึดทางสายกลางและดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท ใจความสำคัญประกอบด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข โดยปัจจัยสำคัญที่เป็นแก่นแท้ของ 3 ห่วง ได้แก่
1
(1) ความพอประมาณ ไม่สุดโต่งเกินไป
(2) การมีเหตุมีผล คิดวิเคราะห์ทุกอย่างก่อนลงมือปฏิบัติ
(3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดี เพื่อไม่ให้กระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกระแสบริโภคนิยม เข้ามามีผลกระทบต่อชีวิตของเรามากเกินไป ซึ่งไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธเทคโนโลยี สิ่งที่ดีก็นำมาประยุกต์ใช้ให้ประเทศก้าวหน้า แต่ความก้าวหน้าต้องมีความสมดุล คือให้ยั่งยืนด้วย
ดังพระราชดำรัสเมื่อปี 2544 ตอนหนึ่งว่า “…ถ้าก้าวหน้าเร็วเกินไป ไปถึงขึ้นเขายังไม่ถึงยอดเขา หัวใจวาย แล้วก็หล่นจากเขา ถ้าบุคคลหล่นจากเขา ก็ไม่เป็นไร ช่างหัวเขา แต่ว่าถ้าคน ๆ เดียวขึ้นไปวิ่งบนเขา แล้วหล่นลงมา บางทีทับคนอื่น ทำให้คนอื่นต้องหล่นไปด้วย อันนี้เดือดร้อน…”
2
ส่วน 2 เงื่อนไข ได้แก่
(1) ความรู้ ที่จะนำมาสู่การตัดสินใจอย่างถูกต้อง (หากไม่มีก็หมั่นศึกษา) และ
(2) คุณธรรม คือ การรู้จักอดทนระงับความต้องการอันไม่มีประโยชน์ รู้จักแบ่งปันให้ผู้อื่นด้วย
ความพอเพียงคือการกลับไปปลูกผัก ทำไร่ไถนา ปลูกข้าวกินเอง?
2
เป็นอีกความเข้าใจผิดหนึ่ง แม้ว่าเราจะเห็นตัวอย่างของหลายคนที่ดำเนินชีวิตหวนคืนสู่วิถีธรรมชาติ แต่ต้องไม่ลืมว่าแต่ละคนมีพื้นฐาน มีต้นทุนชีวิต ความรู้ความถนัดที่แตกต่างกัน การยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การมีวิถีชีวิตในแบบดังกล่าว เพราะอาจกลับทำให้กลายเป็นชีวิตลำบาก เพราะไม่ได้มีพื้นฐานมาก่อน
2
ดังใจความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสเมื่อปี 2540 ที่ว่า “...อันนี้ขอบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป..” แต่การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ไม่ว่าเราจะดำรงชีวิตอยู่ในวิถีแบบไหน แม้แต่วิถีคนเมือง ก็สามารถทำให้เกิดการรู้ใช้ รู้กิน รู้เก็บ และทำให้เรามีชีวิตที่มีความสุข ร่ำรวยทั้งทรัพย์สินและปัญญาอย่างยั่งยืนได้ต่างหากครับ
3
ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
1
*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด*
โฆษณา