5 ธ.ค. 2022 เวลา 06:01 • ไลฟ์สไตล์
อาการดื้อ
- ถ้าเกิดกับเด็ก(ที่หมายถึงเด็กจริงๆ) เป็นอาการที่มาพร้อมภาพความปวดหัว
- แต่ถ้าเกิดขึ้นกับเด็ก(ที่ไม่ใช่เด็กล่ะก็...) บางทีก็เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน
เคยสงสัยไหมว่าทำไม?
🔷🔶จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ การดื้อเกิดจากปัจจัยที่ไม่ค่อยจะแตกต่างกัน
- ในวัยเด็ก ดื้อเป็นพัฒนาการตามวัยที่บ่งชี้ว่าเด็กกำลังเข้าสู่ช่วงวัยที่กำลังคิดได้ด้วยตัวเอง กำลังเรียนรู้ที่จะใช้เหตุผล ในการตัดสินใจ ผู้ใหญ่ก็เช่นกัน
- สิ่งที่แตกต่างระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่คือพัฒนาการทางด้านการควบคุมอารมณ์
- อาการดื้อที่เกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่จึงกลับกลายเป็นสิ่งที่น่ารัก น่าสนใจ มีเสน่ห์ ในบางสถานการณ์เพราะอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่าการแสดงออกถึงการดื้อนั้นผ่านการพิจารณามาอย่างดีแล้ว เขาหรือเธอจะสามารถควบคุมมันไม่ให้เกิดการแสดงออกต่อไปที่รุนแรงเหมือนอย่างที่เกิดกับเด็ก ไม่มีการร้องไห้งอแงทำลายข้าวของ
🔷🔶แล้วเสน่ห์ที่ว่ามันคืออะไรกันล่ะ?
1. จุดเริ่มต้นมาจากพัฒนาการของผู้ใหญ่ในเรื่องของการควบคุมตนเอง
ซึ่งพัฒนาการนั้นบางครั้งก็ทำให้ความเป็นผู้ใหญ่เกิดขึ้นพร้อมกับการสูญเสียความเป็นตัวเองหรืออาจจะถึงขั้นเสแสร้ง ไม่แสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา พอถึงครั้งที่ผู้ใหญ่แสดงอาการดื้อ สิ่งนี้แหละที่จะทำให้เกิดความรู้สึกในทางตรงข้าม
---> อาการดื้อในวัยผู้ใหญ่กลับกลายเป็นการแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ความจริงใจ ความมั่นคงทางความคิดและหรือการตัดสินใจในเส้นทางที่เลือก แล้วกลับกลายเป็นเสน่ห์ในที่สุด (แต่ไม่ใช่ในทุกสถานการณ์)
2. ต่อมาคือความรู้สึกคาดการณ์ไม่ได้
- คนอื่นทำอย่างโน้นแต่เธอทำอย่างนี้
- ฉันพูดไปอย่างนี้แต่เธอดื้อทำอีกอย่าง
-> เกิดความรู้สึกท้าทาย ได้ลุ้น เกิดสภาวะความรู้สึกใกล้เคียงกับการเจอเรื่องไม่คาดฝัน เรื่อง Surprise ต่างๆ (แต่ต้องไม่ข้ามเส้นความปลอดภัย เช่น ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า ฉันรู้สึกว่าตอนนี้ความเร็วรถมันมากเกินไป แล้วอีกฝ่ายหนึ่งยังคงดื้อหรือรับมือด้วยความรู้สึกท้าทาย ใช้ความเร็วในการขับขี่มากขึ้นไปอีก แบบนี้ก็อาจข้ามเส้นความปลอดภัยไปอยู่ในจุดที่เป็นอันตราย)
3. ความกล้า
สิ่งขับเคลื่อนหลักในชีวิตเราคือความกลัว เราใช้เวลาในแต่ละวันติดตามข่าวหรือเล่น social media นานๆเพราะกลัวตกข่าว เราทุ่มเทกับการประกอบอาชีพทำงานเก็บเงินเพราะกลัววันหนึ่งไม่มีเงินซื้อปัจจัยสี่หรือชีวิตที่สุขสบาย
สิ่งที่เอาชนะความกลัวหรือท้าทายความกลัวได้คือความกล้า และความกล้าในการแสดงความต้องการของตัวเองในข้อ 1 และความกล้าในการเผชิญสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันในข้อ 2 ก็ได้สะท้อนมาในอาการดื้อที่เกิดขึ้น
🔷🔶"ไม่มีอะไรดีโดยแท้หรือแย่อย่างถาวร"
ทุกอย่างอยู่ที่การปรับตัว ปรับใช้ให้เหมาะสม
- เด็กดื้ออาจจะดูน่ารัก
- แต่ถ้าการแสดงออกนั้นเลยจุดของความไม่น่ารักไปแล้วล่ะต้องทำอย่างไร?
สำหรับเด็ก การรับมือเด็กดื้อมีพื้นฐาน 3 ขั้นตอน คือ
1. ผู้ใหญ่(กว่า)หรือผู้เลี้ยงดู ต้องสงบสติอารมณ์ตัวเองเสียก่อน
2. สงบสติอารมณ์อีกฝ่าย ด้วยการสบตาแล้วสะท้อนระดับของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยน้ำเสียงโทนนิ่ง
3. สำหรับเด็กที่เบื้องหลังพฤติกรรมดื้อเกิดจากการทดสอบกรอบที่ผู้ใหญ่วางไว้ว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้มากแค่ไหน ผู้ใหญ่ต้องเพิกเฉยไม่กระทำแม้กระทั่งในข้อ 2 คือการพูดซ้ำ หากเด็กร่ำไห้ก็ต้องอดทนเพิกเฉย
สำหรับผู้ใหญ่ การรับมือกับเด็กดื้อ(ในวัยผู้ใหญ่) ก็อาจใช้ขั้นตอน 3 อย่างข้างต้นได้ แต่มีความละเอียดอ่อนที่ต้องปรับใช้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคล ตามพื้นฐานพัฒนาการทางอารมณ์ และความสามารถในการคิด วิเคราะห์ ด้วยหลักการเหตุผลที่ซับซ้อนมากกว่าเด็ก
🔷🔶ทั้งนี้ทั้งนั้นโดยส่วนตัวรู้สึกว่า "คำว่าดื้อมีวาระซ่อนเร้นอยู่"
+ มันเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของคนขั้นต่ำ 2คนขึ้นไป ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีความคาดหวังให้อีกฝ่ายทำอะไรตามที่คิด
- อยากให้ลูกเชื่อฟัง ทำตามกรอบที่พ่อแม่วางไว้
- อยากให้อีกฝ่ายขับรถด้วยความปลอดภัย และหรือเคารพกฎจราจร
+ การกระทำที่ไม่มีความคาดหวังร่วมด้วย ภาษาพูดที่ใช้ก็จะเป็นไปอีกอย่าง เช่น
- เป็นตัวของตัวเอง
- เอาแต่ใจตัวเอง
- มีความหนักแน่น
- จริงใจ
- เป็นต้น
โฆษณา