6 ธ.ค. 2022 เวลา 10:59 • อาหาร
อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage: F&B) จึงเป็นตลาดการแข่งขันของทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดใหญ่ทำให้มักเกิดความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ถึงแม้ว่าวิกฤติโควิดจะทำให้อุตสาหกรรมนี้มีอัตราการเติบโตเมื่อปี ค.ศ. 2020 เพียง 2.9% แต่ก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจหลังโควิดของตลาดอาหารและเครื่องดื่มจะเติบโตขึ้นถึง 7% ทั่วโลกในปี ค.ศ. 2021 จนมูลค่าตลาดพุ่งทะยานถึง 7.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2023 สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทยมีมูลค่า 1.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2020 และคาดการณ์ว่าจะเติบโตในอัตรา 14.5% ระหว่างปี ค.ศ. 2020 - 2025 จนมีมูลค่า 2.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2025
เมื่อพิจารณาโอกาสการเติบโตทางธุรกิจและเทรนด์ความนิยมของผู้บริโภคซึ่งหันมาใส่ใจสุขภาพและความสะดวกสบายมากขึ้น มีความเป็นไปได้ว่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มจะเติบโตไปพร้อมกับ 3 เทรนด์ซึ่งมีความสอดคล้องกัน ดังต่อไปนี้
1. อาหารจากธรรมชาติเพื่อสุขภาพแต่มีรสชาติที่ดี (Healthy, natural, tasty) เช่น โปรตีน วิตามิน ธัญพืช อาหารที่ปราศจากสารกลูเต็น อาหารที่ไม่ได้มาจากพืชหรือสัตว์ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม (non-Genetically Modified Organisms: non-GMO) เป็นต้น มีการประเมินว่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพและสุขภาวะที่ดีมีมูลค่าในปี ค.ศ. 2021 ถึง 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. อาหารทางเลือกซึ่งมาจากพืช (Plant-based alternatives) เช่น อาหารที่ไม่ใส่สารกันบูด พืชที่ถูกปลูกโดยไม่ให้ยาปฏิชีวนะ (raised without antibiotics: RWA) เป็นต้น มีการคาดการณ์ว่าตลาดอาหารที่มาจากพืชจะมูลค่าในปี ค.ศ. 2027 ถึง 7.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
3. อาหารที่มีการกำหนดสัดส่วนโภชนาการและช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิต (Portioned and convenient) เช่น อาหารสำหรับรับประทานมื้อเดียว อาหารแช่แข็ง สารอาหารอัดแท่ง หรือบริการจัดส่งอาหาร เป็นต้น มีการศึกษาพบว่าตลาดอาหารเพื่อความสะดวกสบายมีมูลค่าตลาดในปี ค.ศ. 2020 อยู่ที่ 5.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
1
จากการศึกษาเทรนด์ธุรกิจอาหารโดย Baramizi Lab พบว่าอุตสาหกรรมอาหารสามารถเติบโตไปได้อีกในหลายรูปแบบโดยอ้างอิงจาก 3 เทรนด์ดังกล่าว ทั้งในทิศทางของผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อาหารและขนมขบเคี้ยวเพื่อปรับอารมณ์และสารสื่อประสาท อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
ในทิศทางของการบริการ เช่น บริการวิเคราะห์และวางแผนจัดการโภชนาการเฉพาะบุคคล (Personalized Nutrition) ตามความต่างของพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และความต้องการของผู้บริโภค มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดดังกล่าวจะเติบโตจนถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2025 เป็นต้น
และในทิศทางของการบริหารจัดการ เช่น การจัดสรรพื้นที่ครัวสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกัน (Co-Cooking Kitchen) โมเดลธุรกิจแบบครัวผี (Cloud / Ghost Kitchen) หรือครัวเช่าสำหรับธุรกิจร้านอาหาร เศรษฐกิจการท่องเที่ยวสายกิน (Gastronomy Tourism) ซึ่งคาดว่าจะเติบโตจนถึง 1.79 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2027 ไปจนถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาขยะอาหารเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งพบว่าปัจจุบันมีอาหารกว่า 33 - 50% ที่ต้องกลายเป็นขยะ โดยส่วนใหญ่มักถูกกำจัดด้วยวิธีฝังกลบซึ่งได้ผลพลอยได้เป็นก๊าซมีเทนที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกันกลับมีคนเกือบ 8 ร้อยล้านคนทั่วโลกกำลังเผชิญกับความหิวโหยเพราะไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการได้
ด้วยเทรนด์ความนิยมของอาหารและความตื่นตัวของผู้บริโภคเหล่านี้เอง อาจนำไปสู่นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความอดอยาก ขยะอาหาร ไปจนถึงสวัสดิภาพสัตว์ เช่น โปรตีนทางเลือกที่ไม่ได้ผลิตจากเนื้อสัตว์ (Planted-Based meat) การใช้เทคโนโลยีภาพพิมพ์สามมิติเพื่อใช้ผลิตอาหาร การคิดค้นน้ำมันประกอบอาหารชีวภาพรูปแบบใหม่หรือกระบวนการประกอบอาหารอื่น ๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะจากครัวเรือน เป็นต้น
นอกจากนี้ก็อาจเป็นต้นทางที่นำไปสู่โมเดลธุรกิจโภชนาการแบบใหม่ ๆ เช่น โมเดลธุรกิจแบบการสมัครสมาชิก (Subscription Model) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถกำหนดรับสินค้าและบริการตามรอบระยะเวลาที่เลือก ควบคุมปริมาณอาหารและโภชนาการได้ ทั้งยังเป็นการควบคุมกระแสเงินระหว่างต้นทุนผู้ผลิตและค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นต้น
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- แอปพลิเคชันครบจบที่เดียว (one-stop-service super application) สำหรับการกำหนดตารางชีวิตเฉพาะบุคคลจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของคนเมือง เช่น การกำหนดรายการอาหารและคุณค่าทางโภชนาการต่อมื้อตนคนต่อวันล่วงหน้า ยา วิตามิน และอาหารเสริมที่ต้องมีการสั่งซื้อและจัดส่งเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์และของใช้ภายในบ้านในลักษณะการสมัครเป็นสมาชิก (Subscription Model) เป็นต้น เพื่อควบคุมรายรับรายจ่ายและความสะดวกสบาย
- การรับประทานอาหารอาจถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มตามรูปแบบการใช้ชีวิต ซึ่งจะเป็นข้อท้าทายของผู้รังสรรค์เมนูและส่วนงานการบริการ กับการรับประทานอาหารเพื่อประทังชีวิตและความรวดเร็ว เช่น แคปซูลสารอาหาร เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการแข่งขันของส่วนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์
- การก้าวเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สและ Internet of Senses จะทำให้ผู้คนสามารถรับรู้รสชาติอาหารผ่านประสบการณ์เสมือนจริงซึ่งอาจเข้ามาเปลี่ยนค่านิยมการให้ความสำคัญของรูปลักษณ์และการจัดจานของอาหารไปเหลือเพียงของแข็งและของเหลวที่มีรสชาติและให้ผิวสัมผัสคล้ายกับอาหารเดิม
อ้างอิงจาก
- Future Food Business Trend 2022 ชุดข้อมูลเทรนด์ด้านอาหารแห่งอนาคตสำหรับภาคธุรกิจประจำปี 2022 (2022)
- Food for all: designing sustainable and secure future seafood systems (2022) https://link.springer.com/article/10.1007/s11160-021-09663-x
- A meta-analysis of projected global food demand and population at risk of hunger for the period 2010–2050 (2021) https://www.nature.com/articles/s43016-021-00322-9
- Microbes: Food for the Future (2021) https://doi.org/10.3390/foods10050971
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ https://www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofLiving #Food #MQDC
โฆษณา