27 ธ.ค. 2022 เวลา 05:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
เงินที่ถูกสร้างง่าย (Easy money)
[ตอนที่ 3 : Basic Bitcoin the series]
ตอนที่แล้วผมเล่าถึงคุณสมบัติ 3 อย่างของสิ่งที่ถูกใช้เป็นเงิน และได้ยกตัวอย่างเงินตั้งแต่อดีตมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน ผมขอยกมาจากเนื้อหาตอนที่แล้วให้ดูอีกครั้ง
- หินราย (Rai stone) แห่งหมู่เกาะแยป (Yap)
- เปลือกหอย
- ลูกปัด
- วัว
- ข้าวเปลือกข้าวสาร เกลือ
- ทองคำ
สินค้าถูกผลิตได้ด้วยกระบวนการทางธรรมชาติหรือมนุษย์สร้างขึ้น สินค้าที่ใช้เป็นเงินก็เป็นสินค้าที่ถูกผลิตขึ้นมาได้เช่นกัน ผมแนะนำว่าเวลาอ่านบทความนี้ต้องจินตนาการย้อนหลังไปในอดีตในยุคของคนสมัยก่อนเลยนะครับ ในช่วงที่ยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยเท่ากับทุกวันนี้
ตอนนี้ผมจะเล่าถึงเงินที่ถูกสร้างง่ายก่อน เพื่อให้เกิดไอเดียว่าเงินที่ถูกสร้างง่าย มันเป็นยังไง มันส่งผลกระทบอะไรต่อเศรษฐกิจและสังคม
หินรายแห่งหมู่เกาะแยป (Rai stone of Yap island)
หินราย เป็นหินปูนเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ มีขนาดรูปร่างที่แตกต่างกัน กระจายอยู่บนหมู่เกาะแยป ซึ่งเป็นหมู่เกาะหนึ่งในรัฐไมโครนีเซีย (Federal state of Micronesia) อยู่ในทะเลแปซิฟิก ใกล้ๆฟิลิปปินส์และปาปัวนิวกินี
Yap island (Image from Google earth)
ในอดีตชาวพื้นเมืองค้าขายกัน ใช้หินรายเป็นเงิน หินแต่ละขนาดมีมูลค่าไม่เท่ากัน หินขนาดใหญ่มีมูลค่ามากที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านก็มี แต่ระบบการบริหารจัดการบัญชีของชาวบ้านก็น่าทึ่ง เพราะมีการเป็นประจักษ์พยานรู้กันโดยทั่วว่าหินรายก้อนใหญ่เป็นของใคร มีการเปลี่ยนมือเป็นของใคร
กลไกตลาดอยู่ในจุดสมดุลตามที่ควรจะเป็น จนกระทั่งกัปตันเดวิด โอ คีฟ (David O' Keefe) นักเดินเรือชาวตะวันตกมาถึงหมู่เกาะแยปในปี 1876 เริ่มทำการค้าขายกันชาวพื้นเมือง เมื่อกัปตันรู้ถึงหินราย ไอ้หินปูนตามธรรมชาติเนี่ยนะถูกใช้เป็นเงิน
ด้วยวิทยาการความรู้ของชาวตะวันตกที่รู้แหล่งในการผลิตหินปูนปริมาณมากด้วยต้นทุนราคาถูก ทำให้เกิดการผลิตหินปูนขึ้นมามากมาย ขนขึ้นเรือมาขึ้นเกาะแยป ทำให้ปริมาณเงินในระบบล้น เกิดเงินเฟ้อ สินค้าปรับราคาขึ้นตามกลไกตลาดที่ถูกแทรกแซง สุดท้ายกลไกตลาดก็พังในที่สุด หินรายหมดคุณค่าในการเป็นเงิน
หินรายขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
สรุปเรื่องราวหินราย
สมัยแรก เป็นเงินที่ถูกสร้างยาก เพราะเป็นหินปูนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีจำนวนจำกัดผลิตเพิ่มไม่ได้หรือผลิตเพิ่มได้ยาก (แปลว่า supply มีจำกัด) … เมื่อเรามองบริบทของชาวพื้นเมืองที่ยังไม่มีชาวตะวันตกมาถึงนะครับ
แต่เมื่อชาวตะวันตกมาถึง หินรายกลับกลายเป็นเงินที่ถูกผลิตง่ายขึ้นมาทันที
เปลือกหอย
ดินแดนทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา สาธารณรัฐคองโกในปัจจุบันในช่วงปี 1900 เปลือกหอยชนิด Olivella nana ถูกใช้เป็นเงินในการค้าขายแลกเปลี่ยน
หอยมีวงจรชีวิตการขยายพันธุ์ที่ถูกกำหนดตามธรรมชาติ เมื่อหอยตายก็จะเหลือเปลือก โดนน้ำทะเลพัดขึ้นฝั่ง (แปลว่า supply มีจำกัด อาจจะผลิตเพิ่มได้แต่ถูกธรรมชาติกำหนดจำนวนที่แน่นอนไว้แล้ว) ชาวท้องถิ่นเห็นว่ามีความสวยงามคงทน ให้ค่าใช้เป็นเงินในการค้าขาย เวลาผ่านไปเปลือกหอยก็ถูกใช้เป็นเงินในวงกว้างขึ้นในทวีปแอฟริกา
กลไกตลาดอยู่ในจุดสมดุลตามที่ควรจะเป็น จนกระทั่งเกิดการค้าแรงงานทาสกับชาวตะวันตก เมื่อชาวตะวันตกมาถึง รู้ว่าไอ้เปลือกหอยเนี่ยนะใช้เป็นเงิน ด้วยวิทยาการการเดินเรือและการประมง ชาวตะวันตกสามารถบรรทุกเปลือกหอยจำนวนมากขึ้นฝั่งแอฟริกา ทำให้ปริมาณเงินในระบบล้น เกิดเงินเฟ้อ สินค้าปรับราคาขึ้นตามกลไกตลาดที่ถูกแทรกแซง สุดท้ายกลไกตลาดก็พังในที่สุด เปลือกหอยหมดคุณค่าในการเป็นเงิน จุดจบเหมือนหินราย
เปลือกหอย Olivella nana
แล้วเงินที่ถูกสร้างง่ายมันส่งผลอะไรต่อสังคม?
เมื่อกลไกตลาดอยู่ในจุดสมดุล เงินสามารถคงคุณบัติทั้ง 3 ข้อไว้ได้ด้วยตัวมันเอง โดยเฉพาะข้อแรกคือแหล่งเก็บมูลค่า (Store of value) ถ้าผมยกตัวอย่างว่าในหมู่เกาะแยปใช้หินรายเป็นเงิน ปริมาณเงินทั้งหมด (total supply) มี 1,000,000 หิน ชาวพื้นเมืองที่มีหินในครอบครอง
- 1,000 หิน เท่ากับเขามีความมั่งคั่ง 1,000 หิน ใน 1,000,000 หิน
- 10,000 หิน เท่ากับเขามีความมั่งคั่ง 10,000 หิน ใน 1,000,000 หิน
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ชาวพื้นเมืองสามารถส่งต่อเงินออมที่มูลค่าคงที่ไม่ด้อยค่าไปตามกาลเวลาให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลานได้
แต่เมื่อหินรายถูกผลิตขึ้นโดยชาวต่างชาติ อัดฉีดเข้าสู่ระบบ
สมมุติว่ารวมแล้ว total supply หลายเป็น 10,000,000 หิน
ความมั่งคั่งของชาวพื้นเมืองหายไปถึง 10 เท่า จะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อดำรงชีวิตให้ได้อย่างเดิม ก็ต้องใช้เงินมากขึ้น ข้าวของแพงขึ้น จนในที่สุดระบบเศรษฐกิจก็พังในที่สุด ผู้คนยากจน จำเป็นต้องขายทรัพย์สินขายบ้านเพื่อเอาตัวรอด จนแล้วจนรอดชาวต่างชาติก็เข้าซื้อที่ดิน ซื้อบ้านของชาวพื้นเมืองจนหมด ขาวพื้นเมืองเดิมที่เป็นเจ้าของบ้านเจ้าของที่ดิน ก็ต้องกลายเป็นเช่าบ้านเช่าที่ดินชาวต่างชาติแทน
เราอาจจะพูดได้ว่า การผลิตเงินเพิ่ม อัดฉีดเข้าสู่ระบบ เป็นการปล้นความมั่งคั่งออกจากมือประชาชน ก็ไม่น่าผิด
เมื่อเงินผลิตง่าย ผู้คนจะทุ่มเทเวลาไปผลิตสินค้าที่ใช้เป็นเงิน (ถ้าพูดให้หยาบกว่านั้นคือ"ผลิตเงิน") เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตนเอง เป็นการทำลายตลาด
ก็แน่นอนครับในเมื่อการทำงานแลกเงินมันยาก แต่การผลิตเงินมันง่าย ใครจะอยากทำงาน ใครที่มีสายป่านยาวกว่าผลิตเงินได้มากกว่า มันก็เป็นการถ่ายโอนความมั่งคั่งของชุมชนไปกระจุกอยู่ในคนไม่กี่คน
ลองนึกภาพคนในทวีปแอฟริกาไม่ทำอะไรเลย วันๆตั้งหน้าตั้งตาเก็บเปลือกหอย อย่างเดียว สภาพสังคมและกลไกตลาดจะเปลี่ยนไปอย่างไร
พฤติกรรมของมนุษย์อย่างนี้ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเซเปียนส์มาก่อนก็จะนึกภาพตามออกว่ามันฝังอยู่ในยีนส์ของมนุษย์อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พึ่งเกิดขึ้น
ผมอยากฝากให้ทุกท่านเอาไปคิดเล่นๆครับว่า เงินดอลล่าสหรัฐที่พิมพ์อัดฉีด (QE) กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤต COVID19 ในช่วงปี 2019 - 2022 จะเรียกว่ามันเป็นเงินที่ถูกผลิตง่ายได้หรือไม่?
ตอนต่อไปผมจะเล่าถึงเงินที่ถูกผลิตได้ยาก เดี๋ยวเรามาดูกันครับว่าความคงทน ความแข็งแกร่งของมัน ส่งผลต่อเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร
ไว้พบกันตอนหน้า
สวัสดีครับ
แหล่งข้อมูล (Reference)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา