25 ธ.ค. 2022 เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ถ้าใครได้เคยเข้าไปคุยกับ ChatGPT น่าจะทึ่งไปกับความฉลาดในการตอบคำถามและทำงานของปัญญาประดิษฐ์ที่พึ่งถูกปล่อยออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ จนกลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก มีผู้ใช้งานมากกว่า 1 ล้านคนภายในไม่ถึงสัปดาห์ ส่วนใครยังไม่ได้ลองใช้งาน AI สุดอัจฉริยะหรือยังไม่รู้จัก ChatGPT ลองมาทำความรู้จักแชตบอทตัวนี้ ที่สามารถตอบคำถามทั่วไป สอนเขียนเว็บไซต์ รวมไปถึงยกระดับการให้บริการในอุตสาหกรรมการเงินด้วย
4
ChatGPT เป็นแชตบอทที่พัฒนาขึ้นและปล่อยให้ทดลองใช้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยบริษัทวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ชื่อว่า OpenAI ซึ่งออกแบบ ChatGPT ขึ้นมาเพื่อให้พูดคุยกับมนุษย์ด้วยโมเดลภาษาแบบใหม่ ที่มีรูปแบบการสนทนาโต้ตอบที่ไหลลื่นกว่าแชตบอทที่มีในท้องตลาด และด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทำให้ AI ตัวนี้ ดูเหมือนจะตอบได้เกือบทุกคำถาม
1
จน พอล บัคไฮท์ (Paul Buchheit) อดีตวิศวกรคอมพิวเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง Gmail กล่าวว่า อาจมาล้มบัลลังก์ Search Engine อย่าง Google เพราะการตอบคำถามของ ChatGPT จะเฉพาะเจาะจง เรียบเรียงมาอย่างสมบูรณ์ มีความต่อเนื่องในการตอบคำถาม ทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจได้ทันที ต่างจาก Google ที่จะประมวลคำตอบมาให้ผ่านลิงก์มากมายหลายร้อยลิงก์และผู้ใช้ต้องเข้าไปดูข้อมูลเพื่อประมวลคำตอบที่ต้องการเอาเอง
1
นอกจากจะตอบคำถามได้แล้ว ChatGPT ยังสามารถเขียนกวี, แต่งนิทาน, เขียนบทความ หรือแม้แต่เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยทีมผู้สร้างกล่าวว่า ChatGPT เทรนขึ้นมาด้วยวิธี Reinforcement Learning from Human Feedback (RLHF) ที่ให้มนุษย์มีส่วนช่วยป้อนข้อมูลสอน AI.
จากนั้นก็นำคำตอบมาผ่านการจัดลำดับคุณภาพ เพื่อให้ได้โมเดลคำตอบที่ดีที่สุด แต่ทาง OpenAI ก็ไม่ได้ระบุถึงแหล่งข้อมูลที่นำมาเทรนอย่างชัดเจน เพียงแต่บอกกว้าง ๆ ว่า มาจากเว็บไซต์ทั่วไปอย่าง Wikipedia (ซึ่งกลายเป็นประเด็นต่อไปว่า ข้อมูลที่ ChatGPT นำมาใช้นั้น ถูกต้องมากแค่ไหน)
#ปัญญาประดิษฐ์กับอุตสาหกรรมการเงิน
1
การนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้งานในอุตสาหกรรมการเงินถูกพูดถึงกันมาสักพักแล้ว เพราะการเงินหรือการธนาคารนั้นมีการเก็บข้อมูลมหาศาลเพื่อใช้กำหนดทิศทางหรือคาดเดาเศรษฐกิจ หากได้ AI ที่มีประสิทธิภาพมาวิเคราะห์ เชื่อว่าน่าจะมีความแม่นยำมากขึ้น และการมาถึงของ ChatGPT ที่มีการยกระดับการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี และการนำ AI เข้ามาช่วยในเรื่องการเงินนั้น น่าจะมีส่วนช่วยทั้งในภาพใหญ่อย่าง ระบบธนาคาร, สถาบันการเงิน, การลงทุน รวมถึงหน่วยย่อยอย่างการเงินส่วนบุคคลด้วย
#AI กับสถาบันการเงิน
1
ระบบ AI ของธนาคารต่าง ๆ ที่คอยตอบคำถามในแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของธนาคารในตอนนี้นั้น มักจะไม่ค่อยเข้าใจคำถามลูกค้าใช้ประโยคคำถามที่ไม่มีในฐานข้อมูล หรือไม่ตรงตามแบบที่กำหนดเอาไว้ แต่หากเป็นระบบสนทนาของ ChatGPT จะสามารถช่วยอธิบายหรือโต้ตอบให้ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
นำมาซึ่งความยืดหยุ่นในการใช้งาน เช่นตอบคำถามที่พบบ่อย อธิบายรายละเอียดผลิตภัณฑ์ รวมถึงสามารถออกแบบแผนการออม การลงทุน และการให้บริการอื่น ๆ ตามความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พนักงานมีเวลาในการให้บริการในเรื่องจำเป็นอื่น ๆ ได้มากยิ่งขึ้น (แต่จะมีปัญหาเรื่องการแย่งงานบางส่วนของมนุษย์ทำ)
1
ในการทำงานระดับบริหารหรือการวางกลยุทธ์ AI สามารถประมวลข้อมูลที่มีได้อย่างรวดเร็ว ช่วยวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ของสถานการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ปรับแต่งและพัฒนาแนวคิด ปรับเปลี่ยนแบบแผนธุรกิจของธนาคารให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยควบคุมต้นทุน ลดจำนวนพนักงานที่ต้องคอยให้บริการลูกค้าเพราะ AI สามารถส่งมอบข้อมูลพื้นฐานและมอบประสบการณ์ในการมาใช้บริการได้ตามความคาดหวังของลูกค้า
#AI กับการเงินส่วนบุคคล
คงเป็นเรื่องดีหากมีผู้ช่วย AI มาคอยช่วยเหลือ นึกถึง Javis ในภาพยนตร์ Iron Man ที่คอยตอบคำถาม ให้ข้อมูลและจัดการเรื่องต่าง ๆ ให้ตัวเอก นึกภาพการใช้งาน AI โดยใส่ข้อมูล รายรับ รายจ่าย ปัจจัยอื่น ๆ แล้วทำวิเคราะห์เพื่อวางแผนการให้ได้ตามความต้องการ ทั้งการออม การลงทุน ความเสี่ยงจากปัจจัยแวดล้อม ป้องกันการตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงอย่างกรณี Forex-3D ช่วยกำหนดเป้าหมาย แจ้งเตือนเมื่อผลที่ได้ต่ำกว่าคาดการ หรือชื่นชมเมื่อทำได้ตามเป้าหมาย
ช่วยวางแผนการใช้จ่ายในแต่ละวัน แนะนำแหล่งวัตถุดิบ ทั้งอาหาร ข้าวของเครื่องใช้จากที่ต่าง ๆ ตามงบประมาณที่มี ค้นข้อมูลสถาบันการเงินที่มีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับแผนการ รวมถึงสามารถตั้งโปรแกรมการซื้อขายทรัพย์สิน หุ้น เมื่อได้ข้อเสนอที่กำหนด เพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกรรมการเงินต่าง ๆ เป็นต้น
แต่กว่าจะมีปัญญาประดิษฐ์ที่ทำงานให้ได้ตามที่กล่าวมา คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพราะ AI ยังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งต้องป้อนข้อมูลและพัฒนาอีกมาก ห่างไกลคำว่าสมบูรณ์ รวมถึงการทำงานที่ทรงประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องใช้ระบบประมวลผลที่ซับซ้อนและใช้ทรัพยากรจำนวนมากในการคำนวณ ใช้คำสั่งที่ยากต่อการใช้งานและมีราคาสูงเกินกว่าจะใช้งานได้ในระดับทั่วไป
ปัจจุบันระบบการเรียนรู้ของ AI ทำได้เพียงตามข้อมูลที่ใส่เข้าไปในระบบเท่านั้น ยังไม่สามารถเข้าใจภาษาหรือความหมายได้ทั้งหมด บางคำตอบที่ให้ไป เกิดจากการประมวลผลของข้อมูลจากหลายแหล่งซึ่งอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง ทำให้หลายฝ่ายให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ChatGPT มีความ Overconfident หรือมีความมั่นใจมากเกินไปในการตอบคำถาม
ทั้ง ๆ ที่คำตอบที่ให้มานั้นมีความผิดพลาดสูง บางเว็บไซต์ถึงกับแบนคำตอบเพราะมีส่วนผสมทั้งส่วนที่จริงและไม่จริง หากผู้ใช้มีความรู้ไม่มากพอก็ยากที่จะแยกแยะ เมื่อนำไปใช้งาน อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาก็ได้
2
แต่ก็เห็นได้ว่าภาพการใช้ AI ของมนุษย์เริ่มเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมอยู่ในนิยาย ภาพยนตร์ มังงะ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาให้กลายเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือมนุษย์ เช่นเดียวกับ ChatGPT ที่ออกมาให้ทดลองใช้นั้น แม้จะมีการปรับลดประสิทธิภาพการประมวลผลหรือใส่ข้อจำกัดบางอย่าง แต่ก็ยังแสดงศักยภาพการทำงานที่ทำให้ผู้ทดลองใช้ถึงกับทึ่งในความสามารถ
เมื่อ ChatGPT หรือ AI ตัวอื่นถูกพัฒนาไปจนถึงขั้นปล่อยให้ใช้งานเต็มรูปแบบก็น่าจะช่วยมนุษย์ทำงานได้หลากหลายยิ่งขึ้น และทำให้ความกังวลที่คิดว่า AI จะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์เพิ่มมากขึ้นไปอีก
เพราะขนาดยังไม่สมบูรณ์ก็ยังสามารถทำงานบางอย่างแทนที่มนุษย์ได้แล้ว เช่นวาดรูปจนได้รางวัล แต่งนิยายเข้ารอบสุดท้าย หรือเขียนบทความที่ถูกต้องทั้งเนื้อหาและรูปแบบประโยคจนคนอ่านไม่รู้ว่า AI เขียน
2
ถึงตรงนี้ชาว aomMONEY บางส่วนก็คงอดคิดไม่ได้ว่า บทความที่อ่านอยู่ตอนนี้นั้น เขียนโดยมนุษย์หรือ AI
อ้างอิง
◤ = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = =
aomMONEY ก้าวแรกสู่ความสำเร็จทาง "การเงิน"
= = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = ◢
.
ชอบกด Like โดนใจ กด Share
และอย่าลืม See First
เพื่อที่จะได้ไม่พลาดข่าวสารใหม่ ๆ ก่อนใคร
.
ติดตามความรู้ทางการเงินในช่องทางอื่นๆ ได้ที่
กลุ่มกองทุนไหนดี https://bit.ly/3aOjgMl
.
สนใจโฆษณาติดต่อ :
Tel: 065-242-1544 (คุณเต้ย)
โฆษณา