1 ม.ค. 2023 เวลา 03:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เทรนด์การลงทุนปี 2023 แม้ความผันผวนยังคงอยู่ แต่ก็มีโอกาสที่ดีซ่อนอยู่ด้วยเช่นเดียวกัน
ปี 2022 ถือเป็นปีที่ท้าทายอย่างมากสำหรับนักลงทุน ไม่ใช่แค่ในบ้านเราและเอเชียเท่านั้น แต่ทั้งโลกเลยก็ว่าได้ ความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาด ความกดดันของสงครามรัสเซียยูเครน ตลาดคริปโตที่เต็มไปด้วยข่าวร้าย การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดภาวะเงินเฟ้อ ประเทศจีนตอนนี้ผ่อนคลายมาตรการ zero-covid ลงไปแล้วและกำลังเริ่มเปิดประเทศในช่วงต้นปี
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับอเมริกาที่สร้างความกังวลให้กับตลาดโดยรวม สินทรัพย์ทุกอย่างไม่ว่าจะหุ้น พันธบัตร คริปโทเคอร์เรนซี ทองคำ ค่าเงิน ต่างล้วนเจอกระทบด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งข่าวที่ไม่สู้ดีนักสำหรับนักลงทุนทุกคนคือความผันผวนเหล่านี้จะยังคงมีอยู่ต่อไปในปี 2023 แต่ท่ามกลางพายุที่พัดกระหน่ำนี้ก็มีโอกาสที่น่าสนใจซ่อนอยู่เช่นกัน และจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ ในการเข้าใจและวางแผนเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วย
ในปี 2023 ที่กำลังจะมาถึงประเทศในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทางฝั่งเอเชียแปซิฟิกจะเริ่มต้นแบบช้า ๆ หลังจากแรงหนุนของการเปิดประเทศค่อย ๆ ชะลอตัว อุตสาหกรรมการผลิตยังไม่เต็มที่ และการเงินที่เข้มงวดในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากที่ประเทศจีนเริ่มผ่อนคลาย การเติบโตโดยรวมจะค่อย ๆ ดีขึ้น
สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง Goldman Sachs เปิดเผยตัวเลขการคาดการณ์ของ GDP โดยรวมนั้นจะไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ยังมองบวกในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 โดยเฉพาะในประเทศจีนที่คาดว่าในไตรมาสสามจะทำได้ถึง 10% และไตรมาสสี่ที่ 6% ซึ่งค่อนข้างดีเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับสองไตรมาสแรกของปี 2023 ที่คาดเอาไว้ที่ 4% และ 2%
ส่วนเรื่องของเงินเฟ้อที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของปีนี้ก็น่าจะค่อย ๆ คลี่คลายลงไปบ้าง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะไม่เพิ่มขึ้นเร็วเหมือนที่ผ่านมาหรืออาจจะหยุดเลยก็ได้ สกุลเงินในแต่ละประเทศก็จะกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น การเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศต่าง ๆ ก็ช่วยลดแรงกดดันด้านราคาสินค้าในประเทศด้วย
ตรงนี้จะทำให้ธนาคารกลายของประเทศต่าง ๆ ในพื้นที่รวมถึงของไทยด้วยจะชะลอจนหยุดการขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2023 และภายในสิ้นปีอาจจะมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยในบางประเทศด้วย ถือเป็นข่าวดีของตลาดสินทรัพย์ในภูมิภาคในปี 2023 ที่จะมาถึง
ประเทศจีนยังคงต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายอีกหลายอย่างในปี 2023 อย่างแรกคือเรื่องของมาตรการ zero-covid ที่ตอนนี้เริ่มผ่อนคลายลงแล้ว แต่ก็ต้องรับมือกับการแพร่กระจายของสายพันธุ์ Omicron ทำให้ยากต่อการจัดการมากกว่าเดิม เมื่อผ่อนคลายก็ต้องรับมือกับการระบาดที่มากขึ้น อาจจะส่งผลให้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงด้วย
เรื่องที่สองคือเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงเปราะบาง สร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุน ยอดขายไม่ดีเหมือนแต่ก่อน นอกจากนั้นเรื่องของภาคการส่งออกที่ลดลงและดูจะยังไม่มีท่าทีว่าจะดีขึ้น ทำให้ตอนนี้ GDP ของประเทศคาดการณ์อยู่ที่ราว ๆ 3% เท่านั้น (ซึ่งต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1976 และไม่นับรวมปี 2020 ที่โควิดเริ่มระบาดที่เป็นความผันผวนของตลาด)
Goldman Sachs คาดการณ์ว่าเราน่าจะเห็นจีนเริ่มดีขึ้นหลังจากเดือนมีนาคมเป็นต้นไป การเปิดประเทศก็ค่อย ๆ เปิดไปเรื่อย ๆ ถ้ามีการระบาดหนักก็อาจจะหยุดเป็นพัก ๆ ส่วนทางด้านอสังหาก็มีการออกแผน 16 จุดเพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์
โดยในแผนนี้ก็ประกอบไปด้วยการจัดการกับวิกฤตสภาพคล่องของบริษัทพัฒนาอสังหาไปจนถึงการผ่อนคลายข้อกำหนดการชำระเงินดาวน์สำหรับผู้ซื้อบ้าน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการพัฒนาที่แข็งแกร่งและมั่นคงในภาคอสังหาริมทรัพย์ต่อไป ซึ่งตรงนี้ก็จะช่วยสนับสนุนแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนด้วย ส่วนการส่งออกก็จะดีขึ้นตามลำดับเมื่อล็อกดาวน์มีการผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ GDP ช่วงครึ่งปี 2023 ค่อนข้างสดใสและคาดว่าจะอยู่ที่ราว ๆ 8% เลยทีเดียว
ความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างอเมริกาและจีนยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป สงครามระหว่างรัสเซียยูเครนยิ่งทำให้สถานการณ์ระหว่างจีนกับอเมริกาย่ำแย่ลงไปด้วย หลังจากรัสเซียประกาศเข้ารุกรานยูเครน ประเทศทางฝั่งตะวันตกอย่างอเมริกาและยุโรปต่างออกมาประณามการกระทำของรัสเซียพร้อมคว่ำบาตรทางการค้า ซึ่งจีนแสดงจุดยืนในการปฏิเสธที่จะประณามรัสเซีย นอกจากนั้นยังเพิ่มความช่วยเหลือด้านการค้ากับรัสเซียอีกด้วย
ในมุมของจีนเอง อเมริกาก็ข้ามเส้นเช่นเดียวกันเมื่อ แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนคณะ ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงผู้ว่าการรัฐอินเดียนาของสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 สิงหาคม 2022 นอกจากนั้นแล้วสหรัฐอเมริกายังมีการออกมาตรการกำหนดการควบคุมการส่งออกชิปเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงและอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ที่จำเป็นในการผลิตชิปเหล่านี้ไปยังจีน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศจีนหยุดชะงัก
โดยเฉพาะบริษัทจีนที่ใช้เทคโนโลยีของทางอเมริกาเพื่อพัฒนาอัลกอริทึมต่างๆ ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ โลจิสติกส์ การแพทย์ และอื่นๆ มันคือสถานการณ์ “Prisoner’s Dilemma” ที่ผู้นำของสองประเทศไม่ไว้ใจกันและจะสุดท้ายมีโอกาสจะติดหล่มทางเศรษฐกิจด้วยกันทั้งคู่ แต่การพบกันที่การประชุม G20 ในวันที่ 14 พฤศจิกายน ระหว่าง โจ ไบเดน และ สี จิ้นผิง ท่าทีของทั้งคู่ก็ดูเหมือนจะพร้อมทำงานร่วมกันอีกครั้งหนึ่งและเน้นย้ำว่าจะพยายาม “แก้ไขอย่างสันติ”
ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากว่าจะคลี่คลายเมื่อไหร่ แต่เรื่องของภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจของอเมริกาและทั่วโลกนั้นผู้เชี่ยวชาญต่างมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างสูง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกมาประมาณการเศรษฐกิจโลกเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2023 จะเติบโตประมาณ 2.7% เท่านั้น น้อยที่สุดตั้งแต่ปี 2001 โดยเศรษฐกิจอเมริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา จะเติบโตประมาณ 1%, 0.5% และ 1.7% ตามลำดับ แต่ที่น่าสนใจคือตลาดเอเชียมีโอกาสเติบโตโดยรวมถึง 4.9% เลยทีเดียว และนี่ก็เป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนของบ้านเราด้วย
ประเทศไทยจะเริ่มได้รับอานิสงส์ของการเปิดประเทศและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น โดยสถิติ 9 เดือนตั้งแต่ 1 มกราคม 2022 - 30 กันยายน 2022 พบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยแล้วกว่า 6,018,943 คน และภายในสิ้นปีน่าจะถึง 10 ล้านคนได้ ซึ่งภายในปีหน้าถ้าการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นอย่างเต็มตัวก็จะเป็นปัจจัยเร่งการเติบโตในประเทศไทย (คาดการณ์นักท่องเที่ยวราว ๆ 21 ล้านคน นี่ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวจีนที่กำลังเริ่มเปิดประเทศและจะเข้ามาบ้านเราด้วย)
และประเทศรอบ ๆ อย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ลาว และกัมพูชาด้วย ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจบ้านเราเพราะคิดเป็น 15% ของ GDP ประเทศเลย ธุรกิจประเภท โรงแรม ร้านอาหาร การเดินทาง รวมถึงของฝาก ก็จะดีขึ้นไปด้วย
ความบาดหมางระหว่างจีนและอเมริกา หรือสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน มีโอกาสช่วยหนุนการลงทุนในประเทศแถบอาเซียนมากขึ้นเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง Apple ที่กำลังพิจารณายกฐานการผลิตบางส่วนออกมาจากประเทศจีนจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่โรงงาน Foxconn จนทำให้เกิดความล่าช้าในการผลิตและจัดส่งผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทอย่าง iPhone 14 Pro และ Pro Max โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีขยับไปที่อินเดียและเวียดนามมากยิ่งขึ้นในอนาคตที่จะมาถึง ซึ่งประเทศในอาเซียนถือว่าเปิดกว้างและต้อนรับการลงทุน เป็นจุดยุทธศาสตร์ใหม่
อย่างในบ้านเราก็มีบริษัท BYD บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน มาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและส่งออก 150,000 คันต่อปี หรือบริษัท AWS (Amazon Web Services) ผู้ให้บริการคลาวด์รายใหญ่ในเครือ Amazon ก็มาลงทุนครั้งสำคัญในไทย ตั้ง Cloud Region และเตรียมต่อยอดลงทุนระยะยาวอีกเกือบสองแสนล้านบาท นอกจากนั้นก็มี Google ที่เตรียมดำเนินการสร้าง Cloud Region เป็นครั้งแรกในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นช่วงนี้เราจะเห็นการลงทุนจากต่างประเทศที่กำลังไหลเข้าประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเยอะขึ้นด้วย
สำหรับดอกเบี้ยที่กำลังเป็นขาขึ้นทั่วโลกที่นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด (FED) เพื่อชะลอเงินเฟ้อจะยังคงมีอยู่ต่อไป แต่ก็จะแตกต่างกันระหว่างบ้านเราที่มีอัตราเงินเฟ้อไม่ได้สูงมากเมื่อเทียบกับทางอเมริกาหรือยุโรป โดยเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปที่ราว ๆ 5-6% เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่สูงถึง 8-9% แต่ในบ้านเราน่าจะเห็นการขึ้นในช่วงปลายปีนี้ไปอยู่ที่ราว ๆ 1.25% และมีโอกาสขึ้นอีก 1-2 ครั้งในช่วงปี 2023
เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Global Recession) แบงก์ชาติก็ต้องกลับมาทบทวนอัตราดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งเมื่อเงินเฟ้อไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยทั้งปี 2022 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 6.3% หลังจากนี้จะทยอยลดลงต่อเนื่องจากเดือนกันยายน 2023
ส่วนปีหน้าคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.6% เข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ ธปท. ตั้งเอาไว้ที่ 1-3% ซึ่งก็จะส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนไทยไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินที่เยอะเหมือนประเทศอื่น เพราะได้รับอานิสงส์จากการที่เงินเฟ้อไทยต่ำลงด้วย
สำหรับใครก็ตามที่กำลังคิดจะเริ่มลงทุน ดูภาพใหญ่และเทรนด์ที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือการหาโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเอง สำหรับคนที่รับความเสี่ยงได้น้อย รู้สึกว่ายังไม่แน่ใจว่าความผันผวนในตลาดโลกและบ้านเราจะจบเมื่อไหร่ การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างเช่นพวกพันธบัตรรัฐบาล หรือ หุ้นกู้ที่มีความน่าเชื่อถือ เครดิตเรตติ้งที่ดี
แต่ถ้าใครรับความเสี่ยงได้เยอะหน่อยก็ดูเป็นพวกกองทุนรวมหรือหุ้น ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ แต่นั่นก็ต้องเลือกอย่างระมัดระวังเช่นกันในภาวะตลาดที่ผันผวนแบบนี้
สุดท้ายแล้ว ’ในวิกฤติมีโอกาส’ คำกล่าวนี้เป็นจริงเสมอ เพียงแต่เราจะมองเห็นโอกาสในช่วงที่ทุกอย่างกำลังดูย่ำแย่ไปซะหมดรึเปล่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเข้าใจสถานการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นโดยรอบว่าประกอบเข้าด้วยกันยังไง โดยเฉพาะโลกในปัจจุบันที่เชื่อมถึงกันทุกอย่างแบบนี้ เราต้องประคองตัวให้ผ่านพ้นวิกฤติตรงนี้ไปให้ได้และเมื่อโอกาสมาถึงก็ต้องพร้อมที่จะคว้าเอาไว้ด้วย โอกาสที่ดีซ่อนตัวอยู่ในพายุแห่งความไม่แน่นอน ซึ่งครั้งนี้อาจจะเป็นโอกาสที่ดีในรอบหลาย ๆ ปีเลยก็ได้
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลเพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ aomMONEY)
=============================
อ้างอิง
#aomMONEY #ปีหน้าลงทุนอะไรดี #ปี2023ลงทุน #การลงทุนปี2023 #เทรนด์การลงทุนปี2023 #ปี2023 #ลงทุนในประเทศจีน #จีนเปิดประเทศ #เศรษฐกิจปี2023 #เทรนด์ลงทุนปี2023
◤ = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = =
aomMONEY ก้าวแรกสู่ความสำเร็จทาง "การเงิน"
= = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = = ◢
.
👍 ชอบกด Like โดนใจ กด Share
และอย่าลืม ✅ See First
เพื่อที่จะได้ไม่พลาดข่าวสารใหม่ ๆ ก่อนใคร
.
ติดตามความรู้ทางการเงินในช่องทางอื่นๆ ได้ที่
📌 กลุ่มกองทุนไหนดี https://bit.ly/3aOjgMl
.
สนใจโฆษณาติดต่อ :
👉 Tel: 065-242-1544 (คุณเต้ย)
โฆษณา