5 ม.ค. 2023 เวลา 04:55
ฎีกาที่ 5244 - 5245/2562 (บางส่วน)
การแก้ไขคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 วางหลักว่า ในกรณีที่มีการชี้สองสถานให้กระทำได้ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น หรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย คดีนี้โจทก์ยื่นคำฟ้องโดยเข้าใจว่าทางพิพาทอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7665
ของจำเลยแต่เพียงแปลงเดียว แต่เมื่อโจทก์จำเลยแถลงหมดพยานแล้วศาลชั้นต้นสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปัตตานีทำแผนที่พิพาท ปรากฏว่านอกจากทางพิพาทซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินจำเลยโฉนดเลขที่ 7665 แล้ว ยังมีทางพิพาทบางส่วนอยู่ในที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 7666 และโฉนดเลขที่ 7667 ด้วย โจทก์จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องว่าทางพิพาทบางส่วนอยู่ในที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 7666 และ 7667 ด้วย เพื่อให้ตรงกับความเป็นจริง
และหลังจากนั้นศาลชั้นต้นยังได้สืบพยานเจ้าพนักงานที่ดินผู้ทำแผนที่พิพาทอีกปากหนึ่ง ดังนี้ เห็นได้ว่า โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าทางพิพาทบางส่วนอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 7666 และโฉนดเลขที่ 7667 ด้วย จึงเป็นกรณีที่มีเหตุสมควร ที่โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น เมื่อมีการขอแก้ไขคำฟ้องในระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์จึงขอแก้ไขคำฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180
ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าคดีนี้ไม่มีการชี้สองสถานโจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และการแก้ไขคำฟ้องของโจทก์ไม่ใช่การแก้ไขเล็กน้อยฟังไม่ขึ้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 7670 และโฉนดเลขที่ 7671 ซึ่ง อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 7669 ไปทางทิศตะวันออก โดยผู้ร้องซื้อที่ดินดังกล่าวมาจาก ส. และ ส. ได้ใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินจำเลยในโฉนดเลขที่ 7665 ออกสู่ถนนสาธารณะเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี
โดยความสงบ และโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของทางมาจนกระทั่ง ส. ขายให้ผู้ร้อง และเมื่อผู้ร้องซื้อที่ดินดังกล่าวมาแล้วก็ได้ใช้ทางพิพาทสืบสิทธิจากเจ้าของเดิมเรื่อยมา โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของทางเช่นกัน โดยทางพิพาทเป็นเส้นทางเดียวกับเส้นทางที่โจทก์ใช้ผ่านที่ดินจำเลย ทั้งทางพิพาทต้นทางส่วนที่ติดกับถนนถึงที่ดินผู้ร้อง
ทับซ้อนกับทางพิพาทที่โจทก์อ้างว่าได้ภาระจำยอมโดยอายุความอยู่ด้วย ดังนี้ ตามคำร้องของผู้ร้องดังกล่าวแปลได้ว่าผู้ร้องสมัครใจเข้ามาในคดีเพราะเห็นว่าเป็นความจำเป็นเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่เช่นเดียวกับโจทก์ และเกี่ยวเนื่องด้วยกับการบังคับคดีตามคำพิพากษา ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีได้
แม้ตามเนื้อหาในคำร้องของผู้ร้องจะเป็นเรื่องร้องสอดด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นก็ตาม แต่ตามคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องเข้าใจว่าขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม และได้อ้างมาด้วยว่าคำฟ้องของโจทก์นั้นขอให้จำเลยเปิดทางภาระจำยอมและให้จดทะเบียนภาระจำยอมด้วย
แม้ในท้ายคำร้องของผู้ร้องสอดจะขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมโดยมิได้ขอให้ไปจดทะเบียนด้วยแต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า หากศาลพิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอม ก็ขอให้จดทะเบียนภาระจำยอมให้ผู้ร้องด้วย ทั้งการได้ภาระจำยอมมาโดยอายุความ
ผู้ทรงสิทธิในภาระจำยอมมีสิทธิฟ้องให้จดทะเบียนภาระจำยอมได้ เพราะเป็นการอันจำเป็นเพื่อรักษาและใช้ภาระจำยอมประการหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1391 ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงการอำนวยความยุติธรรมจะต้องกระทำโดยความรวดเร็วแล้ว จึงหามีความจำเป็นให้ผู้ร้องต้องมาฟ้อง
ขอให้จดทะเบียนอีกคดีหนึ่งไม่ เพราะจำเลยก็ต้องเข้ามาสู้คดีอีก จึงไม่เป็นผลดีต่อคู่ความทั้งสองฝ่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาในประเด็นนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย (พิพากษาแก้ (ให้จำเลยเปิดทางจำเป็น...กับให้จำเลยไปจดทะเบียนให้ทางดังกล่าวเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์...และที่ดินของผู้ร้อง...))

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา