14 ม.ค. 2023 เวลา 14:00 • ธุรกิจ

รู้จักเด็กวันนั้น..คือนักธุรกิจเงินล้านวันนี้!

6 นักธุรกิจรุ่นใหม่ จากเด็กติดเกม แต่ครอบครัวมีปัญหาการเงิน ต้องโตเป็นผู้ใหญ่ ปั้นเถ้าแก่น้อย พลิกชีวิต "อาฟเตอร์ ยู" ความฝันร้านขนมหวานโดนเบรกเพราะพ่อ เพียงเพื่อรอโอกาสทอง BEARHOUSE ชานมไข่มุกที่เกิดจากยูทูปเบอร์ทำเงินลด และทายาทธุรกิจ ที่มีเลือดนักบริหารเต็มขั้น
1
“วันเด็กแห่งชาติ” นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองจะพาบุตรหลานไปทำกิจกรรม เดินสายร่วมสนุกในสถานที่ต่างๆ ทั้งสวนสัตว์ สวนสนุก ห้างค้าปลีก ฯ เพื่อมอบความสุขให้น้องๆหนูๆ อีกมิติผู้ใหญ่หลายคน ได้เป็นตัวอย่างความสำเร็จ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆได้อย่างดี
โลกธุรกิจ มีหลายคนเป็นเด็กในอดีต แต่สร้างการเติบโตกลายเป็น “อายุน้อยร้อยล้าน” หรือบางคนเป็นทายาทธุรกิจที่หัวใจยังเด็ก หรือมีความชื่นชอบบางอย่างที่ไม่ใช่การรับไม้ต่อธุรกิจ แต่เมื่อเป็นหน้าที่ซึ่งทายาทยากจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ การเคลื่อนองค์กร ร้อย พัน หมื่นล้านบาท มีให้เห็น
2
ครอบครัวแรงผลักดันใหญ่
หากจะหยิบหนึ่งในต้นแบบของอายุน้อยร้อยล้าน “ต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์” ผู้ปลุกปั้นสแน็คสาหร่ายทอดแบรนด์ “เถ้าแก่น้อย” จนประสบความสำเร็จอย่างงดงามตั้งแต่อายุยังน้อย และกลายเป็นเศรษฐีพันล้านในวัยเพียง 23 ปีเท่านั้น หลังจากเริ่มธุรกิจในวัยเพียง 19 ปี
2
จากเด็กติดเกม Everquest ในวัยมัธยมปลาย แต่ความบ้าคลั่งของการเล่นสิ่งที่ชอบ กลับทำให้สะสมแต้มจนเป็นมั่งคั่งสุดๆในเซิร์ฟเวอร์ ความโด่งดังทำให้ขายไอเทมทำเงินเป็นกอบเป็นกำ
1
เมื่อเกมแผ่ว ประกอบกับครอบครัวประสบปัญหาทางการเงินมีหนี้สินรวมกว่า 40 ล้านบสท และชีวิตในมหาวิทยาลัย ทำให้เติบโต หาแรงบันดาลใจในการช่วยแก้ปัญหาให้กับครอบครัว จึงมองหาการขยับขยายธุรกิจ ความชื่นชอบทาน “เกาลัด” จึงมุ่งขายเกาลัด มีแฟรนไชส์หลายสาขา ทว่า จุดเปลี่ยน คือการหันมารุกธุรกิจสแน็คสาหร่าย ซึ่งต้องยอมรับว่า “ต๊อบ อิทธิพัทธ์” เป็นผู้บุกเบิกตลาดให้เป็นที่รู้จักรายแรกๆ
1
แต่เส้นทางการทำตลาดสแน็คสาหร่ายไม่ง่าย เพราะกว่าจะเติบโตมีรายได้หลัก “พันล้าน” เจอสารพัดอุปสรรค ท้ังคุณภาพสินค้า การจัดจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
2
ปัจจุบัน “เถ้าแก่น้อย” เป็นแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดสแน็คสาหร่ายกว่า 60% เป็น “เบอร์ 1” อย่างแข็งแกร่ง นอกจากทำตลาดในไทย ยังขยายการส่งออกไปยังต่างประเทศทั่วโลก มี “จีน” เป็นฐานทัพสำคัญ และยังมี “สหรัฐ” เป็นตลาดใหม่ ที่มีทั้งโรงงานผลิตสแน็คสาหร่าย และการทำตลาด พร้อมสร้างการเติบโต
เป้าหมายใหญ่ของ “ต๊อบ อิทธิพัทธ์” คือการพาแบรนด์ไทย “เถ้าแก่น้อย” ผงาดโลก มีรายได้ระดับ “หมื่นล้านบาท” ช่วงวิกฤติโควิด-19 บริษัทได้รับผลกระทบใหญ่ไม่น้อย และเกิดการปรับกระบวนท่ามากมายเพื่อให้ธุรกิจพ้นวิกฤติ จากรายได้กว่า 5,600 ล้านบาท กำไรกว่า 459 ล้านบาท ในปี 2561 ลดลงเหลือกว่า 3,600 ล้านบาท และกำไรกว่า 182 ล้านบาท ในปี 2564 แต่ภารกิจเป็น Global Brand ของเถ้าแก่น้อย ไม่เคยลดละ ส่วนจะสมหวังเมื่อไหร่ ต้องติดตาม แต่นี่คือหนึ่งใน “เด็กวันนั้น ก้าวเป็นเศรษฐีอายุน้อยในวันนี้”
2
ความฝันเกิดจากการวาด
อีกนักธุรกิจ “อายุน้อยพันล้าน” ต้องยกให้ “เมย์ กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด(มหาชน) ผู้ปลุกปั้นร้านขนมหวาน “อาฟเตอร์ ยู” จนโด่งดัง กว่า 15 ปี คือเส้นทางของแบรนด์ “อาฟเตอร์ ยู” แต่ก่อนเข้าสู่วงการร้านขนมหวาน “เมย์ กุลพัชร์” ถือว่ามีสายเลือดนักธุรกิจเนื่องจากบิดา คร่ำหวอดในธุรกิจอาหารแช่แข็งมาก่อน จึงมีดีเอ็นเอ ของการเป็นผู้ประกอบการเป็นแต้มต่อไม่มากก็น้อย
2
ความฝันในการเป็นเจ้าของร้านขนมหวานของ “เมย์ กุลพัชร์” เกิดขึ้นตั้งแต่วัยมัธยม แต่ถูกเบรกไว้เพราะประโยคของบิดาที่ว่า “ทุกอย่างเกิดจาก Dream (ฝัน) ที่ต้องเริ่มต้น Draw (วาด) ฝันก่อน”
1
เมื่อป๊าบอกให้ใจเย็นๆ มีโอกาสแล้วค่อยทำ มีช่วงชีวิตเดินทางไปยังต่างประเทศ นอกจากชิมเมนูอร่อยทั่วโลก ยังจดสารพัดรสชาติ เพื่อนำมาปรับแต่งปรุงสูตรในแบบฉบับของตนเอง เพื่อเสิร์ฟผู้บริโภคชาวไทย
1
“อาฟเตอร์ ยู” นอกจากเมนูหวาน รสชาติถูกปากกลุ่มเป้าหมายชาวไทย ปัจจุบัน ยังขยายร้านไปยังต่างประเทศ โดยมี “ฮ่องกง” เป็นตลาดนำร่อง
2
ช่วงโควิดระบาด อาฟเตอร์ ยู เป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เพราะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวจีนหดหาย ส่วนร้านอาหารในไทยถูก “ล็อกดาวน์” เลือดนักสู้ของ “เมย์ กุลพัชร์” จึงปรับหมากรบหลากหลาย เพื่อให้อยู่รอด รอโอกาสทองกลับมาเติบโตอีกครั้ง
นอกจาก อาฟเตอร์ ยู “เมย์ กุลพัชร์” ยังเปิดร้าน “ลูกก๊อ” เสิร์ฟผลไม้ เอาใจผู้บริโภคอีกกลุ่ม ถือเป็นการขยายฐานลูกค้า และต่อจิ๊กซอว์การเติบโต
ย้อนไปยุคเริ่มต้น กรุงเทพธุรกิจ เคยสัมภาษณ์ “เมย์ กุลพัชร์” มีเป้าหมายอยากนำทัพธุรกิจสู่การเป็น “เชนร้านขนมหวานระดับโลก” หรือ Global Brand ที่ผ่านมาจึงเปิดร้าน สร้างโรงงาน เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) หลายอย่างเป็นไปตามเป้าหมาย ส่วนฝันใหญ่สู่เวทีโลก จะเห็นเมื่อไหร่ รอดูระยะยาวต่อไป
1
จากยูทูปเบอร์ดังสู่นักธุรกิจ “ชานมไข่มุก
หลายคนรู้จัก “ซารต์-กานต์” ยูทูปเบอร์ดัง เจ้าของช่อง Bearhug จากก่อตั้งเมื่อปี 2561 สร้างผู้ติดตามล่าสุด(14 ม.ค.66) กว่า 3.83 ล้านราย
ความสำเร็จของการเป็นยูทูปเบอร์ ทำให้ “ซารต์-กานต์” สามารถทำเงินเป็นกอบเป็นกำเกือบ 30 ล้านบาท แม้ปัจจุบันจะลดลงก็ตาม
พื้นฐานการเรียนและทำงานบัญชีของ “ซารต์” ถือเป็นประโยชน์ไม่น้อย เมื่อเข้าสู่เส้นทางธุรกิจ ทว่า โลกจริงกับการเป็นเจ้าของกิจการ ไม่เหมือนกับการทำงาน เพราะอุปสรรคมักเข้ามาทักทายและทดสอบเสมอ
การขยับตัวเข้าสู่เส้นทางธุรกิจเปิดร้านชานมไข่มุก “BEARHOUSE” ของทั้งคู่ เพราะขุมทรัพย์การตลาดนั้นใหญ่มูลค่าราว 3,000-4,000 ล้านบาท แน่นอนว่าพื้นฐานความดัง ที่มาพร้อมกับสินค้ามีจุดขาย ตลาดจึงให้การยอมรับอย่างดี เพราะสาขาสยาม หากหลายคนเคยผ่านช่วงท็อปฟอร์ม จะเห็นคิวยาวเหยียด ที่บรรดาแฟนๆ ฐานลูกค้าต้องการชิมความอร่อย
ดื่มชานมที่มีความหวาน ย่อมมีผลต่อสุขภาพช่องปาก ซึ่งทั้งคู่ ตระเวนลิ้มลองตำรับเด็ดมามาก โดยเฉพาะที่ไต้หวัน ถึงขั้นเอ่ยปากว่าทำให้ฟันผุกันมาแล้ว ก่อนจะมีร้านชานมของตัวเอง “ซารต์-กานต์” ต่างก็เคยคิดหา “ทางลัด” ในการทำธุรกิจ คือจับมือแฟรนไชส์ไต้หวันมาเปิดร้านในไทย แต่ไม่สมหวัง จึงต้องปั้นแบรนด์เป็นของตัวเอง
1
“อาชีพแรกคือยูทูปเบอร์ สายกินสายเที่ยว แต่วันหนึ่งอยากเปิดร้านชานม อยากซื้อแฟรนไชส์ไต้หวัน แต่ซื้อไม่ได้เลยเก็บความอยากไว้ จน 3 ปีก่อนเกิดช็อปแรก” ซารต์ เล่า โดยมี กานต์ เสริมว่า “เราเปิดสาขาแรกได้ครึ่งปีทำยอดขาย 15 ล้านบาท เปิดร้านชานมไข่มุกมาเจอวิกฤติโควิด แต่โชคดีที่เราเข้าตลาดตอนที่เติบโตหรือพีค จึงมีเงินสดเหลือทำธุรกิจ คนอื่นปิดร้านหมด เราโตสวนกระแส เพราะมีการปรับตัวทำเดลิเวอรี่”
ภาพความสำเร็จไม่ได้อยู่ตลอด เพราะวันนึงทั้งคู่เกิดอยากแตกไลน์ทำ “ชานมกระป๋อง” ซึ่งเป็นเหตุแห่งการ..ขาดทุนยับ! และกลายเป็นบทเรียนเจ็บปวดสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ประสบการณ์ยังน้อยเกินไป
1
เป็นวัยรุ่นนั้นเจ็บปวด ไม่ได้ทำให้ยอมแพ้ แต่นำมาเป็นวัคซีนในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะการกระจายความเสี่ยง ยังไงต้องมี จึงพัฒนา “ซันซุเยลลี่บุก” เพื่อจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อสร้างการเติบโตระยะยาว
1
วันนี้ “ซารต์-กานต์” มีธุรกิจชานมไข่มุก มีสินค้าสำเร็จรูปจำหน่าย แต่เป้าหมายใหญ่ ไม่ต่างจากนักธุรกิจ นักลงทุนจำนวนมาก ที่ต้องการเติบโตต่อ ด้วยการขยายอาณาจักรขนาดย่อมให้ยิ่งใหญ่ ผ่านการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุน หรือหาเงินขยายกิจการ
1
ทายาทผู้สืบทอดอาณาจักรใหญ่
แวดวงธุรกิจนั้น มีเศรษฐี หรือทายาธุรกิจที่เป็นคน “อายุน้อย” ร้อย พัน หมื่นล้าน อยู่มากมาย หากจะหยิบบางคนมาเป็นต้นแบบ แรงบันดาลใจเด็กๆ หนึ่งในนั้น คือ “พีช พชร จิราธิวัฒน์” ซึ่งเป็นทายาทห้างค้าปลีกอันดับ 1 ของเมืองไทย อย่างกลุ่มเซ็นทรัล ของตระกูล “จิราธิวัฒน์”
1
“จิราธิวัฒน์” ขับเคลื่อนค้าปลีกมาแล้วหลากหลายเจนเนเรชั่น หากนับตั้งแต่รุ่น 1 ถึงรุ่น 5 ในปัจจุบัน มีทายาทนับร้อยชีวิต อายุสูงสุดเกินกว่า 90 ปี ส่วนอาณาจักรนั้นทำเงินหลัก “แสนล้านบาท”
1
ภาพรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับ “พีช พชร” คือการเป็นนักแสดงวัยรุ่น เช่น ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น ฯ จนโด่งดัง แต่อีกด้าน เจ้าตัวยังทำธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในสายเลือด “จิราธิวัฒน์” ด้วย นั่นก็คือ “โปเตโต้ คอร์เนอร์” จากมีร้านแรกที่สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ปัจจุบันขยายร้านไปหลายสาขาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
2
แม้จะไม่ได้สานต่อธุรกิจแบบเต็มตัว แต่นี่เป็นการปูทางพิสูจน์ฝีมือการบริหารในฉบับวัยรุ่นอายุน้อยร้อยล้านให้เห็น
1
“เค วิศรุต พูลวรลักษณ์” อีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวอย่าง“เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” อาณาจักรโรงภาพยนตร์ เบอร์ 1 ของเมืองไทย ที่ผู้เป็นบิดา วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ได้สร้างเอาไว้ด้วยความหลงใหล(Passion) ตลอดเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ จนมีโรงภาพยนตร์เปิดให้บริการ ณ สิ้นปี 2565 รวมทั้งสิ้น 180 สาขา 839 โรง จำนวน 188,973 ที่นั่ง
“เค วิศรุต” ชื่นชอบการเล่นเกม และบอกกับ กรุงเทพธุรกิจว่า การขับเคลื่อนธุรกิจ นั่งบริหารงาน อาจไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองรักมากนัก แต่ก็ยากจะผลักความรับผิดชอบออกจากตัว โดยสิ่งที่ชื่นชอบคือการ “เล่นเกม” เช่นคนรุ่นใหม่ วัยรุ่นทั่วไป
1
การเข้ามารับไม้ต่อจาก “บิดา” เป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะท่ามกลางการเติบโตมาโดยตลอด แต่ช่วงโควิด-19 ระบาด บริษัทต้องเผชิญผลการดำเนินงานที่ระส่ำ และเป็นครั้งแรกที่เห็นการ “ขาดทุน” เมื่อเป็นทายาท นอกจากเรียนรู้งาน เคลื่อนกิจการหมื่นล้านจากบิดา กิจกรรม “ดูหนัง” เป็นอีกกิจวัตร ที่ยังต้องทำกับครอบครัวด้วย
1
ปัจจุบันโลกเปลี่ยน ความฝันของเด็กรุ่นใหม่ไม่เหมือนเดิม แต่หากเส้นทางธุรกิจ เชื่อว่าบุคคลเหล่านี้ เป็นแรงบันดาลใจให้เดินตามได้ เพราะก่อนพวกเขาจะเป็นผู้ใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จ ถูกขนานนามเป็น “อายุน้อยร้อยล้าน” ต่างก็ผ่านการเป็นเด็กมาแล้วทั้งสิ้น
โฆษณา