26 ม.ค. 2023 เวลา 01:30 • ข่าวรอบโลก

"Operation Mosi" ส่งสัญญาณ ขั้วสงคราม-เศรษฐกิจ วิกฤตรัสเซีย

ภาพการร่วมวางแผนปฏิบัติการพิเศษโดยสามนายพลคนสำคัญของรัสเซีย ที่ปรากฏในสื่อรัสเซีย ช่วยกลบกระแสความขัดแย้งในกองทัพรัสเซีย เมื่อประธานาธิบดี ปูติน ประกาศแต่งตั้งนายพลวาเลรี เกราซิมอฟ (Valery Gerasimov) เป็นผู้บัญชาการกองกำลังรัสเซีย ในสงครามยูเครน แทนนายพลเซอร์เกย์ ซูโรวิกิน (Sergei Surovikin)
ในกองทัพรัสเซียเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการพิจารณาให้เข้ารับราชการในตำแหน่ง General Staff ของกองทัพ จะต้องมีความรอบรู้สูง พัฒนาความคิดเชิงกลยุทธ์ในการปฏิบัติงาน และชอบการวิเคราะห์เชิงลึก พวกเขาจะต้องสามารถประเมินสถานการณ์ทางทหาร-การเมืองและการปฏิบัติการกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาข้อสรุปที่ถูกต้องและเตรียมข้อเสนอที่สมเหตุสมผลให้กับผู้นำทางการเมือง-การทหารของประเทศ เพื่อรับรองความมั่นคงทางทหารของสหพันธรัฐรัสเซีย
2
ระบบการฝึกอบรมและการระดมพลในประเทศของเราไม่ได้ปรับให้เข้ากับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจยุคใหม่อย่างเต็มที่ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงต้องแก้ไขทุกอย่างในระหว่างที่ได้รับมอบหมายความรับผิดชอบนี้ ด้วยผลมาจากการประสานงานที่ดีและเป็นมืออาชีพของเจ้าหน้าที่ของ General Staff กำลังดำเนินมาตรการทั้งหมดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของปฏิบัติการทางทหารพิเศษที่กำหนดโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด
นายพลเกราซิมอฟ ที่เติบโตมาจาก "หน่วยยุทธศาสตร์" (General Staff) ของกองทัพสหพันธรัฐรัสเซีย  กล่าวกับสำนักข่าว aif.ru
1
"Mosi" แผนปฏิบัติการฝึกซ้อมรบทางทะเลระดับไตรภาคีที่จัดขึ้นโดยมีแอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับกองทัพเรือของจีนและรัสเซีย ซึ่งกระทรวงกลาโหมแอฟริกาใต้ได้ระบุในแถลงการณ์บนเว็บไซต์ ว่าการฝึกซ้อมครั้งนี้จะจัดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียเป็นเวลา 10 วัน ระหว่างวันที่ 17 ถึง 27 กุมภาพันธ์ 2566 ในบริเวณใกล้กับพื้นที่เมืองท่าเดอร์บันและอ่าวริชาร์ดส์ ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าที่สำคัญ มีจุดประสงค์เพื่อแบ่งปันทักษะและความรู้ในการปฏิบัติงาน และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแอฟริกาใต้ รัสเซีย และจีน
1
และนี่คือ แผนปฏิบัติการฝึกซ้อมรบ "Mosi II" โดยครั้งแรกได้ทำการฝึกซ้อมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 พื้นที่เมืองเคปทาวน์ ในมหาสมุทรแอตแลนติก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแอฟริกาใต้ และแน่นอนแม้จะเคยร่วมซ้อมรบกันมาก่อน แต่ในสถานการณ์วิกฤตสงครามยูเครนขณะนี้ ย่อมเป็นที่หวาดระแวงสำหรับประเทศพันธมิตรของยูเครน เนื่องจากที่ผ่านมาแอฟริกาใต้ปฏิเสธไม่ร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย และยังอนุญาตให้เรือรัสเซียเข้าเทียบท่าได้ ซึ่งพรรค ANC แกนนำฝ่ายค้านของประเทศก็ตั้งข้อสงสัย และไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการ "Mosi II" ในครั้งนี้
Admiral Gorshkov 22350
กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ได้ประกาศแผนการซ้อมรบทางเรือกับกองทัพเรือแอฟริกาใต้และจีน นอกชายฝั่งแอฟริกาใต้ในเดือนกุมภาพันธ์ และจากรายงานสำนักข่าว TASS คาดว่าเรือที่จะเข้าประจำการซ้อมรบครั้งนี้คือ เรือฟริเกตที่ล้ำสมัยของกองทัพเรือรัสเซีย "Admiral Gorshkov" ติดอาวุธด้วยขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง Tsirkon แบบอิเล็กทรอนิกส์ในระยะไกลกว่า 900 กม.
สหรัฐอเมริกาเองก็ได้พยายามสานสัมพันธ์กับแอฟริกา เพื่อคานอำนาจจีน และรัสเซีย โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ในการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐอเมริกา-แอฟริกา ที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งมีคณะผู้แทนและผู้นำจาก 49 ประเทศในสหภาพแอฟริกาเข้าร่วมประชุม ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ประกาศข้อตกลงที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า ด้วยการมอบเงิน 5หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 3 ปี สำหรับการลงทุน ความช่วยเหลือ และข้อตกลงการค้าทั่วภูมิภาคแอฟริกา และคาดว่าจะผลักดันให้สหภาพแอฟริกาเข้าร่วมกลุ่ม G20 ในฐานะสมาชิกถาวรอีกด้วย
การซ้อมรบนั้น นอกจากจะสร้างขวัญกำลังใจแก่กองกำลังทหารแล้ว ยังทำลายขวัญและกำลังใจของคู่สงครามหรือคู่ขัดแย้งด้วย จึงเห็นได้ว่า เมื่อมีข้อขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจเมื่อใด มักจะตามมาด้วยการประกาศซ้อมรบอยู่เนือง ๆ การซ้อมรบก็คือ สัญญาณเตือนคู่ขัดแย้ง นั่นเอง ดังนั้น ภายใต้แรงกดดันมหาศาลจากชาติตะวันตกซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของแอฟริกาใต้ "Mosi II" ได้แสดงให้เห็นว่าแอฟริกาใต้ได้เลือกข้างแล้ว
1
ความสัมพันธ์ของแอฟริกาใต้ รัสเซีย และจีน จะไปในทิศทางใด?
ประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็น ในสงครามปลดปล่อยอาณานิคม สหภาพโซเวียตได้เคยให้ความช่วยเหลือแอฟริกาใต้ทั้งในทางเศรษฐกิจและทางทหาร และนี่อาจเป็นส่วนสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างแอฟริกาใต้และรัสเซีย
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและภูมิภาคแอฟริกา ก็มีมายาวนานเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ จีนและแอฟริกาได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ทั้งด้านการศึกษา ท่าเรือ โรงงานไฟฟ้า รวมทั้งอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ทั้งจีน รัสเซีย และแอฟริกาใต้ ต่างก็เป็นสมาชิกในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว (BRICS) ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ ปัจจุบันประชากรในกลุ่ม BRICS มีสัดส่วนมากกว่า 40 % ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มากเกือบ 1 ใน 4 ของจีดีพีของโลก ซึ่งตัวเลขจีดีพีคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปี 2573 สร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเทียบสหภาพยุโรป
ขณะนี้ ถือได้ว่า BRICS กำลังเนื้อหอมสุด ๆ หลายประเทศให้ความสนใจเข้าเป็นสมาชิก เช่น ซาอุดีอาระเบีย ตุรเคีย อียิปต์ อัฟกานิสถาน อินโดนีเซีย ส่วนที่ได้สมัครแล้วได้แก่ แอลจีเรีย อาร์เจนตินา และอิหร่าน และในปี 2566 แอฟริกาใต้รับตำแหน่งประธานกลุ่ม BRICS และจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด BRICS ในเดือนสิงหาคม 2566
เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ได้แถลงข่าวหลังการพูดคุยกับนางนาเลดี แพนดอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศแอฟริกาใต้ ว่าจะมีการประชุมสุดยอดรัสเซีย-แอฟริกา และฟอรัมเศรษฐกิจ ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2566
1
เป็นที่น่าจับตามองสถานการณ์ในยูเครน ซึ่งประธานาธิบดี ปูติน ส่งนายพลวาเลรี เกราซิมอฟ ผู้บัญชาการกองกำลังรัสเซีย ซึ่งต้องการปรับสนามรบให้สัมพันธ์กับสนามการค้า เป็นผู้วางกลยุทธ์ด้วยหลักการแบบเสนาธิการทหาร ซึ่งแตกต่างจากนายพลเซอร์เกย์ ซูโรวิกิน ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพชฌฆาตในสนามรบ เป็นการวางยุทธศาสตร์ใหม่ของรัสเซีย การที่นายพลเกราซิมอฟ เป็นเสนาธิการสูงสุดจึงรวมอำนาจสั่งการกองทัพรัสเซียทั้งหมด รวมทั้งกองกำลังผสม ส่วนนายพลซูโรวิกิน ไม่มีอำนาจเช่นนั้น และมีข้อจำกัดในการตัดสินใจบางอย่างซึ่งยังต้องขออนุญาต
แม้จะเป็นการยากที่จะคาดเดาว่านายพลเกราซิมอฟ จะใช้กลยุทธ์ใดระหว่างปฏิบัติการพิเศษในยูเครน แต่ก็มีนักรัฐศาสตร์วิเคราะห์จากประวัติของนายพลเกราซิมอฟ "คาดว่าการวางกลยุทธ์ของเขาจะไม่เอาชนะยูเครนและทำลายกองทัพของตน ไม่ใช่เพื่อสร้างศักยภาพของกองทัพรัสเซียในการทำสงครามกับทั่วโลก แต่เพื่อจำกัดวงความขัดแย้ง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ทั้งหมดของรัสเซีย"
2
โฆษณา