27 ม.ค. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

หุ้นสามัญ VS หุ้นกู้ แตกต่างกันอย่างไร ?

#FSspecialcolumnists x Cashury l หลายคนน่าจะเคยได้ยินหรือรู้จัก #หุ้นสามัญ และ #หุ้นกู้ กันมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีมือใหม่บางคนที่ยังลังเลว่าจะเลือกลงทุนอะไรดี ซึ่งสินทรัพย์ทั้ง 2 ประเภทนี้ แม้จะชื่อคล้ายกัน แต่ความจริงมีลักษณะที่แตกต่างกันในหลายประเด็น
วันนี้เราเลยมาสรุปข้อแตกต่างระหว่าง “หุ้นสามัญ” และ “หุ้นกู้” ให้ศึกษาเข้าใจง่ายขึ้น เพื่อนๆ จะได้ตัดสินใจเลือกลงทุนที่เหมาะกับสไตล์การลงทุนของตัวเอง
#หุ้นสามัญ (Common Stocks) คือ #ตราสารทุน
- ผู้ถือตราสารหรือนักลงทุนมีสถานะเป็น "ผู้ถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของร่วมในบริษัท" ออกโดยบริษัทมหาชนจำกัดที่ต้องการระดมเงินทุนจากประชาชน
- ไม่มีวันหมดอายุ จนกว่าบริษัทผู้ออกหุ้นจะล้มละลายหรือถูกเพิกถอนจากตลาด
- ผลตอบแทนที่ได้จะไม่แน่นอน โดยผลตอบแทนที่ได้ คือ ส่วนต่างราคาหุ้น (Capital gain) และเงินปันผล (Dividend Yield)
- เงินลงทุนขั้นต่ำ : 100 หุ้น (Board lot) หรือซื้อขายเศษ ในกระดาน Odd lot
- เหมาะกับ คนที่รับความเสี่ยงได้สูง ต้องการผลตอบแทนสูง
#หุ้นกู้ (Bonds) คือ #ตราสารหนี้
- ผู้ถือตราสารหรือนักลงทุนมีสถานะเป็น "เจ้าหนี้" โดยผู้กู้สัญญาว่าจะจ่ายคืนเงินจำนวนดังกล่าวในอนาคตและจ่ายดอกเบี้ยเป็นรายงวดตามวันที่กำหนดไว้ตลอดอายุหุ้นกู้
- มีวันครบกำหนดไถ่ถอน ยกเว้น หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual bond) ไม่มีกำหนดวันไถ่ถอน จนกว่าบริษัทจะเลิกกิจการ หรือขอไถ่ถอนก่อนครบกำหนด
- ผลตอบแทนจะได้สม่ำเสมอและแน่นอน (ยกเว้น บริษัทผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้) โดยผลตอบแทนที่ได้ คือ ดอกเบี้ย
- เงินลงทุนขั้นต่ำ : 100,000 บาท (มูลค่าหน่วยละ 1,000 บาท อย่างน้อย 100 หน่วย) และในปัจจุบันมีหุ้นกู้แบบดิจิทัลออกมาเสนอขาย ขั้นต่ำเพียง 1,000 บาท (1 หน่วย)
- เหมาะกับ คนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ต้องการผลตอบแทนที่แน่นอนและสม่ำเสมอ
สรุปสั้น ๆ
หุ้น คือ ลงทุนในรูปแบบร่วมเป็นผู้ถือหุ้น ผลตอบแทนไม่แน่นอน
หุ้นกู้ คือ ลงทุนในรูปแบบให้ยืมเงิน ผู้ลงทุนเป็นเจ้าหนี้ ผลตอบแทนแน่นอนสม่ำเสมอ
#FinSpace
โฆษณา