29 ม.ค. 2023 เวลา 01:01 • สุขภาพ

พระพุทธเจ้าทรงปฎิเสธความรักหรือไม่ ?

จากสิ่งที่พระองค์ตรัสว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์
"จริงหรือที่ว่า - ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ ?"
 
นักสังเกตการณ์ ผู้รักสันโดษ ปุจฉา:
คำกล่าวที่ว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์" เป็นคำกล่าวที่มองความรักในแง่ร้ายเกินไปหน่อยหรือเปล่า
ฟังดูใจร้ายเกินไปสำหรับปุถุชนคนธรรมดาที่ต้องใช้ชีวิตทางโลกอยู่นะครับ เพราะความรักพ่อกับแม่จึงตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน และเพราะความรักอีกนั่นแหละที่ท่านทั้งสองตัดสินใจมีลูก และเลี้ยงดูเราจนเติบโตมาถึงวันนี้ ถ้าโลกนี้ไม่มีความรัก มนุษย์ก็อาจจะสูญพันธ์ไปแล้วก็เป็นได้จริงไหม
แล้วเหตุใดจึงกล่าวว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์"
 
น่าจะกล่าวว่าความรักมีทั้งสุขและทุกข์ มีทั้งด้านที่รื่นรมณ์และขมขื่น ทำให้หัวใจเราพองโตและทำให้ใจเราห่อเหี่ยวก็ได้ ทำให้เราอยากมีชีวิตอยู่เพื่อคนที่เรารัก หรือทำให้เราไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปเมื่อต้องสูญเสียคนที่เรารัก
พระไพศาล วิสาโลวิสัชนา :
 
คำพูดที่ว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” ไม่ได้เป็นการปฏิเสธว่า “ที่นั่นไม่มีสุข”
แต่เป็นการชี้ให้เห็นความจริงอีกแง่หนึ่งที่คนเรามักมองข้ามไป คือมักเห็นแต่ว่า ความรักทำให้เป็นสุข การมองเห็นความรักแต่แง่เดียว ทำให้คนเราไม่รู้จักเตรียมใจรับมือกับความทุกข์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดความไม่สมหวังขึ้นมา
ความรักที่กล่าวถึงนั้น หมายถึง ความรักแบบปุถุชน (เรียกอีกอย่างว่าเสน่หา หรือสิเนหะ) ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เจือด้วยกิเลส (เช่น ปรารถนาที่จะเสพเสวยสุขเวทนาจากอืกฝ่าย หรือมีความคาดหวังให้อีกฝ่ายตอบสนองความคาดหวังของตน เชิดชูยกย่องตน ตามใจตน)
 
พูดอีกอย่าง คือ ประกอบไปด้วยความยึดติดถือมั่นในตัวตน มีความยึดมั่นว่า เป็นตัวกูของกู รวมทั้งยึดมั่นให้เป็นคงที่ไม่แปรเปลี่ยน ความรักเช่นนี้จึงนำไปสู่ความทุกข์ได้ง่าย เพราะไม่มีอะไรที่คงที่ ไม่แปรเปลี่ยน อีกทั้งไม่สามารถเป็นไปตามใจเราได้ตลอดเวลา เช่น
ถ้าเขาไม่รักเราอย่างที่เราต้องการ ก็เป็นทุกข์
ถ้าเขาต้องการครอบครองเรา เป็นเจ้าเข้าเจ้าของเรา เราก็เป็นทุกข์
เขาไม่ชื่นชมเรา ไม่ตามใจเรา โต้เถียงเรา คิดต่างจากเรา เราก็เป็นทุกข์
ยังไม่ต้องพูดถึงว่า หากเขามีอันเป็นไป หรือเราต้องสูญเสียเขาไป ก็ยิ่งเป็นทุกข์หนักขึ้น
ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งทีเราต้องแลกกับ ความสุขที่จะได้จากความรัก บ่อยครั้งทุกข์ที่เกิดนั้นกลับมากกว่าความสุขด้วยซ้ำ
เคยมีการสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับเทวดา เทวดานั้นบอกว่า
"คนมีบุตรย่อมยินดีเพราะบุตร คนมีโคย่อมยินดีเพราะโค"
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า
"คนมีบุตรย่อมเศร้าโศกเพราะบุตร คนมีโคย่อมเศร้าโศกเพราะโค"
 
ในคำตรัสดังกล่าวพระองค์ไม่ได้ปฏิเสธคำพูดของเทวดา แต่ชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งของความจริง
 
พระพุทธเจ้ามิได้ปฏิเสธความรักของปุถุชน แต่ทรงเห็นว่า มันเป็นสุขที่เจือด้วยทุกข์ เช่นเดียวกับ กามสุข
ซึ่งทรงเปรียบเสมือนคบไฟที่ทำด้วยหญ้าแห้งแม้จะให้แสงสว่าง แต่ก็มีควันที่ระคายเคือง
บางครั้งก็เปรียบคนที่เพลินในกามสุขว่า เหมือนกับคนถือคบเพลิงทำด้วยหญ้าแห้งเดินโต้ลม หากไม่รู้จักวาง ก็จะโดนไฟไหม้มือและอวัยวะต่าง ๆ
อย่างไรก็ตามหากพูดถึงสัดส่วนแล้ว ทุกข์นั้นมีมากกว่าสุข
เป็นเพราะเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงส่งเสริมให้เรามีความรักที่ประณีตขึ้น นั่นคือ เมตตาหรือกรุณา
เพราะเป็นความรู้สึกที่เจือด้วยกิเลสน้อย มุ่งประโยชน์สุขของอีกฝ่ายยิ่งกว่าผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ปรารถนาการครอบครอง
หากเรามีความรักแบบนี้มาก ๆ เราจะทุกข์น้อยลง นอกจากเราจะเป็นสุขแล้ว ยังทำให้อีกฝ่ายเป็นสุขอย่างแท้จริงด้วย
สรุปก็คือ
ความรักเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตก็จริง แต่เราก็ต้องเห็นมันตามความเป็นจริง ว่ามันให้ทั้งสุขและทุกข์ อีกทั้งยังมีความรักที่ประเสริฐกว่าเสน่หา นั่นคีอ เมตตากรุณา
1
ยิ่งเป็นเมตตากรุณาของพระอริยเจ้าด้วยแล้ว ยิ่งให้แต่สุข ปราศจากทุกข์ เพราะไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไร เช่น ล้มหายตายจากไป หรือทำตัวไม่น่ารัก ท่านก็วางอุเบกขาได้ ขณะเดียวกันเมตตากรุณาก็ไม่ได้ลดลง ดังที่ พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระองค์ทรงมีเมตตาต่อพระเทวทัตเท่ากับที่ทรงมีต่อพระราหุล
โฆษณา