12 ก.พ. 2023 เวลา 05:00 • การเมือง

พื้นที่วัฒนธรรม “เกาะสมุย”

: การติดตามการใช้ประโยชน์ของทุนทางวัฒนธรรมสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกาะสมุย
“ทุนทางวัฒนธรรม” ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการสั่งสมมาตั้งแต่ในอดีต จนกลายมาเป็นระบบภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ วิถีชีวิต และความเชื่อ ตลอดจนขนบประเพณีต่าง ๆ ของสังคม ซึ่งทุนทางวัฒนธรรมนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อทั้งตัวมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล และยังมีคุณค่าต่อสังคมในภาพรวมอีกด้วย
นอกจากนั้น ทุนทางวัฒนธรรมถือเป็นสิ่งที่สร้างมูลค่าเพิ่มในการทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ผ่านการพัฒนาสินค้าและบริการที่อาศัยทุนทางวัฒนธรรมเป็นฐาน อาทิ การจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วยการนำเสนอเรื่องราวของพื้นที่หนึ่ง ๆ ผ่านรูปแบบของสถาปัตยกรรม อาหาร ศิลปะการแสดง และการจัดกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ โดยสิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนในชุมชนต่าง ๆ อย่างยั่งยืน
ในปัจจุบัน ทุนทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสำคัญ และในบางพื้นที่ยังปรากฏให้เห็นถึงการผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับทุนทางวัฒนธรรมอยู่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๔ มีการประกาศใช้แผนการปฏิรูปประเทศด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ซึ่งคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา รับผิดชอบในการติดตามการดำเนินการ ก็พบว่าได้มีการระบุถึงกิจกรรมปฏิรูปประเทศ (Big Rock) ที่เกี่ยวข้อง คือ กิจกรรมปฏิรูปที่ ๒ การพัฒนาการเรียนรู้และเศรษฐกิจชุมชนบนฐานวัฒนธรรมแบบบูรณาการ โดยมีการกำหนดเป้าหมายย่อยที่ ๓ ไว้ว่า “ต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่กลับมาสร้างรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับท้องถิ่นผ่านการทำงานแบบบูรณาการ ที่มีการปฏิรูปกระบวนการนำโครงการทางวัฒนธรรมลงสู่พื้นที่เป็นหลัก”
คณะกรรมาธิการการศาสนาฯ ถ่ายภาพร่วมกันที่บ้านโบราณ ณ สมุย
ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง คณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา ได้ตระหนักถึงการใช้ทุนทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยจึงได้มีการติดตามการดำเนินการในด้านทุนทางวัฒนธรรมในห้วงเวลาที่ผ่านมา โดยมีการติดตามการดำเนินการในสถานที่สำคัญ ได้แก่ การติดตามการใช้ประโยชน์ทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
โดยคณะกรรมาธิการได้มีการเดินทางไปศึกษาดูงานในพื้นที่ดังกล่าว ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๕ ซึ่งคณะกรรมาธิการได้เน้นการศึกษาดูงานทั้งในด้านการศาสนา ในประเด็นการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา การพัฒนาวัด และการส่งเสริมกิจการพระพุทธศาสนา และในด้านการส่งเสริมทุนทางวัฒนธรรม ในประเด็นการอนุรักษ์และการสืบสานศิลปะประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้าน
การนำชมบ้านโบราณ ณ สมุย โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเลสมุย
สำหรับประเด็นเรื่องการใช้ประโยชน์ทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากการติดตามของคณะกรรมาธิการในสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ บ้านโบราณ ณ สมุย พิพิธภัณฑ์บ้านมะพร้าว และศาลเจ้ากวนอู ซึ่งสถานที่ทั้ง ๓ แห่งนี้ มีการสะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ในพื้นที่ออกมาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะ “วัฒนธรรมของชาวจีนไหหลำโพ้นทะเล” ผสมสานเข้ากับวัฒนธรรมพื้นถิ่น
ของชาวเกาะสมุยดั้งเดิม โดยในสถานที่บ้านโบราณ ณ สมุย นั้น มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบบ้านทรงจีนไหหลำซ้อนรูป
ซึ่งถ้าดูจากภายนอกเหมือนบ้านชั้นเดียว แต่ภายในนั้นมีถึงสามชั้นด้วยกัน การก่อสร้างทำด้วยไม้หลุมพอทั้งหลัง อายุของบ้านอยู่ที่ ๑๘๕ ปี ปัจจุบันดูแลโดย “วิสาหกิจชุมชนบ้านเลสมุย” ที่เปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมภายในบ้านที่ยังคงมีการจัดตกแต่งอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันแบบโบราณ และมีกิจกรรมให้ได้ทำร่วมกับชุมชน ได้แก่ กิจกรรมปอกมะพร้าว ขูดมะพร้าวแบบดั้งเดิม การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแบบโบราณ และการทำขนมพื้นเมืองของเกาะสมุย เช่น ขนมด้วง มะพร้าวแก้ว เป็นต้น
เยี่ยมชมการดำเนินการของพิพิธภัณฑ์บ้านมะพร้าว
ขณะที่ “พิพิธภัณฑ์บ้านมะพร้าว” เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิถีชีวิตดั้งเดิม
ของชาวเกาะสมุย ประวัติความเป็นมาของการนำมะพร้าวไปใช้ประโยชน์ และข้าวของเครื่องใช้จากมะพร้าวเอาไว้ รวมทั้งการนำส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าว ทั้งผล ใบ ลำต้น และรากไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบที่หลากหลาย เนื่องจากชาวพื้นเมืองสมุยสมัยก่อนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับมะพร้าวมาก ส่งผลให้มีอุปกรณ์ที่ต้องมาคู่กับมะพร้าว คือ “กระต่ายขูดมะพร้าว” ซึ่งภายในพิพิธภัณฑ์มีการรวบรวมกระต่ายขูดมะพร้าวแกะสลักในรูปแบบต่าง ๆ
นอกจากนี้ ภายในพิพิธภัณฑ์บ้านมะพร้าวยังมีการจำหน่ายสินค้าของชุมชน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ลิปบาล์ม สบู่ แชมพู งานฝีมือจากกะลามะพร้าว เป็นต้น
และอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญในฐานะการเป็นระบบความเชื่อของชาวจีนไหหลำโพ้นทะเล คือ “ศาลเจ้ากวนอู” ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี สร้างขึ้นมานานกว่า ๑๕๐ ปีแล้ว โดยเกิดขึ้นมาจากความศรัทธาของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเป็นชาวจีนไหหลำที่อพยพมาตั้งรกรากที่เกาะสมุย
โดยในช่วงแรกเริ่มนั้น
นายลิ้มเทียนหยู (แซ่ลิ้ม) นายลิ้มเทียนวา (แซ่ลิ้ม) และนายโย้กิมยี่ (แซ่โย้) ที่นำเทวรูปแกะสลักองค์กวนอู พร้อมองครักษ์ ๒ องค์ คือ จิวซ่าง (หน้าดำ) และกวนเพ้ง (กวนเป๋ง) บุตรบุญธรรม (หน้าหยก) และองค์บุ่นเถ่ากง (เทพารักษ์) มาประดิษฐาน ณ บ้านหน้าค่าย ซึ่งอยู่บริเวณทางใต้ของศาลเจ้ากวนอูปัจจุบัน ซึ่งแต่ก่อนนั้นเป็นเพียงศาลเจ้าไม้เล็ก ๆ เรียกว่า “ศาลเจ้าบุ่นเถ่ากงหน้าค่าย” หรือ “ศาลเจ้ากวั๋นก๋งหน้าค่าย” แต่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “ศาลเจ้าหน้าค่าย”
และได้มีการบูรณะศาลเจ้าดังกล่าวเรื่อยมา และปัจจุบันได้มีการสร้างเทวรูปกวนอูเนื้อสำริด ที่มีขนาดใหญ่ และสูงถึง ๑๖ เมตร ถือเป็นปูชนียสถานที่สำคัญของเกาะสมุย
สักการะและเยี่ยมชมศาลเจ้ากวนอู
นอกจากนี้ ในพื้นที่วัดวาอารามต่าง ๆ ของเกาะสมุยยังมีการโอกาสในการนำทุนทางวัฒนธรรมออกมาใช้ประโยชน์ในอีกหลายพื้นที่ อาทิ “วัดสำเร็จ” ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ประจำเกาะสมุย สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นสมัยขรัวพุทธสอน วัดถูกสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทย – จีน ผสมกลมกลืนกันได้อย่างลงตัว และยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม วัดยังมีสถาปัตยกรรมที่สำคัญ กล่าวคือ “อาคารรับรองอาคันตุกะ” ซึ่งใช้เป็นสถานที่รับรองพระภิกษุสงฆ์ จุดเด่นอยู่ที่ตัวอาคารที่ทำมาจากหินปะการัง มุงด้วยหลังคาทรงปั้นหยาดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แต่ปัจจุบันอาคารดังกล่าวชำรุดทรุดโทรมและขาดการบูรณะที่ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์โบราณสถาน
กราบนมัสการเจ้าอาวาสและเยี่ยมชมโบราณสถานภายในวัดสำเร็จ
จากการศึกษาดูงานดังกล่าว คณะกรรมาธิการพบว่า พื้นที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเชิงธรรมชาติอันโดดเด่น และเป็นรู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกแล้ว ในส่วนของมิติด้านทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่เกาะสมุยก็มีอยู่อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะในเรื่องของมิติความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Multiculturalism) กล่าวคือ มีทั้งอัตลักษณ์ดั้งเดิมของการเป็น
ชาวเกาะที่มีวิถีชีวิตสัมพันธ์กับสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่ประกอบไปด้วยมะพร้าวและทะเลเป็นหลัก
ส่งผลให้วิถีชีวิตดั้งเดิมนั้น เกี่ยวข้องกับ ๒ สิ่งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อมาเมื่อมีกลุ่มชาวจีนไหหลำอพยพเข้ามา ก็มีการผสมผสานวัฒนธรรมของชาวจีนไหหลำเข้ามาในพื้นที่ ผ่านการปลูกสร้างบ้านเรือนด้วยสถาปัตยกรรมไหหลำแต่ผสมผสานหินปะการัง ซึ่งเป็นวัสดุพื้นถิ่นของเกาะสมุย รวมทั้งการรับประทานอาหารที่สะท้อนออกมาผ่านวิถีของการบริโภคไก่ของชาวจีนไหหลำ
แม้กระทั่งในระบบภูมิปัญญาก็ยังมีการผสมผสานทั้งคติความเชื่อของศาสนาพุทธของคนในพื้นที่ดั้งเดิม และยังมีคติความเชื่อของชาวจีนไหหลำในการสักการะเทพเจ้ากวนอู รวมทั้งในบางพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวมุสลิม ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการเห็นว่า เกาะสมุยยังมีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมให้เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในการให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์โบราณสถานทั้งที่อยู่ในการครอบครองของเอกชนและของวัด เพื่อให้โบราณสถานในพื้นที่ยังคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมที่มีความโดดเด่น และเป็นเครื่องสะท้อนวัฒนธรรมของพื้นที่เกาะสมุยอย่างโดดเด่น
ตลอดจนสามารถนำเอาทุนทางวัฒนธรรมมายกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ด้วยการส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพิ่มเติมขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่เกาะสมุยมีความหลากหลายทั้งทางด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่จะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวในระยะยาว และจะเป็นรากฐานของการสร้างรายได้ให้กลุ่มคนทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน.
โฆษณา