7 ก.พ. 2023 เวลา 12:00 • การตลาด

เบื้องหลังเสียง “ทาดัม” ของ Netflix ที่คนนับล้านฟัง มีเด็ก 10 ขวบ เป็นคนเลือก

ถ้าพูดถึง Netflix ภาพจำของใครหลาย ๆ คนคงจะเป็น..
แพลตฟอร์มสตรีมมิง ที่มีภาพยนตร์หรือซีรีส์สนุก ๆ ชวนอดหลับอดนอน
แนวคิดการบริหารองค์กร ที่เป็นกรณีศึกษาให้กับธุรกิจทั่วโลก
หรือว่าจะเป็น โลโกสีแดงเรียบง่าย แต่มีเอกลักษณ์
2
แต่เชื่อว่า อีกหนึ่งภาพจำ ที่ทุกคนคงจำได้เป็นอย่างดีไม่แพ้กัน
นั่นก็คือ เสียง “ทาดัม” เสียงสั้น ๆ ที่ปรากฏพร้อมกับโลโกรูปตัว N ตอนที่เรากดเล่นภาพยนตร์สักเรื่อง หรือซีรีส์สักตอน นั่นเอง
แล้วรู้หรือไม่ว่า เบื้องหลังเสียงเปิดสั้น ๆ แค่ 4 วินาทีนี้ ใช้เวลาในการออกแบบ “เกือบหนึ่งปี”
ที่สำคัญ ยังมี “เด็ก 10 ขวบ” เป็นคนช่วยเลือก..
ถ้าอยากรู้ว่าเบื้องหลังของเรื่องนี้เป็นมาอย่างไร ? เราไปหาคำตอบกัน
ก่อนอื่นเสียงเปิด Netflix ที่เราคุ้นหูกัน มีชื่อเรียกว่า Sonic Logo หรือโลโกเสียง
ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ ที่ช่วยให้ลูกค้าหรือผู้ใช้งาน จดจำแบรนด์ของเราได้ดียิ่งขึ้น
นอกจาก Netflix แล้ว ก็ยังมีโลโกเสียงของแบรนด์อื่น ๆ ที่หลายคนน่าจะคุ้นหู เช่น
- เสียงเปิด-ปิด Mac ของ Apple
- เสียงเปิด-ปิดคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows
สำหรับโลโกเสียงของ Netflix เปิดตัวครั้งแรกในปี 2015 หรือราว 8 ปีก่อน
จุดเริ่มต้นเกิดจากคุณท็อดด์ เยลลิน (Todd Yellin) รองประธานฝ่ายนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของ Netflix ที่อดีตเคยอยู่ในวงการผลิตภาพยนตร์ และชื่นชอบในการออกแบบเสียงเป็นพิเศษ
คุณเยลลิน เลยมีความคิดอยากให้ Netflix มีโลโกเสียงเป็นของตัวเอง จึงเป็นผู้ริเริ่มโปรเจกต์ขึ้นมา
แต่เส้นทางกว่าที่จะออกมาเป็นเสียงสั้น ๆ แค่ 4 วินาที ที่คนทั้งโลกรู้จัก
หรือที่ภายในบริษัทเรียกกันว่า เสียง “ทา-ดัม (Ta-dum)” ก็ไม่ง่าย เพราะใช้เวลาในการออกแบบเกือบหนึ่งปี
โดยคุณเยลลิน เริ่มจากการตั้งต้นว่า อยากให้ผู้ใช้งานที่ได้ฟังเสียงนี้ แล้วรู้สึกทันทีว่า กำลังจะรับชมเรื่องราวหรือภาพยนตร์ดี ๆ สนุก ๆ ได้ที่บ้าน
และคุณเยลลินได้วางเงื่อนไขการออกแบบโลโกเสียงไว้ว่า
1. ต้องสั้น กระชับ ไม่เหมือนกับโลโกเสียงของ 20th Century Fox
หรือเสียงสิงโต Leo the Lion ของ MGM
เพราะปัจจุบันคือ ยุค Click & Play ที่ผู้ใช้งานไม่สามารถอดทนรออะไรนาน ๆ ได้
ไม่เหมือนกับการฉายหนังในโรงภาพยนตร์ ที่สามารถบังคับให้ผู้ชมรอได้
2. ไม่ใช่เสียงอิเล็กทรอนิกส์
ไม่เหมือนอย่างโลโกเสียงเปิด-ปิด Mac ของ Apple
เพราะ Netflix เป็นธุรกิจด้านเอนเทอร์เทนเมนต์ ประกอบกับเทคโนโลยี
ซึ่งก็ควรเป็นเสียงที่ให้อารมณ์เหมือนดูภาพยนตร์ (Cinematic) มากกว่าเสียงอิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง
3. ไม่มีคำว่า Netflix ในโลโกเสียง
แต่คุณเยลลิน อยากได้เสียงที่ได้ยินแล้ว จะจำได้ทันทีว่า นี่คือเสียงของ Netflix
อีกทั้งเสียงที่คุณเยลลินอยากได้ก็คือ เสียงที่สามารถสื่อความหมายได้ถึงความตึงเครียดและคลี่คลาย ภายในระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งก็เปรียบเสมือนภาพยนตร์หรือซีรีส์ ที่มักจะต้องมีปมของเรื่อง แล้วคลี่คลายในภายหลังนั่นเอง
ที่สำคัญ คุณเยลลิน ยังให้อีกหนึ่งแนวทางในการออกแบบไว้ว่า
อย่ากลัวที่จะสร้างสรรค์และออกแบบเสียงแปลก ๆ หรือเสียงที่แตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี หลังจากที่คุณเยลลิน ได้ทดลองให้นักออกแบบเสียงดิไซน์มาหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ถูกใจ
จึงตัดสินใจชวนคุณลอน เบนเดอร์ (Lon Bender) นักออกแบบเสียงที่มีรางวัลการันตีมากมาย และยังเคยร่วมงานด้วยในอดีต มาร่วมออกแบบ
ถึงแม้คุณเบนเดอร์ จะมีประสบการณ์มากมาย
แต่งานออกแบบโลโกเสียงในครั้งนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นงานหินพอสมควร..
คุณเบนเดอร์เล่าว่า เขาได้ทดลองออกแบบเสียง จนมีมากกว่า 30 ตัวเลือก
ซึ่งก็มีทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เสียงออกแนวตลก ๆ, เสียงเปิดประตู ไปจนถึง เสียงเครื่องดนตรีแปลก ๆ
จนสุดท้าย คุณเยลลิน ก็ได้คัดเลือกจนเหลือเข้ารอบสุดท้ายเพียงไม่กี่เสียงที่โดดเด่น เช่น
- เสียงทาดัม ที่ใช้ในปัจจุบัน แต่มีเสียงแพะร้องปิดท้าย..
- เสียงฟองน้ำใต้มหาสมุทร
 
ซึ่งคุณเยลลินเล่าว่า จริง ๆ แล้วเขาชอบเสียงทาดัมที่มีแพะร้องตอนท้าย
เพราะนอกจากจะเป็นเสียงที่ตรงตามโจทย์แล้ว
ยังรู้สึกว่าเป็นเสียงที่น่าดึงดูด ที่สำคัญก็ยังตลกและแปลกใหม่อีกด้วย
1
แต่ในตอนหลัง คุณเยลลิน เกิดเปลี่ยนใจ คิดว่าเสียงแพะไม่น่าจะเวิร์ก
จึงตัดออก เหลือไว้เพียงแค่เสียงทาดัมเท่านั้น
อย่างไรก็ดี คุณเยลลินและทีมออกแบบ ก็ยังเลือกไม่ได้ว่าจะใช้เสียงอะไรดี
จึงเริ่มทำการสำรวจความคิดเห็นของคนหลายพันคน โดยให้แต่ละคนฟังเสียง แล้วบอกว่าแต่ละเสียงรู้สึกอย่างไร
ซึ่งผลปรากฏว่า เสียงทาดัมได้รับการตอบรับดีที่สุด
เพราะหลาย ๆ คนบอกตรงกันว่า เป็นเสียงที่น่าสนใจ สั้นกระชับ ที่สำคัญบางคนยังอธิบายว่า เป็นเสียงที่สะท้อนถึงภาพยนตร์ ทั้งที่ไม่รู้ว่า เสียงนี้จะนำมาใช้กับ Netflix อีกด้วย
หลังจากออกแบบมาเนิ่นนาน จนเข้าใกล้ความจริงที่จะได้นำโลโกเสียงมาใช้
แต่ด้วยความกดดันที่ว่า เมื่อเสียงถูกนำไปใช้ แล้วจะมีคนเป็นล้าน ๆ คนได้ยิน
คุณเยลลิน จึงอยากได้ “ผู้ชี้ขาด” คนสุดท้ายมาช่วยยืนยัน
ซึ่งคนคนนั้นก็คือ “ลูกสาววัย 10 ขวบ” ของเขา
โดยเขาได้เปิดเสียงต่าง ๆ ให้ลูกสาวฟัง ซึ่งลูกสาวของเขาก็ตัดสินใจเลือกเสียงทาดัมในทันที
มาถึงตรงนี้ หลายคนก็คงได้รู้แล้วว่า
เบื้องหลังการออกแบบเสียงทาดัมของ Netflix มีที่มาอย่างไร
แล้วรู้หรือไม่ว่า เสียงทาดัม เกิดจากเสียงอะไรบ้าง ?
คุณเบนเดอร์เล่าว่า ตอนออกแบบ เขาพยายามตามหาเสียงแปลก ๆ
จนบังเอิญได้ยินเสียง “แหวนแต่งงาน” ของเขาเอง กระทบกับตู้ในห้องนอน แล้วรู้สึกชอบ จึงบันทึกเก็บไว้
ต่อมาคุณเบนเดอร์อยากเพิ่มความแปลกขึ้นอีกเล็กน้อย
เลยเลือกหยิบเสียงอื่น ๆ อีก 3 เสียงมาผสม ไม่ว่าจะเป็น เสียงเหล็ก, เสียงตี และปิดท้ายด้วยเสียงกีตาร์ไฟฟ้า
ทั้งหมดนี้ จึงเป็นที่มาของโลโกเสียงของ Netflix ที่เราได้ยินกันทุกวันนี้นั่นเอง
จากเรื่องนี้ ก็สะท้อนให้เห็นว่า การสร้างแบรนด์ เพื่อให้คนจดจำไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ถ้าเกิดว่า เราคิดและวางแผนมาเป็นอย่างดี เหมือนอย่างที่ Netflix ทำ ถึงแม้ว่าจะแลกกับการใช้เวลาสักเล็กน้อยก็ตาม
อีกทั้งการทดลองอะไรแปลก ๆ ใหม่ ๆ ก็อาจได้ผลลัพธ์ที่ดี ที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้
แต่ที่สำคัญคือ ไม่ควรแปลกจนเกินไป
เหมือนกรณีเสียงเปิดของ Netflix ที่ตอนแรกเกือบเป็นเสียงแพะร้อง
คุณเยลลินเองก็ยังบอกว่า ขอบคุณพระเจ้า ที่เขาไม่เลือกเสียงแพะ
ไม่เช่นนั้น โลโกเสียงของ Netflix อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าทุกวันนี้ก็ได้..
โฆษณา