14 มี.ค. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

หนี้ครัวเรือน...นัยต่อทิศทางการบริโภคระยะยาว

แม้ภาพรวมหนี้ครัวเรือนในปี 66 อาจชะลอลงมาอยู่ที่ 84.0-86.5% ต่อจีดีพี แต่ภาระหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง จะยังเป็นข้อจำกัดการเติบโตของการบริโภคในระยะยาว
ขณะที่การดูแลปัญหาหนี้และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น น่าจะส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อรายย่อยของระบบแบงก์ไทยเติบโตลดลง การดูแลให้หนี้สินที่เกิดขึ้นเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคครัวเรือน จึงเป็นอีกโจทย์ท้าทายในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการลดสัดส่วนของหนี้ครัวเรือน
จากการศึกษาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบข้อสรุปที่สอดคล้องกับการศึกษาของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ หรือ BIS ที่สะท้อนว่า
การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการบริโภคในระยะสั้น แต่จะลดศักยภาพการเติบโตของการบริโภคของครัวเรือนในระยะยาว ซึ่งหมายความว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีที่คงตัวอยู่ระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นปัจจัยที่จำกัดการเติบโตของการบริโภคในภาพรวม
หากมองภาพในระดับที่ย่อยลงมาในปี 2566 รวมถึงในอนาคตอันใกล้หลังจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า อัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนน่าจะลดความหวือหวาลง เนื่องจาก
1) ทิศทางดอกเบี้ยของไทยที่ยังคงเป็นขาขึ้น น่าจะทำให้ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนมีความระมัดระวังในการก่อหนี้ก้อนใหม่ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยที่อ่อนไหวต่อการขยับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เช่น
สินเชื่อรายย่อยที่เป็นหนี้ก้อนใหญ่วงเงินกู้ยืมต่อสัญญาค่อนข้างสูงและมีการผ่อนชำระหลายปี ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัย สินเชื่ออเนกประสงค์ที่มีหลักประกัน รวมถึงสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ก็อาจทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้บางกลุ่มอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
2) แนวทางดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนของทางการไทย ซึ่งจากเอกสารทิศทางและนโยบาย (Directional Paper) ของ ธปท. ว่าด้วยแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน คงจะมีมาตรการและโครงการต่างๆ ออกมาเพิ่มเติม
ทั้งในส่วนของการแก้ไขหนี้เดิมที่เน้นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการดูแลการก่อหนี้ใหม่ ซึ่งในปี 2566 น่าจะเน้นไปที่การดูแลความสามารถในการชำระคืนและไม่กระตุ้นการก่อหนี้โดยไม่จำเป็น
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า สินเชื่อรายย่อยในระบบแบงก์ไทยในปี 2566 น่าจะเติบโตในกรอบประมาณ 3.7-4.8% ชะลอลงจากที่เคยเติบโตเฉลี่ยประมาณ 6.0% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย อาจชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่สองมาอยู่ที่กรอบประมาณ 84.0-86.5% เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ ณ สิ้นปี 2565 ที่ 86.8% และระดับ 90.1% ในปี 2564
ซึ่งแม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในปี 2566 อาจมีแนวโน้มชะลอลง ทว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนยังคงเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ความท้าทายในการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย จึงไม่ได้อยู่ที่เป้าหมายของการลดระดับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีแต่เพียงอย่างเดียว
แต่ยังอยู่ที่การดูแลให้หนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้นใหม่มีส่วนผสมของหนี้ที่มีคุณภาพ เพื่อทยอยปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้ครัวเรือนในภาพใหญ่ให้มีส่วนผสมของหนี้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพ
ขอบคุณภาพจาก Shutterstock.com
โฆษณา