19 มี.ค. 2023 เวลา 07:00

พระไตรปิฏก กับเหตุ 5 ประการ ที่บุคคลไม่สามารถรู้ตามธรรมได้

ในตอนนี้จะเขียนเรื่อง พระไตรปิฏกกับเหตุ 5 ประการ ที่ทำให้บุคคลผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อเข้าไปศึกษาพระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้าที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกแล้ว จึงไม่สามารถรู้จริง ไม่สามารถแทงตลอด ในพระธรรมคำสอนนั้นๆจนเป็นที่ถ้วนรอบได้ จนเป็นเหตุให้เกิดความเป็นมิจฉาทิฏฐิ และกล่าวตู่พระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้าอยู่โดยทั่วไป เพื่อให้เห็นความสำคัญในเรื่องนี้จึงได้นำมาแสดงอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นเหตุปัจจัยตามสำควรต่อไปในเบื้องหน้า
เหตุปัจจัย 5 ประการนั้นคือ
ประการที่1 พระธรรมคำสอนในองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดเดาไม่ได้ ละเอียดสุด บัณฑิตหรือผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน
1
ประการที่2 พระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้านั้น มีคุณสมบัติที่เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ตรงนี้ได้เขียนรายละเอียดไว้หรือแม้แต่ได้พูดเป็นพอดคาสต์เอาไว้บ้างแล้ว
ประการที่3 ต่อเนื่องมาจากประการที่2 เมื่อพระธรรมคำสอนเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ เป็นปัจจัยให้เกิดประการต่อมา คือ พระพุทธเจ้าจะไม่รวบรวมพระธรรมคำสอนท่านเป็นบทพยัญชนะเป็นพระไตรปิฎกเพื่อเป็นตำราเรียนหรือตำราศึกษาแต่อย่างใด
ประการที่4 อรหันตสาวกที่ทำการรวบรวมพระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้าขึ้นเป็นพระไตรปิฎกนี้ เกิดจากเหตุปัจจัยส่วนของท่านพระมหากัสสปะได้ชี้ให้เห็นแล้ว แต่เหตุปัจจัยที่ท่านรวบรวม ไม่ได้รวบรวมเพื่อเป็นตำราเรียนตำราศึกษาแต่อย่างใด
และประการที่5 เพราะบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนั้นไม่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติปางก่อน
นี่คือเหตุปัจจัย 5 ประการ ที่ทำให้บุคคลผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อไม่สามารถรู้ตามธรรมได้ เมื่อเข้าไปศึกษาพระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้า ที่ปรากฏอยู่่ในพระไตรปิฎกแล้ว จึงไม่สามารถรู้จริง ไม่สามารถแทงตลอดในพระธรรมคำสอนนั้นๆจนเป็นที่ถ้วนรอบได้ จนเป็นเหตุให้เกิดความเป็นมิจฉาทิฏฐิ และกล่าวตู่พระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้าอยู่โดยทั่วไป
ลำดับต่อไปนี้เป็นรายละเอียด เหตุปัจจัย 5 ประการ ที่ทำให้บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดไม่สามารถรู้ตามธรรมได้
ประการที่1
ที่ว่าพระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้านั้นมีความลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดเดาไม่ได้ ละเอียดสุด บัญฑิตพึงรู้แจ้งได้ด้วยตนเองนี้มีคุณสมบัติอยู่อย่างไร?
ในเรื่องที่ 1 นี้เราต้องย้อนกลับไปดูที่ เมื่อพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ เป็นพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ท่านถึงกับจะไม่ประกาศธรรม ดังที่ท่านได้ตรัสเอาไว้ในมหาปทานสูตรบ้าง ในวิปัสสีสูตร สิขีสูตร เวสสภูสูตร กุกุสันธะสูตร โกนาคมนะสูตร กัสสปะสูตร มหาศักยมุนีโคตมสูตรบ้าง
ดังที่ท่านตรัสว่าก็หมู่สัตว์นี้ มีอาลัยเป็นที่รื่นรมย์ ยินดีแล้วในอาลัย บันเทิงนักในอาลัย ก็เมื่อหมู่สัตว์นี้มีอาลัยเป็นที่รื่นรมย์แล้ว ยินดีแล้วในอาลัย บันเทิงนักในอาลัยเช่นนี้ ยากนักที่หมู่สัตว์นี้จะเห็นสภาวะแห่งธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยประชุมกันเกิดขึ้น ธรรมที่พระองค์ท่านตรัสรู้นั้นคือธรรมที่ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาท
ในเบื้องต้นนี้ท่านก็ปริวิตกว่าหมู่สัตว์จะเห็นธรรมนี้ตามท่านไม่ได้และท่านก็ยังชี้ต่อไปว่า และยากนักที่หมู่สัตว์นี้จะเห็น สภาวะซึ่งเป็นการดับสังขารทั้งปวง สลัดคืนอุปธิทั้งปวง ดับตัณหา ดับความกำหนัดในโลกทั้งปวง ดับทุกข์ทั้งมวล และถึงสภาวะแห่งนิพพาน
เป็น 2 ฝากฝั่ง ฝั่งของความเกิดทุกข์โดยปฏิจจสมุปบาท และฝั่งของความดับทุกข์โดยปฏิจจสมุปบาทนี้
ท่านปริวิตกว่าหมู่สัตว์ทั้งหลายจะรู้ตามธรรมที่พระองค์ท่านตรัสรู้ตามท่านไม่ได้ จนท่านตรัสว่าก็เราแลจะแสดงธรรมนี้ หมู่สัตว์อื่นจะรู้ถ้วนตามธรรมนี้ตามเรานี้ไม่ได้ จะเป็นเหตุให้เกิดความลำบากเปล่า ความเหนื่อยเปล่าแก่เรา ธรรมที่ชื่อว่าปฏิจจสมุบาทนี้ มีความลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก
หลักที่เราจะดูว่าผู้คนในยุคปัจจุบันนี้เห็นพระธรรมที่ชื่อว่าปฏิจจสมุปบาทนี้ตามท่านได้หรือไม่นั้น ดูง่ายๆดังนี้
พระธรรมที่ชื่อว่าปฏิจจมุปบาทนั้น มีคุณสมบัติที่เป็นปัจจยาการต่อกันคือ วิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ โสก ปริเทวะ ทุกข โทมนัส อุปายาส อัปปิเยหิ สัมปโยโค ทุกโข ปิเยหิ วิปปโยโค ทุกโขยัมปิจฉัง น ลภติ ตัมปิ ทุกขัง ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น มีได้ด้วยประการฉะนี้
เมื่อแสดงปฏิจจสมุปบาทจบท่านจะตรัสว่า ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง5 เป็นตัวทุกข์ จากปฏิจจสมุปบาทยาวๆย่อเป็นขันธ์5 ขันธ์5 ประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นปัจจยาการต่อกันอยู่ 5 องค์ธรรม จากยาวๆย่อลงเหลือ 5 คำ
ปฏิจจสมุทบาทเป็นบทธรรมเต็ม ขันธ์5 เป็นบทธรรมย่อ
หลังพุทธกาลมานี้ ผู้คนได้สำคัญผิดในขันธ์5 ว่าเป็นร่างกายมนุษย์ การอธิบายขันธ์5 ว่าเป็นร่างกายมนุษย์ เป็นการเห็นผิดในพระธรรมคำสอนในองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกล่าวตู่อยู่ทั้งสิ้น
ประการที่2
คือพระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้าเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ดังที่ท่านตรัสกับเกวัฏฏในเกวัฏสูตรว่าดูกรเกวัฏฏ ก็อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นไฉน ดูกรเกวัฏฏ อนุสาสนีปาฏิหาริย์คือ
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำสอนกันอยู่อย่างนี้ว่า
ท่านจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น
ท่านจงทำใจอย่างนี้ อย่าได้ทำใจอย่างนั้น
ท่านจงละสิ่งนั้น จงเข้าถึงสิ่งนี้แล้วอยู่
องค์คุณแห่งอนุสาสนีปฏิหาริย์มีเหตุปัจจัยอยู่ 3 ประการประชุมกัน เรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นบ้างแล้วคือ 1พระศาสดาหรือผู้รู้ 2พระธรรม 3ผู้ฟัง เมื่อเหตุปัจจัย 3 ประการนี้ประชุมกัน จึงจะเรียกว่าอนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือมีศาสดา มีพระธรรม มีผู้ฟัง นี้คือองค์คุณแห่งอนุสาสนีปาฏิหาริย์
ชี้ให้ดูที่คำว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำสอนกันอยู่อย่างนี้ว่า ท่านให้สอนกัน ท่านไม่ได้บอกว่าไปอ่านไปศึกษาตำหรับตำราใดๆ พระธรรมนี้มีคุณสมบัติที่เป็นอนุสาสนีปฏิหาริย์ดังนี้
ประการที่3
คือพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นพระองค์ใดที่ปรากฏอยู่ใน 91กัป ที่ผ่านมานี้ พระพุทธเจ้าวิปัสสี พระพุทธเจ้าสิขี พระพุทธเจ้าเวสสภู พระพุทธเจ้ากุกุสันธะ พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ พระพุทธเจ้ากัสสะปะ และพระพุทธเจ้าโคตม คือสมณโคดมนี้
ดูกรเกวัฏฏ อนุสาสนีปาฏิหาริย์คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำสอนกันอยู่อย่างนี้ว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ อย่าได้ตรึกอย่างนั้น ท่านจงทำใจอย่างนี้ อย่าได้ทำใจอย่างนั้น ท่านจงละสิ่งนั้น จงเข้าถึงสิ่งนี้แล้วอยู่
ไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ใดดำริ หรือสังการให้กระทำการรวบรวมพระธรรมคำสอนท่านเป็นบทพยัญชนะเป็นพระไตรปิฎก เพื่อเป็นตำรา เพื่อให้ศึกษาเล่าเรียนเลย เนื่องจากเหตุปัจจัยที่1 กับเหตุปัจจัยที่2 เป็นสำคัญ ท่านจึงไม่เขียนตำหรับตำราใดๆขึ้น เราจึงไม่เคยเห็นตำราใดๆถูกเขียนขึ้นโดยมีพระพุทธเจ้าพระองค์ใดเป็นผู้ดำริให้เขียนหรือร่วมเขียนในตำรานั้นๆเลย แม้พระไตรปิฎกพระองค์ก็ไม่ได้ดำริหรือสั่งการให้เขียนขึ้น
ประการที่4
อรหันตสาวกโดยการนำของท่านพระมหากัสสปะ และ เอตทัคคะต่างๆที่กระทำการรวบรวมพระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้า ที่ประกาศธรรมตลอดพระชนชีพนั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะรวบรวมพระธรรมคำสอนนี้เป็นตำราเรียน เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษาเป็นหลักสูตรการศึกษาใดๆ แล้วจะปฏิบัติตามธรรมนี้เพื่อความสิ้นทุกข์ออกจากวัฏสงสารได้โดยง่าย ท่านไม่ได้มีเหตุปัจจัยนี้ในการรวบรวม
แต่ท่านรวบรวมพระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้าขึ้นเป็นพระไตรปิฎก เพื่อป้องกันบุคคลผู้ที่จะกล่าวกล่าวตู่ในพระพุทธเจ้า กล่าวตู่พระธรรม กล่าวตู่พระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วเป็นสำคัญ
ประการที่5
บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนั้น เป็นผู้ไม่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติปางก่อน ข้อนี้สำคัญมาก ที่ว่าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดไม่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติปางก่อนนั้นคือ
บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนั้นไม่ได้เป็นผู้ที่ฟังธรรมนี้มาก่อนเนืองๆ
บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนั้นไม่ได้จำธรรมนี้จนติดปาก
บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนั้นไม่ได้จำธรรมนี้จนขึ้นใจ
บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนั้นไม่ได้เป็นผู้แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิในธรรมนั้นๆมาก่อน
ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดไม่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติปางก่อนด้วยธรรม 4 ประการนี้ คือเป็นผู้ฟังธรรมเนืองๆ จำติดปาก จำขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิมาก่อนแล้ว บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนั้นจะไม่สามารถรู้ตามธรรมในพระไตรปิฎกนี้ได้เลย
นี่คือเหตุปัจจัย 5 ประการ ที่ทำให้บุคคลผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อเข้าไปศึกษาพระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้า ที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกแล้ว จึงไม่สามารถรู้จริง ไม่สามารถแทงตลอด ในพระธรรมคำสอนนั้นๆจนเป็นที่ถ้วนรอบได้ จนเป็นเหตุให้เกิดความเป็นมิจฉาทิฏฐิ และกล่าวตู่พระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้าอยู่โดยทั่วไป
ในเรื่องที่เราเห็นว่าบุคคลผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิและกล่าวตู่นี้ดูไม่ยากเลย คือเมื่อแสดงแล้ว เมื่อประพฤติตามธรรมที่บุคคลเหล่านั้นแสดงแล้วไม่ถึงผลใดๆ ไม่เกิดผลใดๆ นั่นคือการเห็นผิดและการกล่าวตู่อยู่
สรุปเรื่อง พระไตรปิฏก กับเหตุ 5 ประการ ที่บุคคลไม่สามารถรู้ตามธรรมได้
ประการที่1
พระธรรมนี้ ลึกซึ้ง เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาดเดาไม่ได้ ละเอียดสุด บัญฑิตพึงรู้แจ้งได้ด้วยตนเอง
ประการที่2
พระธรรมคำสอนนี้เป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์
ประการที่3
พระพุทธเจ้า ทุกพระองค์ไม่เคยดำริ ไม่เคยสังการให้ใครกระทำการรวบรวมพระธรรมคำสอนของท่านเป็นบทพยัญชนะเป็นพระไตรปิฎกเพื่อให้เป็นตำหรับตำราหรือศึกษาแต่อย่างใดเลย
ประการที่4
อรหันตสาวกโดยการนำของท่านพระมหากัสสปะ ท่านไม่ได้มีเจตนาที่จะทำการรวบรวมพระธรรมคำสอนนี้ให้เป็นตำหรับตำราเรียนให้ผู้หนึ่งผู้ใดเลย
ประการที่5
เพราะบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนั้น ไม่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติปางก่อน
ปัจจัย 5 ประการ นี้เป็นปัจจัยที่ทำให้ บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดไม่สามารถรู้จริง ไม่สามารถแทงตลอดในพระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้า ที่ปรากฏอยู้ในพระไตรปิฎกได้ จนเป็นที่ถ้วนรอบได้ จนเป็นเหตุให้เกิดความเป็นมิจฉาทิฏฐิ และกล่าวตู่พระธรรมคำสอนในพระพุทธเจ้าอยู่โดยทั่วไป เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไม่สามารถรู้ตามธรรมได้ ดังนี้
โฆษณา