31 มี.ค. 2023 เวลา 08:50 • ข่าวรอบโลก

แรงบันดาลใจจากผู้หญิงไทยในองค์การระหว่างประเทศ (๑) 👩🏻🇹🇭

ส่งท้ายเดือนแห่งวันสตรีสากล ๒๕๖๖…แรงบันดาลใจจากผู้หญิงไทยในองค์การระหว่างประเทศ (๑)
ทราบหรือไม่ว่าเดือนมีนาคมมีวันสำคัญวันหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ?
วันที่ ๘ มีนาคม ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันสตรีสากล (International Women's Day: IWD) ซึ่งทั่วโลกต่างเฉลิมฉลอง รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ และเคลื่อนไหวเพื่อยกระดับความเท่าเทียมของสตรี
เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๐ กลุ่มกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประท้วงให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้างและเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ เนื่องจากทนไม่ไหวต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่การประท้วงในครั้งนี้ไม่ได้ประสบผลสำเร็จ และมีผู้หญิงกว่า ๑๑๙ เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ส่งผลให้แรงงานหญิงประท้วงเพิ่มขึ้นอีกหลายครั้งในหลายเมืองของสหรัฐฯ จนกระทั่งวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ที่ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ ๒ ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องด้านสิทธิแรงงานและข้อเสนอของกลุ่มแรงงานหญิง ที่ขอให้กำหนดให้วันที่ ๘ มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากลในที่สุด
เราจึงอยากเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านส่งท้ายเดือนมีนาคม ๒๕๖๖ นี้ ด้วยเรื่องราวของผู้หญิงไทยในองค์การระหว่างประเทศ ๕ ท่าน เพื่อระลึกถึงวันสตรีสากล ๒๕๖๖ ภายใต้แนวคิด "Embrace Equity" โอบกอดความเสมอภาค ซึ่งแต่ละท่านล้วนมีบทบาทและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่โลกของเราค่ะ
(ที่มา: เว็บไซต์ The Upper Grand Family Health Team)
เริ่มต้นด้วย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) ซึ่งท่านถือเป็นหนึ่งในผู้หญิงไทยที่มีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ในยุคแรก ๆ ของการส่งเสริมการพัฒนาสตรีก็ว่าได้
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อมรา พงศาพิชญ์ (กลาง)
จากประสบการณ์วิชาการด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิสตรีทั้งในไทยและในเวทีระหว่างประเทศ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อมราฯ เล่าให้เราฟังว่าแนวคิด “Embrace Equity” ซึ่งมุ่งเน้นการมีโอกาสที่เท่าเทียมเป็นแนวคิดที่ขยายตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความก้าวหน้าในประเด็นนี้มาโดยตลอด
เทียบกับหลายประเทศ และในระดับอาเซียน ผู้หญิงก็มีความก้าวหน้าในบทบาทต่าง ๆ ในเวทีอาเซียนเช่นกัน
เมื่อเล่าถึงเวที AICHR ท่านก็ได้เล่าถึงบรรยากาศในอดีตให้เราฟังสั้น ๆ ว่า “เรายังมีอิสระที่จะแสดงความคิดเห็น เราสามารถพูดคุยในเวทีหรือถกเถียงกันในที่ประชุมไปได้เลย” ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงบทบาทเชิงรุกในฐานะผู้แทนสตรีไทยในเวที AICHR ได้เป็นอย่างดี
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. อมรา พงศาพิชญ์
ที่สำคัญ ท่านยังทิ้งท้ายให้พวกเราตระหนักถึงความท้าทายที่ว่า แม้สถานะของผู้หญิงและผู้ชายจะเท่าเทียมมากขึ้นแล้ว แต่บทบาทของผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูงยังคงมีสัดส่วนน้อยกว่ามากเทียบกับผู้ชาย
เมื่อกล่าวถึงสายอาชีพที่คนมักนึกถึงบทบาทของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คงหนีไม่พ้นอาชีพ “ทหาร” เราจึงพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับทหารหญิงไทยในภารกิจระหว่างประเทศ นาวาเอกหญิง ญาดา เทียมทิพย์ นายทหารประสานงาน กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจไทย - เซาท์ซูดานในภารกิจ UNMISS ณ สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน
นาวาเอกหญิง ญาดา เทียมทิพย์
คุณญาดาเล่าถึงภารกิจปัจจุบันของเธอที่เซาท์ซูดาน คือการซ่อมและสร้างถนน รวมถึงหนึ่งในถนนสายหลักของประเทศ ซึ่งกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจของไทยจะต้องประสานงานกับกองร้อยทหารช่างจากประเทศอื่น ๆ ด้วย
เธอเน้นว่า ท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา เพศ วัฒนธรรม และประสบการณ์ทางสหประชาชาติยังส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่หญิงได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่าง ๆ รวมถึง ผู้สังเกตการณ์ทางทหารของสหประชาชาติด้วย โดยเห็นว่าผู้หญิงมีความสำคัญในการนำนโยบายไปปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงนั่นเอง
นอกจากเซาท์ซูดาน คุณญาดายังเคยปฏิบัติหน้าที่บริเวณเส้นแบ่งเขตหยุดยิง (Line of Control) ในแคชเมียร์ ซึ่งเธอต้องเดินทางขึ้นเขาไกลหลายกิโลเมตรพร้อมกับเพื่อนทหารชาวสวีเดน เพื่อตรวจสอบสถานที่ที่ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง เธอเล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความซึ้งใจในเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “ถึงเขาจะไม่มีอะไรเลย เตาไฟก็จุดเป็นไฟ เป็นฟืน แต่เขาก็พยายามต้มชาให้เราทาน…ซึ่งเราก็รับน้ำใจเขา”
และเธอก็ไม่ลืมจะฝากถึงผู้หญิงทุกคนว่า หากอยากจะออกไปผจญภัยเหมือนเธอ
ไม่ต้องเป็นคนพิเศษ เป็นคนธรรมดาก็ทำได้ ถ้ามุ่งมั่นและตั้งใจ
นาวาเอกหญิง ญาดา เทียมทิพย์
ด้านของดร. รัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children: ACWC) ผู้หญิงเก่งอีกหนึ่งท่านในเวทีระหว่างประเทศ ก็มีชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยความท้าทาย
ในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน
ดร. รัชดา ไชยคุปต์
ดร. รัชดาฯ บอกกับเราว่า สำหรับเธอ “ความท้าทายคือโอกาส” เพราะงานของเธอคือ การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนหลากหลายด้าน ทั้งสิทธิเด็ก สิทธิทางการศึกษา สิทธิแรงงาน การต่อต้านการค้ามนุษย์ และสิทธิสตรี ก่อนที่เธอจะก้าวสู่เวทีระหว่างประเทศ
ซึ่งดร. รัชดาฯ เห็นว่า หนึ่งในข้อท้าทายที่สำคัญ คือ พื้นฐานความเข้าใจด้านความเสมอภาคระหว่างเพศ ที่ไม่จำกัดเฉพาะเพศหญิงหรือชายและครอบคลุมทุกเพศทุกวัย ซึ่งเวทีระหว่างประเทศ เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประเทศต่าง ๆ ได้มาร่วมหารือเพื่อให้เกิดความสำเร็จร่วมกัน ซึ่งผู้แทนทุกท่านจะต้องเผชิญความท้าทายในการบรรลุ “ฉันทามติ” ร่วมกันตามกลไกของอาเซียน
ความท้าทายคือโอกาส
ดร. รัชดา ไชยคุปต์
แล้วนอกจากความท้าทายที่ผู้หญิงในทุกสายอาชีพจะต้องเผชิญแล้ว อะไรคือแรงบันดาลใจของพวกเธอกันนะ ? เราขอชวนให้ท่านผู้อ่านไปติดตามกันต่อ กับเรื่องราวของผู้หญิงไทยในองค์การระหว่างประเทศอีก ๒ ท่านในบทความฉบับหน้าค่ะ
สามารถติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่
• International Women's Day 2023 ผู้หญิงไทยในองค์การระหว่างประเทศ EP.1 https://www.youtube.com/watch?v=SIrGJO_JuHA
• International Women's Day 2023 ผู้หญิงไทยในองค์การระหว่างประเทศ EP.2 https://www.youtube.com/watch?v=fOhqPIT2oQ8&t=158s
• International Women's Day 2023 ผู้หญิงไทยในองค์การระหว่างประเทศ EP.3 https://www.youtube.com/watch?v=aGs561jXBEU
นางสาวพัณณ์ชิตา โชติจินตนาทัศน์ และนางสาวพิมพ์ภัทรา ณ กาฬสินธุ์
เจ้าหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา