16 เม.ย. 2023 เวลา 10:25 • ไลฟ์สไตล์

“ลดการดึงเข้าและผลักออก”

" … ทางโลกเนี่ย มีถนนหนทางหลายเส้นทางนับประมาณไม่ได้นะ แค่ในกรุงเทพ ฯ ถนนหนทางก็เพียบละ
ทางโลกนี้เส้นทางมีมากมายนับไม่ถ้วน แต่ทางธรรมมีอยู่เพียงเส้นทางเดียวเท่านั้น ที่เรียกว่า เส้นทางสายเอก เป็นทางสายเดียวเท่านั้นที่จะหลุดพ้น จากวังวนของวัฏสงสาร จากกองทุกข์ทั้งปวง คืนสู่ความบริสุทธิ์ของธรรมชาติได้
ธรรมชาตินั้นมีความเป็นกลาง เพราะฉะนั้นเส้นทางสายเดียวนั้น ก็คือ สิ่งที่เรียกว่าทางสายกลางนั่นเอง
คำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งหมด ก็เป็นเรื่องของทางสายกลางเนี่ยแหละ ไม่ว่าจะเป็นอิทธิบาท ๔ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปทาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ที่ทรงแสดงด้วยพระปัญญาอันยิ่ง
บางคนศึกษาธรรม จับหลักไม่ถูกเลย เพราะเยอะมาก 84000 พระธรรมขันธ์
แต่โดยทางสภาวะแล้วเนี่ย ธรรมชาติมีความเป็นกลาง ทางสายเดียวเท่านั้นที่จะคืนสู่ความเป็นธรรมชาติ ก็คือทางสายกลางนั่นเอง ตั้งแต่อริยมรรคมีองค์ ๘
ทางสายกลาง การละทางสุดโต่ง หย่อนไป ตึงไป มากไป น้อยไป อยู่บนความพอดี มีความเป็นปกติ ความเป็นธรรมดา มีความสมดุล มีความบาลานซ์ สมดุลต่าง ๆ
พระองค์อุปมาเหมือนสายพิณ ใครเคยเล่นดนตรีบ้าง สายพิณนี้ถ้ามันหย่อนเกินไปเป็นไง สมัยนี้จะรู้จักสายกีตาร์มากกว่าใช่ไหม ถ้ามันตั้งไว้หย่อนเป็นไง มันก็ดีดไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว แต่ถ้าเราตั้งไว้ตึงเกินไปเป็นไง สายขาด ดีดแล้วสายขาด
แต่ถ้าตั้งไว้พอดีนะ เสียงมันจะเป็นปกติ เป็นธรรมชาติ ทางสายกลางใช้ได้กับทุก ๆ เรื่องในชีวิตเลยทีเดียว
พอมาเข้าสู่ระดับสภาวะการปฏิบัติ หย่อนไป ก็คือจิตที่มันยังไหลไปกับอารมณ์ต่าง ๆ นั่นเอง ก็เพียรประคองสติ ประคับประคองสติขึ้นมา
อย่างเช่นฝึกใหม่ ๆ เราจะเจอเรื่องนิวรณ์ที่ครอบงำ กามราคะบ้าง พยาบาทบ้าง โดยเฉพาะความง่วง ก็เพียรประคับประคองสติขึ้นมา ทำความรู้สึกตัวขึ้นมา
บางทีหลับตามันประคองไม่ไหวแล้ว ก็ลืมตาบ้าง ไปยืน ไปเดิน เคลื่อนไหว ประคับประคองสติไว้ โดยเฉพาะช่วงกลางวัน หลังทานข้าวบางทีเราจะง่วงจะหลับ
จริง ๆ แล้วกลางวันไม่ควรนอนพักนะ ในขณะที่เรามีอาหาร ก็เรียกว่ามันปล่อยให้โมหะครอบงำนั่นเอง โดยเฉพาะช่วงที่เราปฏิบัติ ประคองตัวไว้ ออกไปเดินบ้าง อะไรบ้าง ลดอาหารลงบ้าง
ช่วงเวลาการพักผ่อนนี้ ถามว่าการหลับเป็นโมหะไหม ? ถ้านอนกลางวัน โมหะ มันจะเป็นกระแสที่ครอบแล้วก็หลับ
แต่ธรรมชาติมีความสมดุล กลางวันมันเป็นเวลาที่ตื่นทำงาน ทำการเคลื่อนไหว ใช้ชีวิต กลางคืนพระอาทิตย์ตกดิน มืดเย็นเป็นเวลาพักผ่อน พักกลางคืน กลางวันก็ตื่นตัวไว้ ประคองสติไป
1
หย่อนไป คือจิตมันคอยไหล ก็ประคองสติ ตั้งสติขึ้นมา ถ้าไม่มีสติ ยังไงมันก็ไม่มีทางเป็นกลางได้เลย เพราะว่ามันจะไหลไปกับอารมณ์ จมไปกับอารมณ์ หลงทำกรรมต่าง ๆ เหมือนคนเมาเลย ไม่รู้ตัวเลย
บางคนปฏิบัติไป เอ๊ะ ทำไมเราฟุ้งเยอะจัง จริง ๆ มันก็ฟุ้งอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ามันไม่ได้มีสติรู้เท่านั้นเอง ยังหลับอยู่ เหมือนคนนอนหลับแล้วมันก็ฝันไปเรื่อย มันยังไม่ตื่น
1
แต่พอเริ่มมีสติแล้ว โอ้โห เดี๋ยวความคิดผุด เดี๋ยวกามราคะ เดี๋ยวโทสะ เดี๋ยว … มันเริ่มรู้แล้ว อ๋อ กิเลสเราเยอะอย่างนี้นี่เอง เนี่ยเริ่มมีสติ เริ่มรู้ เริ่มตื่น เขาเรียกว่า เริ่มสร่างเมานั่นเอง ตอนเมานี่ไม่รู้ว่าทำอะไรไปบ้าง มัวเมาไปหมดเลย
แต่พอเริ่มสร่าง นี่เริ่มเห็น โอ้โห เรานี่ อะไรนี่เยอะจังนะ ก็ค่อย ๆ เพียรประคองสติไป
1
แต่บางมีมันก็จะเหวี่ยงจากหย่อนไปไปตึงไปนะ หย่อนไปคือจิตไหล ไหลไปกับอารมณ์ ตึงไปบางทีมันแบบ บีบเค้น จะให้มันสงบ จะให้มันนิ่ง จะให้มันไม่เผลอ จะเอาให้ได้ อยากบรรลุธรรม
ถ้ามีคนสงสัยว่า อยากบรรลุธรรมเป็นตัณหาไหม อยากพ้นทุกข์เป็นตัณหาไหม … ก็เป็นตัณหานั่นแหละ
คำว่า ความอยาก มันไม่ได้จำแนกระหว่างทางโลกทางธรรม อยากมันก็คืออยาก ในทางสภาวะคือจิตมันมีความกระวนกระวายนั่นเอง
1
เราทำอะไรด้วยความอยาก ด้วยความกระวนกระวาย ในทางสภาวะแล้ว คือจิตมันกระเพื่อม
เหมือนเอามือไปกวนน้ำ จะบอกว่ามันเป็นมือทางโลกทางธรรมไปกวนน้ำ น้ำมันก็ขุ่น น้ำก็เกิดการกระเพื่อมเหมือนกันทั้งหมดนั่นแหละ
แท้ที่จริงแล้ว คำว่าทางโลก ทางธรรม มันยังเป็นสมมติภาษาอยู่ ทางธรรมที่แท้เป็นเรื่องสภาวธรรมนั่นเอง ที่ว่า "นิ่ง-ดับ ขยับ-เกิด" นั่นแหละ จะเข้าถึงภาวะนั้นคือจิตมันเป็นกลาง จิตเป็นกลางมันจะไม่มีความพยายาม
แต่การฝึกปฏิบัติมันต้องไปโดยลำดับนะ เพียรประคองสติก่อน แต่บางทีมันเหวี่ยงตั้งใจมากไป ก็ค่อย ๆ ลด ลดความตั้งใจลงมา จนรู้สึกว่า ใจมันมีความปกติ มีความเป็นธรรมดา
ไม่ได้ปฏิบัติด้วยตัณหา ด้วยความทะยานอยากนั่นเอง มันจะมีความตั้งมั่นที่สบาย ๆ ก็แค่รู้ แค่รู้สึก
1
หลักของสติปัฏฐาน ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น รู้ธรรมเฉพาะหน้า อยู่กับปัจจุบันให้ต่อเนื่องกันไป ใช้ได้ตลอดรอดฝั่ง รับรู้สภาวะด้วยใจที่เป็นกลาง ใจที่เป็นปกตินั่นแหละ ไม่ได้อยากที่จะเอาให้ได้ อยากที่จะสงบ
ลดการดึงเข้าและผลักออก
การดึงเข้า คือ เวลาสภาวะดี ๆ เราก็อยากรักษาไว้ พอมันไม่ได้ดั่งใจมันก็หงุดหงิดละ
เวลาเจอสภาวะไม่ดีเกิดขึ้น พยายามผลักออก ลดตรงนี้ลง
แค่รับรู้ ที่เรียกว่า รู้ทุกข์นั่นเอง
สิ่งที่ละ ก็คือละตัณหา
ละความกระวนกระวาย
อยากมี อยากเป็น อยากสงบ
เวลาสภาวะที่ไม่ดี ก็อยากที่จะให้มันออกไป อย่างเวลาง่วง ก็อยากให้ความง่วงหายไป เวลามีราคะ ก็อยากให้ราคะหายไป
ก็ค่อย ๆ ประคับประคอง ค่อย ๆ เรียนรู้ ไป อยู่ ๆ มันจะไม่ไปถึงจุดที่เป็นกลางเป๊ะหรอก มันเป็นผลละ ค่อย ๆ ฝึกไป
เหมือนหินที่มันตกลงไปในน้ำ มันก็ต้องเกิดการกระเพื่อม ยิ่งเราพยายามเอามือไปกดไม่ให้น้ำกระเพื่อม เป็นยังไง … มันจะมีแรงกระแทก มันจะยิ่งกระเพื่อมไม่หยุดเลย
เราก็เพียงแค่เอามือออก แล้วก็ไม่เติมหินลงไปรบกวน
เมื่อน้ำไม่ถูกการรบกวน มันจะค่อย ๆ ลดความกระเพื่อมลง ๆ จนมันกลับสู่ความเป็นปกติของน้ำ
ถามว่า น้ำต้องใช้การพยายามไหม … เปล่าเลย นั่นคือการปฏิบัติที่หมดตัณหา
ภาวะนี้อาจจะเกิดขึ้นได้เนือง ๆ นะ ไม่ใช่ว่าเราต้องไปถึงจุดสิ้นตัณหาจนหมดจดแล้ว
สามารถถึงได้ เกิดภาวะนี้ได้อยู่เนือง ๆ ระหว่างการปฏิบัติ ถ้าเราทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าปฏิบัตินี่มันรู้ทุกข์นะ รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น ละเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ คือละตัณหานั่นเอง
เวลาเราพยายามมากไป สังเกต มันจะเป็นอะไรที่มีความพยายามอยู่ นั่นแหละตัณหา ความอยาก ก็แค่รู้เท่าทัน
เหมือนน้ำ พอมันไม่มีสิ่งรบกวน เดี๋ยวมันจะนิ่งเองโดยธรรมชาติ ใจเราจะคืนสู่ความเป็นปกติเอง โดยที่เราไม่ต้องไปพยายามให้มันสงบ หรือพยายามเป็นปกติเลย
ถ้าเรายังพยายามอยู่เนี่ย มันก็เหมือนเราไปกดข่มไว้ มันจะมีแรงตรงข้ามกระเพื่อมตีขึ้นมา
ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไป ภาวะที่คืนสู่ความเป็นปกติ ความเป็นธรรมดา
แต่สำหรับคนที่ … ส่วนใหญ่แล้วก็จะยังไหลอยู่ ก็ประคองสติขึ้นมา ยั้งตัว มีสติรู้เนื้อรู้ตัวขึ้นมา จนจิตมันตื่นตัว ตื่นนั่นแหละ ค่อย ๆ ศึกษาปฏิบัติไป … "
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา