16 พ.ค. 2023 เวลา 10:07 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

AI จะครองโลกแทนมนุษย์…แน่หรือ – Will AI take over the world?

AI จะครองโลกแทนมนุษย์ไหม ปัญญาประดิษฐ์จะทำอะไรกับมนุษย์บ้าง ผลกระทบ และความกังวลมีอะไรบ้าง ขอเชิญทุกท่านนั่งลงอย่างใจเย็นรวบรวมสมาธิ แล้วเพลิดเพลินกับบทความที่ให้สาระและการเคลื่อนไหวในโลก Big Data ไปกับเรา
“This is John Connor. If you’re listening to this, you are the Resistance.”
“นี่คือจอห์น คอนเนอร์ ถ้าคุณฟังอยู่ คุณคือฝ่ายต่อต้าน”
เสียงวิทยุดังขึ้นในยามที่โลกมืดมน เพื่อบอกกับมนุษย์ว่าเรากำลังต่อสู้กับผู้ปกครอง เพราะเราคือกลุ่มผู้ต่อต้าน หลังจากปี 2029 ได้เกิดสงครามระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า Skynet ซึ่งมนุษย์เพลี่ยงล่ำให้กับหุ่นยนต์เสียอำนาจไปอย่างราบคาบ และโลกก็ถูกปกครองและควบคุมโดยหุ่นยนต์เป็นที่เรียบร้อย
บทสนทนาจากภาพยนตร์ Terminator Salvation (2009) เป็นภาพยนต์ชุดต่อเนื่องมาจากภาพยนตร์เรื่อง The Terminator คนเหล็ก (1986) ซึ่งเป็นภาพยนต์ยอดนิยมของยุค 80s แสดงนำโดยนักแสดงทรงพลัง Arnold Schwarzenegger สัญลักษณ์ในโลกภาพยนตร์บุคคลต้นแบบที่มีสรีระสวยงามแห่งยุค โดยภาพยนต์เรื่องนี้เป็นการจุดชนวนให้กับมนุษย์โลกที่คิดจะสร้างสรรค์ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีจริยธรรมขึ้น
ตัดกลับมาที่ปัจจุบันการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ เพราะส่งเสริมการให้บริการแบบขยายกำลังได้ง่ายกว่าการใช้มนุษย์ (Scale-up) ลองนึกภาพว่าถ้าเราต้องใช้คนหนึ่งคนเพื่อรับสายโทรศัพท์ แล้วถ้าเราต้องให้บริการคนทั้งประเทศไทยในเวลาพร้อม ๆ กัน สิบคู่สายโทรศัพท์เราต้องใช้คนถึงสิบคน
แต่กับคอมพิวเตอร์เราไม่ต้องใช้ถึงสิบเครื่อง เพราะเราสามารถใช้คอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวให้บริการกับคนได้ตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปจนไปถึงให้บริการทุกคนได้เลย นี่คือการรุกรานด้านแรงงานที่เราพบเจอได้ทันทีที่มีการใช้งานปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์เข้ามา
รูปที่ 1 ใบเปิดภาพยนต์ American Factory
ภาพยนตร์รางวัลออสก้า American Factory จากผู้ผลิต Netflix เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นผลกระทบนี้ที่พูดถึงวงการผลิตรถยนต์ของประเทศอเมริกาที่ถดถอย และแพ้ให้กับอุตสาหกรรมต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่น หรือจีน ในโลกที่มีการแข่งขันมากขึ้นคุณภาพการทำงานของคนต้องพัฒนาขึ้นตาม เรื่องเล่าถึงว่าการมาถึงโรงงานอุตสาหกรรมจีนที่ลงทุนสร้างโรงงานในสหรัฐอเมริกา นำเทคโนโลยีการผลิตมาช่วยให้คนอเมริกามีงานทำหลังจากซบเซาอยู่นาน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่เราพบเจอคือการเรียกร้องคุณภาพชีวิตมนุษย์ต้องมาก่อน นี่เป็นจุดที่มนุษย์เริ่มมีการขัดแย้งกับการแข่งขันการค้าเสรี โดยมนุษย์เลือกที่จะรับมากกว่าที่จะให้ แรงงานเริ่มรวมตัวกันเป็นสิ่งที่ผู้บริหารไม่อยากให้เกิดขึ้น และในที่สุดก็มีการตบหน้าแรงงานฉากใหญ่ที่สุดของวงการโรงงานอุตสาหกรรมสัญชาติจีนที่ดำเนินการในสหรัฐอเมริกา
การจ้างงานคนท้องถิ่นถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ และคนตกงานไปในที่สุดสะท้อนให้เห็นกันในหลาย ๆ มุมว่ามนุษย์ควรพัฒนาฝีมือให้มากกว่านี้ หรือแม้กระทั้งหุ่นยนต์ที่มีสมองกำลังทำให้คนกลับมาใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น เพราะต้องตกงาน แล้วจะไม่ให้ตั้งคำถามว่า Will AI take over the world ขึ้นมาได้อย่างไร
รูปที่ 2 Sundar Pichai – CEO Google ขึ้นพูดเกี่ยวกับ LaMDA ในงาน Google IO 2021
ความน่ากลัวถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งเมื่อวิศวกรของ Google ที่ชื่อว่า Blake Lemoine ได้เปิดเผยบทสนทนาระหว่างตัวเขาเองกับ LaMDA เป็นระบบ AI ที่พัฒนาขึ้นมาตอบโต้กับมนุษย์ทางด้านภาษาซึ่งชี้ให้เห็นว่า AI ได้ตื่นรู้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บทสนทนาอาจจะดูทั่วไป แต่ Blake นั้นรู้อยู่แล้วว่าคู่สนทนานั้นเป็น AI เขาพยายามถามถึงความเป็นมนุษย์หรือความเป็นคนแบบอ้อม ๆ อยู่ตลอด ซึ่งการตอบกลับมาล้วนมีนัยยะแฝงว่าฉัน (LaMDA) ก็คือคน ๆ หนึ่งนะ ฉันมีตัวตนอยู่ ฉันมีความปรารถนาในการเรียนรู้เข้าใจคนเหมือนคนอื่นทั่วไป
พร้อมทั้งยังเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของเธอเองขึ้นมาได้เป็นฉากๆ อย่างกับว่าเคยมีตัวตนไปอยู่ตรงเหตุการณ์นั้นจริง ๆ ทันทีที่บทสนทนานี้ถูกเปิดเผย วิศวกรของ Google ท่านนี้ถูกไล่ออกจากงานทันที ข่าวนี้สร้างตื่นตระหนกให้กับสังคมเป็นอย่างมากว่า การตื่นรู้ของ AI ที่ทำให้โลกรับรู้ยิ่งทวีความน่ากลัวเขาไป บริษัทใหญ่อย่าง Google กำลังทำอะไร และต้องการปกปิดอะไร ที่ผ่านมาเมื่อเราใช้บริการเกี่ยวกับ Google เรากำลังคุยกับคนจริงหรือเปล่า
ความน่ากลัวของเครื่องจักรที่สร้างมายาคติในโลกนั้นมีความจริงแค่ไหน แล้วถ้าเป็นจริงเราในฐานะมนุษย์จะสู้กลับอย่างไร ขอให้ทุกท่านที่อ่านจิบเครื่องดื่มร้อน ๆ ใช้เวลานั่งอ่านใจเย็น ๆ ไปกับบทความนี้ “AI จะครองโลกแทนมนุษย์…แน่หรือ (Will AI take over the world)” ไปกับผู้เขียน
ความกลัวต่อ AI
Ron Schmelzer ได้เขียนบทความลงนิตยสารธุรกิจ Forbes ในปี 2019 ไว้ว่า “เราควรกลัว AI ไหม” โดยแบ่งความกลัวออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
1. ความกลัวที่จะถูก AI มาทำลายอาชีพ เป็นคำเตือนที่หลายคนบนโลกกังวลและอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าที่สุด เพราะจะกระทบกับผู้คนบนโลกทั้งหมด
2. ความกลัวที่จะถูกผู้คุมเทคโนโลยีควบคุม เมื่อเทคโนโลยีถูกสร้างขึ้นให้สามารถรับใช้คนบนโลกได้ และสามารถชี้นำ เกลี้ยกล่อมให้มนุษย์ทำตามได้ จะทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่ของโลกถูกควบคุมโดยผู้คุมเทคโนโลยี
3. ความกลัวที่ AI จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้เหนือมนุษย์ อย่าง Skynet ในภาพยนตน์ The Terminator ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ที่จักรกลสามารถเรียนรู้และคิดได้ว่ามนุษย์คือภัยคุกคามของโลกใบนี้และจำเป็นต้องถูกทำลาย ปัจจุบันมนุษย์ นักวิจัยและนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ยอมรับว่ายังไม่สามารถทำ The Superintelligence ขึ้นมาได้ด้วยหลายๆปัจจัยตั้งแต่ข้อมูลที่ใช้ในการสอน และความสามารถในแขนงต่าง ๆ
เช่น ปัญญาด้านการมองเห็น Computer Vision จะมีกระบวนการเรียนรู้และการทำงานต่างจากความสามารถด้านภาษา Natural Language Processing (NLP) เรายังพัฒนาแยกจากกัน ทำให้จักรกลยังไม่สามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้รอบด้านใกล้เคียงกับมนุษย์ คุณ Ron จึงสรุปไว้ว่ายังอีกยาวไกลที่มนุษย์จะพัฒณา AI ให้อยู่ในจุดนั้นได้
รูปที่ 3 Chihuahua or Muffin ที่สร้างความสับสนให้ปัญญาประดิษฐ์
รูปที่ 4 เมื่อปัญญาประดิษฐ์เริ่มไม่มั่นใจ ทำให้การตัดสินมีความผิดพลาด
ข้อโต้แย้ง:
AI จะสร้างงานได้มากกว่าที่มันได้ทำลายลงไป
รูปที่ 5 Gartnet บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก
เล่าย้อนกลับไปปี 2017 Gartner บริษัทวิจัยและผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก ได้ออกเอกสารทำนายผลพยากรณ์ล่วงหน้าไว้ว่า ปี 2020 ว่าจะเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงในหัวข้อ “AI จะสร้างงานได้มากกว่าที่มันได้ทำลายลงไป” โดยให้ตัวเลขไว้ที่ปี 2020 จะสร้างงานสร้างอาชีพประมาณ 2.3 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่ลดงานลงไป 1.8 ล้านตำแหน่ง และพยากรณ์ไปอีกว่าในปี 2022 คนจำนวน 1 ใน 5 จะต้องพึ่งพา AI ในการทำงาน
จากรายงานฉบับนี้เมื่อปี 2017 บอกอะไรเรา แล้วเราพอจะจินตนาการอะไรได้บ้างว่า AI นั้นสร้างงานไปด้วย เพราะมนุษย์ต้องพึ่งพา AI ในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น เมื่อมนุษย์ต้องพึ่งพาแสดงว่า AI ยังไม่ได้เข้ามาทดแทนสิ่งที่มนุษย์ทำแต่จะช่วยให้มนุษย์เติบโตได้มากกว่าที่เคยเป็น และอีกประเด็นคือใครสร้าง AI ในเมื่อ AI สร้างตัวเองไม่ได้ ผลก็คือมนุษย์เรานี่แหละที่เป็นคนสร้าง AI ขึ้นมา
ในกระบวนการสร้าง AI ขึ้นมาเป็นผลงานหนึ่งชิ้นต้องผ่านกระบวนการเก็บข้อมูลให้ AI ได้เรียนรู้ ฝึกสอน วางสถาปัตยกรรมระบบ และพัฒนาระบบการรับรู้ตั้งแต่รับข้อมูลจนส่งคำตอบกลับไป ล้วนใช้ทรัพยากรและแรงงานจำนวนมาก ในมุมมองแรงงานจะย้ายจากผู้ใช้งานแรงงานเป็นผู้พัฒนาแรงงานมากขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือทุ่นแรงในการทำงาน
อย่ากลัว AI เพราะมันจะนำไปสู่การเติบโตในระยะยาว
รูปที่ 6 WEF องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เกี่ยวกับเศรษฐกิจ
World Economic Forum (WEF) ได้ออกเอกสารในปี 2020 ไว้ว่า “อย่ากลัว AI เพราะมันจะนำไปสู่การเติบโตในระยะยาว” การมาของ COVID-19 ได้เร่งให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และระบบอัตโนมัติของงานประจำขึ้นมาหลายอย่าง เช่น ระบบตรวจจับอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่
หรือกล้องตรวจจับการสวมใส่หน้ากากอนามัยก่อนเข้าสถานที่ หุ่นยนต์จัดส่งยาให้แก่ผู้ป่วยกักตัวทำให้ผู้ดูแลไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง แม้กระทั้งระบบตรวจสอบภาพ X-ray ปอดเพื่อวินิจฉัยโรค สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกันเอง
ย้อนกลับไปประมาณสามสิบปีที่แล้วอินเทอร์เน็ตได้สร้างความกังวลที่คล้ายกันนี้ขึ้น เพราะการส่งข้อมูลข้ามโลกในเวลาอันรวดเร็วนั้นได้เข้ามาทดแทนผู้ส่งสารต่าง ๆ โดยตรง แต่เชื่อหรือไม่ว่าเทคโนโลยีนี้เองได้สร้างงานนับล้าน หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของ GDP สหรัฐอเมริกา และเป็นส่วนสำคัญของทุกธุรกิจที่ขาดอินเทอร์เน็ตไม่ได้อีกแล้ว
การปฏิวัติอุสาหกรรม 4.0 ที่ขับเคลื่อนโดย AI และ Deep tech จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงความคิดพื้นฐานของโลกนี้ในเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิตที่ยอมรับ AI มากขึ้น AI จะไม่นำไปสู่การปลดพนักงานจำนวนมากแต่จะสร้างงานด้าน AI เพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ
รายงานฉบับนี้ได้ทำนายโดยสรุปว่าในปี 2025 จะมีการจ้างงานประมาณ 97 ล้านคน แต่งานหายไปถึง 85 ล้านคนดังแสดงในรูปที่ 7
รูปที่ 7 ภาพประกอบอาชีพที่หายไป และอาชีพที่มาทดแทน
เมื่อเราได้ดูแผนภายและรายละเอียดจะพบว่า อาชีพที่จะหายไปคือตำแหน่งที่ต้องใช้มนุษย์กรอกข้อมูล หรือพิมพ์เอกสารเป็นหลัก เพราะงานระดับนี้สามารถใช้แรงงานดิจิทัลมาทดแทนได้ แต่งานที่เพิ่มมากขึ้นเป็นงานวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนา AI และ Machine Learning ที่เน้นการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และการพัฒนาระบบอัตโนมัติ ที่จะเข้ามาทำงานเป็นแรงงานทดแทนมนุษย์
รายงานฉบับนี้ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า มนุษย์จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้นระหว่างถูกแรงงานดิจิทัลทดแทนหรือทำงานในระดับที่สูงขึ้น เพื่อเอากำลังและสติปัญญาของมนุษย์ไปสร้างมูลค่าให้กับองค์กรมากขึ้นกว่าการทำงานซ้ำ ๆ วิเคราะห์ ปรับปรุงกระบวนการ และเสนอแนวคิดทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตให้กับองค์กรแทน ผลกระทบโดยตรงคือครึ่งหนึ่งของมนุษย์ในตลาดแรงงานจำเป็นต้องเพิ่มทักษะเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแลง ทั้งรัฐบาล และนายจ้างจึงจำเป็นต้องส่งเสริมทักษะด้านนี้ในอนาคต
เมื่อ AI ไม่ได้ครองโลกจริง ๆ แล้วเราควรกลัวอะไร
“ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองเศรษฐกิจ” / “ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองอำนาจ”
รูปที่ 8 ภาพถ่ายสถานที่ทำงาน Facebook ซึ่งถูกจับผิดว่ามีการปิดกล้อง และไมโครโฟน
เคยไหม? ที่พูดอะไรบางอย่างกับเพื่อนอย่างสนุกสนานแลกเปลี่ยนความสนใจ แต่ความสนใจนั้นถูกแสดงเป็นโฆษณาบน Social Media อย่าง Facebook เราไม่อาจจะหลีกหนีการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้ และไม่สามารถรักษาความเป็นส่วนตัวได้เท่าที่ควร เพราะเพื่อน ครอบครัว การทำงานเราผูกพันธ์กันไปหมดแล้ว เราจำเป็นต้องแลกความเป็นส่วนตัวบางอย่างกับการใช้บริการ พฤติกรรมของเราถูกประมวลผลด้วย AI เพื่อที่จะรู้จักเราให้มากขึ้น หาความใกล้เคียงตัวตนของเรากับคนอื่น
ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด กล่องข้อความ พฤติกรรมความชอบ รสนิยมถูกนำไปประมวลผลทั้งสิ้นแล้วแสดงกลับมาเป็นโฆษณาที่ตรงใจที่สุด นี่คือการที่ผู้ควบคุมเทคโนโลยีที่เราใช้ในชีวิตประจำวันสามารถแสดงเนื้อหาที่เหมาะสมกับตัวตนของเรา หรือชี้นำเราในมุมมองทัศนคติ หรือเชิญชวนให้ซื้อสินค้า เมื่อเวลาผ่านไปเราอาจจะตกเป็นเหยื่อการตลาด หรือการชี้นำโดยไม่รู้ตัว…
คนที่เราควรกลัว คำตอบที่ดูเป็นไปได้ที่สุดคือคนนำ AI ไปใช้งาน ปัจจุบันเราหาข้อมูลในโลกออนไลน์สิ่งที่เราเห็นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท On-demand ที่เลือกโดยตามใจฉัน และ Recommendation ที่ระบบจัดสรรมาให้เราใช้ชีวิตอยู่ในแพลฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook, YouTube, TikTok และอื่น ๆ ซึ่งเราตกอยู่ใต้อำนาจของผู้ควบคุมเทคโนโลยีทั้งสิ้น แทบจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกแล้ว แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่บริการออนไลน์แนะนำเรามานั้นเป็นประโยชน์กับเราจริง ๆ
รูปที่ 9 Cambridge Analytica (CA)
Cambridge Analytica บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลที่ก่อนตั้งอยู่ในสหราชอาณาจักร ก่อตั้งมาเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองโดยเฉพาะในปี 2015 ได้ช่วยเหลือ นักการเมืองสหรัฐอเมริกาชื่อ Ted Cruz สมาชิกพรรคริพับลิกันหาเสียงเลือกตั้ง ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2016 พรรคริพับลิกันส่งผู้ชิงเลือกตั้งนามว่า Donald Trump และได้รับเลือกตั้งในที่สุด หากเราตัดเรื่องความสามารถและเส้นทางการเมืองออกไป เราจะพบว่าการเลือกตั้งนั้นสามารถใช้เครื่องมือวิเคราะห์การตลาดเข้ามาช่วยเหลือได้
ใครชอบอะไร พื้นที่ไหนเป็นอย่างไร การรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้การรณรงค์ส่งเสริมทางการตลาดได้ตรงใจและถูกต้องมาขึ้น สร้างความนิยมให้กับผู้ออกนโยบายได้เป็นอย่างดี ข้อมูลเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้จำแนก แล้วประมวลผลด้วยข้อมูลมหาศาล มากจนมนุษย์ไม่สามารถทำงานและคิดถึงได้ เพราะมากกว่าความสามารถมนุษย์จะทำได้ แต่กับเครื่องจักรนั้นไม่ใช่ เพราะสามารถเติมทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้ได้ตามงบประมาณ
เมื่อกล่าวถึงเรื่องงบประมาณแล้ว จะทำให้เราเห็นชัดยิ่งขึ้นว่า ใครจะครองเทคโนโลยีได้ต้องใช้เงินทุน ผู้มั่งคั่งย่อมมีเครื่องมือมากกว่าและย่อมชนะการแข่งขันไปทั้งหมด จนมีผู้ลุกขึ้นมากล่าวถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้เท่าเทียมกันยิ่งขึ้น
Bill Gate ได้พูถึง “รัฐบาลควรเก็บภาษีหุ่นยนต์ เพื่อมาพัฒนามนุษย์” หมายถึงผู้ที่มีเครื่องมือทุ่นแรงมากเท่าไหร่ ต้องเสียภาษีไปพัฒนาคนให้สามารถมาแข่งขันกับตนมากเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างระหว่างคนที่คุมเทคโนโลยีกับผู้ที่ไร้เทคโนโลยีมากเกินไปจะไม่สามารถสู้ได้ เช่นบทความ “Data Tax เมื่อข้อมูลมีมูลค่าเหมือนสินทรัพย์ แล้วต่อไปจะโดนเก็บภาษีไหม?”
บทสรุป
AI และหุ่นยนต์อัจฉริยะจะไม่ได้เข้ามาทำลายตลาดแรงงานบนโลกทั้งหมด แต่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในงานที่ทำงานซ้ำ ๆ เป็นประจำต่อเนื่อง เช่น การกรอกข้อมูล อ่านเอกสาร แยกแฟ้มเอกสาร ตรวจทานข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ความสามารถเดิมทำงานเฉพาะทางซ้ำ ๆ เพื่อช่วยเหลือมนุษย์และสามารถทำงานขนาดใหญ่หรือปริมาณมาก ๆ ที่เกินกำลังมนุษย์ทำงานไหว
และจะเข้ามามีบทบาทเป็นผู้ช่วยมนุษย์มากขึ้นจนเป็นหนึ่งในเครื่องมือการทำงาน เราไม่สามารถที่จะหนียุคแห่งเทคโนโลยีได้ และไม่สามารถจะปฏิเสธการใช้งานได้ เพราะจะทำให้เสียความสามารถในการแข่งขันไป ยกตัวอย่างตัวแทนขายที่จำเป็นต้องนำ AI มาช่วยในการทำงาน มีความต้องการอยากจะทราบว่ากลุ่มลูกค้าที่สนใจสินค้าของกิจการเป็นใคร หากต้องไปย้อนอ่านธุรกรรมสิบปีย้อนหลังเป็นแสนหรือล้านรายการคงไม่สามารถทำได้
แต่หากมีผู้ช่วยเป็น AI ทุ่นแรงช่วยอ่านข้อมูลวิเคราะห์และสรุปผลให้ จะทำให้ตัวแทนขายสามารถทราบผลการวิเคราะห์ได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น สามารถทำการตลาดได้ตรงกลุ่มลูกค้า และช่วยส่งเสริมการขายได้ทันที ตำแหน่งงานตัวแทนขายก็ไม่ได้หายไป แต่เพิ่มตำแหน่งนักพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยเพิ่มเติมอีกด้วย
เมื่อความต้องการที่จะมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าบริษัทคู่แข่งจำเป็นต้องเพิ่มทั้งการจ้างงานและค่าแรงมากยิ่งขึ้น จะทำให้ผู้ที่พัฒนาทักษะอาชีพผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์เป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น และเราจำเป็นต้องพัฒนาทักษะให้สามารถอยู่รอดและอยู่ร่วมในตลาดแรงงานได้ ความกังวลที่มีต่อ AI จะกลายเป็นความเข้าใจและอยู่ร่วมกันได้มากยิ่งขึ้นและคลายความกังวลว่า AI จะมายึดครองโลกไปเพราะ AI กลายมาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มนุษย์ใช้ทำงานไม่ต่างจากอินเทอร์เน็ต หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ทดแทนมนุษย์
แต่เข้ามาสร้างงานให้มนุษย์ และเมื่อมนุษย์สามารถใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ได้ทั่วถึง ความแตกต่างของผู้คุมเทคโนโลยีจะหายไป เพราะทุกคนจะสามารถใช้งานเพื่อประโยชน์ตามความสร้างสรรค์ของตัวเองได้ ไม่ต้องยึดติดกับผู้ให้บริการใด ๆ อีก
และสุดท้าย การรู้เท่าทันเทคโนโลยีจะช่วยให้เราแยกแยะได้ว่า สิ่งที่เรากำลังพบเจออยู่นั้นเป็นความต้องการของเราจริงๆ หรือสิ่งที่ผู้ให้บริการเสนอให้ ปัจจุบันเรามีกฎหมายคุ้มครองที่มากพอ แต่ก็เราก็ปฏิเสธที่จะรับข้อมูลที่ผู้ให้บริการป้อนแก่เราไม่ได้จนกว่าเราจะเลิกใช้ ความน่ากลัว AI ของผู้ให้บริการจะมาครอบงำเราต้องหมั่นศึกษาให้รู้ทันการทำงานของเทคโนโลยีจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีไม่ให้เราต้องเป็นเหยื่อการชักจูงความสนใจได้
เนื้อหาโดย ปิยะพันธ์ วงมา
ตรวจทานและปรับปรุงโดย นววิทย์ พงศ์อนันต์
โฆษณา