25 พ.ค. 2023 เวลา 00:00 • ธุรกิจ

สหรัฐฯ กำลังจะโดนจีนแซงในการแข่งเทคโนโลยีเกษตร

ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างพุ่งทะยาน
จากที่เคยอยู่ราว 1,000 ล้านคน ก็ทะยานมาอยู่ที่ 7,700 ล้านคน
เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากมนุษย์ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรได้ดีพอจะผลิตอาหารให้คนเหล่านี้ได้
และหากคิดแค่ในระดับประเทศเอง ความสามารถในการผลิตอาหารให้เพียงพอกับความต้องการของคนในประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพิงต่างชาติ ก็เป็นความสามารถสำคัญที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับประเทศได้ ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์อะไร
📌 ความมั่นคงทางอาหารของสหรัฐฯ
แน่นอนว่า ประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งอย่างสหรัฐอเมริกาทราบเรื่องนี้ดี และในช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1948 - 2019 สหรัฐฯ มีผลผลิตด้านการเกษตรเพิ่มขึ้น 175%
โดยปัจจัยหลักมาจากการลงทุนพัฒนาจากภาครัฐ ที่มีการประมาณจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ว่า ในช่วง ค.ศ. 1900 - 2011
“ทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐที่ภาครัฐลงทุนในภาคเกษตร ให้ผลตอบแทนต่อเศรษฐกิจเฉลี่ยสูงถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐ”
การทุ่มเทลงทุนในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีการเกษตร
แต่ในช่วงหลังความใส่ใจในเทคโนโลยีด้านนี้ของสหรัฐฯ ก็ลดน้อยลงไป
พวกเขายังอาศัยบุญเก่าที่ตัวเองสะสมมา แต่ไม่มีการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพิ่มเติม
โดยอ้างอิงจากการสำรวจในปี 2021 สิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์สำหรับทำวิจัยการเกษตรในโรงเรียนและวิทยาลัยของสหรัฐกว่า 70% กำลังจะหมดอายุไขการใช้งานแล้ว
ซึ่งมันหมายถึงงบประมาณหลักหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐที่ต้องลงมาดูแล
ส่วนงบประมาณด้านการวิจัยเมื่อปรับผลของอัตราเงินเฟ้อก็มีขนาดใกล้เคียงกับสมัยปี 1970
แสดงให้เห็นว่า ทางสหรัฐฯ ไม่ได้ความสำคัญจะต่อยอดเทคโนโลยีกลุ่มนี้
ซึ่งหากสหรัฐฯ ยังชะล่าใจอยู่แบบนี้ ความเป็นผู้นำด้านการเกษตรก็อาจจะสั่นคลอนลงได้
โดยในตอนนี้ผู้ตามที่วิ่งจี้หลังขึ้นมาก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล ผู้ตามคนนั้นก็คือ “จีน” นั่นเอง
📌 การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรของจีน
จำนวนประชากรที่มากมหาศาลของจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่บีบให้พวกเขาต้องพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เหตุผลโดยตรงก็เพื่อให้ประชาชนมีอาหารเพียงพอ แต่เหตุผลทางอ้อมก็เพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าอาหารและวัตถุดิบการเกษตรจากต่างชาติ
ซึ่งในโลกที่ยังมีความขัดแย้งทางด้านการเมืองระหว่างประเทศกันอยู่ วันใดที่ประเทศขั้วตรงข้ามไม่ส่งสินค้าด้านการเกษตรให้ จีนก็จะเจอปัญหาวิกฤติอาหารครั้งใหญ่ได้
การพัฒนาครั้งสำคัญในช่วงที่ผ่านมา คือ การผสมสายพันธ์ุหมูขึ้นเองได้ในประเทศ จากที่ก่อนหน้านี้ จีนต้องอาศัยหมูนำเข้ามากกว่า 90% ของหมูทั้งหมด
การพัฒนาครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้ทางจีนสร้างหมูที่สามารถทนทานต่อโรคระบาดได้ด้วย เช่น โรคไข้หวัดหมู
นอกจากนี้ จีนยังมีการผลิตกรดอะมิโนและสารโปรตีนทางเลือกอื่นที่สามารถนำไปผสมอาหารสัตว์ และลดการพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐอเมริกาลงได้อีก
และยังมีอีกหลายเทคโนโลยีที่ทางจีนกำลังเร่งพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับชาติ
หากทิศทางของทั้งสองประเทศยังดำเนินแบบนี้ต่อไป ก็มีโอกาสที่เทคโนโลยีการเกษตรของจีนจะแซงสหรัฐฯ ได้ในอนาคต
แล้วมันก็จะเหมือนนิทานอีสปชื่อดังที่เราอ่านกันตั้งแต่เด็ก นิทานที่มีผู้วิ่งเร็วนำหน้าไปไกล
แต่ชะล่าใจไปนอนพักใต้ต้นไม้ แต่มีผู้ตามคอยวิ่งตามมาอย่างสม่ำเสมอไม่ลดละ จนวิ่งแซงเข้าเส้นชัยไปก่อน ใช่แล้วครับ นิทานเรื่องนั้นก็คือ “กระต่ายกับเต่า”
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา