เพลงมาร์ชผะแผ่วที่ดังจากลำโพงของโรงเรียนในอดีตกาล แว่วกระทบในประสาทส่วนที่ผมไม่อาจกล่าวถูก... แค่เพียงเสียงที่รางเลือน จับใจความแห่งเนื้อร้องไม่ได้ หากแต่เสียงของผู้ร้องและดนตรียังคงก้องกังวานอยู่ในส่วนลึกของดวงใจ สายลมวัยเยาว์ต้องใบหน้าก่อนเวลาเคารพธงชาติจะเริ่มขึ้น
พระอาทิตย์ดวงส้มสดใส งดงาม ... นั่นเป็นเพียงรูปที่ติดเหนือกระดานดำ ดวงตะวันที่ลับเหลื่อมเมฆกลับดูลึกลับ คล้ายจะปลุกภวังค์จากภพชาติให้ตื่นขึ้น แต่ก็เป็นเพียงความรู้สึกเลือนที่สักพักก็ลืม
ดวงอาทิตย์จริงขึ้นอยู่เหนือฟ้าฟากตะวันออก สาดแสงกระทบยอดสักสูง ทำให้เงาของต้นไม้ทอดยาวลงบนพื้นสนาม ธงชาติจะปลิวสะบัดอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกเมื่อเชื่อวัน บางครั้งก็เด่นอยู่ท่ามกลางฉากฟ้าสีคราม บางครั้งก็โบกสะบัดไปพร้อมๆ กับก้อนเมฆที่ผ่านมาทักทาย
ยามบ่ายในวันแรกของการเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เท่าที่ผมยังพอจะจำได้ เหมือนจะเป็นการคัดลอกโจทย์วิชาภาษาไทยลงสมุด แล้วก็ต้องตอบคำถามง่ายๆ นั้นให้ครบ 10 ข้อ ถ้าใครทำเสร็จแล้วก็เก็บเก้าอี้ ออกไปวิ่งเล่นได้ วันนั้น ‘คุณครูคณิต’ ได้กล่าวขึ้นมาว่า...
“ถ้าใครทำงานเสร็จก่อนได้ขนม 3 อัน เสร็จรองลงมาได้ 2 และเหลือ 1 ตามลำดับ”
พวกเด็กๆ ก็รีบปั่นงานกันให้วุ่น มีคนได้ 3 อันไปเรียบร้อยแล้ว ขนมข้าวโพดอบกรอบแท่งกลวงในซองสีเงินสวย จำได้ว่าวันนั้นครูคณิตท่านซื้อมาเป็นแพ็คใหญ่ ถ้าความทรงจำผมไม่ผิดน่าจะสองแพ็คน่าจะได้ ผมรีบทำงานจนเรียบร้อย ได้มา 2 อัน บางคนล่าช้าก็ได้อันเดียว ส่วนคนทำเสร็จทิ้งท้ายครูท่านก็จะบอกว่าอดได้ขนม แต่แท้จริงแล้ว...ผมเห็นคนทำเสร็จเป็นคนสุดท้ายได้ทำความสะอาดห้องและได้ขนมไปสมกับการงานที่ทำไป 2 อัน
ขนมข้าวโพดรสหวานๆ เค็มๆ หอมกรุ่นยามเคี้ยวนั้น ผมจำได้มาจนวันนี้
เรื่องราวกิตติศัพท์ของท่านถูกเล่าขานมาตั้งแต่ผมอยู่ชั้นอนุบาลแล้ว ว่าครูประจำชั้น ป.1 ตีเจ็บแค่ไหน พอโตแล้วผมถึงเข้าใจเด็ก มันน่าหัวเราะดี ครูฟาดเพียงแค่นั้นแล้วก็โอดโอยกันเสียจนเพื่อนๆ กลัวตาม กัน ไอ้พวกรุ่นพี่นี่ตัวดี เป็นคนเล่าให้น้องๆ ฟังกันเป็นฉากๆ ความจริงพวกที่โดนตีบ่อยๆ นี่เป็นพวกเกเรขาประจำ ไม่ยอมหลาบจำ พอโดนตีก็ทำหน้าเหมือนโดนทิงเจอร์ราดแผล ไม่พอ...ยังจะทำหน้าทำตาแสบทรวงอีก
บทเรียนของประถม 1 เป็นบทเรียนแห่งความแปลกใหม่ ครูคณิตมีแนวการสอนที่ไม่ซ้ำซากจำเจ เด็กๆ จะตื่นตัวกันแทบทุกคนในชั้น แม้กระทั่งคนที่เรียนอ่อนที่สุดก็ยังเรียนรู้เรื่อง ท่านเข้มในหลักสูตร เคี่ยวเพื่อให้พวกเราอ่านออกเขียนได้
หนังสือภาษาไทยยุคนั้นที่ผมพอจำได้ ก็จะเป็น “ตา ตามา ตามารถไฟ” ง่ายๆ บทต่อๆ ไปก็จะเป็นสระที่มีชั้นเชิงซับซ้อนทางภาษามากขึ้น (สำหรับเด็กวัยนั้น) ผมชอบภาษาไทยมาตั้งแต่ ป.1 แล้ว จนเคยรู้สึกอยากเป็นครูภาษาไทยแต่ก็ไม่ได้เป็น ผมชอบเรื่องราวนานาที่มีมาให้อ่านเสมอ
วันเวลาของวิชาคิดเลข ก็เป็นยามสายที่แดดร่มลับไม้ เป็นยามสายที่สมองของพวกเราและผองเพื่อนน่าจะตื่นตัวกันพอสมควรแล้ว เป็นวิชาคิดเลขพื้นฐานที่เรียนสนุกไปกับมันได้ วิชาเลขที่ผมเรียนคือวิชาเลขตอน ป.1 เท่านั้น พอขึ้นชั้นอื่นผมก็ไม่ชอบวิชาคำนวณอีกเลย ส่วน ส.ป.ช. สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ส.ล.น. สร้างเสริมลักษณะนิสัย ก.พ.อ. การงานพื้นฐานอาชีพ ครูคณิตท่านสอนได้มีมิติเสมอ ส.ป.ช. นี่จะเป็นความรู้ที่บันเทิงเลยทีเดียว บางครั้งในวิชา ส.ล.น. ก็จะมีเรื่องพื้นฐานจริยธรรม มีเพลงวรรคสั้นๆ ให้ร้องบ้างก็มี
ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา
แล้วก็จะตามด้วยวรรคแต่งที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างคุณลักษณะนิสัยที่ดี เป้นบทเรียนที่ออกแบบมาให้นักเรียนได้จำง่ายๆ ใช้ได้จริง วิชาพื้นฐานเหล่านี้ผมชอบเรียนและไม่มีความรู้สึกต่อต้านเลยสักนิด
ส่วน ก.พ.อ. เท่าที่ผมพอจำได้ จะมีบางบทที่เขาแยกไม้กวาดทางมะพร้าวกับไม้กวาดดอกหญ้าตามลักษณะ เราต้องตอบในข้อสอบด้วยว่าประเภทไหนใช้อย่างไร อย่างเช่น...เราจะใช้ไม้กวาดอะไรในการกวาดน้ำขัง ก็ต้องตอบไม้กวาดทางมะพร้าว ซึ่งตอนเด็กผมเคยตอบไม้กวาดดอกหญ้า (ชื่อมันสวยดีเลยตอบ)
เป็นเวลาเช้าที่เผลอไปกับบทเรียนเบาๆ ก็เข้าเวลา 11.00 น.
(พอขึ้นชั้นที่โตขึ้นก็จะได้เลิกครึ่งเช้าในเวลา 11.15น. 11.30น. 11.45น. 12.00น. ตามลำดับ)
ล้างมือที่อ่างน้ำยาวเหยียด มีก๊อกน้ำอยู่เป็นจุดๆ เวลาล้างมือแล้วน้ำจะไหลตามความยาวของอ่างลงไปยังจุดน้ำทิ้งเดียวกัน ที่ตรงนี้จะใช้ทั้งแปรงฟัน ล้างมือ และทำความสะอาดอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง
พวกเด็กๆ เดินกันไปเข้าแถว ใต้ร่มหูกวางใหญ่แผ่ใบหนา ตะวันยามใกล้เที่ยงไม่ร้อนอย่างที่เคยเป้นในที่อื่นๆ ภูเขาที่อยู่หลังโรงเรียนสูงตระหง่าน เมฆน้อยลอยอ้อยอิ่งทักทาย ขบวนเด็กๆ เดินตามหลังครูเข้าสู่โรงอาหาร ผ่านหลังห้องอนุบาล 2 ที่ผมและวารุฒเคยมาเล่นอาจารย์ปราบผี ผ่านร่มไม้มะม่วงที่อ้ากิ่งใบต้อนรับ ข้ามสะพานเล็กๆ ที่ทำด้วยปูน ข้ามร่องน้ำนั้นไปก็เป็นอาคารของโรงอาหารโปร่งตา
ครูมีโต๊ะของครูให้นั่ง เด็กมีโต๊ะยาวเก้าอี้ยาวให้นั่ง เด็กๆจะเดินแถวกันไปรับถาด ต่อแถวกันเข้าไปรับกับข้าว แล้วก็ออกมานั่งรับประทานอาหารกัน เสร็จแล้วก็ไปต่อแถวล้างถาดกันในมุมหนึ่งของครัว มีเวลาออกมาวิ่งเล่นมากกว่าเด็กนักเรียนชั้นที่สูงกว่าร่วมชั่วโมง
พวกเด็กๆ มีของเล่นตามแต่เท่าที่หากันมาได้ในสมัยนั้น เป็นต้นว่าใบร่อนรูปเซนต์เซย่าเอย ใบร่อนรูปไซอิ๋วเอย มันจะมีช่วงหนึ่งที่ผมตามวารุฒไปเล่นปาใบร่อน วิธีเล่นก็มีหลากหลายแล้วแต่ว่าจะตกลงเล่นกันในกฎกติกาไหน
คราวนั้นพวกเราจะไปหาก้อนหินแบนๆ พอเหมาะมือ ลงใบร่อนรูปในแต่ละตา (กี่ใบก็ว่ากันไป) วางกองไว้ยังดินที่ถูกขุดเป็นหลุมตื้นๆ วางใบร่อนรูปซ้อนกันเป็นตั้งๆ ขีดกรอบเส้นเขตเป็นวงกลมหรือไม่ก็สี่เหลี่ยมจัตุรัส ขีดเส้นตำแหน่งการยืน (ห้ามไม่ให้ล้ำเส้น) เป่ายิงฉุบเพื่อลำดับการปา แล้วก็เริ่มเรียงคิวกันขว้างก้อนหินให้แฉลบไปโดนใบร่อนรูปให้ออกจากขอบเขตที่วงกลมหรือล้อมกรอบไว้ ใบไหนที่โดนหินก้อนแบนๆ ที่เราเรียกกันว่า ‘อี่โด’ ตีออกนอกเขตถือว่าได้ใบนั้น
ผมกับวารุฒเคยไปหาหินด้วยกัน เลือกก้อนแบนๆ ขว้างระเบิดหลุมดินอ่อนๆ นั้นได้ ที่สำคัญต้องเหมาะมือ ผมเคยไปได้หินขาวแบนก้อนหนึ่งมา มันนำโชคมาแก่ผมโดยการกินใบร่อนรูปได้หลายใบ ผมจึงขนานนามมันว่า ‘อี่โดซาลาเปา’ ส่วนคำว่า “หมาน” คือความหมายของโชคที่เราเรียกกันติดปาก
ใบร่อนรูปที่ลงสนามเลยมีฉีกบ้าง พรุนบ้าง ว่ากันไป
ในอีกกติกาที่เล่นกันทั่วๆ ไปก็มีการตบแปะ คือเอาใบร่อนรูปมาตบแปะฝ่ามือกันและกัน พอร่วงลงพื้นถ้าใบร่อนรูปของใครหงายอีกฝ่ายคว่ำถือว่าชนะและได้กินไป ถ้าคว่ำหรือหงายทั้งคู่คือเสมอ ก็ตบแปะใหม่ บางคนหัวหมอทำที่เอียงมือแฉลบให้ใบร่อนรูปของตัวเองหงาย พอรู้ทางกันเข้าก็โวย ไปหาหนทางเอาชนะกันในรูปแบบใหม่ บางคนพยายามทำให้แผ่นใบร่อนรูปบางที่สุด บางคนเอาใบที่เหมือนกันแปะกาวประกบทั้งสองด้านก็มี พอจับทางกันได้ก็โวย ใครขี้โกงเพื่อนก็ไม่เล่นด้วย
ผมเคยไปตบแปะกับเพื่อน มีใบหนึ่ง...ตบที่ไรกินเอาๆ เป็นหลายตา วารุฒนั่งใกล้ๆ หัวเราะเบาๆ ในลำคอ บอกผมว่า “ใบนี้ใบหมาน” กล่าวกับผมในทำนองที่ว่า “ใบนี้คือใบนำโชค” นั่นเอง
อีกวิธีที่เราเล่นกันบ่อยๆ ก็คือการเขี่ย กติกาง่ายๆ เขี่ยใบของเราให้คว่ำทับใบของเพื่อน เราเขี่ยคว่ำทับใบหงายของเพื่อนเป็นอันว่าชนะ และแล้ว... มันก็ได้เวลายุติลงเมื่อพวกเราต้องไปแปรงฟัน
ราวกับการเล่นสาดน้ำขนาดย่อมๆ พอครูมาเจอก็หลบให้ดี คาหนังคาเขาเมื่อไหร่โดนไม้เรียวแปะเล็กๆ ผมแปรงฟันเรียบร้อยก็มานั่งที่โต๊ะเรียน ครูคณิตท่านเขียนบทเรียนภาษาไทยยามบ่ายไว้รอแล้ว ลายมือคัดไทยที่งดงามนั้น...ท่านเขียนมันได้ทุกครั้งที่สอน และความสวยยังคงเส้นคงวาเสมอไม่มีเปลี่ยน เป็นครูที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กอย่างเงียบๆ พวกเราค่อยๆ ซึมซับส่วนดีเท่าที่ปัญญาและการฝึกตนของเราพอจะรับได้ ค่อยๆ สั่งสมวิชากันไป
ผมจดบทเรียนบนกระดานลงสมุดก่อนเพื่อนๆ แล้ว
บทเรียนวันนี้คือ...สระอู
ดูซิปู่รูหนู ปู่ชี้ดูหนูอยู่ในรู สระอูนั้นอยู่ล่างไง สระอูนั้นอยู่ล่างไง
ผมน้ำตาเกือบไหล พลันคิดถึงปู่ขึ้นมา (อารมณ์ไหนกัน ตอนนั้นปู่คงนั่งดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
206 รับชม
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
    โฆษณา