30 พ.ค. 2023 เวลา 15:40 • ธุรกิจ

4 คำถาม ไว้ตรวจสอบตนเองว่ากำลัง "ชักใย" คนอื่นด้วยเกมมิฟิเคชันอยู่หรือไม่?

ผมเคยเขียนบทความไปครั้งหนึ่งเรื่อง ประเด็นทางศีลธรรมของการใช้เกมมิฟิเคชันไป
สรุปใจความคือ เกมมิฟิเคชันเป็นเทคนิคที่มีไว้ใช้ “จูงใจ” คนด้วยกลไกเกม เช่นทำให้เด็ก ๆสนุกกับการเรียนออนไลน์เป็นต้น
แต่ถ้าเราใช้กลไกเกมจูงใจผู้เล่นของเราให้อยากทำอะไรบางอย่าง ที่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้อยากทำขึ้นมาหล่ะ
จาก “จูงใจ” (motivate) มันก็จะอาจกลายเป็น “ชักใย” (manipulate) คนด้วยกลไกเกม
เกมมิฟิเคชันมันก็เหมือนมีด ที่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาไปใช้ทำอะไร ... ทำกับข้าวก็ดีไป แต่ถ้าเอาไปใช้ทำร้ายคนอื่นก็ไม่ดี
แต่ความยากคือ มันเป็นเส้นบาง ๆ ที่บอกได้ยากว่า ตอนนี้เรากำลังจูงใจหรือชักใยอยู่ กันแน่ ยกตัวอย่างเช่น บางแอปอยากให้เราเล่นแอปเขาบ่อย ๆ เลยทำระบบ Streak ขึ้นมาให้เราเล่นทุกวัน ทีนี้ไอ้เราก็เหนื่อยละ ไม่ได้อยากเล่นขนาดนั้น แต่ก็ต้องเล่นต่อเพื่อรักษา Streak ไว้
แต่ถ้าเราไม่ได้แค่เล่นแอปหล่ะ แต่กำลังทำงานบางอย่างอยู่อย่างสนุกสนานเพื่อเก็บแต้ม ล่า quest จนไม่ได้พักผ่อน เสียสุขภาพ
ซึ่งปัญหานี้ เป็นประเด็นทางศีลธรรมของการใช้เกมมิฟิเคชัน ที่พวกเราควรจะสนใจไว้บ้าง
.
วันนี้ก็เลยจะมาเล่าให้ฟังว่ามันก็มีคำถามง่าย ๆ นะ ที่พอจะช่วยให้เราได้ทบทวนดูว่า ตอนนี้เกมมิฟิเคชันที่เรากำลังออกแบบนั้น อาจเข้าข่ายชักใย ที่จะมีประเด็นทางศีลธรรมหรือไม่
คำถามสี่ข้อนี้ประกอบไปด้วย
Kim and Werbach Framework for Gamification Ethics
1. เป็นการ “เอาเปรียบ” ผู้เล่นหรือไม่? (Is exploitative?) เช่นว่า ปรกติผู้เล่นควรจะได้เงินตอบแทนนะ แต่เขาได้แค่ point หรือ badge จากเรา
2. เป็นการ “ชักใย” ผู้เล่นหรือไม่? (Is manipulative?) เช่นว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ได้มีความจำเป็นต้องทำสิ่งนี้เลย แต่เราจูงใจจนเขาอยากทำ
3. เกิด “ผลเสีย” กับผู้เกี่ยวข้องหรือไม่? ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ (Is intentionally or unintentionally harmful to the parties involved?) เช่น เรากำลังจูงใจให้ผู้เล่น ตั้งหน้าตั้งตาทำจนอาจเสียสุขภาพ
4. สังคม “ยอมรับไม่ได้” หรือเปล่า กับพฤติกรรมของคนที่เกี่ยวข้อง? (Has a socially unacceptable level of negative effect on the character of the parties involve?) เช่น ผู้ใหญ่ใช้ขนมหลอกล่อเด็กให้ทำพฤติกรรมบางอย่าง
ถ้าตอบว่า “ใช้” ซักข้อหนึ่งก็พึงระวังไว้ว่า เราอาจจะกำลังบงการผู้เล่นของเราอยู่
แต่ก็นั่นหล่ะ บางทีมันก็มีเส้นบาง ๆ ที่ตัดสินใจได้ยาก
จึงมีคำแนะนำว่าทางแก้ง่าย ๆ คือปล่อยให้ผู้เล่น “รอ” ซักครู่นึงครับ อย่าให้เขาต้องรีบตัดสินใจ เช่น ปล่อยให้เขารอซักวันหนึ่งก่อนจะเริ่มทำ แล้วก่อนทำก็ถามอีกทีว่าอยากทำจริง ๆ นะ
คือบางทีคนเราพอได้พัก สงบสติอารมณ์ เราก็มักจะตั้งสติได้ว่า จริงแล้วเราต้องการสิ่งนี้หรือไม่
#gamification ตอนที่ 74
โฆษณา