1 มิ.ย. 2023 เวลา 14:14 • ธุรกิจ

ส่องเทรนด์ ‘BCG Model’ ในงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2023

งาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 ที่เพิ่งจบลงไปหมาด ๆ จัดขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานีถือเป็น Trade Show ที่รวมบรรดา SME ไปจนถึงธุรกิจรายใหญ่ใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมาอยู่ในงานเดียว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเครื่องดื่ม ธุรกิจชา-กาแฟ, Fine Food, Food Service, Food Technology, อาหารแช่แข็ง, ผัก-ผลไม้, เนื้อสัตว์, อาหารทะเล, ข้าว, และขนมหวาน-เบเกอรี่
ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสการเจรจาทางธุรกิจ ที่ครั้งนี้สามารถสร้างเม็ดเงินได้ถึง 1.2 แสนล้านบาท และมียอดผู้เข้าชมงานทั้งสิ้นกว่า 131,000 คน ตลอดระยะเวลาการจัดงาน 5 วัน
แน่นอนว่า หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดของงานนี้ คือ การที่ผู้ประกอบการหลายรายหันมาให้ความสนใจกับการปรับใช้ BCG Model (Bioeconomy, Circular Economy และ Green Economy) ในการดำเนินธุรกิจกันมากขึ้น
ดังที่สะท้อนผ่านผลิตภัณฑ์หลากหลายที่นำมาจำหน่าย และจัดแสดงภายในงาน อาทิ บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ผลิตภัณฑ์ Plant-Based หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น
ในโอกาสนี้ Bangkok Bank SME ได้มีโอกาสพูดคุยกับธุรกิจที่ได้ขึ้นชื่อว่าประสบความสำเร็จจากการใช้ BCG Model ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อนำมาเป็นแนวทาง และแรงบันดาลใจให้แก่ SME ที่กำลังเริ่มต้นปรับใช้โมเดลเศรษฐกิจนี้ในการทำธุรกิจเช่นกัน
📌‘หมีคู่ดาว’ แบรนด์ผู้ผลิตแป้งสำหรับการประกอบอาหาร และขนม มากว่า 40 ปี และส่งออกสินค้าไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก
คุณสถาพร ไพศาสบูรพา กรรมการผู้จัดการ บริษัท BURAPA PROSPER เจ้าของแบรนด์ หมีคู่ดาว ระบุว่า “เรามองเห็นว่า BCG เป็นเรื่องของเทรนด์โลก ที่ไม่ว่าองค์กรเล็ก หรือใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะให้ความสำคัญ ถ้าเราจะอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเรามีการส่งออก มีการทำงานเกี่ยวข้องกับลูกค้าต่างชาติ เราจะต้องนำ BCG มาใช้ในธุรกิจ”
คุณสถาพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยแรกที่เราเลือกเอา BCG Model เข้ามาเป็นหลักการในการทำธุรกิจ เพราะพอลูกค้ารู้ว่าเราทำ BCG เขาจะความมั่นใจว่าเราจะเติบโตไปพร้อมกัน ทั้งกระแสของโลก และในแง่การเป็นซัพพลายเชนเดียวกันที่ลูกค้าสามารถเคลมกลับมาได้ว่า สินค้าที่เขาซื้อไปจากเรา มันเป็นสินค้าที่มาจากองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
“โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มที่เป็นบริษัท MNC (Multinational Corporation) อย่าง URC หรือ Jack’n Jill เขาจะมีนโยบายด้านนั้น ด้านนี้ แล้วเราทำอะไรบ้าง เขาจะให้เราชี้แจง หรือเวลาเขามาตรวจสอบ จะถามถึงว่ามีการทำอะไรในมิติด้านสิ่งแวดล้อมบ้าง ถ้ามี ทำอย่างไรบ้าง รวมไปถึงการจัดสัมมนากับซัพพลายเออร์ในซัพพลายเชนของเขา เข้าร่วม เพื่อไปแชร์ลูกค้าจะเชิญเราเข้าร่วมเพื่อแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ในส่วนนี้ด้วย”
เริ่มต้น เราตีโจทย์ว่า มีอะไรที่เราทำได้บ้าง อะไรที่จะปรับปรุงให้ Green ขึ้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง ซึ่งเรามีการใช้พลาสติกเป็นวัสดุถุงบรรจุภัณฑ์ของแป้งที่เราขายอยู่ จึงคุยกับผู้ผลิตถุงว่า มีวิธีไหนที่จะช่วยลดความหนาของถุงลงได้
ซึ่งก็คือลดการใช้พลาสติกในการทำบรรจุภัณฑ์ แต่ก็ยังสามารถคงคุณภาพ และไม่มีปัญหาในการจัดส่ง เราทดลองกับซัพพลายเออร์หลาย ๆ สูตร
สุดท้ายจึงได้พลาสติกกับความหนาที่เหมาะสมกับสินค้าของเรา จากเดิมที่ใช้พลาสติกหนาประมาณ 80-90 ไมครอน ตอนนี้ลดเหลือ 60-70 ไมครอน ช่วยลดปริมาณการใช้พลาสติกในแต่ละปีลงไปได้กว่า 20%”
ในส่วนของพลังงาน เราใช้พื้นที่ทั้งหมดที่เป็นหลังคาโรงงานที่สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยติดตั้งระบบโซลาร์รูฟ เพื่อที่จะดึงเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานที่ใช้ในการผลิตสินค้า ในแต่ละเดือนสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 10-15% ถือเป็นการใช้พลังงานสะอาด และเป็นประโยชน์ทั้งกับบริษัท และสิ่งแวดล้อมด้วย
“ตอนนี้ที่กำลังทำเพิ่มอีกส่วนหนึ่งคือเรื่องของน้ำ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ใช้ในการผลิตสินค้าของเรา ซึ่งก็คือแป้งโม่น้ำ ที่ต้องใช้น้ำในการล้าง-แช่ และโม่ข้าว ทุกวันนี้เรามีกระบวนการในการบำบัดน้ำเสียตามมาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด แล้วค่อยปล่อยออกไป ซึ่งปัจจุบัน เราอยากจะเอาน้ำในส่วนนี้กลับมาใช้ประโยชน์ภายในโรงงาน เพื่อรดน้ำต้นไม้ และใช้ในโครงการปลูกผักสวนครัวในพื้นที่ว่างของโรงงาน เป็นการช่วยเรื่องค่าครองชีพของพนักงาน และให้พวกเขาได้ทานผักที่ปลอดสารพิษด้วย
จากปริมาณน้ำที่ใช้ เราคำนวณแล้วว่า สามารถปลูกผักได้ในปริมาณที่เพียงพอจนสามารถแบ่งปันผักเหล่านี้ไปที่ชุมชนด้วย เพราะใกล้ ๆ กัน มีโรงเรียนประถม เขาก็จะมีการทำอาหารกลางวันให้นักเรียนทาน เราก็คิดไว้ว่าถ้าได้ผลผลิตออกมา จะส่งไปให้น้อง ๆ ทานเป็นอาหารกลางวันด้วย ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการ กำลังเริ่มทำแปลงผัก”
ขณะเดียวกัน เรากำลังวางแผนจะนำเทคโนโลยีโอโซนมาช่วยในการบำบัดน้ำให้มีความใสขึ้น ลดกลิ่น-สี สามารถนำกลับมาใช้ในการชำระล้างในห้องน้ำ ใช้ในชักโครก ซึ่งเป็นส่วนที่มีการใช้น้ำพอสมควร เพราะเรามีพนักงานกว่า 200 คน คิดว่าจะช่วยประหยัดการใช้น้ำประปาลงได้ด้วย ซึ่งอยู่ในช่วงของการทดลอง
“ท้ายที่สุด มัน win-win การทำ BCG ไม่ใช่เป็นการเสียสละอะไร หรือเพื่ออะไรอย่างเดียว ถ้าเราคิดดี ๆ คือการทำให้เกิดประโยชน์ทั้งกับสังคมในภาพรวม และองค์กรด้วย เช่นลดขยะ ลดการใช้พลังงานที่มาจากถ่านหิน อีกส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บริษัทเองก็ได้รับประโยชน์ อย่างการลดการใช้พลาสติก มันคือการลดต้นทุนในส่วนของค่าแพ็คเกจจิ้ง หรือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ก็ช่วยลดค่าไฟฟ้าของบริษัท แม้กระทั่งการบำบัดน้ำกลับมาใช้ปลูกผัก อาจจะไม่ได้ช่วยลดลงมากมาย แต่อย่างน้อยก็เป็นสวัสดิการในการดูแลพนักงานของเรา”
📌‘ขาวผ่องฟาร์ม’ ฟาร์มปลากะพงยักษ์แห่งจังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้ยกระดับอาหารทะเลไทยสู่คุณภาพพรีเมียมระดับโลก
คุณประโยชน์ โสรัจจกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท N&J AQUA PRODUCTS เจ้าของแบรนด์ขาวผ่องฟาร์ม กล่าวว่า “เราพยายามเน้นการจัดการฟาร์มให้เป็นไปตามมาตรฐาน ระบบการเปลี่ยนถ่ายน้ำจะไม่ให้รั่วไหลออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เราพยายามทำเป็นฟาร์มระบบปิด ที่ฟาร์ม ที่โรงงาน มีการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟ
ในขณะเดียวกัน การกำจัดของเสียหลังจากการจับสัตว์น้ำแล้ว จะมีการดูดเลน ซึ่งเป็นดินที่มีความเค็ม เข้าสู่บ่อเก็บเลน ไม่ทิ้งออกสู่ชุมชนเลย น้ำเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงานเราก็จะนำกลับมารดน้ำต้นไม้ทั้งหมด ไม่เหลือทิ้งออกสู่ชุมชน เพราะเราคิดว่าน้ำพวกนี้มันมีคุณค่า แร่ธาตุ สารอาหารอยู่แล้ว”
ในส่วนของการจับปลา เรามีโรงงานแล่ของเราเอง ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่แล่ออกมาสามารถขายได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเศษกระดูก เศษไขมัน เกล็ด ก้าง หรือเกล็ดปลา สามารถใช้ในการผลิตคอลลาเจนได้ ขณะที่ก้างปลาก็สามารถนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ได้อีกด้วย
“ส่วนการจัดการฟาร์มเรามีการติดตั้งระบบ IoT เพื่อวัดออกซิเจนในน้ำ และมีระบบควบคุมการเปิด-ปิดมอเตอร์เมื่อออกซิเจนอยู่ในระดับที่กำหนดไว้ ซึ่งเราทำไว้ 2-3 บ่อ เพื่อให้เป็นอินดิเคเตอร์ที่ใช้ในการจัดการฟาร์มที่เหลือทั้งหมดอีกประมาณเกือบ 20 บ่อ”
คุณประโยชน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากฟาร์มเราเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงขนาดใหญ่ ซึ่งพื้นที่ของจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพราะฉะนั้น เรามุ่งมั่นที่จะทำฟาร์มของเราให้ตรงตามมาตรฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพของผลผลิตเนื้อปลากะพงให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น
ซึ่งโดยรวมปริมาณการผลิตในประเทศไทยยังไม่ถือว่าเยอะ เราพยายามจะส่งเสริมให้มีการบริโภคมากขึ้น โดยการทำฟาร์มให้เป็นมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่น
ทั้งนี้ทั้งนั้น เวลาเราจับปลาขึ้นมา จะเข้าสู่กระบวนการเอาเลือดออกจากตัวปลา ซึ่งจะทำให้ปลาของเรามีคุณภาพ ไม่คาว คงความสด เรามองว่าถ้าสามารถยกระดับปลากะพงให้เทียบเท่ากับปลาเมืองนอก ทำปลาเกรดซาชิมิ หรือเอาไปทำสเต็กได้ ซึ่งตอนนี้ถือว่าตอบโจทย์ คือ เราสามารถทำ 2 เมนูนี้ได้ สะท้อนในเรื่องของ BCG ที่เราพยายามทำให้ผลผลิตเกิดความยั่งยืน
ปัจจุบัน เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะฉะนั้นเทรนด์ของการผลิต การทำธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้หลักของ BCG Model เข้ามาเป็นแนวทางกำกับในการผลิตทุก ๆ อย่าง
“เราเอาทุกสิ่งที่เป็น Waste กลับเข้ามาใช้ และไม่ใช้สิ่งที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สมัยก่อนเราสั่งอาหารมาให้พนักงานในโรงงานรับประทาน ซึ่งใส่กล่องโฟมมา เราก็เปลี่ยนมาใส่ถาด และให้พนักงานตักอาหารใส่จานแทน
แม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่ก็เป็นแนวทางที่เราพยายามจะบอกพนักงานทุกคนว่า ต้องใส่ใจในเรื่องของการใช้สิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิตประจำวัน ถึงจะลำบากนิดหน่อย แต่คุ้มค่า เพราะผมเข้าใจว่าหลาย สิ่งที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มันสบายในปัจจุบัน แต่จะลำบากในอนาคต”
อยากฝากรณรงค์ในเรื่องของคุณภาพอาหาร ผมมองว่า จริง ๆ แล้วทุกคนต้องช่วยกัน เพราะผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักคำนึงถึงผลกำไรมากกว่า เราต้องช่วยกันในเรื่องของการยกระดับมาตรฐานสินค้า เราต้องพยายามผลิตให้เป็น original คือต้องไม่มีสิ่งเจือปนในผลิตภัณฑ์ไปสู่ผู้บริโภค
เพราะเรื่องนี้จำเป็นมาก เราก็ภูมิใจกับประเทศไทยที่เป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก เป็นครัวโลก แต่ตั้งข้อสังเกต ทำไมคนไทยเป็นมะเร็งมากที่สุดในโลก มันก็คือ Input-Output นะ จะมี BCG หรือไม่มี ผมก็ยังคิดว่าทุกคนต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และต่อชีวิตของคนที่บริโภคอาหารพวกนี้ด้วย มากกว่าผลกำไรที่คืนกลับมา ซึ่งผมว่ามันเป็นระยะสั้น แต่ต้นทุนที่เราต้องเสียไปในอนาคตผมว่ามันมหาศาล”
📌‘Boonyakeat Ice-cream’ ผู้ผลิตไอศกรีมแบรนด์ PANDA และ SALI จากผลไม้ไทยแท้
คุณพัฒนพงศ์ เพ็งจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท Boonyakeat Ice Cream เผยว่า บริษัทใช้ BCG Model มาเป็นสิบปีแล้ว ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ SALI ซึ่งเป็นไอศกรีมที่ใช้เนื้อผลไม้ไทยแท้ ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน มะม่วง เสาวรส มะพร้าว และอื่น ๆ เพราะฉะนั้น จึงสามารถที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบที่มาจากเกษตรกรไทย ซึ่งเข้ากับหลักของ Bio Economy อยู่แล้ว
ในส่วนของ Circular Economy ยกตัวอย่างเช่น เรารับมะพร้าวผลสดมาจากอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาผ่านกระบวนการผลิต ซึ่งจะมีทั้งเปลือก และกากมะพร้าวที่ไม่ได้ใช้ เราจะนำกลับมาพัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่ม ไปทำเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ อาจเรียกว่า Zero Waste ได้เลย เพราะแทบจะไม่มีอะไรถูกทิ้งให้สูญเปล่า
ส่วน Green Economy เราเปลี่ยนการใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกมาเป็นกระดาษมากขึ้น รวมถึงในแต่ละกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้พลังงาน เรามีการควบคุมการใช้ไฟฟ้า ประหยัดพลังงาน ลดเวลาในการเดินเครื่องเปล่า
รวมถึงเรื่องของการใช้น้ำ มีการเปิด-ปิดห้องเย็นเป็นเวลา พวกนี้เราทำมาโดยตลอด และตอนนี้กำลังมีแผนที่จะปรับใช้โซลาร์เซลล์ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณา เนื่องจากบริษัทถูกสร้างขึ้นมา 30 กว่าปีแล้ว เรามีข้อจำกัดในเรื่องของทิศโครงสร้างหลังคา
การประหยัดพลังงาน หรือการลดการปล่อยของเสียจากโรงงาน เราเชื่อว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนฟุตปริ้นท์ ซึ่งในภาพใหญ่ก็จะทำให้คาร์บอนเครดิตของประเทศไทยอยู่ในมาตรฐานที่รัฐบาลอยากเห็น คือภาพของการไม่ปล่อยและสามารถที่จะดูดซับได้มากกว่าปล่อย ในที่สุด ทุกคนก็จะอยู่ได้โดยไม่ไปส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และโลกของเรา
นอกจากบริษัทจะยกระดับผลไม้ไทยที่รับซื้อโดยตรงมาจากเกษตรกร การนำผลผลิตของเกษตรกรที่อาจจะมีมูลค่าไม่สูงมากนัก และมีข้อจำกัดในเรื่องของการจัดเก็บ นำมาแปรรูป เพิ่มมูลค่าให้อยู่ในรูปแบบของไอศกรีม ทำให้สามารถเก็บไว้ได้นานถึง 6 เดือน เพราะฉะนั้น เราสามารถสร้างรายได้ มีผลกำไร ขณะเดียวกันในส่วนของซัพพลายเชนอย่างเกษตรกร ก็ได้รับผลประโยชน์ตรงนี้ด้วย
“เรารับเสาวรสมาจากเกษตรกรในโครงการหลวง ส่วนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองปลูกอยู่แค่ 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ พิจิตร และพิษณุโลก เราจะรับจากเกษตรกรโดยตรง หรือนมโค เราก็จะรับมาจากเกษตรกรในพื้นที่หล่มสัก หรือเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์”
ลูกค้า Business ที่เข้ามาในงาน THAIFEX ให้ความสนใจ และให้ความสำคัญกับ BCG Model ลูกค้าจะถามเลยว่า วัตถุดิบหลักมาจากไหน หรือแม้กระทั่งมาตรฐานของบริษัทมีอะไรบ้าง เราเชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายเข้าใจและผู้บริโภคให้ความสำคัญ ผู้ผลิต หรือโรงงานต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ทุกคนก็จะเห็นความสำคัญของการสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น”
สำหรับประเทศเรา ด้วยวิสัยทัศน์ของประเทศ จุดแข็งของเราคือเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ กับความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างยั่งยืน คงไม่พ้นเรื่องของการแปรรูปสินค้าการเกษตร รวมถึงเรื่องของการท่องเที่ยว ดังนั้น SME ควรให้ความสำคัญจากจุดแข็ง แล้วไปดูว่าเราจะพัฒนาอะไรมาเป็นจุดขาย
“อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากเรื่องของเศรษฐกิจ สิ่งที่จะต้องสนใจ และใส่ใจไม่แพ้กัน คือเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน” คุณพัฒนพงศ์ ทิ้งท้าย
โฆษณา