4 มิ.ย. 2023 เวลา 12:02 • ประวัติศาสตร์

4 มิถุนายน Battle of Midway 4 นาทีที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก

1.
แผนการบุกมิดเวย์ที่ยามาโมโตะวางไว้มีจุดมุ่งหมายหลักๆ สองประการด้วยกัน
1
หนึ่ง คือ ล่อกองทัพเรือของอเมริกา โดยเฉพาะเรือบรรทุกเครื่องบินออกมาจาก Pearl Harbor ซึ่งเป็นฐานทัพที่บุกเข้าไปทำลายได้ยาก
แล้วจมเรือของอเมริกาลงกลางมหาสมุทร ซึ่งจะทำให้กู้เรือขึ้นมาไม่ได้
1
สอง โจมตีและยึดฐานทัพบนเกาะมิดเวย์ ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่จะเกือบกึ่งกลางระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ฐานทัพนั้นเป็นที่มั่นกลางมหาสมุทร สำหรับเตรียมบุกฮาวายต่อไป
2.
สำหรับแผนการที่ยามาโมโตะวางไว้เผื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นคือ
ขั้นตอนที่หนึ่ง ญี่ปุ่นจะส่งกองทัพลวงไปบุก หมู่เกาะอะลูเชี่ยน (Alutian) ที่อยู่ทางตอนเหนือของเกาะมิดเวย์ เพื่อดึงส่วนหนึ่งของกองทัพเรืออเมริกาออกจาก Pearl Harbor และไปรับมือกับญี่ปุ่นที่ หมู่เกาะอะลูเชี่ยน
3
ขั้นตอนที่สอง กองทัพเรือหลักของญี่ปุ่นจะบุกมิดเวย์ โดยการบุกนี้จะแบ่งเป็นสามทีมย่อย เริ่มจากเรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำ ส่งฝูงบินไปทิ้งระเบิดที่เกาะ เพื่อทำลายกองทัพอากาศ และรันเวย์ เพื่อไม่ให้เครื่องบินจากฐานทัพที่มิดเวย์ขึ้นบินได้
1
เรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำที่เป็นหัวใจของกองรบนี้คือ อะคากิ คางะ ฮิริว และโซริว นำโดยพลเรือโท จูอิจิ นากูโม่ (คนเดียวกับที่นำทัพไปถล่ม Pearl Harbor)
1
3.
จอมพลยามาโมะโตะ คาดการณ์ไว้ว่า ทางอเมริกาจะสามารถส่งเรือบรรทุกเครื่องบินมาที่มิดเวย์ได้ไม่เกินสองลำ เพราะเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Yorktown โดนถล่มเสียหายหนักในการรบก่อนหน้าที่ Coral sea
2
ดังนั้น กองทัพญี่ปุ่นจะมีจำนวนเรือบรรทุกเครื่องบินและจำนวนเครื่องบินมากกว่า ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นสามารถเอาชนะอเมริกาได้อย่างไม่ยากนัก
หลังจากที่ระเบิดฐานทัพที่มิดเวย์แล้ว ทีมที่สองก็จะขนนายทหาร 5,000 คน ขึ้นไปเพื่อยึดเกาะ
เมื่ออเมริการู้ว่าเกาะมิดเวย์ถูกโจมตี ก็จะส่งกองทัพเรือส่วนที่เหลือออกมาจาก Pearl Harbor เพื่อจะมาช่วย ทางญี่ปุ่นจะไปวางกำลังซุ่มไว้ มีทั้งเรือดำน้ำ เรือ cruiser และเรือประจัญบานหรือ Battleship ในเส้นทางที่กองรบนี้จะเดินทางมา เพื่อโจมตีโดยไม่ทันได้ตั้งตัว
1
แต่แผนการที่วางไว้นี้จะพังทลายลง ทั้งหมดเกิดขึ้นจากห้องใต้ดินเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ Pearl Harbor
1
4.
โจเซฟ โรชฟอร์ท (Joseph Rochefort) และ เอ็ดวิน เลย์ตัน (Edwin Layton) รู้จักกันครั้งแรก ตอนที่ทั้งคู่ ถูกกองทัพเรืออเมริกาส่งไปเรียนภาษาญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาทั้งคู่ก็ได้มาทำงานร่วมกันอีกครั้ง หน่วยข่าวกรองที่คอยดักฟังและถอดรหัสการสื่อสารของญี่ปุ่นในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก ในห้องใต้ดินเล็กๆ ที่ Pearl Harbor
3
โดยปกติในการดักฟังนั้น มักจะดักฟังได้แค่ 60-70% ของการสื่อสารทั้งหมด และสิ่งที่พวกเขาได้มานั้นไม่ใช่ประโยคที่สามารถฟังแล้วเข้าใจได้เลย แต่จะเป็นข้อมูลดิบที่ต้องนำไปให้ทีมช่วยกันวิเคราะห์ว่ามีความหมายว่าอย่างไร
เมื่อวิเคราะห์ออกมาแล้วก็มักจะเป็นแค่คำๆ เดียว หรือวลีสั้นๆ ที่ต้องนำไปวิเคราะห์อีกรอบว่าเมื่อรวมเข้ากับข้อความอื่นๆ แล้วจะมีความหมายว่าอย่างไร
โรชฟอร์ทและทีมสามารถดักฟังการสื่อสารที่พูดถึงแผนการบุกที่แห่งหนึ่งที่ญี่ปุ่นใช้รหัสลับว่า AF มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ข้อมูลที่มีไม่สามารถระบุลงไปอย่างชัดเจนว่า AF ที่ว่านี้คือที่ไหน
ตัวโรชฟอร์ท เองเชื่อว่า AF ที่ว่านี้คือ เกาะมิดเวย์ แต่ทางศูนย์ข่าวกรองที่วอชิงตัน ดีซี ยังไม่เห็นด้วย 100%
สุดท้ายเพื่อเป็นการพิสูจน์ว่า AF เป็นเกาะมิดเวย์จริงๆ โรชฟอร์ท จึงแอบส่งข้อความผ่านสายเคเบิลใต้ทะเลไปที่เกาะมิดเวย์ เพื่อให้มิดเวย์ปล่อยข้อความลวงทางสัญญาณวิทยุออกมาว่า ขณะนี้เครื่องทำน้ำเค็มเป็นน้ำจืดที่มิดเวย์เสียและน้ำจืดกำลังจะหมด จากนั้นพวกเขาก็รอ…
ไม่นานนักพวกเขาก็ดักฟังทางญี่ปุ่นรายงานกลับไปที่โตเกียวว่า AF ไม่มีน้ำจืดใช้
2
อเมริกันแน่ใจแล้วว่า ญี่ปุ่นกำลังบุกเกาะ Midway
5.
หลังจากเหตุการณ์ที่ Peral Harbor ผู้บังคับการกองเรือฝั่งแปซิฟิก คนเก่าถูกย้ายออกแล้ว จอมพลเรือ เชสเตอร์ นิมิตซ์ (Chester Nemitz) ก็ถูกส่งเข้ามารับตำแหน่งแทน เมื่อเขารู้แผนการบุกเกาะมิดเวย์ของยามาโมโตะ เขาก็ตั้งใจที่จะวางแผนซ้อนแผน แล้วเปลี่ยนให้แผนของญี่ปุ่นกลายมาเป็นกับดักของอเมริกา
2
อย่างแรกที่เขาทำคือ การเสริมกำลังไว้ที่เกาะมิดเวย์อย่างเต็มที่โดยเฉพาะกองทัพอากาศเพื่อเตรียมสวนกลับทันทีที่ญี่ปุ่นโจมตีหรือถ้าดีกว่านั้น คือ หาญี่ปุ่นให้เจอแล้วโจมตีก่อน
อย่างที่สองคือ เคลื่อนย้ายเรือบรรทุกเครื่องบินไปซุ่มไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ ห่างจากเกาะออกไปประมาณ 500 กิโลเมตร คือไกลพอที่ญี่ปุ่นจะหาไม่เจอ แต่ก็ใกล้พอที่จะส่งเครื่องบินไปโจมตีเรือญี่ปุ่นได้อย่างรวดเร็ว
กองเรือบรรทุกเครื่องบินที่ส่งไปซุ่มทางทิศเหนือของเกาะนี้ จะแยกเป็น 2 ทีมคือ ทีม Task Force 16 หรือย่อว่า TF16 ซึ่งมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำเป็นหัวใจหลัก คือ เรือเอนเตอร์ไพรซ์ (USS Enterprise) และเรือ ฮอร์เนต (USS Hornet)
1
ทีม Task Force 17 (TF17) มีเรือ ยอร์คทาว์น (USS Yorktown) ซึ่งเพิ่งจะซ่อมแบบลวกๆ เสร็จ
ถ้าจำกันได้ ก่อนหน้านี้ เรือยอร์คทาว์น เพิ่งจะโดนถล่มอย่างหนักจากการรบที่ Coral sea ซึ่งถ้าเป็นการซ่อมปกติจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ ก็สามเดือน แต่ด้วยความจำเป็นจึงต้องซ่อมแบบปะๆ ไปก่อน เอาแค่พอให้คงสภาพและใช้งานได้จนการรบสิ้นสุดลงก็พอ การซ่อมจึงเสร็จลงในเวลาแค่ 3 วันเท่านั้น
ดังนั้นการรบในครั้งนี้ทางอเมริกาจึงมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 3 ลำ ไม่ใช่ 2 ลำอย่างที่ญี่ปุ่นคาดการณ์ไว้ ซึ่งรวมกันแล้วทางอเมริกาจะลำเลียงเครื่องบินได้ 233 ลำ ขณะที่เรือ 4 ลำของญี่ปุ่นสามารถลำเลียงเครื่องบินได้ 248 ลำ ซึ่งไม่ต่างกันมากนัก
6.
วันที่ 3 มิถุนายน
ยามาโมโตะก็สั่งโจมตี หมู่เกาะอะลูเชียน (Aleutian) ตามแผนลวงที่วางไว้ จอมพล นิมิตซ์ ของอเมริกาก็ส่งกองรบ Task Force 8 ซึ่งเป็นกองรบเล็กไปรับมือ โดยเก็บทัพใหญ่ไว้เตรียมรับมือที่มิดเวย์
1
วันที่ 4 มิถุนายน
เวลาประมาณตี 4 ครึ่ง
ทั้งญี่ปุ่นและอเมริกา ก็เริ่มปฏิบัติการ โดยอเมริกาส่งเครื่องบินลาดตระเวนออกไปค้นหาว่ากองรบของญี่ปุ่นอยู่ที่บริเวณไหนบ้าง
ส่วนทางญี่ปุ่นก็ส่งกองบินออกมา 2 กองบิน โดยกองบินแรกส่งไปลาดตระเวนว่ามีเรือรบอเมริกาอยู่แถวนั้นบ้างไหม (ซึ่งคาดว่าจะไม่มีเพราะญี่ปุ่นบุกมาอย่างเงียบๆ ไม่มีการส่งสัญญาณวิทยุติดต่อกัน)
กองบินที่สอง มุ่งหน้าไปทิ้งระเบิดที่ฐานทัพมิดเวย์
1
แต่ก่อนที่จะไปรบกันต่อ ผมอยากจะขอเล่าแทรกเพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับการรบในยุคนี้สัก 3 ประเด็นสั้นๆ ด้วยกัน เพื่อให้เข้าใจเรื่องที่จะเล่าต่อไปได้มากขึ้น
1
อย่างแรกคือ ด้วยความที่มหาสมุทรมีพื้นที่กว้างใหญ่มาก การจะหาคู่ต่อสู้ที่ลอยลำอยู่กลางทะเลไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ละฝ่ายจึงต้องส่งเครื่องบินไปลาดตระเวน ที่เรียกว่า reconnaissance เพื่อหาว่าข้าศึกอยู่ที่ไหน ถ้าเจอก็จะวิทยุกลับไปแจ้งตำแหน่งของเรือข้าศึกที่ศูนย์บัญชาการ
อย่างที่สองคือ การรบในยุคนี้เทคโนโลยีของเรดาร์หรือการระบุตำแหน่งข้าศึกยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ทำให้ชี้ตำแหน่งได้ไม่แม่นยำและผิดพลาดได้บ่อยๆ ซึ่งอีกสักครู่จะได้เห็นกันว่า ความผิดพลาดเหล่านี้จะมีผลต่อการรบเป็นอย่างมาก
2
อย่างที่สามคือ ประเภทของเครื่องบินที่ประจำการอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบิน
อย่างกว้างๆ จะแบ่งออกเป็นสามประเภทด้วยกัน
2
หนึ่ง คือ fighter หรือ เครื่องบินขับไล่ คือ เครื่องบินที่มีหน้าที่ยิงต่อสู้กับเครื่องบินด้วยกัน หน้าที่ในทางป้องกันคือ จะบินวนเวียนอยู่เหนือเรือ เพื่อป้องกันเครื่องบินที่ขนระเบิดหรือตอร์ปิโด ที่จะเข้ามาโจมตีเรือ หน้าที่ในการบุกโจมตีคือ ยิงขับไล่เครื่องบินข้าศึกเพื่อกรุยทางให้เครื่องบินทิ้งระเบิดหรือตอร์ปิโดของฝ่ายตัวเองเข้าไปใกล้เรือข้าศึกได้ง่ายขึ้น
สองเครื่องบินขนระเบิด หรือ dive bomber เครื่องบินนี้จะทำหน้าที่ตามชื่อคือ ไปทิ้งระเบิดข้าศึก ปกติจะบินอยู่สูงๆ แล้วเวลาจะทิ้งระเบิด ก็จะปักหัวเอียงๆ แล้วดิ่งลงเข้าหาเรือเป้าหมาย พอลงมาถึงระดับ 1500-2000 ฟุตเหนือน้ำทะเล ก็จะปล่อยระเบิดให้ตกลงมา ดังนั้น ยิ่งลงมาต่ำเท่าไหร่ โอกาสระเบิดจะเข้าเป้าก็สูงขึ้น แต่ก็เสี่ยงจะพุ่งชนเรือ หรือโดนยิ่งร่วงเสียก่อน
สาม คือเครื่องบินที่บรรทุกตอร์ปิโดไปยิงเรือ โดยตอร์ปิโดจะเป็นระเบิดที่มีใบพัดที่ท้ายของระเบิด ทำให้เมื่อปล่อยลงน้ำไปแล้วระเบิดจะแล่นใต้น้ำต่อไปได้เองอีกระยะหนึ่ง แต่การจะปล่อยระเบิดตอร์ปิโด เครื่องบินจะต้องบินต่ำๆ และบินช้าๆ เพราะถ้าบินสูงแล้วทิ้งตอร์ปิโดลงมา จะกระแทกน้ำแล้วระเบิดได้ เลยต้องบินต่ำๆ ช้าๆ แล้วหย่อนตอร์ปิโดลงไป เป็นระเบิดที่มีใบพัดก็จะวิ่งต่อไปชนท้องเรือ
1
เวลาประมาณตี 5 ครึ่ง
เครื่องบินลาดตระเวนของอเมริกาก็พบเรือของญี่ปุ่นก่อน แล้ววิทยุแจ้งกลับไปที่ศูนย์บัญชาการ ที่มิดเวย์เพื่อสั่งโจมตี
เวลาประมาณ 6 โมงเช้า
หลังจากบินมาชั่วโมงครึ่ง ฝูงบินของญี่ปุ่นก็มาถึงเกาะมิดเวย์ จากนั้นก็เริ่มทิ้งระเบิดใส่อู่เครื่องบิน รันเวย์ และเรือรบที่จอดอยู่
ทหารญี่ปุ่นแอบสงสัยเล็กน้อยว่าทำไม มีเครื่องบินอยู่ที่ฐานทัพน้อยจัง (เพิ่งบินออกไปเตรียมถล่มเรือญี่ปุ่น) แม้ว่าเครื่องบินขับไล่ของอเมริกาจะขึ้นไปรับมือ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ล้าหลังกว่า ทำให้เครื่องบินอเมริกาช้าและไม่คล่องตัวเท่า โดนยิงตกเกือบหมด ไม่สามารถจะป้องกันการบุกของญี่ปุ่นได้
ญี่ปุ่นทิ้งระเบิดใส่อเมริกาอยู่นานประมาณครึ่งชั่วโมง ระเบิดก็หมด และพร้อมจะบินกลับไปที่เรือบรรทุกเครื่องบิน
คำถามสำคัญคือ โจมตีเท่านี้พอหรือยัง? จำเป็นต้องบินกลับมาทิ้งระเบิดอีกรอบไหม?
ประมาณ 7 โมงเช้า
เครื่องบินญี่ปุ่นที่มาทิ้งระเบิดก็สื่อสารกลับไปที่เรือบรรทุกว่า ยังไม่พอ จำเป็นต้องส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดอีกรอบ และประโยคสั้นๆ ประโยคนั้นก็นำไปสู่ปัญหาใหญ่ ที่ต่อมาจะทำให้เรือบรรทุกเครื่องบินจมทั้งลำ …
7.
พลเรือโท นากูโม่ ต้องตัดสินใจว่าจะเอาทำยังไงต่อดี บนเรือบรรทุกเครื่องบิน อะคากิ ซึ่งเป็นเรือธงของกองทัพ มีเครื่องบินสำรองจอดเหลืออยู่ประมาณครึ่งนึงของที่ส่งออกไปในตอนตี 4 เครื่องบินเหล่านี้สำรองไว้ตามคำสั่งของจอมพลยามาโมโตะ ที่ต้องการให้เตรียมพร้อมไว้เผื่อมีการพบเรือรบของอเมริกาจะได้พร้อมที่จะออกโจมตีโดยทันที
ถ้าเขาตัดสินใจขัดคำสั่งแล้วส่งฝูงบินสำรองเหล่านี้ออกไป ข้อดีคือ สามารถตามออกไปโจมตีฐานทัพมิดเวย์ได้เร็ว อาจจะมีเวลาเตรียมการสักหน่อย เพราะฝูงบินสำรองเหล่านี้บรรทุกตอร์ปิโดสำหรับโจมตีเรือไว้ ถ้าต้องไปทิ้งระเบิดใส่ฐานทัพ ก็ต้องเปลี่ยนจากตอร์ปิโดมาเป็นระเบิด ซึ่งใช้เวลาประมาณสักชั่วโมง
แต่ถ้าเขาไม่ส่งฝูงบินสำรองนี้ไป เขาก็ต้องรอให้ฝูงบินชุดแรกกลับมาก่อน ซึ่งในช่วงเวลาที่รอนี้ก็จะทำให้ทางอเมริกามีเวลาตั้งตัวได้มากขึ้น
แต่ยังไม่ทันได้ตัดสินใจ ฝูงบินของอเมริกาจากฐานทัพมิดเวย์ที่ออกบินตั้งแต่ตี 5 ก็มาถึง
การมาปรากฏตัวของฝูงบินนี้สร้างความประหลาดใจให้กับนากูโม่มาก คำถามที่เขาไม่เข้าใจคือ ทำไมอเมริกาจึงตอบโต้ได้รวดเร็วเช่นนี้? การตอบโต้เร็วขนาดนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เว้นเสียแต่ว่า อเมริกาจะรู้มาก่อนว่าญี่ปุ่นกำลังจะมาแล้วส่งกองบินออกมาตั้งแต่ก่อนจะถูกโจมตี
ประมาณ 7:10 นาฬิกา
ฝูงบินของทางอเมริกาจากมิดเวย์ พยายามจะทิ้งระเบิดใส่เรือบรรทุกเครื่องบินของญี่ปุ่น แต่ฝูงบินจากอเมริกาที่มานี้ทำอะไรญี่ปุ่นไม่ได้เลยเพราะสมรรถนะของเครื่องบินอเมริกาด้อยกว่าญี่ปุ่นมาก คือ บินได้ช้ากว่าและไม่คล่องตัวเท่า จึงถูกเครื่องบินขับไล่ และปืนต่อสู้อากาศยานของญี่ปุ่นยิงร่วงอย่างไม่ยากนัก
ชัยชนะครั้งนี้ทำให้ญี่ปุ่นรู้สึกชะล่าใจว่า ประสิทธิภาพของเครื่องบินญี่ปุ่นเหนือกว่าอเมริกามาก
1
เวลาประมาณ 7:15 นาฬิกา
พลเรือโท นากูโม่ ตัดสินใจที่จะส่งกองบินสำรองไปโจมตีมิดเวย์ในทันทีโดยไม่รอให้กองบินชุดแรกกลับมาถึง เชื่อว่าสาเหตุหนึ่งที่นากูโม่ตัดสินใจขัดคำสั่งของจอมพลยามาโมโตะ เป็นเพราะการบุกมาของกองบินจากมิดเวย์ ทำให้นากูโม่คิดว่ารอช้าไม่ได้ ต้องรีบไปทิ้งระเบิดที่มิดเวย์เพื่อหยุดการโจมตีจากมิดเวย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เมื่อตัดสินใจดังนั้น การสลับเปลี่ยนลูกระเบิดจากตอร์ปิโดเป็นระเบิดจึงเริ่มต้นขึ้น
1
เวลาประมาณ 7:40 นาฬิกา หลังการเริ่มเปลี่ยนระเบิดไปได้ครึ่งชั่วโมง
นากูโม่ก็ได้รับแจ้งจากเครื่องบินที่ออกไปลาดตระเวนว่า พบเรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกาในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งการค้นพบนี้สร้างความประหลาดใจให้กับนากูโม่อีกครั้ง ทำไมเรือรบของอเมริกาจึงมาอยู่แถวนี้ได้? เรือรบของอเมริกาไม่ได้เดินทางมาจาก Pearl Harbor อย่างที่คาดเอาไว้หรือ? ถ้ามาจาก Pearl Harbor ก็ไม่มีทางที่จะมาถึงได้เร็วขนาดนี้
อย่างไรก็ตาม การค้นพบเรือบรรทุกเครื่องบินก็ทำให้แผนของนากูโม่ปั่นป่วน และทำให้เขามีเรื่องสำคัญต้องตัดสินใจอีกครั้ง
คำถามคือ ตอนนี้ควรจะสนใจทางไหนก่อน จะทำตามแผนเดิมคือ ส่งเครื่องบินสำรองไปโจมตีมิดเวย์ หรือ จะหันความสนใจไปที่เรือบรรทุกเครื่องบิน (ซึ่งอันตรายกว่า) ดี
แต่ถ้าจะเลือกจะไปโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบิน การเปลี่ยนระเบิดที่ทำมาแล้วครึ่งทางก็ต้องยกเลิก และเปลี่ยนกลับมาบรรทุกตอร์ปิโดใหม่อีกรอบ (ซึ่งเสียเวลามากขึ้นไปอีก)
นากูโม่ จึงคิดว่าถ้าจะไปถล่มเรือบรรทุกเครื่องบินทั้งที และต้องรอการเปลี่ยนตอร์ปิโดอยู่แล้ว ควรจะรอเครื่องบินชุดแรกที่ไปถล่มมิดเวย์กลับมาก่อน จากนั้นก็เติมน้ำมัน บรรทุกระเบิดใหม่ และยกไปชุดใหญ่เพื่อช่วยกันสร้างความปั่นป่วนน่าจะดีกว่า
ระหว่างนี้ อู่เครื่องบินที่อยู่ใต้รันเวย์ จึงเต็มไปด้วยเครื่องบิน ถังน้ำมันที่นำมาเติมให้เครื่องบิน ระเบิดและตอร์ปิโดที่ถูกสลับไปมา กองไว้เกลื่อนไปหมด
1
8.
กลับมาที่ฝั่งอเมริกาบ้าง หลังจากที่อเมริการู้ตำแหน่งของกองเรือญี่ปุ่น เรือบรรทุกเครื่องบินทั้งสามลำก็เตรียมพร้อมที่จะส่งเครื่องบินไปโจมตี
เวลาประมาณ 7 โมงเช้า เรือ Hornet และ Enterprise ก็เริ่มส่งเครื่องบินต่างๆ ทั้งเครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิด (dive bomber) และเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโด ออกไปเพื่อที่จะถล่มญี่ปุ่น
1
ส่วนเครื่องบินจาก Yorktown ออกช้ากว่านั้นเล็กน้อยเพราะเหตุขัดข้องทางเทคนิค
1
ความประหลาดของเรื่องคือ ถึงเวลาจริงๆ เครื่องบินที่เดินทางไปถึงเรือบรรทุกญี่ปุ่นก่อน คือ เครื่องบินทิ้งตอร์ปิโด ซึ่งเป็นประเภทเครื่องบินที่บินได้ช้าที่สุด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ด้วยความที่ในยุคนั้นระบบการชี้เป้ายังไม่ดีนัก และเทคโนโลยีของอเมริกาค่อนข้างล้าหลังกว่าญี่ปุ่น ทำให้เครื่องบินไม่รู้ตำแหน่งเป๊ะๆ การบินของอเมริกันจึงต้องบินกระจายกินพื้นที่กว้างๆ เพื่อช่วยกันมองหาเรือข้าศึก ทำให้บางครั้งเครื่องบินบางลำถึงขนาดบินหลงเป้าหมายไปเลยก็มี กรณีนี้ก็เช่นกัน
1
เครื่องบินทิ้งระเบิดจาก Hornet ที่บินนำไปก่อนถูกส่งไปผิดที่ ซึ่งเป็นผลจากการคาดการณ์ตำแหน่งของเรือญี่ปุ่นผิดพลาด ทำให้กองบินนี้ ซึ่งมีจำนวนคิดเป็น 1 ใน 3 ของเครื่องบินทั้งหมด บินหายจากสมรภูมิรบไปเลย ทุกวันนี้กองบินนี้จึงเป็นที่รู้จักในชื่อ The flight to nowhere
4
ฝูงบินทิ้งระเบิดจากเรือ USS Enterprise ก็เช่นกัน เมื่อบินไปถึงพิกัดก็หาเรือญี่ปุ่นไม่พบ มองไปทางไหนก็มีแต่ทะเลเวิ้งว้างพวกเขาบินต่อไปเรื่อยๆ จนน้ำมันใกล้จะหมด
คำถามคือ พวกเขาจะทำอย่างไรดี? จะวิทยุติดต่อกลับไปก็ไม่ได้ เพราะภารกิจนี้ทั้งหมดเป็นความลับที่จะไม่วิทยุสื่อสารระหว่างกัน พวกเขาควรจะพยายามบินหาต่อหรือจะกลับไปที่เรือดี?
1
สิ่งที่นาวาโท Clarence Wade McClusky, Jr. ผู้บังคับกองบินพาฝูงบินตัดสินใจคือ เขาตัดสินใจที่บินหาต่อแต่คราวนี้จะบินให้ครอบคลุมพื้นที่เป็นรูป 4 เหลี่ยมใหญ่ๆ
ในที่สุดพวกเขาก็โชคดีไปพบเรือพิฆาตของญี่ปุ่นซึ่งกำลังแล่นด้วยความเร็วสูง เขาเดาว่าเรือลำนี้น่าจะพยายามแล่นกลับไปหาเรือบรรทุกเครื่องบิน เขาจึงบินไปยังทิศทางที่เรือลำนี้แล่นไป ในเวลาไม่นานนักสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าพวกเขาก็คือ เรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 4 ลำของญี่ปุ่น
1
ขอย้อนเวลากลับไปก่อนหน้าที่ นาวาโท McClusky จะมาถึง
ในช่วงแรกที่มีแต่เครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดมาถึงเรือรบของญี่ปุ่นโดยไม่มีเครื่องบินขับไล่หรือเครื่องบินทิ้งระเบิดมาช่วยเสริมหรือเบี่ยงเบนความสนใจ
อย่างที่คุยไปก่อนหน้าว่าเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดจะบินต่ำและบินช้า ดังนั้นเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดที่มาถึงก่อนจึงโดนญี่ปุ่นยิงร่วงทั้งหมด โดยไม่สามารถสร้างความเสียหายให้กับเรือบรรทุกเครื่องบินของญี่ปุ่นได้เลยแม้แต่น้อย
ฟังดูเหมือนว่าเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดทั้งหลายของอเมริกาจะไม่ได้ช่วยอะไรเลยใช่ไหมครับ?
1
คำตอบคือไม่ครับ เครื่องบินตอร์ปิโดที่ไม่สามารถสร้างความเสียหายให้กับเรือญี่ปุ่นทั้งหลายนี้ มีผลอย่างมากที่ทำให้สุดท้ายอเมริกาสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินของญี่ปุ่นได้ เหตุผลเป็นอย่างนี้ครับ
1
หนึ่ง โดยปกติเรือบรรทุกเครื่องบินจะมีเครื่องบินขับไล่บินวนให้ความคุ้มครองอยู่ด้านบน (combat air patrol หรือ CAP) เพื่อคอยยิงเครื่องบินทิ้งระเบิดที่เข้ามาใกล้ แต่เมื่อมีแค่เครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดของอเมริกาเข้ามาทำให้เครื่องบินขับไล่เหล่านี้ต้องบินลงมาต่อสู้ด้วยที่ระดับต่ำ ท้องฟ้าด้านบนจึงเปิดโล่งไม่มีเครื่องบินขับไล่คุ้มกันหลงเหลืออยู่
3
สองเครื่องบินทิ้งตอร์ปิโดของอเมริกัน เมื่อมาถึงก็แทบจะเป็นเป้าให้ญี่ปุ่นยิงกันอย่างสนุกสนาน แต่ก็ทำให้กระสุนและเชื้อเพลิงของเครื่องบินขับไล่ลดลงไปมาก
และแทบจะเหมือนนัดหมายกันไว้ คือ ทันทีที่เครื่องบินตอร์ปิโดของอเมริกาถูกยิงร่วงจนหมด ฝูงบินของ McClusky จำนวน 26 ลำก็ปรากฏตัวขึ้นที่ท้องฟ้าด้านบนซึ่งเปิดโล่ง ไม่มี CAP คอยคุ้มกันแม้แต่ลำเดียว …
9.
เวลาประมาณ 10:25 นาฬิกา
3
เบื้องหน้าของ แมคคลัสกี้ (McClusky) มีเรือบรรทุกเครื่องบินของญี่ปุ่นอยู่ 4 ลำคือ คางะ อะคากิ โซริว และโชริว เขาจึงสั่งให้กองรบแยกเป็นสองทีม โดยทีมหนึ่งโจมตีเรือคางะ อีกทีมโจมตีอะคากิ แต่ด้วยความผิดพลาดบางอย่าง คำสั่งของเขาไปไม่ถึงนักบินคนอื่นๆ เครื่องบินทั้งหมด 31 ลำจึงมุ่งหน้าไปถล่มเรือ คางะ ซึ่งเป็นเรือลำที่ใหญ่ที่สุดและอยู่ใกล้ที่สุด
6
จังหวะนั้นเองนาวาเอกริชาร์ด เบสต์ (Richard Best) ซึ่งถือได้ว่าเป็นนักบินที่เก่งที่สุดของกองบิน ก็เห็นระเบิดลูกแล้วลูกเล่าตกใส่เรือคางะ เขาเห็นระเบิดตกลงไปในตำแหน่งที่เขาตั้งใจจะทิ้งระเบิด
1
เขาจึงส่งสัญญาณให้ wingman ทั้งสองลำพร้อมกับตัวเขา แยกตัวออกจากกลุ่ม แล้วเปลี่ยนเป้าหมายมุ่งหน้าไปที่เรือ อะคากิ ซึ่งเป็นเรือธงของกองทัพ
1
โดยปกติแล้วเครื่องบินทิ้งระเบิดแค่ 3 ลำ แทบจะไม่มีทางทำอันตรายรุนแรงให้กับเรือบรรทุกเครื่องบินได้เลย แต่ด้วยเวลาที่จำกัดพวกเขาจึงไม่มีทางเลือกอื่น สามลำก็สามลำ
ระเบิดลูกแรกจากเครื่องบินลำแรกถูกปล่อยลงไป .... พลาดเป้าหมาย
ระเบิดลูกที่สองจากเครื่องบินลำที่สองถูกปล่อยลงไป ... พลาดเป้าหมาย
(น่าจะเป็น) ริชาร์ด เบสต์ เป็นเครื่องบินลำสุดท้าย เขาสามารถที่จะหย่อนระเบิดลงไปกลางรันเวย์ (เหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วและสับสนจนไม่มีใครแน่ใจ แต่น่าจะเป็นระเบิดของเบสต์มากที่สุด)
ระเบิดทะลุรันเวย์ลงไปที่อู่ซ่อมเครื่องบินที่อยู่ชั้นล่างลงไป
จำได้ไหมครับว่า ก่อนหน้านี้ นากูโม่ สั่งให้เครื่องบินเปลี่ยนจากตอร์ปิโดเป็นระเบิด และกลับคำสั่งเปลี่ยนระเบิดเป็นตอร์ปิโดอีกรอบ ดังนั้นภายในอู่ซ่อมจึงเต็มไปด้วยระเบิดที่วางกระจายไปทั่ว และยังมีถังน้ำมันที่นำมาเติมให้กับเครื่องบินแต่ยังไม่ได้นำไปเก็บเพราะถูกโจมตีเสียก่อน
ระเบิดหนึ่งลูกของ Best ทะลุรันเวย์ลงมาท่ามกลางระเบิดเหล่านี้พอดี การระเบิดของระเบิดหนึ่งลูกจึงตามมาด้วยการระเบิดต่อเนื่องของระเบิดและถังน้ำมันนับสิบ จนไฟลุกท่วมเรือ
1
ไม่กี่วินาทีต่อมา เรือคางะ และเรืออะคากิ ก็ค่อยๆ จมลงไปพร้อมๆ กัน
10.
ในขณะที่เรือ คางะ และอาคากิ กำลังโดนฝูงบินของแมคคลาสกี้ถล่มอยู่นั้น ไม่ไกลออกไปนัก ทหารบนเรือ โซริว และฮิริว ก็ยืนมองด้วยความหวาดกลัว
แต่พวกเขาไม่มีโอกาสได้กลัวอยู่นาน เพราะด้วยความบังเอิญอย่างที่สุด เครื่องบินทิ้งระเบิดจากเรือยอร์คทาว์นก็ปรากฏตัวขึ้น
จำได้ไหมครับว่า ในเวลาที่เครื่องบินจากเรือ เอนเตอร์ไพรซ์และเรือฮอร์เนต ขึ้นบินมานั้น เรือยอรค์ทาว์นยังไม่สามารถส่งเครื่องบินออกมาได้ ที่เป็นเช่นนั้นไม่ได้มาจากการวางแผนหรือเป็นกลยุทธ์ใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นปัญหาทางเทคนิค เพราะการจะส่งเครื่องบินขึ้นจากรันเวย์สั้นๆ บนเรือได้นั้น กระแสลมที่พัดมาเพื่อพยุงเครื่องบินขึ้นต้องมีความแรงและเร็วประมาณนึง ซึ่งวิธีการคือ เรือต้องแล่นด้วยความเร็วสูงระดับหนึ่งบวกกับการแล่นทวนกระแสลม
ที่เรือยอร์คทาวน์ไม่สามารถส่งเครื่องบินขึ้นได้พร้อมกับเรืออีกสองลำ ก็เป็นเพราะยังไม่สามารถทำความเร็วลมได้เร็วและแรงพอ
แต่ความล่าช้านี้ก็กลายมาเป็นโชคดี เพราะเวลาที่ล่าช้าไปนี้มันไปเท่าๆ กับเวลาที่ฝูงบินของแมคคลาสกี้หลงทางไป
2
ทำให้ฝูงบินทั้งหมดเข้ามาโจมตีกองเรือญี่ปุ่นพร้อมๆ กันอย่างบังเอิญ เป็นความบังเอิญในระดับที่ต่อให้วางแผนไว้อย่างดีก็ไม่สามารถจะทำเช่นนี้ได้
1
เมื่อฝูงบินจากยอร์ทาวน์เดินทางมาถึงนั้น เครื่องบินขับไล่ของญี่ปุ่นกำลังพัวพันอยู่รอบๆ เรือ คางะและอะคากิ แทบจะไม่มีใครมาคอยป้องกันเรือโซริวเลย เรือโซริวจึงโดนฝูงบินจากเรือยอร์คทาวน์ถล่มจนจมลงก้นทะเล
1
เหตุการณ์ที่เรือ สามลำของญี่ปุ่น ถูกจมลงนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลา 10:25-10:29 นาฬิกา หรือภายในเวลาแค่ 4 นาทีเท่านั้น
1
4 นาทีนี้จึงเป็น 4 นาทีสำคัญ ที่เปลี่ยนทิศทางการรบ
เปลี่ยนทิศทางของสงคราม
และเปลี่ยนทิศทางของประวัติศาสตร์โลกอย่างแท้จริง
11.
มาถึงตอนนี้ ญี่ปุ่นก็เหลือบรรทุกเครื่องบินอยู่ลำเดียวคือ ฮิริว
แต่ญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมแพ้ พวกเขาตอบโต้อย่างรวดเร็วด้วยการส่งเครื่องบินออกไปโจมตีเรือยอร์คทาว์นในทันที
เครื่องบินของญี่ปุ่นสามารถบินผ่านเครื่องบินขับไล่ของอเมริกันไปได้เกือบทั้งหมด แล้วก็สามารถไปทิ้งระเบิดลงเรือยอรค์ทาว์นได้ถึง 3 ลูกด้วยกัน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเรือค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ลูกเรือก็สามารถจะซ่อมแซมเรือได้ในเวลาสั้นๆ ทำให้เรือยอรค์ทาว์นสามารถจะพอแล่นต่อไปได้
1
ขณะที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของญี่ปุ่นกำลังบินกลับ พวกเขาก็วิทยุกลับไปแจ้งว่าสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกาได้ ทางศูนย์บัญชาการจึงเข้าใจผิดว่า ขณะนี้เรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกาเหลือแค่สองลำเท่านั้น
1
ดังนั้นการต่อสู้จึงเปลี่ยนจาก 3 รุม 1 เป็น 2 รุม 1 ทำให้ทางจอมพลยามาโมโตะ คิดว่าโอกาสชนะยังพอมี แทนที่จะถอยทัพเพื่อรักษาเรือบรรทุกเครื่องบินลำสุดท้ายที่เหลืออยู่ เขาจึงตัดสินใจที่จะต่อสู้ต่อ โดยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดออกไปอีกรอบ
เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดกลุ่มที่สองมาพบเรือยอร์คทาว์นซึ่งสามารถแล่นได้เร็วเหมือนปกติ จึงคิดว่าเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำอื่น จึงทิ้งระเบิดใส่เรือยอร์คทาว์นอีกรอบ
เรือยอร์คทาว์นซึ่งถ้าจำกันได้คือ เรือบรรทุกเครื่องบินที่เคยโดยถล่มที่ Battle of Coral sea และถูกซ่อมมาอย่างลวกๆ เพื่อให้พอใช้การได้ในสมรภูมิมิเวย์ การโดนระเบิดรอบนี้จึงเหมือนเป็นการโดนระเบิดรอบที่สาม ซึ่งมีผลให้เรือยอร์คทาว์นใช้การไม่ได้อีกต่อไป
4
หลังระเบิดเรือยอรค์ทาวน์ได้สำเร็จ นักบินของญี่ปุ่นก็วิทยุกลับไปที่ศูนย์บัญชาการอีกรอบว่าสามารถ “จมเรืออเมริกาได้อีก 1 ลำ” ดังนั้นในมุมมองของจอมพลยามาโมโตะ ตอนนี้อเมริกาและญี่ปุ่น จึงเหลือ 1:1 เท่ากัน ทางญี่ปุ่นจึงตัดสินใจที่จะรวบรวมเครื่องบินทั้งหมดไว้ที่เรือ ฮิริว เพื่อที่จะต่อสู้กับเรือบรรทุกเครื่องบินที่เหลืออยู่เพียงลำเดียวของอเมริกา
1
12.
บ่ายวันนั้นการโจมตีครั้งสุดท้ายของอเมริกาก็เกิดขึ้น เครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินทั้งสองลำ มุ่งหน้าไปรุมทิ้งระเบิดใส่เรือฮิริว จนสุดท้ายเรือฮิริวก็เสียหายจนไม่สามารถจะแล่นต่อไปได้
เมื่อเรือแล่นไม่ได้ เครื่องบินของญี่ปุ่นก็ไม่สามารถที่จะขึ้นบินมารบต่อได้
การต่อสู้ที่มิดเวย์จึงแทบจะเรียกได้สิ้นสุดลงแล้ว แม้ว่าจะยังมีการต่อสู้ของเรือรบอื่นๆ อยู่บ้างก็ตาม
1
13.
ความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นที่มิดเวย์นี้ ถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก เพราะก่อนหน้าการรบที่มิดเวย์ ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายบุกและชนะมาตลอด หรือพูดง่ายๆ ว่าที่ผ่านมาญี่ปุ่นเป็นฝ่ายคุมเกมมาโดยตลอด ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายเลือกว่าจะบุกตรงไหน จะโจมตีเมื่อไหร่ โดยอเมริกาเป็นฝ่ายตั้งรับแต่เพียงอย่างเดียว
2
แต่หลังการรบครั้งนี้สิ้นสุดลง ญี่ปุ่นเสียหายหนัก จนไม่สามารถที่จะเป็นฝ่ายรุกได้อีกต่อไป และกลายเป็นอเมริกาที่ตามรุกไล่ญี่ปุ่นไปเรื่อยๆ จนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
1
ความพยายามที่จะเป็นจักรวรรดิของญี่ปุ่นซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วง Meiji restoration จึงสิ้นสุดลงที่ Midway นี้เอง ....
ถ้าชอบประวัติศาสตร์แบบนี้ แนะนำหนังสือ "สงครามที่ไม่มีวันชนะ" เนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์โลก
1
💚 Line My Shop : https://bit.ly/3OJSF7X
3
โฆษณา