นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ ได้เข้าร่วมหารือกับ Executive Director ขององค์การ NASA ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่องการส่งเพย์โหลดของโครงการ Thailand Liquid Crystals in Space (TLC) ขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยมี รศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการ เป็นผู้รายงานความก้าวหน้าของโครงการ
การหารือครั้งนี้ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในเรื่องงบประมาณและกำหนดการของการส่งเพย์โหลดของโครงการ Thailand Liquid Crystals in Space (TLC) ขึ้นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติ สำหรับโครงการ Thailand Liquid Crystals in Space เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนหลักจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือขององค์การ NASA มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และสถาบันการศึกษาอีกหลายสถาบัน โดยเป็นโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และองค์การ NASA ในการร่วมกันศึกษาผลึกเหลว หรือ Liquid Crystals บนสถานีอวกาศนานาชาติ
รศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม หัวหน้าโครงการ กล่าวถึงความคืบหน้าในการสร้างเพย์โหลดนี้ว่า ลุล่วงไปกว่า 30 % แล้ว และสามารถทดสอบมมุติฐานของการทดลองจุดบกพร่องในผลึกเหลว ภายใต้สภาวะไร้แรงโน้มถ่วงได้แล้ว โดยการทดสอบนี้จะช่วยในกระบวนการผลิตหน้าจอแอลซีดีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีอวกาศและบนพื้นโลก
ประเทศไทยเป็นผู้สร้างและทดสอบชุดอุปกรณ์การทดลองที่จะถูกส่งขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station, ISS) และ NASA เป็นผู้รับผิดชอบในการขนส่งชุดอุปกรณ์นี้ขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติ เพื่อให้นักบินอวกาศของ NASA เป็นผู้ทำการทดลองภายใต้การควบคุมการทดลองโดยทีมนักวิจัยจากประเทศไทย
โดยมี รศ.ดร.ณัฐพร ฉัตรแถม จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีม ผู้ร่วมวิจัยในทีมประกอบด้วย ผศ.ดร.อภิชาติ พัฒนโภครัตนา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล จาก GISTDA
โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะเป็นผู้รับผิดชอบส่วนงานด้านวิทยาศาสตร์ของการทดลองนี้ และ GISTDA จะเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างและทดสอบชุดอุปกรณ์ โดยจะมีทีมวิศวกรจาก NASA เป็นผู้กำกับดูแลร่วมกับทีมวิศวกรไทยในการสร้างอุปกรณ์ทั้งหมด ซึ่งการทดลองนี้จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะได้สร้างอุปกรณ์ขนาดใหญ่เพื่อให้นักบินอวกาศเป็นผู้ทดสอบและทดลองในอวกาศ
ข้อมูลจาก
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
5 ถูกใจ
237 รับชม
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
  • 5
    โฆษณา