31 ก.ค. 2023 เวลา 11:34 • ไอที & แก็ดเจ็ต

Keychron แบรนด์คีย์บอร์ด ที่เปลี่ยนสินค้าเฉพาะกลุ่ม ให้ครองใจคนจำนวนมาก

หากใครที่คลุกคลีอยู่ในวงการไอที เป็นเกมเมอร์หรือโปรแกรมเมอร์ คงต้องเคยได้ยินชื่อแบรนด์คีย์บอร์ด “Keychron (คีย์ครอน)” ผ่านหูกันมาบ้าง
แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่คุ้นกับชื่อนี้ ต้องขออธิบายเพิ่มว่า Keychron คือแบรนด์คีย์บอร์ดแบบ “Mechanical Keyboard” ซึ่งแบรนด์มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน
โดยคีย์บอร์ดประเภทนี้ จะแตกต่างจากคีย์บอร์ดทำงานทั่วไปที่คนส่วนใหญ่ใช้กัน
เพราะผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งเสียง สี และแรงสัมผัสของปุ่มกด ได้เองตามใจชอบ
ที่น่าสนใจคือ Keychron ถือเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่เข้ามาปลุกกระแสของตลาด Mechanical Keyboard นี้ ให้กลายเป็นสินค้าที่ไม่ใช่แค่ครองใจคนรักไอทีเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าไปนั่งในใจของคนทั่ว ๆ ไป ในวงกว้าง อีกด้วย
1
คำถามที่ตามมาคือ แล้ว Keychron มีกลยุทธ์อะไร
ในการเปลี่ยนสินค้าที่ “Niche” หรือเฉพาะกลุ่ม ให้กลายเป็นสินค้าที่ค่อนข้าง “Mass” ได้ ?
ในบทความนี้ MarketThink จะพาไปหาคำตอบกัน..
แบรนด์ Keychron ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดยกลุ่มเพื่อน 3 คน ที่หลงใหลและเชี่ยวชาญในวงการคีย์บอร์ด ได้แก่ คุณ Will Ye, คุณ Sven Zhu และคุณ Nick Xu
โดยทั้ง 3 คนต่างเป็นสาวก Apple และคุ้นชินกับการใช้แป้นพิมพ์แบบ Mac มาโดยตลอด..
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งของการใช้งานคีย์บอร์ด Mac ที่แอบขัดใจพวกเขาอยู่บ่อย ๆ นั่นคือ มันเป็นคีย์บอร์ดประเภทปุ่มยาง
ซึ่งคีย์บอร์ดประเภทนี้จะไม่ค่อยคงทน และมักเกิดอาการรวน เมื่อกดหลายปุ่มพร้อมกัน อีกทั้งหากมีปุ่มใดเสียหายจะต้องเปลี่ยนแป้นพิมพ์ยกทั้งแผง เนื่องจากคีย์บอร์ดชนิดนี้ใช้แผ่นวงจรร่วมกัน
พอเป็นแบบนี้ ทั้ง 3 คนจึงคุยกันว่า อยากได้คีย์บอร์ดดี ๆ สักอันมาใช้ทำงาน
ซึ่ง Mechanical Keyboard ก็ดูจะตอบโจทย์ความต้องการที่พวกเขากำลังตามหา..
เพราะคีย์บอร์ดประเภทนี้ มีกลไกการทำงานแบบสวิตช์ ที่ปุ่มกดแต่ละปุ่ม จะแยกการทำงานกันอย่างชัดเจน ดังนั้นเมื่อมีปุ่มใดเสียหาย ก็สามารถซ่อมแยกปุ่มได้ และทนทานกว่าคีย์บอร์ดปุ่มยาง
แถมให้อรรถรสในการพิมพ์ที่สนุกและมันมือกว่า
อย่างไรก็ตาม แม้พวกเขาจะรู้แล้วว่า คีย์บอร์ดประเภทไหนตอบโจทย์พวกเขา ที่ต้องใช้งานคีย์บอร์ดบ่อย ๆ
แต่ยังติดปัญหาตรงที่ว่า ตลาด Mechanical Keyboard ในตอนนั้น ยังไม่รองรับการใช้งานกับ Mac และ iOS อีกทั้งดิไซน์ของคีย์บอร์ดส่วนใหญ่ ก็มีสีที่ฉูดฉาดเกินไป ซึ่งขัดกับสไตล์มินิมัลที่พวกเขาชื่นชอบ
1
ดังนั้น เมื่อในตลาดไม่มีสินค้าที่ตอบสนองความต้องการได้.. พวกเขาจึงตัดสินใจสร้างคีย์บอร์ดขึ้นมาเอง จนเกิดเป็นแบรนด์ “Keychron” ในที่สุด
โดย Keychron ถือเป็นผู้ผลิต Mechanical Keyboard แบรนด์แรก ที่บุกเบิกฟังก์ชันการทำงานที่รองรับทั้งระบบ Mac, iOS, Windows, Android และ Linux
เมื่อได้คอนเซปต์ของสินค้าแล้ว คำถามถัดมาคือ แล้วตลาดใหญ่แค่ไหน และจะขายให้ใคร ?
เพราะสินค้าที่พวกเขากำลังจะขายนั้น ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม (Niche Market)
แม้คีย์บอร์ด จะดูเป็นสินค้าที่ไม่น่าดึงดูด และเรียกร้องความสนใจจากผู้บริโภคจำนวนมากได้ยาก
แต่ทั้ง 3 คนก็ไม่ได้ยอมแพ้ต่อข้อจำกัดนี้ และพยายามหาวิธีการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ทางธุรกิจของพวกเขาเอง
เริ่มตั้งแต่หาช่องทางเปิดตัวสินค้า ไปพร้อม ๆ กับการหาทุนทำธุรกิจบน Kickstarter แพลตฟอร์มระดมทุนแบบ Crowdfunding ชื่อดัง
ซึ่งพวกเขาก็ได้เงินระดมทุนกลับมา กว่า 10 ล้านบาท แถมยังมีคนสนใจไอเดียคีย์บอร์ดของพวกเขา เกือบ 4,000 คน
แสดงให้เห็นว่า Keychron กำลังมาถูกทาง เพราะกำลังมีกลุ่มคนที่มองหาคีย์บอร์ดทางเลือกแบบนี้ อยู่เช่นกัน ที่สำคัญคนกลุ่มนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจของพวกเขาเติบโตต่อไปได้อีกด้วย
ที่สำคัญ ตัวสินค้า Keychron ไม่ได้มีดีแค่รองรับการทำงานกับทุกระบบปฏิบัติการเท่านั้น
แต่พวกเขายังใช้กลยุทธ์ “Customization” พูดง่าย ๆ คือ ให้ลูกค้ามาออกแบบสินค้าเองได้ตามสไตล์
เช่น การเปลี่ยนสีปุ่มกด ตัวแป้นพิมพ์สามารถเลือกได้ทั้งแรงกดและเสียงในการพิมพ์ได้เอง ไปจนถึงลูกเล่นของแสงและสีไฟบนแป้นพิมพ์
1
ซึ่งกลยุทธ์นี้ จะช่วยให้ลูกค้าได้สินค้าที่ตรงตามความต้องการที่แท้จริง แถมยังช่วยสร้างความสนุก และความภาคภูมิใจให้กับลูกค้า เพราะคีย์บอร์ดนี้จะมีชิ้นเดียวในโลก กลายเป็นตัวช่วยสร้าง “ความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์”
และหากลูกค้าสั่งสมความรู้สึกดี ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ มันก็มีโอกาสที่จะกลายมาเป็น “ความภักดีต่อแบรนด์” ได้อีกด้วย
มากไปกว่านั้น เมื่อลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนและตกแต่งคีย์บอร์ดของตนเองอยู่ได้เรื่อย ๆ
ก็เท่ากับว่า Keychron จะสามารถต่อยอดการสร้างรายได้ เพิ่มขึ้นไปได้อีก
นอกจากนี้ Keychron ยังใช้วิธีหาความต้องการใหม่ ๆ ของลูกค้า ด้วยการฟังเสียงจากลูกค้าโดยตรง ผ่านกลุ่ม Facebook ที่ชื่อว่า “Keychron User Group” ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกในกลุ่มมากกว่า 68,000 บัญชี
โดยพื้นที่แห่งนี้เปรียบเสมือน “คอมมิวนิตี” ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าหรือคนที่กำลังสนใจ สินค้าของ Keychron ได้เข้ามาหาข้อมูล แชร์ความรู้ และแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ กันได้โดยตรง
ซึ่งการพูดคุยบนพื้นที่ของแบรนด์เช่นนี้ นอกจากจะช่วยให้แบรนด์ได้เห็นมุมมองของลูกค้า และนำมาปรับใช้ เพื่อพัฒนาสินค้าได้ถูกจุดแล้ว ยังช่วยย้ำเตือนการรับรู้ของลูกค้า ที่มีต่อแบรนด์ได้ด้วย
และต่อไปในอนาคต มันอาจจะช่วยให้แบรนด์ค่อย ๆ กลายเป็น “Top of Mind” ของลูกค้าได้ไม่ยาก
แม้ว่ากลยุทธ์หลัก ๆ ที่กล่าวไปของ Keychron จะดูธรรมดาก็จริง แต่นี่กลับทำให้ปัจจุบันสินค้าของ Keychron ที่เคย “Niche” ได้กลายเป็นสินค้าที่ค่อนข้าง “Mass” ไปแล้ว
ไม่ใช่เฉพาะแค่เกมเมอร์หรือโปรแกรมเมอร์เท่านั้น ที่สนใจอยากได้คีย์บอร์ดของ Keychron แต่คนทั่วไป ก็ปันใจให้แบรนด์นี้เช่นกัน
โดยคีย์บอร์ดของ Keychron ถูกนำไปวางจำหน่ายแล้วกว่า 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ Keychron นำโปรเจกต์หรือสินค้าใหม่ ๆ ไปเสนอบน Kickstarter ก็จะมีกลุ่มลูกค้าคอยมาตามสนับสนุนอยู่ทุกครั้ง โดยหากนับโปรเจกต์ที่ Keychron ทำมาถึงปัจจุบัน จะมีทั้งหมด 15 โปรเจกต์ ซึ่งรวมเป็นเงินระดมทุน กว่า 260 ล้านบาท เลยทีเดียว
จากกรณีศึกษาของ Keychron คงบอกเราได้ว่า แม้ธุรกิจจะเริ่มต้นด้วยสินค้า ที่มีความต้องการอยู่ในตลาดไม่มาก แต่การเป็นคนที่เข้าใจลูกค้ามากที่สุด และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ถูกจุด ก็สามารถเติบโตในโลกของธุรกิจได้เช่นกัน
เพราะพื้นฐานที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจ ไม่ใช่การมีเงินทุนที่มากที่สุด หรือตลาดมีขนาดใหญ่ที่สุด
แต่เป็นการเข้าใจลูกค้าให้ได้มากที่สุด ต่างหาก..
1
โฆษณา