14 ส.ค. 2023 เวลา 13:28 • สุขภาพ

ต้องกลับมาเฝ้าระวังฝีดาษวานรกันอีกครั้ง ไทยพบเคสแรกที่เสียชีวิตแล้ว

จากกรณีกรมควบคุมโรคเปิดเผยว่า พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากฝีดาษวานรเป็นรายแรก โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) เป็นชายไทยอายุ 34 ปี มีประวัติติดเชื้อเอชไอวี (HIV+) เป็นซิฟิลิสและเริมด้วย
2) เข้ารักษาตัวเป็นครั้งแรกที่จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 โดยมีอาการตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566
3) อาการประกอบด้วย ไข้ ปวดศีรษะ คัน มีผื่นและตุ่มที่ผิวหนังตามส่วนต่างๆ
4) แม้ได้รับการรักษาแล้ว แต่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแออย่างมากจากการติดเชื้อเอชไอวี จึงทำให้มีภาวะแทรกซ้อน เนื้อตายที่จมูกและคอ ปอดและสมองอักเสบ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566
เราจึงควรกลับมาสนใจทบทวนและทำความเข้าใจเรื่องฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง เพื่อที่จะได้สามารถระมัดระวังและป้องกันได้เป็นอย่างดีดังนี้
1) ไทยพบฝีดาษวานรเป็นรายแรกเมื่อ 22 กรกฎาคม 2565 เป็นชายไนจีเรียอายุ 27 ปีที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งในขณะนั้น 60 ประเทศทั่วโลก พบผู้ป่วยเป็นฝีดาษวานรเกือบ 10,000 คน
2) นับจนถึงปัจจุบัน (8 สิงหาคม 2566) ไทยพบผู้ป่วย 189 ราย เป็นคนไทย 161 คน และต่างชาติ 28 คน
3) ส่วนใหญ่ของผู้ป่วย (43%) จะเป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และติดเชื้อเอชไอวี
4) อาการเด่นของโรคฝีดาษวานรคือ
4.1 มีไข้
4.2 ต่อมน้ำเหลืองโต
4.3 มีตุ่มน้ำใสหรือเป็นหนอง หรือผื่นที่บริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก และอาจจะเป็นที่ส่วนอื่นๆได้ด้วย
5) ปัจจัยเสี่ยงคือ การมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า โดยเฉพาะชายมีเพศสัมพันธ์กับชายจะพบได้ค่อนข้างมาก
6) การหลีกเลี่ยง
6.1 หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับชายหรือหญิงให้บริการทางเพศ
6.2 หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคนในห้วงเวลาเดียวกัน
6.3 หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับคนที่ไม่รู้จักคุ้นเคย เช่น การสวมกอด หอมแก้ม
6.4 หลีกเลี่ยงการใช้เสื้อผ้าของใช้ส่วนตัวร่วมกับคนไม่คุ้นเคย เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ช้อนส้อม
6.5 ไม่นำมือมาแคะจมูก ขยี้ตา หรือนำเข้าปาก
6.6 หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหะคือ สัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น หนูหรือกระต่าย
7) สิ่งที่ควรทำคือ
7.1 หมั่นล้างมือบ่อยบ่อย ด้วยสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หรือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70%
7.2 ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันละอองจากผู้ที่ป่วยเป็นฝีดาษวานร
8) ผู้ที่ติดฝีดาษวานร ถ้ามีภูมิคุ้มกันปกติ มักจะไม่มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่ในผู้ที่เป็นโรคเอดส์ หรือเอชไอวีเป็นบวกจะเสี่ยงมีอาการรุนแรง ถ้ามีภูมิคุ้มกันตกลงมาก
ขณะนี้ประเทศไทยยังคงมีผู้ติดเอดส์หรือเอชไอวีเป็นบวกอยู่หลายแสนคน ต้องรับยาต้านไวรัสอยู่ 2 แสนคนเศษ เสียชีวิตปีละ 10,000 คน แล้วติดเชื้อรายใหม่ปีละเกือบ 10,000 คน
ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์กับชายหรือหญิงบริการ หรือกับบุคคลแปลกหน้า โดยเฉพาะในสภาวะที่สติสัมปชัญญะไม่ครบถ้วนคือ มึนเมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้ยาเสพติด
จึงเป็นความเสี่ยงอย่างมาก ที่จะทำให้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถ้าติดเอดส์โดยมีภูมิคุ้มกันต่ำ แล้วเกิดติดฝีดาษวานร ก็จะเป็นอันตราย มีอาการรุนแรงได้จนถึงขั้นเสียชีวิต
Reference
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
โฆษณา