ภารกิจในการวางแผนเพื่อสืบทอดกิจการของผู้ก่อตั้ง เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว โดยรุ่นบุกเบิกทุกคนล้วนมุ่งหวังให้ทายาทสามารถก้าวเข้ามาสานต่อธุรกิจที่ตนได้สร้างไว้แบบไร้รอยต่อและไม่มีอุปสรรคจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ
เช่น ความไม่พร้อม หรือความชอบส่วนตัวอยากทำธุรกิจประเภทอื่นที่ต่างไปจากธุรกิจของครอบครัวตามคำกล่าวที่ว่า “ธุรกิจครอบครัวโดยทั่วไปมักจะอยู่รอดได้แค่รุ่นที่ 2 และมีเพียง 13 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เข้าสู่รุ่นที่ 3 สำเร็จ”
รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ดังนั้น การเรียนรู้แนวทางในการส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้เกิดความสำเร็จเหล่านั้น ควรทำอย่างไร? จึงจะทำให้กระบวนการสืบทอดทายาทธุรกิจเป็นไปด้วยดี สามารถสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจครอบครัวได้อย่างยั่งยืน
บทความนี้ เรามีไกด์ไลน์ในการส่งไม้ต่อให้ทายาทธุรกิจ เพื่อชี้ทางไปสู่ความสำเร็จอย่างราบรื่น จากคำแนะนำของ รศ.ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มาฝากกัน
📌1. การสืบทอดธุรกิจ เป็นกระบวนการไม่ใช่แค่เหตุการณ์
การเตรียมความพร้อมให้แก่ทายาทธุรกิจตั้งแต่เด็กเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ธุรกิจครอบครัวควรทำการปลูกฝังให้ทายาทธุรกิจรับรู้และมีส่วนร่วมในการทำงานตามศักยภาพและความสามารถในขณะนั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกของความเป็นเจ้าของกิจการแล้ว ยังส่งผลดีให้ทายาทธุรกิจได้ซึมซับจิตวิญญาณของผู้ก่อตั้ง ทำให้ทายาทธุรกิจเกิดความรู้สึกผูกพันและภาคภูมิใจในกิจการของครอบครัว
📌2. นำเสนอธุรกิจเป็นทางเลือกที่ไม่ใช่ข้อผูกมัด
เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทายาทธุรกิจซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่อาจมีความฝันและความมุ่งหวังที่จะประกอบธุรกิจอื่นที่แตกต่างจากธุรกิจครอบครัว หรืออาจจะมีความคิดอยากพิสูจน์ความสามารถของตนเองให้เป็นที่ประจักษ์
ทำให้ต้องการสร้างความสำเร็จให้แก่ธุรกิจตนตามวิถีทางของตนเองมากกว่าการรับสืบทอดธุรกิจครอบครัวที่มีเงื่อนไขในการทำงานมากมาย ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ การบ่มเพาะทายาทธุรกิจให้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการประกอบธุรกิจของครอบครัวอย่างเป็นทางเลือกทางหนึ่ง เพื่อให้ทายาทธุรกิจรู้สึกเป็นอิสระ ไม่รู้สึกว่า ถูกผูกมัดหรือถูกบังคับให้รับสืบทอดธุรกิจครอบครัว
ทายาทจะได้ไม่รู้สึกกดดันว่า ต้องรับภาระหนักในอนาคต ครอบครัวเพียงแต่ต้องการช่วยเสริมสร้างกรอบความคิด(Mindset) และประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจให้แก่ทายาทเท่านั้น
ทายาทธุรกิจจะได้มีองค์ความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจที่พร้อมจะนำไปประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจตามความสนใจของตนได้ และเมื่อถึงเวลาที่ธุรกิจครอบครัวประสบปัญหา หรือในกรณีที่ทายาทธุรกิจพร้อมที่จะกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัว ทายาทธุรกิจจะยินดีกลับมาทำงานด้วยความเต็มใจเอง
📌3. ให้ลูก ๆ ออกไปหาประสบการณ์ภายนอก
เนื่องจากรูปแบบการประกอบธุรกิจยุคใหม่ มีความแตกต่างและซับซ้อนกว่าในอดีตมาก ทำให้ทายาทธุรกิจควรจะไปเรียนรู้ความรู้ทางธุรกิจในเชิงปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจครอบครัวในอนาคต
เช่น ความรู้ด้านการเงินการลงทุน การนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ฯลฯ เพื่อให้ทายาทธุรกิจได้เตรียมความพร้อมในทุก ๆ ด้าน
ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจครอบครัวแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อทายาทธุรกิจโดยตรง เนื่องจากได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ รวมทั้งได้เรียนรู้พฤติกรรมในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในเชิงบวก เช่น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา ลูกค้า คู่ค้า เป็นต้น
📌4. ให้ลูก เข้ามาทำงานตามความรู้ ความสามารถที่มีอยู่
ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ การมอบหมายงานให้แต่ละคนได้ทำงานตามความรู้ความสามารถ ศักยภาพ หรือความถนัด ตามหลักการ Put the right man on the right job
เพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และประหยัดสูงสุด ดังนั้น ในการมอบหมายภาระหน้าที่ให้แก่ทายาท ธุรกิจครอบครัวก็ควรใช้หลักการนี้เช่นกัน
โดยการศึกษาว่า ทายาทมีความรู้ความสามารถ และทักษะความเชี่ยวชาญในด้านใดบ้าง จะได้มอบหมายงานให้ตรงกับศักยภาพที่มี เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจครอบครัวสูงสุด
📌5. ส่งเสริมการพัฒนาทายาทให้มี Multi Skills
โลกธุรกิจในยุค New Normal และ Next Normal มีความเปลี่ยนแปลงผันผวนสูง ดังนั้น ทายาทธุรกิจจำเป็นต้องมีทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารยุคใหม่เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจครอบครัว
📌ตัวอย่างเช่น
สมรรถนะของผู้นำ (Leadership Competency)
การคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (Effective Communication)
การเจรจาต่อรอง (Negotiation)
การตัดสินใจ (Decision Making)
การบริหารความขัดแย้ง (Conflict Management)
การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem Solving)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดแบบยืดหยุ่น หรือ Resilience Mindset
ซึ่งเป็นกรอบความคิดที่พร้อมปรับตัวรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
📌6. ส่งต่อคุณค่าของครอบครัว
สมาชิกในครอบครัวควรรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เกิดการรับรู้ในเอกลักษณ์ของธุรกิจ คุณค่าของธุรกิจ สถานการณ์ของธุรกิจ ฯลฯ
จากการได้เห็นความเป็นไปของธุรกิจครอบครัวในแต่ละช่วงเวลามาโดยตลอด ทำให้ทายาทธุรกิจได้เรียนรู้เกี่ยวกับค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กร นโยบายในการบริหารงาน ระบบการทำงาน การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ ฯลฯ
ส่งผลให้ทายาทรู้สึกภาคภูมิใจในธุรกิจครอบครัว และเห็นคุณค่าของสมาชิกในครอบครัวที่มีความเพียรพยายาม ขยัน อดทน มุมานะจนสามารถก่อร่างสร้างธุรกิจครอบครัวให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป็นที่ยอมรับของสังคมโดยรวม จนสามารถส่งต่อให้ทายาทได้สืบทอดธุรกิจครอบครัวต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น
📌7. เริ่มต้นด้วยการจ้างที่ปรึกษามาอบรมในการส่งไม้ต่อแก่ทายาทธุรกิจ
สมาชิกครอบครัวที่ได้รับมอบหมายจากธุรกิจครอบครัวให้เป็นผู้รับผิดชอบในการอบรมทายาทธุรกิจ ควรส่งเสริมให้การอบรมมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจครอบครัว
ได้แก่ กำหนดแนวทางของหลักสูตรบ่มเพาะทายาทธุรกิจ เพราะเป็นผู้ที่รู้จักสภาพแวดล้อมของธุรกิจครอบครัวดีที่สุด จะได้ให้ความคิดเห็น/คำแนะนำที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนั้น ในการบ่มเพาะทายาทธุรกิจ ควรมีที่ปรึกษาจากบุคคลภายนอก เพื่อให้ความคิดเห็นคำแนะนำในการจัดทำหลักสูตรบ่มเพาะทายาทธุรกิจ ตลอดจนมีส่วนร่วมในกระบวนการอบรมทายาท เพื่อให้การบ่มเพาะทายาทธุรกิจเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
    โฆษณา