20 มี.ค. 2024 เวลา 13:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ใครได้ใครเสียหลังญี่ปุ่นสิ้นสุดยุคดอกเบี้ยติดลบ 🇯🇵

ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ BOJ ได้ยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นที่สุดท้ายของโลก โดยมาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อมากขึ้น กระตุ้นอุปสงค์ และผลักดันอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตามในขณะนี้ BOJ มองว่าภารกิจของเครื่องมือนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งช่วยทำให้ธนาคารกลางสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อได้สำเร็จ
1
อย่างไรก็ตามผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนโยบายจะแตกต่างกันไปตามแต่ละภาคส่วนของเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ซึ่งจะมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์ คนที่ต้องเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น หรือทั้งสองอย่าง
1
ดังนั้นวันนี้นิคกี้จะมาสรุปให้อ่านกันค่ะว่า นโยบายดอกเบี้ยติดลบคืออะไร ได้ผลหรือไม่ ใครได้ ใครเสีย และจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปหลังจากนี้ค่ะ
1
1️⃣ อัตราดอกเบี้ยติดลบคืออะไร?
การที่อัตราดอกเบี้ยติดลบ หมายความว่า ประชาชนจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อฝากเงินที่ธนาคารแทนที่จะรับดอกเบี้ยนั่นเองค่ะ นับเป็นเครื่องมือทางการเงินที่รุนแรงซึ่งธนาคารกลางในยุโรปได้ใช้งานในช่วงทศวรรษ 2010 เพื่อต่อสู้กับการพังทลายของอัตราเงินเฟ้อ
ขณะที่ทาง BOJ เริ่มใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบในปี 2016 นับเป็นการเพิ่มเติมนโยบายใหม่เข้ามาเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินฝืดหรือราคาที่ลดลงมาเป็นเวลายาวนาน โดยนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของ BOJ นั้นจะถูกใช้เฉพาะกับเงินฝากส่วนเล็กๆที่ธนาคารเอกชนฝากไว้กับ BOJ เท่านั้น ขณะที่เงินฝากรายย่อยหรือของประชาชนจะไม่ตกอยู่ภายใต้นโยบายดังกล่าวค่ะ
2
โดยวัตถุประสงค์ของการทำเช่นนี้ก็คือ เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารนำเงินฝากไปใช้ผ่านการปล่อยกู้ยืมนั่นเอง และนับเป็นนโยบายใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาหลังการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินเชิงรุกของ BOJ เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (BOJ มีการซื้อ ETF, J-REITs และ JGB)
2️⃣ นโยบายได้ผลไหม?
ความเห็นเกี่ยวกับประสิทธิผลของนโยบายนั้นยังคงเป็นข้อถกเถียงกันทั่วโลก ในกรณีของญี่ปุ่น นโยบายดอกเบี้ยติดลบควบคู่ไปกับการซื้อสินทรัพย์ของ BOJ อาจช่วยได้ในแง่ของการป้องกันไม่ให้ภาวะเงินฝืดย่ำแย่ลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในช่วงโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามของรัสเซียในยูเครนต่างหากที่ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าพลังงาน วัสดุ และอาหารพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของประเทศปรับตัวขึ้นมาเกินเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลาง
1
โดย BOJ นับเป็นธนาคารกลางแห่งสุดท้ายของโลกที่ใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และการใช้นโยบายดังกล่าวเป็นเวลานานทำให้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารลดลง และช่วยทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง เนื่องจากธนาคารกลางอื่นๆทั่วโลกขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งก็ยิ่งส่งผลให้ค่าเงินของญี่ปุ่นมีเสน่ห์ลดลงไปอีก นอกจากนี้เงินเยนที่อ่อนค่าลงยังได้ทำให้ต้นทุนการนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก โดยสร้างแรงกดดันให้กับผู้บริโภค เนื่องจากเงินเดือนของพวกเขาไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ทันกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้นั่นเอง
1
3️⃣ ทำไม BOJ จึงยุติโครงการอัตราดอกเบี้ยติดลบตอนนี้?
บริษัทญี่ปุ่นตกลงที่จะขึ้นค่าจ้างจำนวนมาก ทำให้เกิดความคาดหวังว่าเงินเดือนที่มากขึ้นจะทำให้ครัวเรือนต่างๆยินดีที่จะใช้จ่ายมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ BOJ เรียกว่าวงจรที่ดีของราคาที่สูงขึ้นพร้อมๆไปกับการขึ้นค่าจ้าง
โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหภาพแรงงานรายงานการเติบโตของค่าจ้างเบื้องต้นในระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ส่งผลให้ BOJ ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในวันอังคารที่ผ่านมาค่ะ พร้อมระบุอีกว่าวงจรดังกล่าว “มีความมั่นคงมากขึ้น”
4️⃣ การสิ้นสุดอัตราดอกเบี้ยติดลบมีความหมายต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างไร?
1
นับเป็นก้าวแรกในการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาอยู่บนเส้นทางการเติบโตด้วยตนเอง หลังจากหลายปีที่ผ่านมา ราคาที่ตกต่ำทำให้เศรษฐกิจอยู่ในวงจรขาลง ซึ่งบริษัทต่างๆลดต้นทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ แม้ว่านั่นจะหมายถึงการต้องเสียสละผลกำไรก็ตาม
วงจรขาลงนี้ทำให้บริษัทต่างๆไม่สามารถลงทุนและเพิ่มค่าจ้าง กดดันการบริโภค และกดดันราคา ขณะนี้นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ หวังว่าสิ่งที่ตรงกันข้ามจะเกิดขึ้นโดยการลงทุน ราคา และค่าจ้างทั้งหมดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นควบคู่กันไปค่ะ
5️⃣ ใครได้ ใครเสีย?
รัฐบาลและ BOJ จะต้องทนทุกข์ทรมานจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้หนี้ยืมสินของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ประกอบกับจะเผชิญกับผลขาดทุนจากการถือครองหนี้สาธารณะของธนาคารกลาง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้มูลค่าของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง ขณะที่ธนาคารเอกชนจะสามารถทำกำไรได้มากขึ้นจากการปล่อยกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ในขณะที่การถือครองพันธบัตรได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่สูงขึ้น
1
ผู้ซื้อบ้านจะเห็นอัตราการจำนองของพวกเขาเพิ่มขึ้นซึ่งอาจทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง ส่วนเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าและช่วยให้ครัวเรือนต่างๆมีต้นทุนอาหารและพลังงานนำเข้าที่ถูกลง ในทางกลับกันการแข็งค่าของค่าเงินก็จะบ่อนทำลายความสามารถในการแข่งขันและรายได้ในต่างประเทศของผู้ส่งออก
1
ชาวญี่ปุ่นที่เดินทางไปต่างประเทศจะได้รับประโยชน์จากค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวมายังญี่ปุ่นจะแพงขึ้น แม้ว่าในขณะนี้เงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังจากการประกาศขึ้นดอกเบี้ย แต่ก็เกิดขึ้นเนื่องจากธนาคารกลางส่งสัญญาณแบบ Dovish โดยกล่าวว่าสภาพทางการเงินจะยังคงผ่อนคลายอยู่ในขณะนี้
1
✅ ใครได้ประโยชน์
1
🔹ธนาคารขนาดใหญ่ จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
🔸ธนาคารท้องถิ่น จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
🔹ผู้นำเข้า จากค่าเงินเยนที่แข็งค่า
🔸ธุรกิจที่พึ่งพาพลังงานเยอะ จากค่าเงินเยนที่แข็งค่า
🔹บริษัทประกัน จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
🔸ธนาคารวานิชธนกิจ จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
🔹ผู้จัดการความมั่งคั่ง จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
🔸ผู้บริโภค จากค่าเงินเยนที่แข็งค่า
🔹นักลงทุนต่างชาติที่ถือหุ้นญี่ปุ่น จากค่าเงินเยนที่แข็งค่า
🔸ผู้ฝากเงิน จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
🔹นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น จากค่าเงินเยนที่แข็งค่า
2
❌ ใครเสียประโยชน์
🔻รัฐบาลญี่ปุ่น จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
🔻BOJ จากผลขาดทุนจากการถือพันธบัตร
🔻ธนาคารท้องถิ่น จากผลขาดทุนจากการถือพันธบัตร
🔻ธุรกิจนานาชาติ,ผู้ส่งออก จากค่าเงินเยนที่แข็งค่า
🔻ธุรกิจอสังหาฯ, เจ้าของอสังหาฯ จากภาคอสังหาฯที่ชะลอตัวลง
🔻บริษัทซอมบี้ จากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น (คือ บริษัทที่สร้างรายได้เพียงพอสำหรับการจ่ายดอกเบี้ยบนหนี้สินเท่านั้น แต่ไม่พอที่จะจ่ายเงินต้นคืน)
1
🔻ผู้กู้บ้าน, ผู้เช่าบ้าน จากดอกเบี้ยและค่าเช่าที่สูงขึ้น
🔻นักลงทุนตราสารหนี้ จากผลขาดทุนจากการถือพันธบัตร
🔻นักลงทุนญี่ปุ่นที่ถือหุ้นต่างประเทศ จากค่าเงินเยนที่แข็งค่า
🔻ครัวเรือนที่ใช้สินเชื่อ จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
🔻นักท่องเที่ยวต่างชาติ และธุรกิจท่องเที่ยว จากค่าเงินเยนที่แข็งค่า
6️⃣ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?
ขณะนี้ BOJ ได้ยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบไปเรียบร้อยแล้วด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2007 คำถามต่อไปคือ BOJ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสูงแค่ไหน
1
โดยทางผู้ว่าการ BOJ คุณ Kazuo Ueda ได้ระบุแล้วว่าการดำเนินนโยบายการเงินโดยรวมของธนาคารกลางจะยังคงผ่อนคลายต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าเขาจะไม่ดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งเหมือกับที่ FED และ ECB รวมถึงธนาคารกลางที่อื่นๆทำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อความอ่อนแอในภาคการบริโภคของญี่ปุ่นจะกดดันให้ BOJ ต้องระมัดระวังในการดำเนินนโยบายในยุคใหม่นี้ค่ะ
Source: Bloomberg
✅ ทั้งนี้ อย่าลืมติดตามนิคกี้เพิ่มเติมได้ทาง
#เศรษฐกิจ #การเงิน #ลงทุน #กองทุน #มือใหม่ #ข่าวเศรษฐกิจทั่วโลก #ข่าวทั่วโลก #หุ้น #กองทุนรวม #ดอกเบี้ย #นักลงทุน #ญี่ปุ่น #GDP #BOJ #ดอกเบี้ย #เงินเฟ้อ #เฟด #ดอกเบี้ยติดลบ
โฆษณา