11 มิ.ย. 2024 เวลา 11:16 • ข่าวรอบโลก

“สงครามคณิตศาสตร์” ของยูเครนและนาโต้

ถ้าติดตามสถานการณ์การรบในยูเครนช่วง
3 เดือนหลัง แบบมองที่ยุทธศาสตร์ มากกว่าข่าวรายวัน
เราจะพบความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง
ในยุทธศาสตร์ของพวกเขา ที่สำคัญมาก
โดยเฉพาะเมื่อได้รับอาวุธที่พิสัยไกลขึ้นจากนาโต้
นั่นคือการเน้นการทำลายเป้าหมายคุณค่าสูง
หรือ พูดแบบบ้านๆ คือเน้นทำลายของหนัก
ของแพงของทางรัสเซีย
มากกว่าที่จะเน้นทำสงครามทางบก เพื่อรักษา
หรือทวงคืนดินแดนตรงๆ แบบที่ทำมา
นักวิเคราะห์ทางการทหารในต่างประเทศ
มองว่า ยุทธศาสตร์ที่ยูเครนใช้
มันมีเพื่อลดทอนกำลังอาวุธหนัก ในระยะยาว
เพื่อสร้างกำลังต่อรองให้พวกเขาและนาโต้ในอนาคต
มากกว่าที่จะทำสงครามแตกหักในทางบก
เพื่อให้ได้ดินแดนคืนมา ด้วยผลการรบของตัวเอง
เพราะการทำสงครามทางบกนั้น ยูเครนเสียเปรียบ
จนแทบเป็นไปไม่ได้ ที่จะทำแบบนั้น
มันต่างจากช่วงต้นสงคราม ที่ยูเครนเคยอาศัย
การรบในเมืองอย่างได้ผล เพื่อจัดการกับกองทัพรถถัง
ของรัสเซีย
แต่เมื่อเวลาผ่านไป สภาพชัยภูมิมันเปลี่ยน
รัสเซียใช้วิธีระเบิดตึกเปิดทาง ทำให้สงครามในเมือง
กลายเป็นสงครามในที่โล่ง ซึ่งลักษณะนี้ทัพที่มีกำลังรบ
มากกว่าจะค่อนข้างได้เปรียบมาก
ประกอบกับ ในช่วงปลายปีก่อน ยูเครนขาดแคลนอาวุธ
จากเกมส์การเมืองของผู้สนับสนุน ทั้งอเมริกาและนาโต้
ทำให้เสียที่มั่นที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ไปไม่น้อย
และหลังจากรัสเซียยึดได้ พวกเขาก็สร้างแนวรับ
ที่มั่นคงมาก ในพื้นที่เหล่านี้
มันยิ่งทำให้ยูเครนยากที่จะเจาะเข้าไป
กำลังทหารยูเครนเอง ก็เป็นปัญหา คนเริ่มขาด
ดังนั้น ทางนาโต้และยูเครน คงเห็นตรงกันแล้วว่า
การบุกทางบกเข้าพื้นที่เพื่อจำกัดวงสงครามนั้น
ไม่น่าใช้ได้อีกต่อไป
วิธีที่ดีกว่า คือการเล่นงานพื้นที่ ที่มีคุณค่าทางการทหารสูง
เพื่อทอนการป้องกันของรัสเซีย น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า
…และอีกนัยหนึ่ง คือมันทำให้ยูเครนนั้นน่าจะมีเวลา
ในการจัดการเตรียมกำลังทางบก ที่กระจัดกระจาย
ให้เข้าที่เข้าทาง ก่อนจะเข้าสู่สงครามหนักๆอีกครั้ง ….
โดยจุดมุ่งหมายสูงสุด คือทำให้รัสเซียสูญเสียการป้องกัน
จนถึงจุดที่มีผลทางยุทธศาสตร์ ที่มีต่อนาโต้โดยรวม
…แล้วบีบให้รัสเซียเจรจาอีกครั้ง เมื่อถึงจุดนั้น…
พื้นที่คุณค่าทางการทหารสูงสำหรับยูเครนตอนนี้
ไม่ใช่พื้นที่ยุทธศาสตร์ทางบกอีกแล้ว
สิ่งที่พวกเขามุ่งโจมตี คือ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ
ที่รัสเซียนำมาตั้งไว้ในพื้นที่ยึดครอง ทั้ง ไครเมียร์
และภูมิภาคดอนบาส ที่รัสเซียครองอยู่
ตอนนี้ทั้ง S-300 S-400 ในแนวหน้า
กำลังกลายเป็นเป้าถูกถล่มอย่างหนัก
และดูเหมือนยูเครนจะทำได้ค่อนข้างดีด้วย จากอาวุธใหม่ๆ
โดยเฉพาะ ATACMS รุ่นใหม่ ที่ได้รับมาจากสหรัฐ
และ storm shadow จากอังกฤษเจ้าเก่า
ถึงตอนนี้ ระบบป้องกันภัยทางอากาศในแนวหน้า
ตามพื้นที่ยึดครองของรัสเซีย กำลังตกเป็นเป้านิ่ง
ถูกทำลายรายวันเลยก็ว่าได้
นั่นทำให้การป้องกันฐานทัพอากาศของรัสเซีย
ในดินแดนตัวเองแถบชายแดนแผ่นดินตัวเองนั้น
ด้อยประสิทธิภาพลงมาก
จนยูเครนสามารถโจมตีได้ อย่างที่เป็นข่าวล่าสุด
รวมถึงการโจมตีที่มั่นต่างๆ ของรัสเซีย
ทางอากาศของยูเครน ก็ดูจะทำได้ดีขึ้นเช่นกัน….
สิ่งที่รัสเซียไม่โกหกชาวโลกอย่างหนึ่ง
คือ พวกเขาต้องการดอนบาสเป็นรัฐกันชนจริงๆ
และหน้าที่หนึ่งของรัฐกันชนเหล่านี้ คือ มีเพื่อติดตั้ง
เครือข่ายภาคพื้นดิน เพื่อสงครามไฮเทคทางอากาศ
โดยเฉพาะระบบป้องกันในแนวหน้า
การถูกทำลายโดยยูเครนอย่างต่อเนื่องแบบนี้
มันทำให้รัสเซียคิดหนัก
เพราะหากจะนำมาตั้งใหม่ มันก็เสี่ยง
อาวุธชุดใหม่ของยูเครนประสิทธิภาพดีกว่าที่พวกเขา
จะสามารถจัดการมันได้
จะไม่เอามาตั้งก็ไม่ได้ เพราะสงครามเปิดฉากแล้ว
หากไม่ตั้ง ก็รักษาพื้นที่ได้ยาก และมีผลถึงความปลอดภัย
ของแผ่นดินใหญ่ด้วย
…ที่สำคัญ หากไม่มีระบบภาคพื้นดินเหล่านี้
เครื่องบินรบสมัยใหม่ในแนวหน้าของรัสเซีย
ก็ไม่ต่างอะไรกับคนตาบอด วิ่งเข้าสงคราม…
…ซึ่งมันเสียเปรียบนาโต้มาก เพราะทางนั้นเครือข่าย
เขาอยู่บนอวกาศ ….
ดังนั้น ด้วยความจำเป็นลักษณะนี้ รัสเซียอาจจำเป็นต้อง
เข็นเอาระบบต่างๆมาอีก
…ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ยูเครนและพันธมิตรต้องการ
เพราะสถานการณ์ ความได้เปรียบทางอาวุธในด้านนี้
ณ. ปัจจุบัน มันอยู่ที่พวกเขา จนกว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง….
มันคือสงครามคณิตศาสตร์ การนับจำนวน
เพราะอะไรถึงกล่าวได้แบบนั้น ?
ในที่นี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่า รัสเซียนั้นไม่มีความสามารถ
ในการสร้างอาวุธจำพวกไฮเทคได้เร็วนัก
พวกเขาอาจผลิตอาวุธสำคัญทางบก อย่างกระสุนปืนใหญ่
หรือรถถังแบบง่ายๆได้เร็ว
แต่ไม่ใช่กับอาวุธไฮเทคต่างๆ
ในกรณีพวกระบบป้องกันภัยต่างๆ รัสเซียผลิตได้ค่อนข้างช้า
เพราะชิ้นส่วนหลายอย่าง โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้น
พวกเขาไม่สามารถผลิตเองได้
เดิมก่อนมีสงครามนั้น รัสเซียกับยุโรป
รวมถึงญี่ปุ่น มีการค้าขายที่ดีต่อกัน
เมื่อหาของจากตะวันตกได้ง่าย และในช่วงนั้น
จีนก็ยังไม่ใช่ผู้นำของอุตสาหกรรมนี้
รัสเซียจึงพัฒนาระบบต่างๆเหล่านี้
ภายใต้พื้นฐานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากค่ายตะวันตก
แทบทั้งหมด เพราะหาซื้อได้ง่าย และเข้ากับระบบได้ดี
กว่าของจีน ซึ่งเพิ่งขึ้นมาในอุตสาหกรรมนี้ไม่กี่ปี
โดยเฉพาะชิพเซทต่างๆ จากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
ส่วนระบบสายพานการผลิตของรัสเซีย ได้มาจาก
เยอรมันและอิตาลีมากที่สุด จากความสัมพันธ์ที่ดี
มาอย่างยาวนาน
ดังนั้น เมื่อถูกประเทศที่เคยจัดหาวัตถุดิบได้คว่ำบาตร
แบบจริงจัง เข้มข้น มันก็ย่อมส่งผลกับกำลังการผลิต
ของพวกเขาไปด้วย
…รัสเซียอาจภูมิใจว่าตัวเองทำให้ตะวันตกผูกติดกับ
พลังงานตัวเองได้ แต่ในมุมกลับ พวกเขาก็ถูกกับดัก
เหล่าปัจจัยการผลิตของทางตะวันตก ยึดเอาไว้เช่นกัน …
…มันไม่สำคัญ ว่ารัสเซียจะมีทรัพยากรและโรงงาน
มากมาย ใหญ่โตมโหฬารแค่ไหน…
…แต่หากขาดฟันเฟืองเหล่านี้ พวกเขาก็ไม่สามารถผลิตเพิ่มได้มากกว่าสต็อกของฟันเฟืองที่มี…
…แน่นอน คนขายให้ย่อมรู้ดี ว่ารัสเซียมีสต็อกในมือเท่าไหร่
และพร้อมจะหักลบลงไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่รัสเซียสูญเสียสิ่ง
เหล่านี้ไป ….
…เมื่อมันลดลงมาก จนถึงจุดที่ตะวันตกได้เปรียบ
อะไรมันก็ง่ายสำหรับพวกเขาแล้ว ….
…และนี่แหละ คือความหมายของสงครามคณิตศาสตร์….
ถ้าพูดแบบง่ายๆ ว่า แบบนี้รัสเซียก็ซื้อจีนแทนสิ
มันคงไม่ได้
เราต้องเข้าใจว่า ระบบเหล่านี้ ถูกสร้างมาอย่างสลับ
ซับซ้อน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มันต้องมีการรองรับ
ซึ่งกันและกันเอง ในระบบทั้งหมด
การหาผู้ผลิตที่จะลอกเลียนแบบให้เหมือนกันเป๊ะนั้น
เป็นอะไรที่แทบเป็นไปไม่ได้ แม้แต่จีนก็ทำไม่ได้
ดังนั้น หากรัสเซียนั้นจะเปลี่ยนมาใช้ของจีน
มันอาจหมายถึงการรื้อระบบต่างๆ ของอุปกรณ์เหล่านี้
ใหม่ทั้งหมด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ และใช้เวลานานมาก
มันเหมือนการออกแบบใหม่ทั้งหมด
คือ เราอาจเห็น S600 ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีจากจีน
ได้ในอนาคต หากรัสเซียทำออกมา
แต่เราจะไม่สามารถเห็น S300 S400 ที่ใช้ชิพจีน
แทนชิพจากญี่ปุ่นหรือเกาหลีได้
และแน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้
มันไม่ใช่เกิดแค่กับเจ้าพวกตระกูล S เหล่านี้เท่านั้น
มันยังรวมไปถึงระบบต่างๆ บนเครื่องบินขับไล่
ที่รัสเซียโม้นักหนาอย่าง SU-57 หรือกระทั่งรถถังไฮเทค
อย่าง T-90 M รวมถึง main frame ของพวกเขาด้วย
เราจะเห็นว่า ตั้งแต่สงครามยูเครนเริ่มต้นมา
น้อยครั้งมาก ที่จะได้เห็น SU-57 หรือกระทั่ง T-90 M
จะว่าเกินจำเป็นจะต้องใช้ มันก็ใช่ส่วนหนึ่งนั่นแหละ
แต่ความจริง คือมันมีน้อยมาก โดยเฉพาะ SU 57
มันมีน้อยมากเกินกว่ารัสเซียจะเอามาเสี่ยง
ใช้โชว์เหนือทำสงครามจิตวิทยา ในแนวหน้าได้
หน้าที่ SU 57 มีอย่างเดียวคือเอาไว้บินปล่อย Kinzhal
จรวดไฮเปอร์โซนิค จากที่ไกลๆ ไม่เอามาเสี่ยงในแนวหน้า
ปัจจุบันไม่มีใครรู้แน่นอนว่ามันมีเท่าไหร่
แต่ก็เป็นที่รับรู้ว่า มันมีอย่างมากไม่เกิน 30 ลำ
และเกินครึ่ง เป็นเครื่องต้นแบบ ที่สร้างขึ้นระหว่างพัฒนา
ไม่สามารถเข้าสู่สนามรบได้
โดยเฉพาะ SU-57s ตัวท็อปนั้น มีไม่ถึง 10 ลำอย่างแน่นอน
…ในขณะที่บางกระแสก็ว่า มันไม่มีจริงด้วยซ้ำไป…
เราจะเห็นได้ชัดว่ามันน้อย จากข่าวของรัสเซียเอง
ว่าการส่งมอบอีก 75 ลำ จะมีในปี 2028
นั่นชัดเจน ว่ามันมีไม่มากในตอนนี้ และเหลือเวลาอีกถึง 4 ปี
กว่าจะมีมากพอจะใช้เป็นกำลังรบหลักได้
ในเงื่อนไขว่า ถ้าผลิตได้ อีกต่างหาก
และที่สำคัญที่สุด…
ขีปนาวุธไอเปอร์โซนิคของรัสเซีย จำเป็นมาก
ที่จะต้องถูกใช้จากเครื่องบินเหล่านี้ เพื่อเป็นความเร็วต้นให้
หากขาดเครื่องบินชั้นสูงเหล่านี้ไป
ก็เท่ากับการขาดหายไปของอาวุธไฮเปอร์โซนิค
ของรัสเซียไปด้วยนั่นเอง….
มันเป็นโจทย์ที่แก้ยากของทางรัสเซีย กับเรื่องเหล่านี้
รัสเซียมีกำลังผลิตอาวุธโดยรวม เหนือกว่าตะวันตกมาก
ด้วยทรัพยากร และกำลังคนที่เยอะกว่า
แต่ตะวันตก มีกำลังการผลิตอาวุธไฮเทคที่ดีกว่า
เพราะระบบที่จำเป็นทั้งหมด มันเป็นของพวกเขาเอง
แล้วสงครามปัจจุบัน อาวุธแบบไหนมันชี้ขาดสงครามล่ะ ?
ดังนั้นตะวันตกจึงต้องดึงรัสเซียมาเล่นในเกมส์ของพวกเขา
โดยให้ยูเครนนั้นบีบให้รัสเซีย
เข็นอาวุธพวกนี้ออกมาเสี่ยงเรื่อยๆ
แล้วหวังว่าจะไล่ทำลายได้มากๆ
ถามว่ารัสเซียไม่ส่งออกมาอีกได้ไหม ?
คำตอบสั้นๆ คือ ไม่ได้ !
เหตุผลเพราะ ในเดือนหน้า เครื่องบินที่ตะวันตก
รับปากไว้กับยูเครนจะมาถึงอีกหลายฝูง หลายแบบ
มีทั้ง F-16 , JAS-gripen , Mirage และอาจมี Tornado
ด้วย ซึ่งมันจะมาพร้อมนักบินยูเครนที่ฝึกมามากพอแล้ว
หากรัสเซียไม่เข็นระบบปัองกันภัยทางอากาศออกมา
ก็มีหวังว่าแนวรบบนพื้นดินคงโดนเครื่องบินเหล่านี้
ถล่มเอายับเยินเหมือนคนหูหนวกตาบอด
และแม้แต่เครื่องบินรัสเซียที่จะขึ้นต่อตี ก็จะเสียเปรียบมาก
เมื่อไม่มีเครือข่ายสนับสนุนทางพื้นดิน
ในขณะที่กำลังสนับสนุน ด้านข้อมูลลักษณะเดียวกัน
ต่อเครื่องบินยูเครนนั้น แทบไม่มีขีดจำกัดเลย
จากความเป็นเจ้าแห่งข้อมูล และอวกาศของพันธมิตร
ที่สำคัญ เครื่องบินตะวันตกที่กำลังจะมาเหล่านี้
มีความเหนือกว่า SU-35 ที่เป็นตัวเล่นหลักของรัสเซีย
อยู่ค่อนข้างมากทีเดียว ถ้าไม่เข็นตัวท็อปๆออกมาชน
มันยากมาก ที่จะเอาอยู่
…ดังนั้น รัสเซียจะอย่างไรก็ต้องเสี่ยง เข็นอาวุธไฮเทคเหล่านี้
ออกมาแนวหน้า เพื่อรักษาดุลของสงคราม….
…ส่วนใครจะอยู่ใครจะไป เวลาจะเป็นผู้ตัดสินเอง….
แต่จะอย่างไรก็ตาม
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้ของรัสเซียมันย่อมต้องมี
…ซึ่งคนที่นับเลขอยู่ข้างหลังนั่นแหละ จะได้ประโยชน์ที่สุด…
…ใคร ? ชาติไหน ผมคงไม่ต้องบอกนะ….
*เสริม*
ที่จริงแล้ว เรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบต่ออาวุธไฮเทคนี่
เป็นปัญหากันทุกประเทศนั่นแหละครับ สหรัฐก็มี และมากด้วย
ในกรณีของสหรัฐนั้น F-22 คือตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ
มันคือเครื่องบินรบที่ดีที่สุดของสหรัฐ เหนือกว่า F-35 เยอะ
แต่สหรัฐก็ไม่สามารถใช้มันเป็นตัวเล่นหลักได้
เพราะผลิตได้ยากมากๆ แถมขาดแร่บางอย่างที่จำเป็น
กับระบบล่องหนสุดไฮเทคของมัน
ว่ากันว่า แร่เดียวกันนี่แหละ ที่ทำให้ SU-57s
และเครื่องบินล่องหนของจีน มีไม่มากเช่นกัน
คงเพราะหายากมากๆจริงๆ
ดังนั้นพวกเขาจึงต้องใช้ตัวรองๆลงมา
ในการเข้าสู่แนวหน้า
ซึ่ง ถ้านับตัวรองทั้งหมด euro fighter II
ดูจะเหนือกว่าชาวบ้านร่วมรุ่นค่อนข้างมาก
แต่ถึงแบบนั้นมันก็ผลิตได้ยากกว่าF-35.
ไอ้เจ้า F-35 จึงกลายเป็นตัวเล่นหลักของค่ายตะวันตก
ยกเว้นฝรั่งเศสไป ด้วยเหตุผลแบบนี้เอง
เรื่องกำลังการผลิตนี่สำคัญมากครับ
ที่จริงรัสเซียควรจะรู้เรื่องนี้ดีกว่าใคร
เพราะเคยเป็นผู้พิชิต Leopard II ของนาซี
ด้วยวิธีแบบเอาของห่วยแลกของดีมาแล้ว
มันคือวิธีที่ T- 34 กลายเป็นตำนานรถถัง
ที่ประสบความสำเร็จในการรบมากที่สุดในประวัติศาสตร์
Leopard II นั้น คือตัวอย่างที่ดีมาก
ของอาวุธที่ประสิทธิภาพสูงมากๆ แต่ผลิตได้ยาก ช้า
แล้วไปล้มเหลวในสนามรบจริงๆ
…แต่ดูเหมือน พวกรัสเซียจะไม่จำมาเป็นบทเรียนเลย ….
ในสงครามนั้น มันไม่สำคัญว่าคุณมีอาวุธที่ดีที่สุดแค่ไหน
มันสำคัญที่คุณมีเท่าไหร่ และสร้างเพิ่มได้เร็วแค่ไหนต่างหาก
…นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด และเป็นเหตุผลที่อาวุธเทพหลายชนิด
ไม่เคยออกจากห้องแล็ปมาประจำการได้จริง …..
…บางที อาวุธบางแบบ ก็มีเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ของความ
ก้าวหน้า หรือเหนือกว่าทางเทคโนโลยีเท่านั้นล่ะครับ….
ข่าว
โฆษณา