Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ในเงาของเวลา
•
ติดตาม
1 ส.ค. 2024 เวลา 16:44 • ประวัติศาสตร์
๔ มิถุนายน ๒๔๕๑
รถไฟสยามชนช้างป่า
ระหว่างสถานีเชียงรากใหญ่-เชียงรากน้อย
...
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เรื่อง 'ช้าง' ไว้ในหนังสือ 'นิทานโบราณคดี' ทรงเล่าถึง 'ช้างเถื่อน' หรือ 'ช้างป่า' ไว้ว่า
ในมณฑลกรุงเทพฯ นี้ แต่ก่อนก็ยังมีช้างเถื่อนอยู่ในทุ่งหลวงทางภาคตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่แขวงจังหวัดนครนายก ตลอดลงมาจนทุ่งบางกะปิในแขวงจังหวัดกรุงเทพฯ
"...เมื่อฉันบวชเป็นพระภิกษุใน พ.ศ. ๒๔๒๖ ขึ้นไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติที่บางปะอิน ในเวลาเย็นๆ เคยขึ้นไปดูบนพระที่นั่งเวหาศจำรูญ ยังแลเห็นโขลงช้างเถื่อนเข้ามาหากินอยู่ตามปลายนาราวที่สร้างวัดวิเวกวายุพัดเมื่อภายหลัง
แต่ต่อมามีคนถางป่าพงที่ช้างอาศัยทำนานารุกเข้าไป ช้างเถื่อนก็ต้องถอยหนีไปอยู่ห่างแม่น้ำออกไปโดยลำดับ ยิ่งเมื่อถึงสมัยขุดคลองรังสิตและคลองนาสายอื่นๆ ในทุ่งหลวงช้างเถื่อนก็ต้องถอยหนีห่างออกไป จนมักพากันขึ้นไปอยู่ในทุ่งหลวง ตอนแขวงจังหวัดนครนายกโดยมาก ตอนข้างใต้ใกล้กรุงเทพฯ มีน้อยลง..."
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวต่อว่า ช้างเถื่อนในทุ่งหลวงผิดกับช้างเถื่อนในที่อื่น ด้วยเป็นช้างโขลงของหลวง สำหรับแต่จับใช้ราชการ และเคยอยู่ในทุ่งหลวงสืบพงศ์พันธุ์กันมาหลายร้อยปี มีกำหนดต้อนเข้ามาเลือกจับที่เพนียดเป็นครั้งเป็นคราว ช้างที่ไม่จับก็ปล่อยกลับออกไปอยู่ในทุ่งหลวงอย่างเดิม ช้างเถื่อนในทุ่งหลวงจึงเหมือนกับเลี้ยงไว้สำหรับจับที่เพยียด
ซึ่งจากพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บ่งบอกว่าที่ราบลุ่มจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเรื่อยไปจนถึงที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่ามาแต่อดีต
ทั้งยังได้เล่าต่ออีกว่า
"...ปีหนึ่งฉันไปเมืองปราจีนบุรีทางคลองรังสิต เมื่อเรือไฟจูงเรือฉันไปถึงลำน้ำองครักษ์ เวลากลางวันผ่านที่เปลี่ยวแห่งหนึ่ง พบโขลงช้างเถื่อนสักสี่ห้าตัวกำลังว่ายข้ามลำน้ำผ่านหน้าเรือไปใกล้ๆ จนคนถือท้ายเรือไฟต้องรอเรือเปิดแตรไล่ตะเพิ่น มันก็รีบว่ายน้ำขึ้นฝั่งหนีไปแลเห็นตัวใกล้ๆ..."
'ทุ่งหลวง' หรือ 'ทุ่งรังสิต' นั้นมีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑.๕ ล้านไร่ กินพื้นที่เขตอำเภอคลองหลวง อำเภอธัญบุรี อำเภอหนองเสือ และอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เขตหนองจอกและเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
ม.ร.ว.สุวพันธ์ สนิทวงศ์ หุ้นส่วนคนสำคัญของบริษัทขุดคลองและคูนาสยาม กล่าวถึงการขุดคลองรังสิตที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ บางตอนว่า
"...ขณะที่ขุดไปพบเก้ง กวาง ละมั่ง โขลงช้าง และไข้ป่าแสนทุรกันดาร ตกกลางคืนต่างก็หลับกันในเรือ แต่พอตื่นมาบางวันหมอนข้างหายไปบ้าง บางครั้งหมอนหนุนศีรษะ ผ้าห่มก็หาย ไม่ทราบล่องหนไปได้อย่างไร เมื่อขุดต่อไปอีกหลายป่า จึงได้พบหมอนทั้งที่หายไป หรือของอื่นๆ ที่หายอยู่กันไกลๆ แต่ละป่า ในทุ่สุดจึงจับขโมยตัวสำคัญได้ ช้างนั่นเอง มันได้เอางวงมาล้วงทางหน้าต่างเรือไป..."
ในการสร้างทางรถไฟที่รุกล้ำเข้าไปในถิ่นฐานที่อยู่เดิมของช้างเถื่อนก็ก่อเกิดปัญหาเช่นกัน ดังการสร้างเส้นทางรถไฟสายใต้ซึ่งมีอุปสรรคประการหนึ่งคือ ช้างป่า หรือช้างเถื่อน ดังที่ 'วรรณดี สรรพงาม' กล่าวไว้ใน 'ประวัติการสร้างทางรถไฟสายใต้' ว่า
"...การสร้างทางรถไฟในช่วงผ่านพื้นที่อำเภอช้างกลางที่บ้านหลักช้าง และบ้านคลองกุยนั้น เป็นช่วงผ่านควนตมติดป่าควนพลอง ถิ่นช้างอาศัยอยู่มากมายหลายโขลง ซึ่งเป็นการตัดขวางทางเดินของช้าง
ธรรมชาติของช้างถือเอาดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นเวลาออกหากิน จึงมุ่งหน้าสู่ทิศตะวันออก เจอสิ่งกีดขวางทางเดินไม่ว่าจะเป็นแคมป์ค่าย หรือวัสดุสิ่งใด หากขวางทางเดินพวกเขาจะเข้าทำลายหมด เป็นปัญหาแก่การสร้างทางรถไฟเป็นอย่างยิ่ง
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงนั้น ก็มีการจับช้างขายให้อังกฤษที่ปกครองมะละยา สิงคโปร์ อันเป็นผลสำคัญที่ทำให้ช้างในตำบลช้างกลางลดน้อยลงไปมาก
ภายหลังที่สร้างทางรถไฟช่วงชุมพรถึงทุ่งสงเสร็จสิ้น ในหลวงรัชกาลที่ ๖ ได้อาศัยเส้นทางนี้เสด็จมาทอดพระเนตรการจับช้างที่คอกคลองกุย เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ (ปัจจุบันเป็นพื้นที่วัดคลองกุย) บุคคลที่ทันเห็นในหลวงรัชกาลที่ ๖ มาประทับที่นี่ คือ นางเหว บุณยเกียรติ ย่าของคุณชินวรณ์ เล่าให้ลูกหลานฟัง ซึ่งบันทึกไว้ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพนายห้อง บุณยเกียรติ ว่า
'รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จไปคล้องช้างที่สถานีรถไฟบ้างคลองกุย และได้ทรงเสด็จประทับที่หน้าบ้านของย่า ย่าดีใจและตื่นเต้นมาก ในขณะนั้นย่าท้องแก่ใกล้คลอด แต่ก็พยายามที่จะรอเฝ้ารับเสด็จให้ได้ เมื่อเสด็จคล้องช้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จกลับพระนคร'...
เช่นเดียวกับเส้นทางรถไฟสายนครราชสีมาที่ตัดผ่าน 'ทุ่งหลวง' ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เล่าถึงเหตุการณ์ 'รถไฟชนช้างป่า' ไว้ในหนังสือ 'นิทานโบราณคดี' ว่า
"...จนถึงสมัยเมื่อสร้างทางรถไฟผ่านไปในทุ่งหลวง ก็เกิดลำบากแก่การที่จะต้อนช้างโขลงผ่านทางรถไฟมายังเพนียดเพิ่มขึ้น และมามีเหตุร้ายเพิ่มขึ้นเป็นที่สุดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ในเวลาสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปยุโรปครั้งหลัง คืนวันหนึ่งมีช้างเถื่อนในทุ่งหลวงตัวหนึ่งเห็นจะเป็นเวลาตกน้ำมัน ขึ้นไปยืนอยู่บนทางรถไฟที่ย่านเชียงราก พอรถไฟบรรทุกสินค้าแล่นขึ้นไป ก็ตรงเข้าชนรถไฟ ช้างก็ตายรถไฟก็ตกรางทั้งสาย
พอฉันรู้ก็ขึ้นไปดู แต่ช้าไปไม่ทันเห็นตัวช้างเพราะมีคนแล่เนื้อเถือหนังไป และฝังโครงกระดูกเสียหมดแล้ว เห็นแต่รถไฟนอนกลิ้งอยู่ในท้องนา เนื่องจากเหตุครั้งนั้น จึงต้องกวาดต้อนช้างเถื่อนในทุ่งหลวงให้ไปอยู่เสียในป่าเชิงเขาใหญ่ในแขวงจังหวัดนครนายกหมด การจับช้างที่เพนียดก็เลิกขาด และช้างเถื่อนก็ไม่มีในมณฑลกรุงเทพฯ แต่นั้นมา แต่ในมณฑลอื่นยังมีช้างเถื่อนอยู่ทุกมณฑลจนทุกวันนี้..."
อนึ่งที่ว่าเหตุรถไฟชนช้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพน่าจะทรงจำคลาดเคลื่อน เนื่องเพราะเมื่อทรงนิพนธ์ 'นิทานโบราณคดี' นั้นอยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๘ ขณะยังคงพำนักอยู่ที่เมืองปีนัง
ในหนังสือพิมพ์ 'Le Petit Journal' ของฝรั่งเศส ที่ตีพิมพ์ออกจำหน่ายเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๘ (พ.ศ. ๒๔๕๑) ภาพหน้าปกเป็นรูปวาดช้างถูกรถไฟชน และพาดหัวข่าวไว้ว่า 'โศกนาฎกรรมประหลาดเกิดขึ้นกับรถไฟในเมืองสยาม หัวรถจักรชนกับช้างในตอนกลางคืน' และเนื้อหาของข่าวว่า
"...ที่สยาม เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นบนทางรถไฟระหว่างบ้านภาชีจะมากรุงเทพฯ เมื่อเข้าทางโค้งพนักงานขับรถมองเห็นไม่ชัดในความมืดมิด จึงเกิดเหตุเฉี่ยวชนช้างตัวใหญ่ที่กำลังพยายามจะข้ามทางรถไฟ
ทุกคนตกใจอย่างสุดขีดเมื่อรถจักรถูกเหวี่ยงตกราง ตู้โดยสารแตกเป็นเสี่ยงๆ ทำให้ชายสองคนตายและผู้โดยสารหลายคนบาดเจ็บกันระนาว ช้างถูกฉีกกระจายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ห่างจุดปะทะถึง ๒๐ เมตร
เหตุการณ์ที่รถไฟชนช้างและตกรางนี้เกิดขึ้นในสยามเป็นครั้งที่สองแล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน ก็มีช้างตัวหนึ่งถูกรถไฟชนตายที่ลพบุรี แต่ครั้งนั้นรถไฟตกรางเสียหายน้อยกว่าครั้งนี้มาก..."
ข่าวในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสไม่ได้ระบุวันเวลาที่เกิดเหตุไว้ แต่ในบันทึกของกรมรถไฟหลวงมีรายละอียดของเหตุการณ์ ดังปรากฏในวารสาร 'รถไฟสัมพันธ์' ฉบับที่ ๒/๒๕๖๑ ว่า
"...วันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๑ รถไฟที่มีต้นทางจากนครราชสีมา แล่นมาถึงระหว่างสถายีเชียงรากใหญ่กับเชียงรากน้อย ชนกับช้างพังที่ขึ้นมาบนคันดินรถไฟ พนักงานถึงแก่ความตาย ๓ คน (หัวมุดเข้าเตาไฟไป ๑ คน พนักงานห้ามล้อตัวขาดสองท่อนไป ๑ คน และอีกคนหนึ่งบาดเจ็บสาหัส ทนพิษบาดแผลไม่ไหว) บาดเจ็บ ๑ คน รถไฟตกราง ๑๓ คัน (ไม่ตกราง ๑๓ คัน)
พนักงานห้ามล้อที่ตาย ๒ คน ทางราชการต้องจ่ายบำเหน็จ ๓๐๐ บาท เพื่อไถ่ตัวพ่อแม่ของพนักงานห้ามล้อที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งยังเป็นทาสทีาไถ่ถอนค่าตัวไม่หมดให้เป็นอิสระ และอีก ๑๗๕ บาท ให้ครอบครัวพนักงานห้ามล้ออีกคนเพื่อใช้ในงานศพ สาเหตุที่ชนเพราะเป็นเวลากลางคืน ช้างเดินข้ามทางรถไฟในเวลาที่รถแล่นมาอย่างกระชั่นชิด
เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เจ้ากรมไวเลอร์ และเข้าหน้าที่ กรฟ. ไปที่เกิดเหตุในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๑ พร้อมกับช่างภาพ ซึ่งได้ตั้งกล้องทางฟากตะวันตกของทางรถไฟ และมีการอธิบายภาพไว้ด้วย (ตามตัวสะกดเดิม)
ดังคำบรรยายภาพตามรูปที่ปรากฏ
...
รถจักร
คำบรรยายภาพรถจักร
ในภาพเป็นหัวรถจักรที่ใช้ในสมัยนั้น ซึ่งเป็นช่วงปลายของรัชกาลที่ห้า ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๙ จนถึง พ.ศ. ๒๔๕๓ ก็ได้มีการทยอยนำเข้ารถจักรไอน้ำ 'โมกุล' ที่ผลิตขึ้นโดย บริษัท แฮนโนเวอร์เชแมชชีนเนนเบอะ (ยอร์จ อีเกาทอฟ์ฟ) หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิม คือ 'ฮาโนแมก' แห่งประเทศเยอรมัน มาใช้งานในกรมรถไฟหลวงรวม ๑๓ คัน
ภาพที่ ๑
คำบรรยายภาพที่ ๑
๑. ซากช้าง
๒. รถจักคันนำ
๓ รถฟืนสำหรับรถจักรคันนำ
๔. รถจักรคันหลัง
๕. รถบันทุกรางเหล็กเกยพื้นรถกาด
๖. พื้นรถกาด (รถของพนักงานห้ามล้อ) ที่พังกระเด็นลงไปทั้งโครง
๗. หลังคารถเบรก
๘. รถบันทุกของที่ย่นขัดต่อกันตกรางต่อๆ ไป
ภาพที่ ๒
คำบรรยายภาพที่ ๒
ตั้งกล้องถ่ายฟากตะวันตกทางรถไฟ เยื้องมาข้างเหนือ
๕. รถบันทุกเหล็กเกยพื้นรถกาด
๖. พื้นรถกาดที่พังกระเด็นลงไปทั้งโครง
๗. หลังคารถเบรก
๘. รถบันทุกของที่ย่นขัดต่อกันตกรางต่อๆ ไป
๙. รถไฟสำหรับรับส่งผู้โดยสารไปกรุงเก่า
ภาพที่ ๓
คำบรรยายภาพที่ ๓
ตั้งกล้องถ่ายฟากตะวันตกทางรถไฟ เยื้องมาข้างใต้
๒. รถจักรคันนำ
๓. รถฟืนาำหรับรถจักรคันนำ
๔. รถจักรคันหลัง
๕. รถบันทุกรางเหล็กเกยพื้นรถกาด
๖. พื้นรถกาด
๗. หลังคารถแบรก
๘. รถบันทุกของ
๙. ตัวรถแบรก
๑๐. รถเครื่องมือสำหรับยกรถที่เอาไปตั้งทำการ
ภาพที่ ๔
คำบรรยายภาพที่ ๔
๑. รถเครื่องมือกับรถรับคนโดยสารที่มาจากกรุงเทพฯ
๒. รถจักรคันนำ
๓. รถฟืนสำหรับรถจักรคันนำ
๔. รถจักรคันหลัง
๗. หลังคารถแบรก
๘. รถบันทุกของที่ย่นขัดต่อกันตกรางต่อๆ ไป
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย