1 ส.ค. 2024 เวลา 20:37

คำถามที่ถูกต้องจะพาไปพบคำตอบที่ถูกต้องเสมอ

เชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่หลายคนรู้อยู่แล้วว่าถ้าเราตั้งคำถามกับตัวเองให้ถูกต้องมันจะพาไปพบคำตอบที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ท้าทายคือแล้วคำถามแบบไหนที่มันถูกต้อง
โดยส่วนตัวเราชอบวิธีการตั้งคำถามที่เรียกว่า "downward arrow technique" ที่มักจะไปปรากฏอยู่ในวิธีการบำบัดแบบ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) ซึ่งคำถามที่ถูกต้องมักจะทำให้เกิดอารมณ์ในทางบวกติดตามมา เพราะเวลาตั้งคำถามมันต้องใช้ความคิด ถ้ามีความคิดไปในทางลบก็จะทำให้เกิดคำถามไปในทิศทางลบและจะทำให้เกิดอารมณ์ทางลบตามมา
ยกตัวอย่างคำถามที่มีทิศทางพาไปในทางลบ
"ทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดกับฉัน"
"ทำไมชีวิตของฉันมันถึงต้องเจอแต่เรื่องร้าย ๆ"
"ทำไมไม่มีใครเข้าใจฉันเลย"
"ทำไมทุกอย่างบนโลกใบนี้มันถึงน่าหงุดหงิดไปหมด"
"ทำไมคนนี้มันต้องทำตัวน่าหมั่นไส้น่ารำคาญ"
เราสังเกตว่าคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมักจะตั้งคำถามที่นำไปสู่การกระตุ้นตัวเองให้หาทางออก (solutions) เช่น
"เรื่องนี้มันเกิดขึ้นมาแล้ว เราจะทำยังไงให้สามารถแก้เกมรับมือกับมันได้"
"วันนี้เป็นวันที่แย่จริง ๆ เราจะทำยังไงให้เราไม่ต้องรู้สึกแย่ในทุก ๆ วัน"
"เราจะทำยังไงเพื่อให้สามารถสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจเรามากขึ้น"
"จะทำยังไงให้เราสามารถอยู่กับเรื่องน่าหงุดหงิดโดยที่เราไม่เครียดมากจนเกินไป"
และสำหรับคำถามที่ว่า "ทำไมคนนี้มันต้องทำตัวน่าหมั่นไส้น่ารำคาญ" คำถามนี้เป็นคำถามที่ดีที่ทำให้เรานึกถึงประโยคของ Carl Jung จิตแพทย์ชาวสวิสว่า "Everything that irritates us about others can lead us to an understanding of ourselves." ยิ่งถ้าคนไหนทำให้เรารู้สึกหงุดหงิดไม่พอใจทั้งที่เค้าไม่ได้คุกคามหรือสร้างความเดือดร้อนให้เรา แต่แค่เค้าอยู่ของเค้าเราก็หงุดหงิดแล้ว นี่คือโอกาสดีที่จะทำให้เราเกิดความเข้าใจตัวเองมากขึ้น
สำหรับคนที่คุ้นเคยกับกระบวนการนี้แล้วก็คงจะไม่มีข้อสงสัย
แต่มันอาจจะเข้าใจยากสักหน่อยสำหรับคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ตรงในการทำความเข้าใจตัวเองผ่านด้านมืดของคนอื่น และความจริงที่ค่อนข้างโหดร้ายคือบางสิ่งมนุษย์จะไม่สามารถเกิดความเข้าใจได้จากการอ่านหรือการใช้ cognitive แต่จะต้องมีประสบการณ์ด้วยตัวเองเลยถึงจะเข้าใจมัน
และเราขออนุญาตใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อระบายความรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเรื่องนี้ค่อนข้างหาคนที่คุยกันถูกคอได้ยาก และยิ่งยากไปอีกในการที่จะได้พบกับคนที่เข้าใจว่าในบางครั้งที่เราหมั่นไส้หงุดหงิดคนอื่นหรือเกลียดจนเหม็นหน้าไม่อยากเข้าใกล้ ลึกลงไปเราเองก็คือคน ๆ นั้น เพียงแต่เราไม่อยากรับรู้ว่าเราเป็นคน ๆ นั้นเพราะเราอาจถูกหล่อหลอมมาว่ามันเป็นความรู้สึกนึกคิดหรือพฤติกรรมที่ไม่สมควร
โฆษณา