2 ส.ค. เวลา 14:10 • กีฬา

สตาร์ไม่ไป เงินไม่ไหล : ทำไมตลาดลีกซาอุฯ ถึงไม่บูมเหมือนฤดูกาลก่อน ? | Main Stand

ปี 2023 ตลาดซื้อขายนักเตะคึกคักสุดขีด มีข่าวใหญ่ไม่เว้นแต่ละวัน เพราะการแจ้งเกิดของฟุตบอลซาอุดี โปรลีก ที่พร้อมทุ่มทุกราคา และจ่ายค่าเหนื่อยแบบสาแก่ใจ เพื่อดึงนักเตะชั้นยอดจากยุโรปไปค้าแข้งในแดนเศรษฐีน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม หลังผ่านไป 1 ปี ณ ตอนนี้ขาเข้าตลาดซาอุดีอาระเบีย สุดซบเซา นักเตะระดับสตาร์ไม่ตบเท้าเข้าประเทศเหมือนที่เคยเป็นมา และข่าวทุ่มซื้อสตาร์ก็เบาบางเหลือเกิน
เกิดอะไรขึ้นในประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่เคยคิดจะทำให้ลีกของพวกเขาเป็นลีกที่ดีที่สุดอันดับ 5 ของโลก ... ความซบเซานี้เกิดจากอะไร หาเหตุผลกับ Main Stand
เปรี้ยงแรกดังเสมอ
ประการแรกที่คุณต้องรู้ คือการที่ลีกฟุตบอลซาอุดีอาระเบีย หรือ ซาอุดี โปรลีก อยู่ ๆ ก็กระโดดลงตลาดซื้อขาย แบบพร้อมหน้าสู้ทุกราคาในซีซั่นที่แล้ว มันเกิดขึ้นจากแนวคิดของรัฐบาลภายใต้ชื่อ "Saudi Vision 2030" และการแปรรูปสโมสรฟุตบอลให้เป็นเอกชนก็เป็นหนึ่งในนั้น ให้นึกภาพง่าย ๆ ว่า พวกเขาอยากจะผลักดันฟุตบอลเป็นซอฟต์เพาเวอร์ อะไรราว ๆ นั้น
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสำคัญเริ่มขึ้น เมื่อกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะของซาอุฯ หรือ PIF (Public Investment Fund) กองทุนเดียวกับเจ้าของสโมสรนิวคาสเซิล ในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ได้ประกาศเทคโอเวอร์ อัล นาสเซอร์, อัล ฮิลาล, อัล อาลี และ อัล อิตติฮัด 4 สโมสรยักษ์ใหญ่ของซาอุฯ
1
โดยกองทุนฯ จะเข้าไปถือหุ้น 75 เปอร์เซ็นต์ของทั้ง 4 ทีม ส่วนอีก 25 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร (NGO) ซึ่งจากรายงานของกระทรวงกีฬาซาอุฯ ระบุว่าบอร์ดบริหาร 5 จาก 7 คนจะมาจาก PIF ส่วนอีกสองคนมาจาก NGO
มันเป็นสิ่งที่ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในสหรัฐอเมริกา, ยุโรป หรือแม้แต่ไทย กับการที่ 4 ทีมชั้นนำของลีกมีเจ้าของสโมสรร่วมกัน หรือถ้าเทียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับ บุรีรัมย์, เมืองทอง, บีจี ปทุม และท่าเรือ มีเจ้าของเป็นคนเดียวกัน
2
ชื่อทีมอย่าง อัล นาสเซอร์, อัล ฮิลาล, อัล อาลี และ อัล อิตติฮัด คุ้นหูคุณใช่ไหม ? ... ไม่แปลกหรอก 4 ทีมเหล่านี้มีทรัพยากรไม่จำกัดในการสร้างทีมฟุตบอลของพวกเขา ดังนั้นในตลาดซื้อขายปี 2023 จึงเป็น 4 ทีมนี้ล้วน ๆ ที่เอาซูเปอร์สตาร์ระดับตัวท็อปของยุโรป ขณะที่ทีมอื่น ๆ ในลีกอีก 14 ทีม (ซาอุดี โปรลีก มี 18 ทีมลงแข่ง) อาจจะมีนักเตะจากยุโรปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่พวกตัวท็อปเหมือนกับ 4 ทีมนี้ เพราะทรัพยากรมีขีดจำกัด จะมีทีมที่พอทุ่มได้หนักหน่อยก็ อัล อิตติฟาค ที่กระทรวงกีฬาซาอุฯ เป็นเจ้าของ
อย่างไรก็ตามถึงจะงบไม่มาก แต่เมื่อได้รับการผลักดันจากภาครัฐ ซาอุดีาระเบียจึง อาละวาดในตลาดซื้อขายซีซั่น 2023-24 และแน่นอนว่าพวกเขาต้องการทำให้โลกหันมามอง เปลี่ยนภาพจำที่มีต่อประเทศซาอุดีอาระเบีย ไม่ว่าจะในเรื่องของฟุตบอล คุณภาพชีวิตของการท่องเที่ยวหรืออยู่อาศัย ไปจนถึงการลงทุนในภาคธุรกิจ
เปรี้ยงแรกต้องเอาให้สั่นสะเทือนเลือนลั่น และมันจะมีอะไรเรียกเสียงฮือฮาได้ดีกว่าหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดในโลกในช่วง 10 ปีหลังอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ จาก แมนฯ ยูไนเต็ด ที่ย้ายนำร่องมาคนแรก ตามมาด้วยนักเตะเจ้าของรางวัลลงดอร์ปี 2022 อย่าง คาริม เบนเซม่า, แชมป์โลกอย่าง เอ็นโกโล่ ก็องเต้, ปีกดีกรีแชมป์ยุโรปอย่าง ซาดิโอ มาเน่ … นักเตะเหล่านี้แม้แต่ทีมใหญ่ ๆ ในลีกดัง ๆ ยังซื้อยาก แต่ ซาอุดีอาระเบียทำได้
ณ เวลานั้นไม่มีใครคิดว่านักเตะกลุ่มนี้จะย้ายจะไปเล่นในซาอุดีอาระเบีย ดังนั้นเมื่อมันเกิดขึ้นจริง จึงเป็นอิมแพ็คต์ครั้งใหญ่ นักเตะในยุโรปเปิดใจกับฟุตบอลที่นี่มากขึ้น แม้จะพูดได้ว่ามันเป็นเรื่องเงินเป็นหลัก แต่ใครบ้างไม่ทำเพื่อเงินในยุคทุนนิยมแบบนี้ ?
หลายคนคิดว่าการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นแล้ว ซาอุดีอาระเบีย จะเป็นปลายทางของนักเตะในวัย 30 บวก หรือไม่ก็นักเตะระดับกลาง ๆ ที่อยากจะได้ค่าเหนื่อยเยอะกว่าเดิมเกิน 10 เท่า ... แต่แล้วก็ผิดคาด ตลาดซื้อขายในฤดูกาล 2024-25 ของลีกซาอุฯ ซบเซาอย่างรวดเร็ว นักเตะที่ดังที่สุดและแพงที่สุดในรอบนี้คือ มุสซ่า ดิยาบี้ ราคา 50 ล้านยูโร จาก แอสตัน วิลล่า ไปยัง อัล อิตติฮัด เท่านั้น
เทียบกับปีที่แล้วห่างกันคนละเรื่องทั้งชื่อเสียง ราคา คุณภาพ และมูลค่าทางการตลาด ... ทำไมซาอุฯ ถึงไม่ทุ่มซื้ออีกแล้วล่ะ ?
ค่อย ๆ เปลี่ยนเพื่อโครงสร้าง
อย่างที่กล่าวไปตอนแรก ในลีกซาอุดี อาระเบีย มีทีมที่ทุ่มไม่อั้นจริง ๆ เพียง 4 ทีมที่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากภาครัฐเท่านั้น และพวกเขาได้จุดพลุดอกแรกให้คนหันมองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แถมการเซ็นสัญญานักเตะแต่ละคนก็ไม่มีสัญญาระยะสั้น ๆ แค่ 1 ปี ดังนั้นเมื่อทีมเหล่านี้มีนักเตะต่างชาติตัวท็อปอยู่แล้ว จึงขยับตัวในตลาดครั้งนี้ไม่เท่าครั้งก่อน นอกเสียจากจะมีนักเตะคนเก่าได้ย้ายออกไป
1
อย่างไรก็ตาม พวกเขายังไม่ได้ปิดหนทางการคว้านักเตะจากลีกยุโรปเสียทีเดียว เนื่องจากไม่นานมานี้ มีการประกาศว่าโควต้าต่างชาติในซาอุดี โปรลีก ได้เพิ่มจาก 8 คนกลายเป็น 10 คน เพียงแต่ว่านโยบายของลีกได้เพิ่มเรื่องการพัฒนาเยาวชนในประเทศมากขึ้น ณ ตอนนี้ และการซื้อนักเตะต่างชาติจะเปลี่ยนจากเป็นนักเตะอายุมาก ที่ดูเหมือนมาขุดทองส่งท้ายอาชีพ เป็นการคว้านักเตะที่อายุน้อยลง
โฆษกของ ซาอุดี โปรลีก ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า "เราตั้งเป้าที่จะมอบโอกาสให้เยาวชนของเราได้เรียนรู้จากบุคลากรที่ดีที่สุดในโลก โดยการมุ่งเน้นที่การดึงดูดผู้มีความสามารถต่างชาติที่อยู่ในช่วงวัยหนุ่มกว่าเดิม"
3
"เพราะการมุ่งเน้นเชิงกลยุทธ์ไปที่ผู้เล่นเยาวชนช่วยให้เราสร้างความสำเร็จ ความสามารถในการแข่งขัน และความยั่งยืนในระยะยาวให้กับทั้งลีกและสโมสร"
"แฟน ๆ คาดหวังว่าสโมสรในซาอุดีอาระเบียจะดึงตัวผู้เล่นชื่อดังเข้ามาร่วมทีมในฤดูกาลนี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวทางใหม่นี้ทำให้ SPL กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น และไม่ใช่แค่จุดหมายปลายทางสำหรับผู้เล่นชื่อดังในวงการกีฬาเท่านั้น"
มองจากตรงนี้ คุณจะเริ่มเข้าใจว่าเมื่อแนวทางเปลี่ยนไปที่นักเตะหนุ่ม อายุน้อยลง มันจึงยากขึ้นกว่าการดึงนักเตะอายุมากที่ผ่านทุกอย่างมาแล้ว นักเตะหนุ่มหลายคนยังคงมีความทะเยอทะยานในอาชีพอยู่ การมาซาอุดีอาระเบีย แม้จะได้รายรับที่มากขึ้น แต่มันจะส่งผลต่อการพัฒนาของพวกเขาแน่ เพราะการลงเล่นในลีกคุณภาพสูง ท่ามกลางผู้เล่นเก่ง ๆ จะช่วยผลักดันพวกเขาได้ดีกว่าแน่นอน
ดังนั้นเนื่องจากโควต้าเดิมจะยังอยู่กันแทบพร้อมหน้าแล้ว บวกกับโควต้าว่างอีก 2 ที่มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นนักเตะหนุ่มยังสามารถพัฒนาได้อีก การเฟ้นหานักเตะจากลีกยุโรปให้มาเล่นในซาอุฯ จึงยากขึ้นอีก ไม่ใช่แค่นักเตะไม่อยากเท่านั้น แต่พวกเขาก็คัดเลือกแบบเข้มข้นกว่า เรียกได้ว่าต่อให้มีเงินเต็มกระเป๋าก็ไม่ยอมให้ใครฟันหัวง่าย ๆ พวกเขาจะเริ่มเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทีละนิด เพื่อผลระยะยาวดังที่โฆษกของพวกเขาบอก
เรื่องเล่าปากต่อปาก
สังคมนักฟุตบอลก็เหมือนกับสังคมดารา ที่มีเรื่องซุบซิบและปากต่อปากที่ส่งต่อข่าวลือกันไปอย่างรวดเร็ว และแน่นอนว่ากลุ่มนักเตะชุดแรกที่ไปซาอุดีอาระเบียหลายคนก็มีข่าวว่าพวกเขาไม่แฮปปี้กับชีวิตที่นั่นนัก
มันไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยากอะไร เพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา และไลฟ์สไตล์นั้นมีอยู่มากระหว่างนักเตะที่ค้าแข้งในยุโรปหรือนับถือศาสนาคริสต์ กับการไปเล่นในประเทศซาอุดีอาระเบีย ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของชาติที่มีผู้คนนับถือศาสนาอิสลามมากทีสุด การปรับตัวต้องเกิดขึ้น และคนที่ต้องปรับมากที่สุดคือเหล่าลูกจ้าง ซึ่งนั่นก็คือนักฟุตบอลทั้งหลายนั่นแหละ
อายเมอริก ลาปอร์กต์ กองหลังดีกรีแชมป์ยูโร 2024 กับทีมชาติสเปน ที่เล่นกับ อัล นาสเซอร์ ทีมเดียวกับ โรนัลโด้ คือคนที่ออกมาพูดเรื่องปรับตัว ทั้งเรื่องชีวิต และฟุตบอล เพราะสิ่งที่คาดคิด กับสิ่งเกิดขึ้นจริงนั้นไม่เหมือนกัน ต่างกับที่เขาคิดไว้
"พวกเขา (สโมสร) ไม่ได้ทำให้มันง่ายสำหรับเรา มีนักเตะหลายคนไม่พอใจ และกำลังพยายามแก้ไขเรื่องนี้ในทุก ๆ วัน มีการเจรจากัน เราต้องรอดูว่าเราจะแก้ไขเรื่องนี้แบบไหน ?"
"มันเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับพวกเรา (นักเตะจากยุโรป) ที่มาที่นี่ อย่างเรื่องฟุตบอล พวกเขาต้องปรับตัวอีกเยอะ ต้องจริงจังมากขึ้น พวกเขาอาจจะจ่ายเงินเดือนสูงมาก แต่โดยรวมทุก ๆ เรื่องมันยังมีอะไรที่ต้องคิดอีกมากมายสำหรับผม"
"ผมไม่ได้ต้องการแค่เงิน ผมให้ความสำคัญกับเรื่องอื่น ๆ ทั้งฟุตบอลและเรื่องของชีวิต โดยเฉพาะในแง่คุณภาพชีวิต ผมคาดหวังถึงสิ่งที่แตกต่างออกไป นั่นคือสิ่งที่ผมบอกได้" ลาปอร์กต์ ว่าแบบนั้น
แม้ ลาปอร์กต์ จะบอกว่าเงินเกี่ยวข้องเพียงน้อยนิด แต่ก็มีนักเตะหลายคนที่เจอกับเรื่องนี้ และตอบสนองทันที นั่นคือ จอร์แดน เฮนเดอร์สัน ที่อยู่ที่นี่ได้ไม่ถึง 5 เดือนเลยด้วยซ้ำ
อดีตกัปตันของ ลิเวอร์พูล คือหนึ่งในนั้น เขาย้ายไปอยู่กับ อัล อิตติฟาค ได้เพียงครึ่งฤดูกาล ก็ตกลงยกเลิกสัญญา แน่นอนว่าในตอนแถลงยกเลิกสัญญา เฮนเดอร์สันก็เป็นสุภาพบุรุษ ไม่ได้ว่าร้ายถึงสโมสรเลยแม้แต่คำเดียว แต่ข่าวหลุดนี่แหละที่น่าสนใจ เพราะว่ากันว่า เฮนเดอร์สัน ไม่ได้เงินที่ตกลงไว้ตามสัญญาแรกที่มีมูลค่า 350,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ และการยกเลิกสัญญา เขาก็ไม่ได้เงินชดเชยด้วย …
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า อัล อิตติฟาค ไม่ใช่ทีมที่ PIF เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แม้เจ้าของทีมจะใหญ่ย่อม ๆ ลงมา คือกระทรวงกีฬาของประเทศก็ตาม
อย่างที่บอกว่าสังคมนักฟุตบอลส่งต่อข่าวลือกันแบบปากต่อปาก เชื่อว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้ออกสื่อ แต่นั่นก็มากพอที่จะทำให้ผู้เล่นระดับสตาร์หลายคนคิดทบทวนข้อเสนอมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น เควิน เดอ บรอยน์ ที่เจอมองว่าคุณภาพชีวิตมีผลต่อการอยู่อาศัยของครอบครัวของเขา สุดท้ายภรรยาของเขาก็ยื่นคำขาดจบเรื่องนี้ว่า "ไม่ไปซาอุฯ"
ทุกอย่างคือคำตอบทำไม ซาอุดี โปรลีก จึงไม่สามารถดึงตัวท็อปที่มีข่าวในตลาดครั้งนี้ เรื่องไลฟ์สไตล์สะท้อนผ่านเรื่องของ เดอ บรอยน์, เรื่องคุณภาพของฟุตบอลสะท้อนผ่าน ลูก้า โมดริช ที่ยังอยากเล่นในเกมระดับสูงที่ยุโรป และเรื่องของโครงสร้างแนวทางฟุตบอลของลีกที่อยากจะได้นักเตะฝีเท้าดีอายุน้อย ที่สะท้อนถึงการไม่มีทีมไหนยื่นซื้อ คาเซมิโร่ จอมทัพของแมนฯ ยูไนเต็ด จริงตามข่าว
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในซาอุดี โปรลีก ... ส่วนผลลัพธ์ ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก แต่ที่เรารู้แน่ คือพวกเขามีทรัพยากรมากพอที่บันดาลอะไรก็ได้ในโลกฟุตบอล เพียงแต่ของแบบนี้มันต้องใช้เวลา อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะในวันที่ โรนัลโด้ มาที่นี่หลายคนก็คิดแบบนี้มาแล้ว
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา