Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ในเงาของเวลา
•
ติดตาม
10 ส.ค. 2024 เวลา 17:32 • ประวัติศาสตร์
๕ มิถุนายน ๒๔๖๐
ตั้งผู้บัญชาการรถไฟชั่วคราว
...
อ่านพบเจอข้อมูลบางแห่งกล่าวว่า วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้เข้าด้วยกันเป็นกรมเดียวกันในชื่อ 'กรมรถไฟหลวง' นั้น เห็นจะคลาดเคลื่อน
เนื่องเพราะเมื่อสอบทานกับประกาศใน 'ราชกิจจานุเบกษา' แล้วนั้น วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นการ 'แต่งตั้งผู้บัญชาการรถไฟชั่วคราว' เท่านั้น ดังประกาศใน 'ราชกิจจานุเบกษา' เล่ม ๓๔ วันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ว่า
"...มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายพลโทพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชร์อรรคโยธิน เปนผู้บัญชาการรถไฟชั่วคราว เพิ่มขึ้นจากตำแหน่งเดิมของพระองค์ท่านอีกตำแหน่งหนึ่ง
ประกาศมาณวันที่ ๕ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ เปนวันที่ ๒๓๙๘ ในรัชกาลปตยุบันนี้..." (อักขระตามต้นฉบับ)
ต่อเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงได้รวมกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้ เป็นกรมเดียวกันนั้น
ก่อนหน้านั้นในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. ๒๔๓๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมรถไฟอยู่ในสังกัดกระทรวงโยธาธิการ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์เป็นเสนาบดี และนายเค. เบรเก (K. Bethge) ชาวเยอรมัน เป็นเจ้ากรมรถไฟ
ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๔ กรมรถไฟเปิดซองประมูลสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ นครราชสีมา เพื่อเป็นการสะดวกในการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แยกกรมรถไฟออกเป็น ๒ ส่วน คือ กรมรถไฟหลวงสายเหนือ และกรมรถไฟหลวงสายใต้
ในช่วงเวลาที่นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (ขณะนั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นนายพลโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอรรคโยธิน) ทรงรับตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟหลวงใหม่ๆ กิจการรถไฟมีคนไทยอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ มีชาวเยอรมัน อังกฤษ อิตาเลียน และชาวเอเชียชาติต่างๆ เช่น ชาวอินเดีย ชาวซีลอน และชาวพม่า
พระองค์จึงทรงระดมคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทหารช่าง กรมแผนที่ และคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ จากห้างร้านต่างๆ ให้เข้ามาทำงานรถไฟ ทรงฝึกฝนคนไทยให้มีความสามารถในกิจการรถไฟด้วยการแนะนำสั่งสอนด้วยพระองค์เอง
1
ในที่สุดพระองค์ท่านก็ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตส่งนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อศึกษาวิชาการรถไฟและการพาณิชย์ รุ่นแรกๆ ได้ส่งไปสหรัฐอเมริกา เพราะในยุโรปเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ต่อมาจึงได้ส่งไปยุโรปเพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
เมื่อนักเรียนเหล่านี้สำเร็จการศึกษาแล้ว ได้กลับมารับราชการในกรมรถไฟหลวง ทำให้กิจการรถไฟเจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี
รถจักรดีเซลการกล เอส.แอล.เอ็ม. วินเตอร์เธอร์ หมายเลข 21-22 กำลัง ๒๐๐ แรงม้า ความเร็ว ๔๐ กม./ชม. สร้างโดยบริษัทสวิสส์ไลโคโมติฟแอนด์แมชินเวอร์ค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
พ.ศ. ๒๔๗๑ ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซล มีกำลัง ๒๐๐ แรงม้า ส่งผ่านกำลังด้วยการกล จำนวน ๒ คัน เข้ามาใช้เป็นรุ่นแรกในประเทศไทย และเป็นรายแรกในทวีปเอเชีย โดยใช้เป็นรถจักรสำหรับสัปเปลี่ยนและลากจูงขบวนรถท้องถิ่นรอบกรุงเทพฯ รถจักรรุ่นแรกนี้สร้างโดยบริษัทสวิสส์ไลโคโมติฟแอนด์แมชินเวอร์ค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
1
เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดรถจักรดีเซลขึ้นในเมืองไทย รถจักรดีเซลทุกคันที่ใช้การอยู่ในการรถไฟฯ ขณะนี้ จึงได้ประดับเครื่องหมาย 'บุรฉัตร' อันเป็นพระนามของพระองค์ติดที่ด้านข้างของรถจักรดีเซลทุกคันที่สั่งเข้ามา เพื่อเป็นการรำลึกและเทิดพระเกียรติแห่งพระองค์ท่านสืบไป
นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนากิจการรถไฟให้บังเกิดผลดีรวดเร็ว และสะดวกในการปฏิบัติงาน ทรงปรับปรุงสัญญาณประแจกลและโทรคมนาคมของกรมรถไฟหลวงใหม่หมด โดยเริ่มใช้โทรศัพท์ทางไกล โทรศัพท์อัตโนมัติ และเครื่องตราทางสะดวกแทนการขอทางด้วยเครื่องโทรเลข
1
ทรงวางแผนและดำเนินนำรถจักรดีเซลมาใช้แทนรถจักรไอน้ำ โดยมุ่งเน้นการนำรถจักรดีเซลไฟฟ้ามาใช้การ เพราะได้ทรงวางแผนและศึกษาต่อไปถึงความเป็นไปได้ถึงการนำรถจักรดีเซลทำการลากจูงขบวนรถหมดแล้ว นับว่าพระดำริของพนะองค์ในเรื่องนี้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างมหาศาลในกาลต่อมา
1
นายพลโท สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอรรคโยธิน
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้เข้าด้วยกันเป็น 'กรมรถไฟหลวง'
และทรงให้นายพลโท พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพ็ชรอรรคโยธิน (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เป็นผู้บัญชาการรถไฟอีกตำแหน่งหนึ่ง นอกเหนือจากหน้าที่ทางราชการทหาร
ในระหว่างที่ทรงบังคับบัญชากิจการรถไฟนั้น พระองค์ได้บริหารงานด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงนำวิชาการสมัยใหม่เช้ามาใช้ กาอให้เกิดผลประโยชน์แก่กิจการรถไฟอย่างมาก จนได้นับการขนานพระนามว่า 'พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่'..."
...
ภาพปก | นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย