27 ก.ย. เวลา 02:30 • ธุรกิจ

รู้จัก BEES แพลตฟอร์มที่ทำให้ บริษัทเบียร์ใหญ่สุดในโลก ได้เก็บ Data จากคนขายเบียร์

2-3 ปีที่ผ่านมานี้ใครก็บอกว่า “ธุรกิจต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล” ถ้าอยากชนะคู่แข่งในตลาด ถ้าสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองได้ยิ่งดี
แต่ใครจะคิดว่าบริษัทเบียร์ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลก ที่ขายดีอยู่แล้ว จะหันมาทุ่มงบพัฒนา Platform ขายเบียร์ของตัวเองเหมือนกัน
บริษัทนั้นคือ “AB InBev” บริษัทสัญชาติเบลเยียม เจ้าของแบรนด์เบียร์ที่หลายคนคุ้นหูอย่าง Budweiser, Stella Artois และ Hoegaarden
แล้วทำไม AB InBev ถึงตัดสินใจทำแพลตฟอร์มขายเบียร์ของตัวเอง แทนที่จะลงทุนซื้อโรงเบียร์เพื่อขยายอาณาเขตเหมือนที่ผ่านมา ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ AB InBev คือ บริษัทเบียร์รายใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าบริษัท 4.1 ล้านล้านบาท
ใหญ่กว่าไทยเบฟของเสี่ยเจริญ ถึง 12 เท่า
โดย AB InBev มีแบรนด์เบียร์ในเครือ มากกว่า 500 แบรนด์ กระจายสินค้าไปใน 150 ประเทศทั่วโลก และมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นร้านค้าปลีกมากกว่า 6 ล้านร้าน
ดังนั้น ไม่ต้องคิดเลยว่าในวัน ๆ หนึ่งจะมีร้านเล็กร้านใหญ่ที่ติดต่อซื้อเบียร์กับพวกเขาเยอะแค่ไหน
จนปี 2019 ที่เกิดโรคระบาด บริษัทจึงใช้เวลาช่วงนี้ในการสร้าง Ecosystem และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแบบ B2B ที่ชื่อว่า “BEES” เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับร้านค้าให้ดีขึ้น
ในแพลตฟอร์มนี้ ร้านค้าต่าง ๆ สามารถสั่งเบียร์, ชำระเงิน, ติดตามสถานะการส่ง และดูข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้าได้ ง่ายเหมือนกับเวลาที่เราสั่งสินค้าจาก Shopee หรือ Lazada
1
ซึ่งตรงนี้ทำให้ AB InBev เก็บตกร้านค้าเล็ก ๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะร้านค้าสามารถติดต่อซื้อกับบริษัทได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลางหรือ Third Party อีก
1
ไม่จบแค่นั้น ร้านค้าสามารถใช้ฟังก์ชัน Real-time data ในการช่วยวิเคราะห์การขาย ดู Insights เพื่อใช้จัดการร้านค้าของตัวเอง ทำให้สต๊อกสินค้าได้ง่ายและเป็นระบบระเบียบขึ้น
1
ในด้านของ AB InBev ก็ได้เก็บข้อมูลลูกค้าในเว็บไซต์ อย่างพฤติกรรมการสั่งซื้อ เช่น ข้อมูลการสั่งซื้อ, ประเภทสินค้า, ปริมาณสินค้า, ความถี่, ช่องทางที่นำมาสู่การสั่งซื้อ หรือจุดไหนที่ลูกค้าคลิกบ่อย
มีการเปิดเผยว่า ในทุกเดือน BEES จะเก็บข้อมูลลูกค้าได้มากกว่า 3,000 ล้านข้อมูล จากเว็บไซต์, แอปพลิเคชัน, โปรแกรมคลังสินค้า และระบบโลจิสติกส์
แน่นอนว่าข้อมูลมหาศาลนี้คือสมบัติอันล้ำค่า ที่บริษัทสามารถนำไปใช้พัฒนาธุรกิจให้ขายดียิ่งขึ้นได้
พูดให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ ตอนไม่มีแพลตฟอร์ม บริษัทก็รู้แค่ชื่อ ที่อยู่ และประวัติการสั่งซื้อของลูกค้าแต่ละราย
แต่เมื่อมีแพลตฟอร์ม ก็สามารถเก็บพฤติกรรมการสั่งซื้อของลูกค้าได้เยอะขึ้น ลึกขึ้น เหมือนได้จับตาดูพฤติกรรมการสั่งซื้อของลูกค้าเป็นล้าน ๆ คน
ทั้งหมดก็นำไปสู่การวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงสินค้าและเว็บไซต์ที่ทำให้ลูกค้าอยากซื้อมากขึ้น บริษัทก็ทำรายได้เพิ่ม
แถมเมื่อได้ลูกค้าเข้าสู่แพลตฟอร์ม ก็เพิ่ม Customer Loyalty โดยอัตโนมัติ เพราะลูกค้าก็ซื้อเบียร์จาก AB InBev ซ้ำ ๆ อย่างง่ายดาย
ปัจจุบัน BEES มี Active Users ถึง 3.7 ล้านรายต่อเดือน จาก 26 ประเทศทั่วโลก และรายได้ 70% ในไตรมาส 4 ของ AB InBev ปีที่แล้ว ยังมาจาก BEES อีกด้วย
นอกจากนี้ AB InBev ยังปิดฉากงบในปีที่แล้ว ด้วยรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8%
แม้ว่าจะไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญนัก แต่นี่เป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นว่า
แม้แต่บริษัทที่อยู่เหนือคู่แข่งเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมตัวเอง ก็ยังเห็นความสำคัญของการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และหันมาพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองเช่นกัน..
หมายเหตุ บทความนี้ต้องการนำเสนอข้อมูลบริษัทที่ดำเนินกิจการในต่างประเทศ และข้อเท็จจริงในมุมมองธุรกิจ ไม่ได้มีเจตนาหรือสนับสนุนให้ซื้อขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด
โฆษณา