Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ลงทุนเกิร์ล
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
28 ก.ย. เวลา 04:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จาก YOLO สู่ “YONO” เมื่อคนเกาหลีรุ่นใหม่ หันมารัดเข็มขัด เน้นกินอยู่ประหยัดมากขึ้น
ช่วงหนึ่งหลายคนอาจได้ยินคำว่า “YOLO”
ที่ย่อมาจาก You Only Live Once
คำนี้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเหตุผลในการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ สนุกสนาน และไม่กังวลกับอนาคตที่เป็นเรื่องไม่แน่นอน เพราะคนเรามีชีวิตแค่ครั้งเดียว
ซึ่งคนกลุ่มนี้จะพอใจกับการใช้จ่ายอย่างเต็มที่ ในเรื่องแฟชั่น ความงาม อาหาร หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่ทำให้ตัวเองมีความสุขกับปัจจุบัน ส่วนเรื่องการออมเอาไว้ทีหลัง
1
แต่ปัจจุบันเทรนด์นี้กำลังจะเปลี่ยนไป
เพราะคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง
จากที่เคยติดแกลม ติดหรู ให้รางวัลตัวเองด้วยอาหารราคาแพง หรือยอมจ่ายให้กับสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ ก็เปลี่ยนมาเก็บเงินก้อนนั้นเพื่อนำไปใช้จ่ายกับอย่างอื่น จนเกิดเป็นไลฟ์สไตล์ “YONO”
แล้วพฤติกรรม YONO คืออะไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
YONO ย่อมาจาก You Only Need One
คือไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนรุ่นใหม่ ที่หันมาวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ลดรายจ่าย หรือหันมาใช้เงินเฉพาะกับสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น
เป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น และอัตราการเติบโตของรายได้ต่ำ
1
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเกาหลีใต้ (KOSTAT)
- ปี 2021 อัตราเงินเฟ้อ 2.5%
- ปี 2022 อัตราเงินเฟ้อ 5.1%
- ปี 2023 อัตราเงินเฟ้อ 3.6%
ขณะที่อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือนกลับสวนทาง
- ปี 2021 อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน 2.5%
- ปี 2022 อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน 0.9%
- ปี 2023 อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน 1.6%
1
สอดคล้องกับข้อมูลจากสหพันธ์อุตสาหกรรมเกาหลี (Federation of Korean Industries: FKI) ที่ระบุไว้ว่า ภาวะเงินเฟ้อมักกระทบกับการใช้จ่ายของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องเจอกับค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น
และอีกปัจจัยคือ ค่านิยมที่คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่หันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพย์สิน จึงต้องการนำเงินที่มีไปลงทุน มากกว่านำไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
โดยธนาคาร NH NongHyup ได้วิเคราะห์ข้อมูลการทำธุรกรรมของลูกค้าวัย 20 ปี และ 30 ปี ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024
พบว่าจำนวนการรูดบัตรจ่ายค่ารับประทานอาหารนอกบ้าน ลดลง 9%
ขณะที่การซื้ออาหารจากร้านสะดวกซื้อ เพิ่มขึ้น 21%
1
จำนวนธุรกรรมในห้างสรรพสินค้าลดลง 3% และการซื้อกาแฟราคาแพงในร้านอย่าง Starbucks ลดลง 13%
1
นอกจากนี้การซื้อรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศก็ลดลง 11% แต่การซื้อรถยนต์ในประเทศกลับเพิ่มขึ้น 34%
1
ไม่เพียงแค่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่หลายธุรกิจในเกาหลีใต้ก็ได้ปรับตัวรับเทรนด์นี้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น Orion ผู้ผลิตขนมเจ้าดังที่ได้หันมาผลิตสินค้าขนาดเล็กลง ให้สามารถขายได้ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องราคา
1
หรือแม้แต่ 7-Eleven ในเกาหลีใต้ก็ได้มีการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศมาขายในราคาที่เป็นมิตร และได้รับผลตอบรับอย่างล้นหลาม ขายหมดเกลี้ยงในเวลาเพียง 5 วัน
1
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าไม่ใช่ว่าวัยรุ่นในเกาหลีใต้จะไม่ใช้เงินเลย เพราะถึงจะไม่ใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย แต่พวกเขาก็ยังยินดีที่จะใช้เงินเพื่อซื้อประสบการณ์ เช่นการใช้เงินก้อนเที่ยวต่างประเทศหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ
1
แต่ท้ายที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในเทรนด์พฤติกรรมแบบใด การได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองไม่เดือดร้อน ทั้งในตอนนี้และอนาคต ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดในยุคปัจจุบัน..
References:
-
https://www.koreatimes.co.kr/www/biz/2024/09/602_379775.html
-https://koreajoongangdaily.joins.com/news/2024-08-19/business/industry/YONO-Retailers-shift-as-consumers-go-from-flashy-to-frugal/2115747
ธุรกิจ
เศรษฐกิจ
9 บันทึก
18
15
9
18
15
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย