2 ต.ค. เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

7 เดือน ทองแท่งทำกำไร 50% Gold Spot รับ 800 ดอลลาร์

ศูนย์วิจัยทองคำยัน บาทแข็งไม่เกี่ยวกับทองคำ เหตุ 7 เดือน ทั้งยอดนำเข้าและส่งออกทองคำน้อยมาก ไม่น่าส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาท เผย 7 เดือน ทองแท่งทำกำไรแล้ว 50% Gold Spot รับ 800 ดอลลาร์ จับตา 3 ปัจจัยบวกระยะสั้น ชี้ทิศทางทองคำ
เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลุดระดับ 33 บาท มาเคลื่อนไหวที่บริเวณ 32.91 บาทต่อดอลลาร์เมื่อคำวันที่ 20 ก.ย. ซึ่งเป็นระดับการแข็งค่าสุดในรอบ 20 เดือน นับจากสิ้นเดือนม.ค.2566 ก่อนจะอ่อนค่าลงเล็กน้อย มาเปิดเช้านี้ (24 ก.ย.) ที่ระดับ 32.96 บาทต่อดอลลาร์
การแข็งค่าของเงินบาท ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ระบุว่า เป็นไปตามกลไกตลาดจากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง แต่เงินบาทไทยเคลื่อนไหวผัวนผวนมากกว่าภูมิภาค เพราะมีปัจจัยเฉพาะ จากการที่เงินบาทไทยผูกกับการซื้อขายทองคำมาก
ดร.พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทองคำเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สถานการณ์ซื้อขายทองคำของไทยช่วง 7 เดือนแรกปีนี้พบว่า ปริมาณนำเข้า 102.91 ตันเพิ่มขึ้น 54.29% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และส่งออก 59.29 ตันเพิ่มขึ้น 7.51% จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มธุรกิจทองคำค่อนข้างซบเซาช่วง 2-3ปี การนำเข้าก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
การแข็งค่าของเงินบาทรอบนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทองคำ เพราะถ้าดูจากตัวเลขตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนก.ค. การส่งออกน้อยที่สุดในรอบ 3ปีจากปี 2564 ที่ไทยส่งออกทองคำ 70 ตันและปีนี้เหลือ 59 ตันเท่านั้นเอง
ขณะที่ค่าเงินบาทถึงเดือนกรกฎาคมเคลื่อนไหวที่ประมาณ 36บาท/ดอลลาร์ แนวโน้มไม่น่าจะเกี่ยวข้อง เพราะไทยส่งออกทองคำ 15 ตัน ซึ่งทั้งยอดนำเข้าและส่งออกน้อยมาก การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทน่าจะเป็นไปตามเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ(ฟันด์โฟลว์) โดยจะเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยคึกคักมากขึ้นในครึ่งปีหลัง
ทั้งนี้การซื้อขายทองคำของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องหลังการระบาดของโควิด-19 แต่สถิติก่อนโควิด-19 พบว่า ปริมาณนำเข้าสูง 280 ตัน และส่งออกมีปริมาณ 300 ตัน แต่ปี 2565 ปริมาณนำเข้าเหลือ 201.51 ตัน ส่งออก 123 ตันและปี 2566 ปริมาณนำเข้าเหลือ 128.22 ตันและส่งออกเหลือ 97.07 ตัน
ขณะที่ความต้องการทองคำนั้น กองทุนทองคำ(SPDR) จะเห็นว่า ช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น และอัตราดอกเบี้ยสหรัฐค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่จะเป็นการขายทองคำออก ซึ่งคาดว่า น่าจะถือสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อรับดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับกว่า 5%ต่อปี โดยไม่ต้องเทรด ส่วนฝั่งเอเซีย จะมีจีนและสิงคโปร์ ที่มีแนวโน้มจะเก็บทองคำมากขึ้น แม้ว่าทางการจีนจะหยุดซื้อในเดือนมิถุนายน 2567จนถึงตอนนี้ เพราะราคาทองคำทำจุดสูงสุด โดยทางการจีนยังไม่มีแนวโน้มจะกลับเข้ามาซื้อทองคำ
อย่างไรก็ตาม หลังเฟดปรับลดดอกเบี้ย (18ก.ย.67) เห็นสัญญาณเงินไหลออกมา อย่างกองทุน SPDR ก็เข้าซื้อทองคำ เชื่อว่า น่าจะเป็นแนวโน้มที่ดอกเบี้ยขาลง ทำให้เงินไหลออกจากสกุลเงินดอลลาร์ เข้ามาลงทุนในทองคำ จึงมีส่วน ทำให้ราคาทองคำทำราคาสูงสุดครั้งใหม่อีกที่ 2,632 ดอลลาร์/ออนซ์(23 ก.ย.67) จากสถิติเดิมที่ 2,625 ดอลลาร์/ออนซ์(20ก.ย.67)
สำหรับการเคลื่อนไหวราคาทองคำช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ การซื้อขายทองคำแท่งเดือนม.ค.ประมาณ 33,000 บาท ปรับขึ้นมาเป็น 40,000 บาท (ก.ย.67) โดยทำราคาสูงสุดช่วงเดือนเม.ย.ที่ 42,100 บาทและเดือน ก.ค.ที่ 42,150 บาท หากซื้อได้ในราคาต่ำสุดเดือนม.ค.จะกำไรกว่า 16,000 บาทหรือทำกำไร 50% ส่วน Gold Spot ต่ำสุด 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และสูงสุดที่ 2,632 ดอลลาร์/ออนซ์(23 ก.ย.67) จะสามารถทำกำไรได้ประมาณเกือบ 800 ดอลลาร์
ส่วนแนวโน้มราคาทองคำช่วงที่เหลือ ดร.พิบูลย์ฤทธิ์มองว่า ทิศทางปัจจัยบวกจะมีมากกว่าปัจจับลบ นำโดยแนวโน้มขาลงของอัตราดอกเบี้ยเฟด เพราะช่วงที่เหลือเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งหรือลดลงอีกประมาณ 50 สตางค์ในปีนี้ ซึ่งเมื่อดอกเบี้ยเฟดลดลง สกุลเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งสินทรัพย์อื่นที่อยู่คนละฝั่งกับดอลลาร์ย่อมจะกลับทิศเป็นขาขึ้น รวมถึงราคาทองคำ
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และสงครามยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “ อิสราเอล-ฮามาส”เริ่มขยายวง คือ “อิสราเอล-เลบานอล” ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกในระยะสั้นกับราคาทองคำด้วย และค่าเงินบาทก็มีผลกระทบราคาทองคำแท่งในประเทศ (ถ้าราคา Gold Spot ปรับขึ้น แต่ค่าเงินบาทแข็งค่า ราคาทองคำแท่งในประเทศอาจจะขึ้นได้ตามสัดส่วนไม่ได้ขึ้นตาม Gold Spot)
ส่วนแนวโน้มการลงทุนและการออมในทองคำนั้น เมื่อราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น จำนวนเงินหน้าใหม่ ทั้งนักลงทุนหรือนักออมคงจะลดน้อยลง เพราะต้องใช้เงินเยอะขึ้นต่อน้ำหนักทองคำ 1 บาท ประกอบกับผู้บริโภคเดิมมีทองคำและขายทองออกไปแล้วในราคาถูก แต่ราคาทองแพงขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการทองคำจะลดลงทั่วโลก โดย 3-4ปีให้หลัง คำแนะนำในลักษณะ “ย่อซื้อทองคำ”ในราคาต่ำสุดที่สูงขึ้น ส่วนมากนักลงทุนระยะยาวและนักลงทุนทำกำไรระยะสั้นบางส่วน เพราะคิดว่าราคาทอง 40,000บาท(ต้นๆ) มีโอกาสอัพไซด์ แต่ถ้าเมื่อไรที่ราคาทองคำแท่งไทยเลยระดับสูงสุดใหม่ที่ 42,000 บาท แนวโน้มราคาทองคำน่าจะปรับขึ้นได้อีก ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจ
โฆษณา