29 ต.ค. เวลา 14:00 • กีฬา

ชาบี สไตล์ : แข้งดีเด่น ลา มาเซีย และปรัชญา "จะเล่นฟุตบอลต้องได้ครองบอล" | Main Stand

ในโลกกีฬาหลายชนิดไม่เว้นแม้แต่โลกฟุตบอล มีวลีเด็ดและมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงหลายเคสที่ว่า "เกมรุกเอาไว้ขายตั๋ว แต่เกมรับจะทำให้คุณเป็นแชมป์"
วลีดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่าการเล่นเกมรุกนำมาซึ่งความสนุก แต่ก็แลกมาซึ่งความเสี่ยงที่คุณยากจะรับมือได้ ... ดังนั้นการปลอดภัยไว้ก่อนในแบบที่ "ไม่เสียประตู" คุณก็ไม่แพ้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ทีมระดับแชมป์ในรายการเมเจอร์หลายทัวร์นาเมนต์ต้องเลือกซื้อมันไว้ก่อนเป็นอย่างแรก และมันเป็นแบบนี้ให้เราเห็นมาบ่อย ๆ แต่ไหนแต่ไรแล้ว
เพียงแต่ ชาบี เอร์นานเดซ ไม่เคยเชื่อในสิ่งนั้น … และเขาได้เจอวิธีการเล่นที่ยืนยันว่า เล่นเกมรุกและครองบอลก็สามารถทำให้คุณเป็นแชมป์ในแบบที่โลกต้องซูฮกได้ไม่ต่างกัน
ลา มาเซีย ศูนย์ฝึกที่อยู่ตรงข้ามคำว่า "เกมรับทำให้คุณเป็นแชมป์"
ในโลกกีฬาหลายชนิดไม่เว้นแม้แต่โลกฟุตบอล มีวลีเด็ดและมีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงหลายเคสที่ว่า "เกมรุกเอาไว้ขายตั๋ว แต่เกมรับจะทำให้คุณเป็นแชมป์"
วลีดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่าการเล่นเกมรุกนำมาซึ่งความสนุก แต่ก็แลกมาซึ่งความเสี่ยงที่คุณยากจะรับมือได้ .. ดังนั้นการปลอดภัยไว้ก่อนในแบบที่ "ไม่เสียประตู" คุณก็ไม่แพ้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ทีมระดับแชมป์ในรายการเมเจอร์หลายทัวร์นาเมนต์ต้องเลือกซื้อมันไว้ก่อนเป็นอย่างแรก และมันเป็นแบบนี้ให้เราเห็นมาบ่อย ๆ แต่ไหนแต่ไรแล้ว
ทว่ามีสโมสรที่สร้างปรัชญาขึ้นมาด้วยแนวคิดที่ตรงกันข้าม พวกเขาไม่เล่นเกมรับ และพวกเขาไม่เชื่อว่าการครองบอลไม่ใช่ความเสี่ยง แต่เป็นความปลอดภัย พวกเขาสอนเด็ก ๆ ด้วยแนวคิดนี้มาตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว นั่นคือสโมสร บาร์เซโลน่า และ ศูนย์ฝึกอันเลื่องชื่อของพวกเขาอย่าง ลา มาเซีย
ลา มาเซีย ไม่ได้สร้างแค่นักเตะเก่งมากมาย แต่ยังสร้างนักเตะที่มี DNA ความเป็น บาร์เซโลน่า อย่างเต็มเปี่ยม และ ชาบี เอร์นานเดซ คือหนึ่งในตัวแทนของย่างก้าวสำคัญในการสะท้อนความสำเร็จและอยู่ในยุค บาร์เซโลน่า ครองโลกจนถูกเรียกว่า "ต่างดาว" ซึ่งเบื้องหลังของมนุษย์ต่างดาวทั้งหลายต่างเกิดขึ้นที่ ลา มาเซีย "กระท่อมน้อยปลายนา" กับปรัชญาฟุตบอลที่ยืนค้านคนทั้งโลกนี่แหละ
"ผมเป็นนักเตะที่เข้ามาสู่ ลา มาเซีย ตั้งแต่อายุ 11 ปี ทุกอย่างที่ผมถูกสอนมันฝังหัวผมมาตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ ...ที่ ลา มาเซีย เราไม่เคยถูกเน้นย้ำว่าต้องชนะและเป็นแชมป์ ผลลัพธ์สำคัญก็จริง แต่มันมีเรื่องสำคัญกว่า นั่นคือแนวทางและปรัชญาต่างหาก"
"โลกฟุตบอลพยายามบอกคุณว่า เกมบุกมีไว้ขายตั๋ว และการมีฟุตบอลอยู่กับตัวคือความเสี่ยง ... เราไม่คิดแบบนั้น การครองบอลคือความได้เปรียบต่างหาก มันไม่ใช่เรื่องเสี่ยงเลยหากคุณรู้วิธีจะครอบครองมันอย่างแท้จริง" ชาบี เล่าถึงสิ่งที่เขาถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก
กว่าที่ ลา มาเซีย จะคัดเด็กส่งขึ้นในระดับที่สูงขึ้น ตัวของ ชาบี เองกว่าจะผ่านจุดนั้นมาได้ก็ลากเลือด เพราะเขามีความแปลกอยู่ในแง่ของสมรรถภาพร่างกาย เพราะปกติแล้ว นักเตะตัวเล็กใน ลา มาเซีย จะคล่องแคล่วว่องไว และมีสปีดความเร็วที่สูงเพื่อทดแทนร่างกายที่อาจจะแข็งแรงน้อยกว่าคนตัวใหญ่
เดิมที ชาบี ถูกสร้างเพื่อให้เป็นกองหน้า แต่ปัญหาคือความช้าของเขาที่ทำให้ไม่เหมาะกับตำแหน่งนั้น ซึ่งอันที่จริงมันไม่ใช่ปัญหาใหญ่นัก เพราะนักเตะในวัย 12-16 ปี สามารถลองหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับตัวเองให้ได้ และทีมโค้ช บาร์เซโลน่า จึงเปลี่ยนตำแหน่งให้ ชาบี ย้ายมาเล่นกองกลาง
เมื่อเปลี่ยนตำแหน่ง วิธีการเล่นก็ต้องเปลี่ยนไป ... การเป็นกองกลางของ บาร์เซโลน่า ต้องแบกคุณภาพเกมของทั้งทีมไว้บนบ่า สิ่งสำคัญที่ต้องเพิ่มมามันเหมาะกับเขามากเพราะมันไม่ต้องใช้ความเร็ว แต่มันใช้ความอึดและพละกำลังในการเคลื่อนที่เข้ามาแทนในแง่เชิงสมรรถภาพ
"ผมช้ากว่าเด็กคนอื่นเลยต้องเปลี่ยนมาเล่นในตำแหน่งกองกลาง จากนั้นผมเปลี่ยนแปลงวิธีการเล่นใหม่ และผมเริ่มถูกเรียกว่า ลา มาคิน่า (เครื่องจักร) เพราะตอนนั้นผมเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวตลอดเวลา และในขณะเดียวกันต้องอ่านสถานการณ์รอบตัวไปด้วย"
"มันเป็นเรื่องโชคดีที่พวกเราถูกสอนให้เล่นแบบสามเหลี่ยมกันมาตั้งแต่ยังเด็ก เราเคลื่อนบอลและเคลื่อนตัวอยู่เสมอ ทุกเกมทุกจังหวะคือการเรียนรู้ และผมทำแบบนั้นเสมอ ผมศึกษาจุดแข็งของเพื่อนแต่ละคน คนไหนชอบลูกฟุตบอลแบบไหน และที่สำคัญคือผมเงยหน้าเล่นเสมอเพื่อจะมั่นใจได้ว่าเห็นทุกสิ่งรอบตัวแบบครบด้าน" ชาบี กล่าว
วิธีการเล่นแบบนี้ทำให้เขาถูกโปรโมตขึ้นชุดใหญ่ในยุคที่ของ หลุยส์ ฟาน กัล เป็นกุนซือ ... กุนซือชาวดัตช์รายนี้ชอบที่จะให้โอกาสดาวรุ่ง และผลผลิตจาก ลา มาเซีย ในแดนกลางอย่าง ชาบี ก็พร้อมแล้วที่จะเล่นในเวทีใหญ่แบบไม่จำกัดอายุ
กว่าจะเก่งแบบ ชาบี
หากใครติดตามบาร์เซโลน่าในช่วงปลายยุค 1990s จะพบว่าพวกเขาเป็นบอลสายบุกที่ดูสนุก แต่ปัญหาหลักคือพวกเขาขาดความสมดุล เมื่อเสียบอล พวกเขาก็มีโอกาสเสียประตูสูงเช่นกัน อีกทั้งการเล่นของทีม มักจะถูกแบกด้วยนักเตะที่มีพรสวรรค์สูงในเกมรุก
อย่างในยุคที่ ชาบี ขึ้นมาใหม่ หน้าที่การสร้างสรรค์เกมตกเป็นของ ริวัลโด้ ยอดแข้งชาวบราซิลคอยผสานงานกับตัวริมเส้นอย่าง หลุยส์ ฟิโก้ และ หลุยส์ เอ็นริเก้ ตัวจบสกอร์เป็นกองหน้าตัวใหญ่และแข็งแรงอย่าง พาทริก ไคลต์เวิร์ต มันทำให้กองกลางต้องแบกภาระเกมรับเยอะหน่อย ซึ่งกัปตันทีมในชุดนั้นอย่าง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ก็พยายามที่จะทำให้เกมมันสมดุลขึ้นในการเชื่อมบอลจากหลังไปหน้าตามปรัชญาของสโมสร เพียงแต่ว่ามันยังไม่มากพอที่จะทำให้ทีมลงตัวแบบไร้คู่ต่อสู้ได้
ชาบี เองเล่าว่า เขาขึ้นมาและเป็นตัวสำรองในตอนแรก เขาใส่เสื้อหมายเลข 26 และใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดูวิธีการเล่นของ เป๊ป เป็นหลัก ไม่ใช่แค่วิธีการมองเกม แต่ความพยายามที่เขาจะเล่นเพื่อให้ทีมมีสมดุลทั้งรุกและรับ ที่สำคัญคือทำให้ทีมเป็นฝ่ายครองบอลตลอดเวลาตามปรัชญาของ บาร์เซโลน่า ที่แท้จริง
"ผมรักเป๊ปเหมือนพี่ชายเลย รักทุกอย่างที่เขาทำในสนาม ผมไม่รู้ว่าตัวเองถูกคาดหวังไว้ขนาดไหนจากคนอื่น แต่ที่แน่ ๆ สิ่งที่ผมพยายามจะเป็นให้ได้ในช่วงดาวรุ่งคือการเล่นแบบ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า" ชาบี เล่าย้อนไปสมัยยังเด็ก
ชาบี พยายามจะทำแบบที่บอก แต่ในยุคแรก ๆ นั้นเขาไม่ดีพอ มีข่าวลือว่าเขาเคยเกือบที่จะได้ย้ายไปเล่นให้กับ เอซี มิลานแล้วเพราะพ่อของเขามองว่า ชาบี ยากจะเบียดนักเตะสตาร์ในทีมบาร์ซ่าชุดใหญ่ได้
โชคดีที่เรื่องนี้มันมีแม่ของเขาเข้ามาเกี่ยวด้วย แม่ของ ชาบี อาจจะไม่รู้เรื่องฟุตบอลมากนัก แต่เธอรู้ว่าลูกชายเธอต้องการอะไร และมีดีแค่ไหน เธอยื่นคำขาดว่า ชาบี จะต้องอยู่ที่ บาร์เซโลน่า และสู้ในแนวทางของตัวเองต่อโดยไม่ย้ายไปไหน ... เธอถึงขั้นขู่ว่าจะหย่าหากสามีของเธอยังยืนยันจะพา ชาบี ย้ายออกไปจาก บาร์เซโลน่า เลยทีเดียว
เธอคิดถูก และ ชาบี ก็พัฒนาตัวเองในแนวทางการเล่นแบบบาร์เซโลน่าขึ้นมา ความจริงที่ต้องยอมรับคือศักยภาพการเป็นกองกลางระดับผู้บัญชาเกมที่ซ่อนอยู่ในตัวของเขา มากเสียยิ่งกว่าที่ไอดอลของเขามีด้วยซ้ำ และ ฟาน กัล เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ณ จุดนั้น เขาเริ่มใช้งาน ชาบี มากขึ้นในวันที่ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เริ่มมีอาการบาดเจ็บรบกวน เริ่มแพ้แก่สังขาร
จนกระทั่งในปี 1999 เขาเป็นส่วนหนึ่งในการพา บาร์ซ่า คว้าแชมป์ ลา ลีกา พร้อมคว้ารางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมของลีกสเปนมาครองอีกด้วย ... นาทีนั้นทุกคนรู้แล้วว่า บาร์เซโลน่า ขาด ชาบี ไม่ได้ และเขาจะเป็นแกนของทีมในอนาคตระยะยาว มีคำกล่าวของ โยฮัน ครัฟฟ์ ถึง ชาบี ในช่วงที่ยึดตัวหลักของ บาร์ซ่า ในยุคแรก ๆ ว่า
"ถ้าวันไหน ชาบี เล่นไม่ดี คุณไม่มีทางจะเห็น บาร์เซโลน่า เล่นดีได้ เขาคือคนกำหนดจังหวะของเกม การเล่นของเขาคือฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ทำให้เครื่องจักรอย่างบาร์เซโลน่าเดินไปข้างหน้าได้" ครัฟฟ์ ว่าแบบนั้น
และไม่นานหลังมีการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย ริวัลโด้ ฟิโก้ และอีกหลาย ๆ คนเริ่มย้ายออกไป ในขณะเดียวกัน ชาบี ก็ก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักในทีมชุดใหญ่ ซึ่งเขาเริ่มถูกใช้งานแบบเต็มประสิทธิภาพขึ้นในยุคของกุนซือ แฟรงค์ ไรจ์การ์ด ที่การันตีด้วยแชมป์ลีกและแชมป์ยุโรป เพียงแต่ว่าสปอตไลท์ตอนนั้นยังส่องไปที่ โรนัลดินโญ่ และ ซามูเอล เอโต้ ที่เป็นคนเล่นเกมรุกเสียส่วนใหญ่
เรื่องมันมาเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ในวันที่ โรนัลดินโญ่ เริ่มอายุมากขึ้นและเล่นได้ไม่โดดเด่นเหมือนเดิม ฟอร์มของ บาร์ซ่า ก็ตกไปด้วย จนกระทั่งมาถึงการเปลี่ยนยุคสมัยครั้งสำคัญของบาร์เซโลน่า หรือแม้กระทั่งโลกฟุตบอลเลยด้วยซ้ำ ไรจ์การ์ด ออกจากตำแหน่ง และไอดอลของ ชาบี อย่าง เป๊ป ถูกเรียกตัวขึ้นมาคุมทีมชุดใหญ่ และอย่างที่เรารู้กัน ความเป็นต่างดาวเกิดขึ้นจากตรงนั้น
กองกลางที่แสงไฟส่องถึง
แนวทางการเล่นของ บาร์เซโลน่า ในยุค เป๊ป กวาร์ดิโอล่า เปลี่ยนแปลงไปอีกขั้น และถือเป็นการเล่นในอุดมคติที่สโมสรแห่งนี้อยากให้เป็นมาเสมอ ฟุตบอลที่เน้นการครองบอลอย่างแท้จริง ชนิดที่ว่าเป็นต้นตำรับ ... ถ้า ชาบี ครองเกมได้เมื่อไหร่ บาร์เซโลน่า ก็จะต่อบอลไปทั่วสนามและทำให้คู่แข่งหาบอลไม่เจอ จนพลาดและท้อไปเอง
"การหาพื้นที่ในการเล่นในยุคที่ เป๊ป เปลี่ยนไป เขาสอนว่าการเคลื่อนที่ตอนไม่มีบอลสำคัญที่สุด มันจะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในยุคของเขา หลายครั้งเวลาที่เขาเริ่มโบกไม้โบกมือออกแอ็คชั่นที่ข้างสนาม มันแปลว่าเขาเห็นช่องแล้ว และเตือนให้นักเตะในสนามทราบว่าพื้นที่ว่างอยู่ตรงไหน"
"เมื่อทุกคนเห็นเราจะเข้าใจทันทีว่า เราจะโจมตีตรงนั้น เราจะหาวิธีการบดขยี้พวกเขาด้วยสถานการณ์การดวลที่เรามีนักเตะมากกว่า เราจะเริ่มเพิ่มสปีดตั้งแต่ตรงนั้น ตอนที่เราอยู่ในสถานการณ์ 3 ต่อ 2 ... เราเข้าทำทันที เป๊ป มักจะบอกว่านี่แหละคือเกม นี่คือเกมของของพวกเรา" ชาบี กล่าว
เมื่อทุกคนวิ่งหาพื้นที่กันอย่างถูกที่และมีแนวคิดในการผ่านบอลเพื่อเอาชนะไม่ใช่การตะลุยใส่ดื้อ ๆ เมื่อนั้น ชาบี ก็กลายเป็นคนที่โดดเด่นขึ้นจนสปอตไลท์ส่องถึง กองกลางที่หูตาเป็นสับปะรด เห็นทั้งเกมด้วยวิชั่นที่กว้างไกล น้ำหนักบอลจากเท้าที่พอดิบพอดีและแม่นยำ ทำให้ บาร์เซโลน่า ครองบอลระดับ 70% อยู่บ่อย ๆ บางครั้งพวกเขาครองเกม 80% เลยก็ยังมี
ถามว่านั่นคือเรื่องใหม่สำหรับชาบีหรือไม่ ? คำตอบคือไม่เลย วิธีการเล่นแบบนี้ฝังหัวสมองของเขามาตั้งแต่รู้จักฟุตบอลแล้ว เพียงแต่ความพร้อมของเพื่อนรอบตัวที่มีพร้อมทั้งความสามารถส่วนตัวและความเข้าใจในการเล่นเป็นทีม มันเลยทำให้เป็นกระจกสะท้อนไปถึงคนที่ควบคุมจังหวะของเกมอย่าง ชาบี ว่าสำคัญกับ บาร์เซโลน่า ชัดนั้นขนาดไหน
"มันไม่มีอะไรแปลกใหม่เลย เพราะผมสอนให้รู้จักการเล่นอย่างชาญฉลาด ทำเรื่องง่าย ๆ ให้ผิดพลาดน้อยที่สุด เช่นการส่งบอลไปทางขวาของผู้เล่นที่ถนัดขวาหรือทางซ้ายของผู้เล่นที่ชอบใช้เท้าซ้าย ก่อนจะได้บอล คุณต้องรู้ว่าจะทำอะไรกับบอล ... เราทำแบบนี้ได้เพราะพวกเราเชื่อในแนวทางเดียวกัน และผมเชื่อก็เชื่อมั่นในตัวเป๊ป เขาเป็นคนที่ทุ่มเท พิถีพิถัน และกระตือรือร้น เขามีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในความเชื่อของตัวเอง และมีความสามารถที่จะถ่ายทอดพลังทั้งหมดนั้นมาให้คุณ"
"มันเป็นอะไรที่ลงล็อก และพวกเราก็คือทำให้ได้เหมือนในตอนซ้อม เพราะการซ้อมแต่ละครั้งมีอะไรใหม่ ๆ ให้เรียนรู้ตลอด เราจึงไม่มีใครไล่ตามทัน เช่นเขาวาง ลิโอเนล เมสซี่ เป็นกองหน้าตัวหลอก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เราสามารถเจอสถานการณ์แบบ 3 ต่อ 2 ได้มากขึ้น" ชาบี เล่าเบื้องหลังที่เรียบง่ายแต่ทำยากในยุค บาร์เซโลน่า เป็นทีมจากต่างดาว และถูกยกให้เป็นทีมที่ไร้เทียมทานที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอล
แน่นอนว่าวิธีการเล่นแบบ ชาบี ถูกยกกลายเป็นมาเป็นตัวอย่างของนักฟุตบอลรุ่นหลัง แนวทางการเล่นของคนตัวเล็กที่ไม่จำเป็นต้องแข็งแรงและวิ่งเร็ว เพียงแต่คุณต้องเห็นเกมรอบตัว และมองสถานการณ์ให้ขาด บวกกับเข้าใจธรรมชาติของเพื่อนร่วมทีม ... การเล่นง่าย ๆ แต่ได้ประสิทธิภาพแบบนี้ติดตัว ชาบี ตั้งแต่วันแรกที่เขารู้จักฟุตบอล จนถึงวันที่เขากลายเป็นโค้ชจนทุกวันนี้
"แนวคิดของผมก็คล้าย ๆ กันกับ กวาร์ดิโอล่า ผมก็ต้องการครองบอลเช่นกัน ผมต้องการครองบอลอย่างแข็งแกร่ง เคลื่อนไหวเกมรุกอย่างเต็มที่ ... สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการลงมือทำมันตั้งแต่ก่อนเกมจะเริ่ม ที่เหลือขึ้นอยู่กับว่าคุณจะแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดีขนาดไหน" ชาบี กล่าวทิ้งท้าย
และฟุตบอลของเขาจะคงอยู่ต่อไป ตราบใดที่เขาได้ยังทำหน้าที่เฮดโค้ชของทีมใดสักทีมบนโลกนี้
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
โฆษณา