6 พ.ย. เวลา 03:30 • กีฬา

ทั้ง "รุด" และคนอื่น ๆ : ทำไมบอลเปลี่ยนโค้ชจึงมักดีเหลือเชื่อในแวบแรก ? | Main Stand

แมนฯ ยูไนเต็ด ตั้ง รุด ฟาน นิสเตลรอย เป็นโค้ชใหญ่หลังปลด เอริค เทน ฮาก ได้แค่ 2 วัน แต่ทีมปีศาจแดงที่ลงสนามกลับเล่นออกมาได้ดุดันจนแฟนบอลของพวกเขาต้องขยี้ตา
ทุกคนรู้จักคำว่า "บอลเปลี่ยนโค้ช” เป็นอย่างดี แต่สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องฟลุกและมีเหตุผลดีรอง ๆ รับมากมาย
ทำไมโค้ชตัวแทนมักจะทำผลงานสุดโหดในช่วงแรกกันแทบทั้งนั้น ? หาคำตอบกับ Main Stand
1
นกเปลี่ยนฟ้า ปลาเปลี่ยนน้ำ
ประการแรก สิ่งที่แน่ชัดที่สุดว่าทำไมการเปลี่ยนโค้ชใหม่ ทีมมักจะดีขึ้นทันทีในช่วงแรก ๆ ราวกับเป็นคนละทีมกับเมื่อไม่กี่วันก่อนก็คือ "มันไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่านี้แล้ว"
น้อยมาก ๆ ที่สโมสร สโมสรหนึ่งจะเปลี่ยนเฮดโค้ชที่เปรียบเหมือนแม่ทัพในเวลาที่ทีมกำลังเล่นได้ และกว่าที่แต่ละทีมจะเปลี่ยนโค้ชแต่ละครั้งก็ต้องรอให้ฟางเส้นสุดท้ายขาดลง อธิบายง่าย ๆ ก็คือไม่มีอนาคตอีกต่อไปแล้วในมือโค้ชคนเก่า ไม่ว่าจะเรื่องผลงานในสนาม ผลการแข่งขัน หรือแม้แต่การจัดการบริหารนักเตะในทีม ... กราฟทุกอย่างจะลงไปยังจุดต่ำสุด และเมื่อถึงจุดนั้นการเปลี่ยนแปลงก็จะมาถึง
1
และมันง่ายดายมากที่จะบอกว่าทุกการเปลี่ยนแปลงมักจะมาพร้อมกับความตื่นเต้นเสมอ บรรยากาศใหม่ ๆ จะเข้ามาแทนที่ความหดหู่ที่จากไป ... แม้เราจะไม่รู้ว่าบรรยากาศใหม่ที่เข้ามาแทนที่นั้นจะดีกว่าเก่าหรือไม่ก็ตาม
ไมเคิล โอเว่น เคยอธิบายถึงสิ่งที่เขาเคยสัมผัสมาสมัยเป็นนักเตะ โดยเริ่มบอกตั้งแต่บรรยากาศแย่ ๆ ก่อนการเปลี่ยนโค้ช ไปจนถึงการเข้ามาของโค้ชคนใหม่ว่ามันส่งผลมาก ๆ ต่อนักเตะในทีม ชนิดที่ว่านักเตะบางคนรู้สึกเหมือนเกิดใหม่เลยทีเดียว
"เรื่องของการเปลี่ยนโค้ชมันเป็นอะไรที่โคตรจะง่ายเลย หลัก ๆ คือถ้าทีมคุณยังชนะ คุณจะเล่นฟุตบอลอย่างมีความสุข คุณจะเห็นด้วยกับสิ่งที่โค้ชของคุณสั่ง มันเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้วที่คุณจะไร้ข้อสงสัยตราบใดที่คุณยังได้ผลการแข่งขัน แต่ถ้าสถานการณ์มันกลับกันล่ะ?"
"ถ้าทีมคุณไม่ชนะมานาน ความคลางแคลงใจและความวิตกกังวลจะเกิดขึ้น ในห้องแต่งตัวจะเกิดบรรยากาศที่ไม่ปกติจนคุณรู้สึกได้ จนกระทั่งอาจจะมีคนหนึ่งในทีมโพล่งออกมาว่า 'เจ้านายของเรากำลังทำอะไรอยู่ ?' 'ทำไมส่งหมอนั่นลงสนาม ?' 'ทำไมเอาแต่เล่นด้วยแท็คติกแบบนี้ ?' และเมื่อนักเตะสูญเสียความเคารพที่มีต่อผู้จัดการทีมไป สถานการณ์มันก็จะเริ่มเขม็งเกลียวขึ้นทันทีเลยล่ะ"
2
"และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง ความเขม็งเกลียวก็จากไปพร้อมกับเจ้านายเก่า นักเตะจะเริ่มรู้สึกสดชื่นถึงการเปลี่ยนแปลง พวกเขาจะได้เจอวิธีคิดใหม่ ๆ ความสดชื่นของการเปลี่ยนแปลงนี้แหละ ที่ส่งผลให้พวกเขากระฉับกระเฉง รู้สึกอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยให้บรรกาศดี ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้คงอยู่ต่อไปให้นานที่สุด"
สิ่งที่ โอเว่น อธิบายมาแทบจะอธิบายถึงเหตุการณ์ที่ เอริค เทน ฮาก ถูกปลดจากการคุมทีม แมนฯ ยูไนเต็ด จริง ๆ ภายใต้ข่าวซุบซิบที่เผยขึ้นมาภายหลังว่านักเตะและทีมงานบางคนไม่เห็นด้วยกับวิธีการของ เทน ฮาก บ้างก็บอกว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลงความเห็นกับบอร์ดบริหารให้ปลดเจ้านายของตัวเองอีกด้วย ... พวกเขาทนกับบรรยากาศเดิม ๆ ไม่ไหว และอยากจะได้การเปลี่ยนแปลง และเมื่อมาถึงวันนั้น รุด ฟาน นิสเตลรอย ก็ทำทีมให้ดีขึ้นแบบเป็นคนละทีม
การชนะ เลสเตอร์ ซิตี้ 5-2 นำมาซึ่งสิ่งที่แฟนบอลปีศาจแดงไม่ได้เห็นมานาน การเล่นที่ดุดัน การต่อบอลที่น้อยจังหวะและแม่นยำ ไปจนถึงการจบสกอร์ที่เฉียบขาด จากแต่ก่อนที่บางเกมต่อให้เล่นทั้งวันก็ไม่น่าจะยิงได้ กลายเป็นทีมที่มีโอกาสง้างยิงแทบจะทุกครั้งที่ตั้งเกมบุก แถมยังยิงเป็นเข้าอีกด้วย
และนอกจากเรื่องของบรรยากาศที่เปลี่ยนไปแล้ว มันยังมีเรื่องของปากท้องและความมั่นคงทางอาชีพของนักเตะในทีมเกิดขึ้นด้วย เพราะทุกคนก็แบกความกดดันเอาไว้ไม่น่อยกว่าเจ้านายเก่าของพวกเขา
พิสูจน์ว่าคุณคิดผิด
ยกกรณีของ แมนฯ ยูไนเต็ด มาคุยแบบง่าย ๆ อีกครั้ง แน่นอนว่าความย่ำแย่ในยุคของ เทน ฮาก ที่เกิดขึ้น คำวิจารณ์ที่มีมันไม่ได้มีถึง เทน ฮาก คนเดียวเท่านั้น นักเตะหลายคนของ ยูไนเต็ด ก็ถูกมองว่าควรจะรับผิดชอบความล้มเหลวที่เกิดขึ้นไม่แพ้กัน
คาเซมิโร่ ถูกมองว่าหมดแล้ว แก่เกินแกง, บรูโน่ แฟร์นันด์ส ถูกมองว่าเล่นเอาแต่ใจ ขี้ยัวะ จนเสียคุณภาพเกมทั้งหมด, มาร์คัส แรชฟอร์ด ถูกมองว่าหมดใจและเล่นเหมือนกับเล่นไล่โค้ช ... และอีกหลากหลายคนที่โดนคำวิจารณ์ไม่ต่างกัน
คนที่โจมตีนักเตะเหล่านี้ไม่ใช่แค่แฟนบอลเท่านั้น แม้แต่ตำนานของทีมอย่างรอย คีน ที่เป็นคู่กัดของ เทน ฮาก ก็ยังออกมาโพสต์โซเชี่ยลในเชิงที่ว่าเรื่องนี้ เทน ฮาก ไม่ได้ผิดคนเดียว นักเตะของ ยูไนเต็ด ก็ผิดด้วยกันทั้งนั้น โดยข้อความของเขามีอยู่ว่า
"ทีมที่ดี โค้ชจะเป็นคนรับผิดชอบนักเตะ ส่วนทีมที่ยอดเยี่ยม นักเตะจะรับผิดชอบตัวนักเตะเอง"
ข้อความนี้ชัดมากว่าเขากำลังจะชี้ไปถึงรุ่นน้องทุกคนว่า ห้ามทำตัวเป็นเหยื่อเด็ดขาด พวกเขาต้องรับผิดชอบตัวเองด้วย หากอยากจะอยู่ในทีมที่ยอดเยี่ยม
1
กลับกัน ผลงานในเกมกับ เลสเตอร์ นักเตะที่เอ่ยชื่อมากทั้งหมดเล่นกันเหมือนเกิดใหม่ คาเซมิโร่ ถูกแฟนบอลบอกว่าเป็น "ร่างทอง", บรูโน่ ยิง 2 ประตู และแรชฟอร์ด เล่นเป็นจังหวะจะโคนอย่างที่ไม่เคยเล่นมาก่อน โดยรวมทุกคนทำได้ดีเหลือเชื่อ
พวกเขาไม่ใช่แค่รู้สึกสดชื่นแน่นอนจึงออกมาเล่นดีเป็นคนละคนแบบนี้ มันเป็นการพยายามลบล้างมลทิน ที่มีหลายคนบอกว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญของเรื่องนี้
และสิ่งที่จะทำให้ทุกคนเชื่อได้ดีที่สุด ไม่ใช่การโพสต์ภาพหล่อ ๆ ข้อความคม ๆ ลงอินสตาแกรมแน่นอน ผลงานในสนามเท่านั้นที่จะช่วยพวกเขาจากเรื่องเหล่านี้ได้ และนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่าทุกชื่อที่กล่าวมา เล่นในฟอร์มที่แฟนบอลไม่เคยเห็นมานาน
ไม่ใช่แค่กรณีของ แมนฯ ยูไนเต็ด เท่านั้น เชลซี ก็เป็นอีกทีมที่เปลี่ยนโค้ชแล้วดีในทันทีแบบเป็นคนละทีม ปี 2012 พวกเขาไล่ อังเดร วิลลาส โบอาส ออก แต่งตั้ง โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ เข้ามาแทนที่ในเดือนมีนาคม และ 2 เดือนจากนั้นพวกเขากลายเป็นแชมป์ยุโรป และในปี 2021 พวกเขานำ โธมัส ทูเคิล เข้ามาแทน แฟรงค์ แลมพาร์ด ในเดือนมกราคม และจากนั้นนักเตะหลายคนก็เล่นได้อย่างยอดเยี่ยม จนคว้าแชมป์ยุโรปสมัยที่ 2 ของทีมอย่างคู่ควรได้รับคำชม
นักเตะเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักเตะซีเนียร์ของทีมแทบทั้งสิ้น วันใดก็ตามที่พวกเขาเล่นอย่างเต็มที่และทุ่มกันสุดตัว บรรยากาศรอบตัวและนักเตะคนอื่น ๆ ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย พาให้ภาพรวมของทีมดีกลับตาลปัตรอย่างไม่น่าเชื่อ
1
แต่ทุกอย่างวัดกันที่ระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ทุกคนรู้ดีว่าความยอดเยี่ยมหลังเปลี่ยนโค้ชในช่วงแรกมันจะไม่คงอยู่ตลอดไป เพราะไม่ใช่แค่นักเตะเท่านั้นที่กระหายอยากพิสูจน์ตัวเอง และแสดงความสามารถให้โค้ชเห็นเพื่อให้อาชีพของพวกเขาได้เดินหน้าอย่างรุ่งโรจน์ต่อไป เพราะช่วงโปรโมชั่น เหล่าโค้ชทั้งหลายก็ทำเพื่ออาชีพของตัวเองเช่นกัน โดยเฉพาะโค้ชชั่วคราวอย่างที่เป็นบทบาทปัจจุบันของ รุด ฟาน นิสเตลรอย
การเป็นโค้ชชั่วคราวหมายถึงว่างานของคุณจะไม่ใช่งานที่ต้องพะวงถึงอนาคต ปีหน้าจะวางแผนอย่างไร ซัมเมอร์หน้าจะซื้อคนไหน ซีซั่นหน้าตั้งเป้าไว้อย่างไรกับคุณภาพทีมที่มี ... สิ่งเหล่านี้คุณไม่ต้องปวดหัวคิดถึงเลยด้วยซ้ำ เพราะคุณมีหน้าที่แค่ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดก็พอ
และงานแนวแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบนี้ ไม่จำเป็นจะต้องโชว์อำนาจบาตรใหญ่มากมายนัก คุณรวบรวมทีมให้เป็นหนึ่ง ทำให้นักเตะสบายใจที่จะลงเล่น และจัดทีมที่ดีที่สุดลงสนามเพื่อผลการแข่งขันเท่านั้น เหมือนกับที่ ยูไนเต็ด จัดเต็มชุดใหญ่ในเกมถล่ม เลสเตอร์ ทั้ง ๆ ที่เป็นฟุตบอลถ้วยเล็กอย่าง คาราบาว คัพ และสุดสัปดาห์พวกเขายังต้องเจอกับ เชลซี ในเกมลีกที่เป็นโปรแกรมสำคัญมาก ๆ อีกด้วย
หลังเกมจบ รุด ทำหน้าที่มอบคำชมให้กับลูกทีมที่ทุกคนที่กำลังต้องการกำลังใจ เขาพูดถึง คาเซมิโร่ ว่าเป็นคนสำคัญของทีม เขาพูดถึง บรูโน่ ว่าเขาไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถและความทุ่มเทของตัวนักเตะ และสุดท้ายเขาบอกว่า กุญแจสำคัญในเกมนี้คือการบอกให้นักเตะลงไปเล่นด้วยความสนุกอีกครั้งให้เต็มที่ ... เขาไม่พูดถึงแท็คติก ความเข้มข้นของเกม หรือการเพรสซิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น
หน้าที่รวมทีมให้เป็นหนึ่ง ทำให้นักเตะมีความสุข ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของมวยแทน โดยเฉพาะโค้ชมวยแทนในทีมใหญ่ ๆ ที่นักเตะมีคุณภาพดีอยู่แล้วอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด หรือกระทั่งกับ เชลซี ซึ่งเป็นทีมที่ได้แชมป์ยุโรป 2 หน จากการเปลี่ยนโค้ชระหว่างซีซั่น โดยในครั้งแรกในยุค ดิ มัตเตโอ ที่เข้ามาแทน วิลลาส โบอาส ผู้แพ้เกมการเมืองกับนักเตะซีเนียร์ในทีมนั้น จอห์น โอบี มิเกล ยังออกมาเปิดเผยว่า สิ่งที่เปลี่ยนทีมให้ดีขึ้นทันตาคือวิธีที่โค้ชปฏิบัติต่อนักเตะ
"โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ เข้ามาเล่นเกมการเมืองนี้แทนที่ โบอาส และเขาเลือกจะเล่นในทิศทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เขาและ เอ็ดดี้ นิวตัน (โค้ช) โอบกอดผู้เล่นและพาพวกเขากลับเข้าฝั่ง เราเล่นด้วยความสนุกและมั่นใจอีกครั้ง ... ปีนั้นพวกเราคือแชมป์ยุโรป"
อย่างไรก็ตามเมื่องานระยะสั้นผ่านไป งานยากที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น เพราะทุกคนจะเริ่มกลับไปมองที่อนาคต หรือการทำทีมในระยะยาวอีกครั้ง ซึ่งการทำทีมระยะยาว คุณไม่สามารถมีแค่การได้ใจนักเตะ หรือการเป็นคนใจดี สร้างบรรยากาศดี ๆ ภายในห้องแต่งตัวเท่านั้น
มันคือความเข้มข้นในระดับที่แตกต่างกันมากสำหรับการทำทีมในระยะยาว มันมีทั้งเรื่องของแท็คติก การทำการบ้านให้ทีมตัวเองและทำการบ้านรับมือคู่แข่งที่กำลังต้องเจอ การบริหารจัดการขุมกำลังให้พร้อมสำหรับการแข่งขันแบบ 2 เกมต่อ 1 สัปดาห์ และการทำให้ทุกคนพอใจสำหรับโอกาสการลงสนาม ... ทั้งหมดนี้เป็นงานที่ต้องเป็นโค้ชที่เก่งจริง ๆ มีความเชี่ยวชาญรอบด้านเท่าน้นที่จะจัดการมันออกมาได้เป็นอย่างดี
งานระยะยาวคืองานคัดคนชั้นดี เพราะมันจะทำให้เห็นว่าโค้ชคนไหนเก่งจริงหรือไม่เก่งจริงกันแน่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา เคยถูกยกเป็นพระเจ้าตอนที่เขาเข้ามาเป็นมวยแทน โชเซ่ มูรินโญ่ แต่เมื่อได้สัญญาจริง สิ่งที่เกิดขึ้นแตกต่างจากตอนเป็นกุนซือชั่วคราว ราวกับทุกสิ่งที่ผ่านมาเป็นแค่ภาพลวงตา
ราล์ฟ รังนิก เคยสร้างความฮือฮาตอนเข้ามาเป็นมวยแทน โซลชา ด้วยการพานักเตะผีแดงขยันเพรสซิ่งวิ่งกันอย่างบ้าเลือดจนได้คำชมมากมายในเกมแรกที่คุมทีมลงสนาม ... จากนั้นเขาเองก็ออกมาพูดว่าทีมชุดเดียวกันนี้แหละมีจุดอ่อนมากมาย ถ้าเปรียบกับการเป็นคนไข้ ก็ถือเป็นคนไข้ระดับที่ต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเท่านั้น
โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ กุนซือโนเนมกลายเป็นโค้ชคนแรกในประวัติศาสตร์สโมสร เชลซี ที่พาทีมคว้าแชมป์ยุโรปถ้วยใหญ่ ... และหลังจากได้สัญญาระยะยาวเขาทำทีมแย่ลงแบบทันตาเห็นและโดนไล่ออกในไม่กี่เกมหลังซีซั่นใหม่เริ่มขึ้น
จะเห็นได้ว่าความเก่งกาจที่เกิดขึ้นในทันตา และการเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือนี้ ถือเป็นแค่ฉากเริ่มต้นเท่านั้น ถ้าเป็นซีรี่ส์ใน Netflix ก็ต้องบอกว่าเป็นซีรี่ส์ที่ฉาย Trailer ได้มันเร้าใจทำคนอยากดูเรื่องเต็ม ... แต่พอตอนที่ซีรี่ส์เต็มเรื่องมาถึง กลับน่าเบื่อในแบบที่เรียกว่า "โดนหน้าหนังหลอก" ก็คงไม่ผิดนัก
แต่ก็ใช่ว่าการเปลี่ยนโค้ชจะดีแค่ช่วงต้น ๆ เสมอไป 100% เพราะโค้ชที่เก่งจริง ๆ ที่เข้ามาทำทีมระหว่างซีซั่นและทำภารกิจกู้สถานการณ์จากคนเก่าที่เห็นได้ชัดและเป็นตัวอย่างได้ดีที่สุดคือ เยอร์เก้น คล็อปป์ ตำนานยอดโค้ชของ ลิเวอร์พูล ที่เปลี่ยนให้ทีมหงส์แดง ค่อย ๆ ดีขึ้นทีละนิด ๆ จนสุดท้ายกลายเป็นทีมที่ดีที่สุดในยุโรปทีมหนึ่งไปยาว ๆ เป็นตัวอย่างของเรื่องนี้ได้อย่างดี
ที่สุดแล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น รุด ฟาน นิสเตลรอย ก็ได้เครดิตและคำชมมากมาย และทำให้อาชีพของเขาบนเส้นทางโค้ชดูจะสดใส ... สิ่งที่เขาทำอาจจะเป็นภาพลวงตาในระยะยาว แต่อย่าลืมว่ามันไม่ใช่เรื่องฟลุกแน่นอน เพราะทีมปีศาจแดงในยุคสั้น ๆ ของเขานี้ กลายเป็นทีมที่แฟนบอลหลายคนพูดเต็มปากว่า "นี่คือฟุตบอลที่พวกเขาอยากดู" อย่างแท้จริง
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
โฆษณา