Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MONEY LAB
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
28 พ.ย. เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
อธิบาย โภควิภาค 4 หลักการบริหารเงิน แบบพุทธะ
อย่างที่เราคงพอทราบกันมาบ้างว่า หลักการบริหารเงินในปัจจุบันนี้มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น หลักการอย่าง ถัง 3 ใบ, โหล 6 ใบ หรือสูตร 50-30-20
แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีหลักการบริหารเงินอีกแบบหนึ่ง ที่มีมานานกว่า 2,500 ปี และผู้ที่สั่งสอนหลักการนี้ก็คือ “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” นั่นเอง
ซึ่งหลักการที่เรากำลังพูดถึงก็คือ “โภควิภาค 4” นั่นเอง
หากสงสัยว่าโภควิภาค 4 คืออะไร และมีวิธีนำไปปรับใช้กับชีวิตของเราได้อย่างไร ?
MONEY LAB จะย่อยเรื่องการเงิน การลงทุน ให้เข้าใจง่าย ๆ
โภควิภาค 4 คือ วิธีการที่เราจะแบ่งรายได้ที่เราได้รับ ออกมาเป็น 4 ส่วน และนำไปใช้ เพื่อจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ดังนี้
- 1 ส่วนแรก หรือคิดเป็น 25% ไว้ใช้จ่ายเพื่อความจำเป็น
เมื่อเราได้รับเงินเดือนมาแล้ว ในก้อนแรกให้เราแบ่งเงินไว้เป็นสัดส่วน 25% ของเงินเดือน
เพื่อไว้ใช้จ่ายกับสิ่งที่จำเป็น สำหรับของตัวเราเองและครอบครัว เช่น ซื้ออาหาร ซื้อเสื้อผ้า และการเช่าหรือซื้อที่อยู่อาศัย
หลังจากจ่ายเพื่อซื้อหาสิ่งที่จำเป็นไปแล้ว หากเงินในส่วนนี้เราใช้ไม่หมด พระพุทธเจ้าก็แนะนำว่า ให้เรานำเงินส่วนที่เหลือนี้ ไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
- 2 ส่วน หรือคิดเป็น 50% ไว้ใช้เพื่อลงทุนต่อยอดความมั่งคั่ง
ต่อมาก็คือ การแบ่งเงิน 50% ของเงินเดือน เพื่อนำไปลงทุนต่อยอด ให้เงินงอกเงย
เงินในส่วนนี้ บางคนก็อาจจะเลือกนำเงินไปลงทุนทำธุรกิจของตัวเอง
แต่สำหรับคนที่ไม่อยากเหนื่อย เพราะต้องมารับผิดชอบดูแลธุรกิจ ก็สามารถนำเงินไปซื้อหุ้นของบริษัทที่มีธุรกิจที่น่าสนใจ หรือซื้อกองทุนที่รวมบริษัทดี ๆ เอาไว้ก็ได้
ถึงอย่างนั้นก็ตาม การลงทุนในหุ้น ก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูง แถมมีความผันผวนมากด้วย คนที่รับความเสี่ยงได้น้อย อาจจะไม่เหมาะกับการลงทุนประเภทนี้
ทำให้การเลือกลงทุนในพวกพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ของบริษัทที่น่าเชื่อถือ ซึ่งมีความผันผวนน้อยกว่า ก็เป็นสิ่งที่น่าจะเหมาะสมกว่า
- 1 ส่วนสุดท้าย หรือ 25% เก็บสำรอง ไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
ในส่วนของเงินก้อนสุดท้ายนั้น คือ 25% ของเงินเดือน เราจะเก็บสำรอง เผื่อไว้ใช้ในยามมีเหตุจำเป็น
ซึ่งเงินในส่วนนี้ บางทีเราก็ไม่อาจจะคาดเดาได้ว่า จะได้ใช้เมื่อไร แต่เพื่อเป็นความไม่ประมาท เราก็ควรมีเงินสำรองเอาไว้อยู่เสมอ
2
ซึ่งเงินในส่วน 25% สุดท้ายนี้ เราก็อาจจะเลือกนำไปฝากไว้ในบัญชีเงินฝากประจำ หรือซื้อกองทุนรวมตลาดเงิน ที่มีสภาพคล่องสูง และสามารถถอนเงินออกมาได้เร็ว เอาไว้ก็ได้
เพราะอย่างน้อย เราก็ยังมีโอกาสได้รับดอกเบี้ยกลับมา และยังช่วยป้องกันจากการเสื่อมค่าของเงิน เพราะโดนเงินเฟ้อกัดกินมูลค่าไปได้บ้าง
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็เชื่อว่าเราน่าจะพอเข้าใจกันดีขึ้นบ้างแล้วว่า โภควิภาค 4 หลักการบริหารเงินที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เป็นอย่างไร
1
ขอสรุปกันสั้น ๆ อีกครั้ง แบบนี้
- แบ่ง 25% ของเงินเดือน เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
- แบ่ง 50% ของเงินเดือน เพื่อนำไปลงทุน ให้เงินงอกเงย
- แบ่ง 25% ของเงินเดือน เพื่อเก็บสำรอง ไว้ใช้ในคราวจำเป็น
1
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนก็อาจจะมองว่า หลักโภควิภาค 4 อาจจะค่อนข้างสุดโต่งเกินไป เพราะถ้าสมมติว่าเราเงินเดือนน้อย
การแบ่งเงินไว้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อาจจะทำให้เราลำบากยากแค้นเกินไป
แต่ก็อย่างที่พระพุทธองค์มักจะตรัสไว้เสมอว่า เราต้องเดินทางสายกลาง ทำให้เราอาจจะต้องมีการปรับสัดส่วนการแบ่งเงินบ้าง
เช่น ในตอนที่เงินเดือนยังน้อยมาก ๆ อยู่ การใช้จ่ายประจำวันอาจจะอยู่ที่ 50% เพื่อให้คุณภาพชีวิตของเราไม่แย่เกินไปนัก
จากนั้นเมื่อเงินเดือนเพิ่มขึ้น ก็ค่อย ๆ เพิ่มสัดส่วนเงินออมขึ้นตาม และคงสัดส่วนการใช้จ่ายให้กับตัวเองไว้ ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อไปตามเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราควรโฟกัสจริง ๆ จากหลักโภควิภาค 4 นั้น ก็คือการมีเป้าหมายการใช้จ่ายเงินสำหรับแต่ละส่วน
เพราะถ้าหากเราไม่มีเป้าหมายสำหรับเงินแต่ละส่วนแล้ว เราก็อาจจะนำมาใช้จ่ายจนเกินตัว จนไม่มีเงินเก็บเหลือได้
1
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อมาหลังจากเรียนรู้เรื่องนี้กันไปแล้ว ก็คือการลงมือทำ และอดทนลงมือทำต่อไปเรื่อย ๆ
หากเราทำแบบนี้ได้อย่างมีวินัย และสม่ำเสมอ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เมื่อเวลาผ่านไป ความมั่งคั่งของเรา ก็คงจะเพิ่มพูนขึ้นมา ไม่น้อยเลยทีเดียว..
#วางแผนการเงิน
#หลักวางแผนการเงิน
#โภควิภาค4
References
-
https://84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=163
-Financial Life - EP 1 : รู้หรือไม่ พระพุทธเจ้า ก็สอนเรื่องลงทุน (โภควิภาค ๔) - FINNOMENA PODCAST
-POCKET IDEA EP.139 : หลักการแบ่งทรัพย์ 4 ส่วน (โภควิภาค 4)
หุ้น
การลงทุน
13 บันทึก
19
15
13
19
15
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย