29 พ.ย. เวลา 12:30 • การเมือง

“นายกฯ อิ๊งค์” มองเรื่อง MOU 44 มีการเมืองแอบแฝง-“นพดล” ขอหยุดปั่นกระแสดึงม็อบลงถนน

“แพทองธาร” บอก ยังไม่จำเป็นก่อม็อบ ประเทศต้องการรักษาความสงบสุข รับยกเลิก MOU ฝ่ายเดียวได้ แต่พูดคุยก่อนดีกว่า มองมีเรื่องการเมืองแอบแฝง ยันเกิดในแผ่นดินนี้ไม่มีทางที่จะเห็นที่ไหนดีกว่าบ้านเรา ด้าน “นพดล” ดักทาง “คอม็อบ” หยุดปั่นกระแสดึงม็อบลงถนน
วันที่ 29 พ.ย. 2567 เมื่อเวลา 12.20 น. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประกาศจัดการชุมนุมครั้งสุดท้าย สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้
เหมาะจะมีม็อบหรือไม่ ว่าเราต้องรักษาความสงบในประเทศให้ได้มากที่สุด เพราะหากเราจะไปประเทศไหนแล้วมีม็อบเราอาจไม่อยากไป ประเด็นนี้จะกระทบกับการท่องเที่ยวและประเทศอย่างแน่นอน แต่หากประชาชนมีข้อเรียกร้อง รัฐบาลเห็นว่าความคิดเห็นประชาชนสำคัญเสมอ เรามีกระบวนการรับ การจะเกิดม็อบหรืออะไรเราพูดคุยกันได้ จึงยังไม่น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็น
เมื่อถามว่า การที่นายสนธิจะยื่นหนังสือคัดค้าน MOU 44 จะไปรับด้วยตัวเองหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า คงต้องให้เป็นไปตามกระบวนการ ไม่มีพิเศษในกรณีไหน ไม่เช่นนั้นก็จะมีเคสใหม่เรื่อยๆ เมื่อถามว่าเสียงคัดค้าน MOU 44 ดังขึ้นเรื่อยๆ
นายกฯ จะมีการทบทวนหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ขณะนี้มีเรื่องเดียวที่เดินหน้าคือการตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (JTC) เพื่อเจรจาระหว่างสองประเทศ และประเด็น MOU 44 เราจะให้ข้อมูลประชาชนเรื่อยๆ การจะเดินต่อหรือไม่ขอให้ผ่านคณะกรรมการ เมื่อถามว่า MOU ประเทศไทยสามารถยกเลิกเพียงฝ่ายเดียวได้หรือไม่ เพราะเสียงที่คัดค้านบอกว่าสามารถยกเลิกได้ถ้าไทยเสียเปรียบ
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า จริงๆ แล้วสามารถยกเลิกได้ตามหลักของกฎหมาย แต่ถามว่าเราควรยกเลิกฝ่ายเดียวหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องระหว่างประเทศ คุยกันก่อนจะดีกว่า อย่างเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ตนได้คุยกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ก็ไม่มีประเทศไหนอยากขัดแย้งกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหว เพราะฉะนั้นที่เราพยายามคือหนึ่งไม่ให้คนในประเทศของเราเข้าใจผิดในเรื่องอะไรก็ตาม สองการจะตกลงในเรื่องนี้ควรเป็นการคุยกันระหว่างสองประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยก
เมื่อถามว่ารัฐบาลชี้แจงในเรื่อง MOU 44 แต่ยังคงมีคำถามเข้ามาเรื่อยๆ มองว่ามีอะไรนอกเหนือจากเรื่อง MOU 44 ซ่อนอยู่ในนั้นหรือไม่ น.ส.แพทองธาร นิ่งคิดก่อนกล่าวว่า ก็อาจจะเป็นประเด็นทางการเมืองหรือเปล่า ประเด็นทางการเมืองก็มีมากมายทุกวัน แต่เรื่องระหว่างประเทศเป็นเรื่องอ่อนไหว
คำพูดของนายกฯ หรือของ รมว.ต่างประเทศ หากสื่อสารออกไป ประเทศอื่นๆ จะรับข้อนั้นเลย เราจึงพยายามสื่อสารด้วยความระมัดระวัง และเห็นอกเห็นใจทั้งสองฝ่าย แต่พื้นที่ที่เราคุยกันมายังคงเป็นเพียงพื้นที่อ้างสิทธิ์ ยังไม่มีการเคาะอะไรทั้งสิ้น ทั้งเราและกัมพูชายังไม่มีใครเสียผลประโยชน์อะไรในตอนนี้ เราต้องคุยกันก่อน
“แน่นอนว่าดิฉันเองเป็นนายกฯ ของประเทศไทย ไม่มีทางเห็นประเทศใดสำคัญกว่าประเทศไทย ขอให้มั่นใจตรงนี้ไว้อย่างหนึ่งว่าดิฉันเกิดในแผ่นดินนี้ไม่มีทางที่จะเห็นที่ไหนดีกว่าบ้านเรา ขอให้มั่นใจในจุดนี้ และเราตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคุยด้วยเหตุผล ด้วยการตกลงระหว่างประเทศที่ดี” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่าหากรัฐบาลเดินหน้าในเรื่องนี้และเกิดความไม่สงบขึ้นนายกฯ จะดำเนินการอย่างไร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เราอย่าพึ่งไปมองตรงนั้นดีหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้ว MOU 44 มีมานานแล้ว เรื่องความแตกแยกที่ทำให้คนเข้าใจผิดมันไม่ได้มี เราต้องฟังข้อมูลที่จริงให้ครบ อย่าเอาเรื่องของกระแสหรือความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศของเรามาทำให้เป็นประเด็นที่จะกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ
อันนั้นก็จะไม่ดีไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เมื่อถามว่ากลุ่มผู้คัดค้าน MOU 44 มีการหยิบยกพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องของไหล่ทวีปขึ้นมา ประเด็นนี้จะอยู่ในการเจรจาด้วยหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ในนั้นเราได้ดูเนื้อหานี้อย่างละเอียดแล้ว อะไรที่เป็นปัญหาเราไม่ชนกับปัญหาอย่างแน่นอน เราต้องค่อยๆ ร่วมกันแก้ไข
“นพดล” ดักทาง “คอม็อบ” หยุดปั่นกระแสดึงม็อบลงถนน
ขณะที่รัฐสภา นายนพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและอดีตรมว.ต่างประเทศ แถลงถึงกรณีมีผู้เห็นต่างในเรื่องการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชาในบันทึกความเข้าใจ MOU 44 ว่า ในสังคมมีความเห็นต่างได้ แต่ควรอยู่บนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเด็นที่ดินซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ดังนั้นขอเรียกร้องถึงกลุ่มการเมืองหรือบางบุคคลที่กำลังปลุกกระแสเรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ระหว่างไทยกับกัมพูชา ว่าอาจเป็นประเด็นทำให้ไทยเสียดินแดนนั้น ขอให้ยุติการกระทำดังกล่าว เพราะเป็นการใช้ความเท็จที่สร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล รวมถึงกระทบความมั่นคงของประเทศ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปี 2551 ที่ตนถูกโจมตีและใส่ร้ายว่า เป็นผู้ที่ทำให้ไทยเสียดินแดนจากกรณีปราสาทเขาพระวิหาร
“ผมขอเรียกร้องให้ใช้กลไกของรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เพื่อเปิดประชุมรัฐสภาให้ สส.ฝ่ายรัฐบาล สส.ฝ่ายค้าน และ สว. ได้อภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อลดแรงกลุ่มที่จะลงถนน การใช้เวทีสภาเพื่อแก้ปัญหาเป็นการหาทางออกร่วมกัน
และคนจัดม็อบสามารถคุยผ่านตัวแทนในสภาฯ ได้จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ส่วนการเจรจาของผลประโยชน์ทางพลังงาน ผมยืนยันว่า ตามกรอบ MOU 44 ต้องเจรจาในประเด็นหลักเขตที่ 73 ให้แล้วเสร็จก่อน ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านั้นกัมพูชาได้ลากเส้นเองนั้น ไม่ถือว่าเป็นเส้นที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นไปตามกรอบของ MOU ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่กัมพูชาต้องเจรจาเส้นเขตแดนกับไทยตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ” นายนพดล กล่าว
โฆษณา