Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
15 เม.ย. เวลา 16:00 • ไลฟ์สไตล์
เก่งเทคฯ ไม่พอ ต้องอัปทักษะสังคมด้วย รู้ 3 ทักษะมนุษย์สำคัญปี 2025
แม้ว่าทักษะเทคโนโลยีจะยังคงเป็นที่ต้องการสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาสายอาชีพ แต่ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่นก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน แถมอาจยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก Coursera และ TalentLMS ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการคอร์สออนไลน์ฝึกอบรมพนักงาน ระบุว่า วัยทำงานสนใจพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขายังให้ความสนใจกับทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้นำ การจัดการเหตุการณ์เฉพาะหน้า และการแสดงออกอย่างมั่นใจด้วย
สิ่งนี้สะท้อนว่าทักษะเหล่านี้กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น "เทรนา มินูดรี" (Trena Minudri) หัวหน้าฝ่ายการเรียนรู้ของ Coursera บอกว่า หนึ่งในผลลัพธ์ที่น่าตื่นเต้นจากการปฏิวัติ AI และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล คือ มันทำให้เราหันมาให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์มากขึ้น หรือเน้นทักษะมนุษย์ที่ AI มาแทนไม่ได้
มินูดรี อธิบายกับ Newsweek ว่า ทักษะมนุษย์ที่สำคัญซึ่งวัยทำงานควรมี ได้แก่ ทักษะด้านความเห็นอกเห็นใจ, ความสามารถในการฟื้นตัวจากความล้มเหลว, การรับฟัง และการตระหนักรู้ในตนเอง ฯลฯ ล้วนมีความสำคัญต่อพนักงานทุกระดับ ไม่ใช่แค่สำหรับผู้บริหาร
📌 ทักษะด้านการสื่อสารและภาวะผู้นำ กำลังเป็นที่ต้องการสูง
แบบสำรวจของ TalentLMS เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 พบว่า 68% ของพนักงานในสหรัฐฯ เชื่อว่าทักษะด้านการทำงานร่วมกับผู้อื่นจะมีความสำคัญอย่างมากในปี 2025 และเมื่อตรวจสอบลำดับความสำคัญของพนักงานแต่ละช่วงวัย ก็พบว่าทักษะที่เกี่ยวข้องกับ "ความสัมพันธ์" "ภาวะผู้นำ" และ "การบริหารจัดการ" ติดอันดับ TOP 3 ของทุกเจเนอเรชัน ไม่ว่าจะเป็น Gen Z, มิลเลนเนียล (Gen Y), Gen X หรือ BabyBoomer
นิคิล อโรรา (Nikhil Arora) ซีอีโอของ Epignosis Learning Technologies (บริษัทแม่ของ TalentLMS) ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้ผู้นำองค์กรแทบทุกคนต้องมีบทบาทเป็น HR ด้วย หากผู้บริหารขาดทักษะในการบริหารคน สร้างทีม และพัฒนาบุคลากร โอกาสในการประสบความสำเร็จก็จะลดลงอย่างมาก
นอกจากนี้ คำว่า "Soft Skills" หรือทักษะที่ไม่เกี่ยวข้องกับเทคนิค กำลังถูกมองว่าไม่สะท้อนความสำคัญที่แท้จริงของทักษะเหล่านี้ หลายคนจึงเริ่มใช้คำว่า "Power Skills" หรือ "Human Skills" แทน โดยเน้นไปที่ทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม และความสามารถในการเป็นผู้นำ
รายงานของ Coursera เมื่อเดือนธันวาคม 2024 ระบุว่า 3 ใน 10 ทักษะที่เติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มผู้ใช้องค์กร เป็นทักษะด้านมนุษย์ ได้แก่
1. ความมั่นใจในตนเอง (Assertiveness)
2. การสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Communication) และ
3. การสื่อสารทางธุรกิจ (Business Communication)
เจฟฟ์ แม็กจิยอนกัลดา (Jeff Maggioncalda) อดีตซีอีโอที่เพิ่งจะเกษียณของ Coursera เคยเขียนบทความระบุว่า 84% ของผู้จัดการเชื่อว่า พนักงานใหม่ต้องมีทักษะการสื่อสารทางอาชีพ และสามารถถ่ายทอดแนวคิดของตนได้ แต่ที่น่ากังวลคือ Gen Z ยังมีช่องว่างด้านนี้ โดย 71% ของคนวัยนี้รู้สึกไม่มั่นใจที่จะพูดและแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม
📌 ทักษะด้านเทคโนโลยียังสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด
แม้ว่าทักษะทางเทคโนโลยียังคงเป็นที่ต้องการสูง โดยเฉพาะด้าน Generative AI แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่บริษัทให้ความสำคัญ
Coursera รายงานว่า อัตราการลงทะเบียนเรียนหลักสูตร GenAI เพิ่มขึ้นถึง 866% จากปี 2023 เป็น 2024 โดย ผู้เรียนกว่าครึ่งมาจากอินเดีย เม็กซิโก และโคลอมเบีย
นอกจากนี้ หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ AI เช่น Computer Vision, PyTorch และ Machine Learning ก็เติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน และติดอันดับ 10 หลักสูตรที่ได้รับความนิยมสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก TalentLMS และ Coursera ยังชี้ให้เห็นว่า ความสนใจในทักษะที่เกี่ยวข้องกับ HR กำลังเพิ่มขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสำหรับสถานที่ทำงาน การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
📌 ทักษะอะไรบ้างที่ AI ทดแทนมนุษย์ไม่ได้
ในยุคที่เทคโนโลยีสามารถเข้ามาแทนที่งานบางอย่าง พนักงานหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า "อะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีคุณค่าในที่ทำงาน?" คำตอบเรื่องนี้ก็คงหนีไม่พ้น "ทักษะที่ AI ยังทำแทนไม่ได้" ซี่งหมายถึง ความสามารถในการสื่อสาร การสร้างอิทธิพลต่อผู้อื่น หรือแม้แต่การให้ฟีดแบ็กกับหัวหน้าของตัวเอง
"ลองดูประกาศรับสมัครงานที่เกี่ยวข้องกับ AI ตอนนี้สิ คุณจะพบว่าหลายตำแหน่งต้องการทักษะด้านมนุษย์ควบคู่ไปด้วย" มินูดรี ย้ำชัด
เธอเสริมว่า ประสบการณ์จากช่วงวิกฤติ เช่น การระบาดของโควิด-19 ได้พิสูจน์แล้วว่าทักษะด้านความยืดหยุ่น การปรับตัว และการเป็นผู้นำในช่วงเวลาที่ยากลำบาก มีความสำคัญในยุคนี้มากกว่าที่เคย ทุกวันนี้ องค์กรต้องการเพิ่มผลิตภาพของพนักงาน และรักษาความผูกพันของทีม ดังนั้น ผู้บริหารและหัวหน้าทีมจำเป็นต้องใช้ทักษะด้านมนุษย์ให้มากขึ้น
📌 ปิดช่องว่างทักษะคนรุ่นใหม่ หน้าที่ขององค์กร ไม่ใช่แค่พนักงาน
ด้าน อโรรา อดีตผู้บริหาร GoDaddy และ WeWork คิดเห็นในทำนองเดียวกันว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี AI และการทำงานแบบไฮบริด กำลังสร้างความท้าทายให้กับองค์กรในอัตราที่รวดเร็ว ต่อไปทักษะความยืดหยุ่น (Resilience) ความคล่องตัว (Flexibility) และความสามารถในการปรับตัว (Agility) จะเป็น 3 คุณสมบัติสำคัญของผู้นำยุคใหม่
ถึงแม้ว่าผู้บริหารหลายคนจะมองว่า Gen Z ยังมีช่องว่างด้านการสื่อสาร แต่ มินูดรี เชื่อว่าองค์กรควรช่วยพวกเขาเติมเต็มทักษะเหล่านี้ มากกว่าที่จะตำหนิพนักงาน เธอชี้ให้เห็นว่า ช่วงที่เกิดโรคระบาด การสื่อสารแบบเผชิญหน้าเกิดขึ้นน้อยลง ทำให้คนรุ่นใหม่ขาดโอกาสฝึกฝนทักษะระหว่างบุคคล และรูปแบบการทำงานแบบกระจายตัวหลังโควิดก็ยังส่งผลต่อเรื่องนี้อยู่
ท้ายที่สุดแล้ว ทักษะด้านมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่สามารถพัฒนาได้ และองค์กรควรให้ความสำคัญกับมันพอ ๆ กับทักษะด้านเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญหลายคนข้างต้นต่างก็ย้ำว่า ทักษะที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ คือสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างในโลกทำงานแห่งอนาคต
อ้างอิง:
-
https://tinyurl.com/3wp7zuvn
2 บันทึก
6
4
2
6
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย