เมื่อวาน เวลา 01:00 • ธุรกิจ

คนไทยประหยัดสุดขีด เลี่ยงมื้อใหญ่ ‘หารเท่า’ ไม่คุ้ม ‘MAGURO’ ผุดร้าน ‘BINCHO’ จ่าย 300 บาท ได้ครบชุด

ปีนี้มาใหม่อีก 2 แบรนด์! “มากุโระ กรุ๊ป” ส่ง “Bincho” ร้านย่างถ่านแบบดั้งเดิมลงสนาม ประเดิม “เมกะบางนา” แห่งแรก เผยอินไซต์คนประหยัดมากขึ้น ไม่อยากสั่งเต็มโต๊ะแบบ “หารเท่า” ราคาต่อหัว “Bincho” ถูกสุดในเครือ อิ่มได้ใน 300 บาท จับตาสาขานอกเมืองแซงหน้าใจกลางกรุงเทพฯ “แจ้งวัฒนะ-ราชพฤกษ์-บางนา” แรงดีไม่มีตก
ปัจจุบัน “มากุโระ กรุ๊ป” ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มีร้านอาหารในเครือทั้งหมด 6 แบรนด์ 46 สาขา สำหรับ “Bincho” (บินโช) ถือเป็นแบรนด์ใหม่ล่าสุดลำดับที่ 6 ในเครือ “ป้อ-จักรกฤติ สายสมบูรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งเครือมากุโระ กรุ๊ป ให้ข้อมูลว่า “Bincho” มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่เริ่มทำมากุโระใหม่ๆ
ช่วงที่ตนเองและหุ้นส่วนอีก 3 คน เดินทางไปสำรวจวัตถุดิบดีๆ ที่ญี่ปุ่น ก็ได้ไปพบกับร้านอาหารที่อยู่ห่างไกลจากโตเกียว ใช้รูปแบบย่างถ่านโบราณในการปรุงอาหาร โดยถ่านที่ใช้มีคุณสมบัติให้ความร้อนสูงมาก ชื่อว่า “ถ่านบินโช” แปลว่า “ถ่านไม้ขาว” รูปแบบเน้นย่างปลารวมถึงเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ โดยเตาที่ใช้เป็น “เตาอิโรริ” หรือเตาถ่านแบบดั้งเดิม
1
ความพิเศษของวัตถุดิบที่ “Bincho” คือการนำเข้าปลาจากประเทศญี่ปุ่น เป็นสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในการกินแบบย่างถ่าน อาทิ “ปลากินกิ” และ “ปลาฮามาจิ” เป็นต้น ส่วนข้าวที่ใช้เสิร์ฟในเซตเลือกเป็นข้าวสายพันธุ์ “ฮิโตเมะโบเระ” ข้าวญี่ปุ่นเกรดพรีเมียมที่หาทานทั่วไปในไทยไม่ได้ หุงด้วย “หม้อคามะ” ใช้แรงดันสูงในการหุง ทำให้ข้าวนุ่มฟูและมีกลิ่นหอม
ฟังแล้วดูพรีเมียมใกล้เคียงกับจุดยืนของร้านอื่นๆ ในเครือ แต่จริงๆ แล้ว “Bincho” ตั้งใจวางตัวเองเป็นร้านที่มีราคาเริ่มต้น หรือ “Entry Price Point” เข้าถึงง่ายที่สุดเมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นในเครือมากุโระ กรุ๊ป ผู้บริหารบอกว่า ราคาต่อหัวของ “Bincho” สนนที่ 300 บาท มากหน่อยก็ไปถึง 500-600 บาท แล้วแต่ชนิดของเนื้อสัตว์ที่เลือกในเซต ตัดสินใจง่ายและเข้ามากินได้บ่อยกว่าอีกสองแบรนด์หลักอย่าง “MAGURO” และ “HITORI SHABU”
“ป้อ” ยอมรับว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจในครึ่งปีแรก เครือมากุโระ กรุ๊ป ได้รับผลกระทบแน่นอน และเชื่อว่า ไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนที่เห็นชัดที่สุดคือร้านใจกลางเมือง ศูนย์การค้าทุกแห่งก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน แต่ที่น่าสนใจคือสาขานอกเมือง อาทิ ย่านแจ้งวัฒนะ ย่านราชพฤกษ์ หรือแม้แต่โซนบางนา ไม่ได้รับกระทบแม้แต่น้อย บางส่วนยอดโตเป็นบวกด้วยซ้ำไป สรุปภาพตอนนี้ คือสาขานอกเมืองเป็นบวก สาขาในเมืองติดลบเล็กน้อย
สำหรับ “Bincho” แม้ว่าไอเดียจะเกิดขึ้นนานแล้ว แต่เพิ่งมาตกผลึกจนปั้นออกมาเป็นรูปเป็นร่างจริงๆ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา “ป้อ” บอกว่า เห็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในเรื่องกำลังซื้อหดตัว คนมากินมีงบประมาณต่อมื้อชัดเจน พยายามเลี่ยงมื้อใหญ่ที่ต้องสั่งแบบแชร์พอร์ชันเยอะๆ ยิ่งมากันครั้งละ 5-6 คน
การแชร์ริ่งยิ่งควบคุมไม่ได้ บางคนสั่งแพง บางคนไม่ค่อยสั่ง บางคนกินแอลกอฮอล์ ทำให้ยอดต่อหัว หรือ “Spending Per Head” สูงมาก คนกินก็เกิดประสบการณ์ไม่ดีกลับไป เกิดภาพที่ว่า มากินร้านนี้แล้วจ่ายหนัก อาจจะมีความทรงจำที่ดีไม่ดีในเชิงนั้น
“ไอเดียร้าน Bincho มาตั้งแต่วันแรกที่ได้สัมผัสและลองทาน อยากให้คนไทยได้ลองกิน เพราะเรารู้สึกว่า เป็นวัฒนธรรมที่ดีมากๆ ก็อยากจะเปิดทันที แต่ด้วยช่วงนั้นระหว่างปี 2560-2561 ยังไม่ได้มีแผนเปิดแบรนด์ลูก เรายังโฟกัสที่ “MAGURO” เพราะอยู่ในช่วงสร้างรากฐานให้แข็งแรงสำหรับการสเกลธุรกิจ ก็เป็นแผนที่อยู่ในกระเป๋า คิดถึงตลอด พยายามหาทางที่จะทำให้เกิดในเมืองไทย ตอนนี้ก็คิดว่า ถึงเวลาของมันแล้ว เริ่มพัฒนาอีกรอบแบบจริงๆ จังๆ ทำเรื่องของดีไซน์ประสบการณ์ ใช้เวลาเป็นปีเหมือนกันที่เรามาจัดการก่อนจะเปิดในวันนี้”
ปัจจุบันแบรนด์ “MAGURO” กินสัดส่วนรายได้กว่า 50% ของพอร์ต แต่ในอนาคต “ป้อ” บอกว่า สัดส่วนของ MAGURO จะลดลงเรื่อยๆ ไม่ได้แปลว่า ขายไม่ดี แต่เพราะแบรนด์อื่นในเครือโตได้ และบางแบรนด์มีแนวโน้มพุ่งทะยานกว่า MAGURO ด้วยซ้ำ ทำให้สัดส่วนรายได้เปลี่ยนแปลงทุกปี ซึ่งเป็นภาพที่ตนและทีมผู้บริหารตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว
โฆษณา