17 ก.ค. เวลา 13:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เมื่อระบบเศรษฐกิจพัง แต่ชีวิตต้องไปต่อ เอาตัวรอดกันยังไง?

บทเรียนจาก The Great Depression ที่สอนคนอเมริกันให้ “รอด” และ “พอ” ในวันที่โลกพังทลาย
ลองนึกภาพถนนที่เต็มไปด้วยคนเดินเตะฝุ่นสมัครงาน… กลับบ้านมีแค่กลิ่นซุปใสลอยในครัวเล็ก ๆ นั่นแหละคือชีวิตคนอเมริกันในยุค The Great Depression หลังปี 1929 เศรษฐกิจถล่ม คนตกงานเป็นล้าน โรงงานปิดเป็นแถว แม้แต่หมอและทนายยังถูกลดเงินเดือนเกินครึ่ง
แต่ต่อให้ชีวิตจะขม คนก็ยังต้องอยู่ต่อ และนี่คือสิ่งที่คนอเมริกันปรับตัว เพื่อให้ตัวเอง ครอบครัว และสังคมพออยู่ได้ ภายใต้คติประจำใจว่า
“กินให้หมด ใส่จนเปื่อย ทำให้ได้ หรืออยู่ให้ได้โดยไม่มีมัน”
(Eat it up, wear it out, make it do, or do without.)
[ สังคมเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วงวิกฤติปี 1930s 🎯 ]
🥘 1. เทรนด์ทำอาหารด้วยหม้อใบเดียว & สกิลทำสวน พุ่งกระฉูด
นิตยสารสตรีและรายการวิทยุนำเสนอเมนูอาหารที่จะช่วยให้แม่บ้านประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยอาหารง่ายๆ และใช้แค่หม้อใบเดียว ถึงขั้นมีเทรนด์อาหาร S.O.S. (Save Our Stomachs) ที่ทำได้ง่ายๆ ใช้หม้อแค่หนึ่งใบ
เช่น เมนูมักกะโรนีอบเนยแข็ง (Mac & Cheese) , มันฝรั่งบดกับหัวหอม, ขนมปังกับเศษเนื้อ ฯลฯ แม้แต่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ และเอลีนอร์ โรสเวลต์ ภรรยา ผู้นำของรัฐก็ต้องเป็นตัวอย่างด้วยการกินง่ายๆ แบบเดียวกัน
หลายครอบครัวปลูกผักสวนครัวเอง ขณะที่บางเมืองเปิด “สวนชุมชน (thrift gardens)” ให้ประชาชนมาร่วมกันปลูกพืชกินเอง เช่น thrift gardens ที่เมืองดีทรอยต์ เป็นหนึ่งในสวนที่เลี้ยงชาวเมืองได้ถึง 20,000 คน ในยุคนนั้น เราจะเห็นภาพอดีตพนักงานออฟฟิศในเสื้อเชิ้ตขาว ลงมาลงแปลงผักด้วยตัวเอง
🎲 2. สังสรรค์แบบพอดี เน้นแบ่งปันและใกล้ชิดกันในชุมชน
ในช่วงวิกฤติ ครอบครัวอเมริกันโดยเฉลี่ยมีรายได้เหลือเพื่อทำกิจกรรมสันทนาการน้อยมาก และทำให้กิจกรรมเดิมที่เป็นการไปดูหนังเป็นเรื่องที่ฟุ่มเฟือยและแพงเกินกว่าที่จะจ่ายได้ไหว โรงหนังมากกว่าหนึ่งในสามปิดตัวลงระหว่างปี 1929 - 1934
สถานที่สังสรรค์ถูกย้ายไปจัดที่โบสถ์ หรือที่เรียกว่า Potluck พื้นที่ตรงนั้น กลายเป็นกิจกรรมสังคมราคาถูกและอบอุ่น
หากไม่จำเป็นต้องออกไปไหน คนก็มักจะใช้เวลาอยู่บ้าน หรือเพื่อนบ้านรวมตัวกันเล่นไพ่ เกมกระดานเช่น Scrabble และ Monopoly (ที่ไปขโมยไอเดียจากเกม Landlord มา) กลายเป็นที่นิยม
วิทยุก็มีคนฟังมากขึ้น เพราะเป็นความบันเทิงที่ไม่ต้องเสียเงิน ภายในต้นทศวรรษ 1930 ครอบครัวชนชั้นกลางจำนวนมากมีวิทยุในบ้าน รายการตลกอย่าง Amos ‘n’ Andy ละครน้ำเน่า กีฬา และดนตรีสวิง ได้รับความนิยมเพราะมันช่วยเบี่ยงเบนความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความตกต่ำของเศรษฐกิจ
👩‍💼3. ผู้หญิงเข้าสู่แรงงานมากขึ้น
บางครอบครัวพยายามรักษาระดับรายได้ด้วยการมีผู้หารายได้เพิ่มขึ้น แม้จะมีคนตกงานมากมาย แต่จำนวนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วกลับออกมาทำงานเพิ่มขึ้น
บางคนวิจารณ์ว่าผู้หญิงไปแย่งงานจากผู้ชาย แต่ความจริงก็คือผู้หญิงเข้าไปทำงานธุรการหรืองานบริการซึ่งสังคมในยุคนั้นมองว่าเป็นงานที่ไม่เหมาะกับผู้ชาย เช่น งานเลขานุการ ครู โอเปอเรเตอร์โทรศัพท์ และพยาบาล แต่บ่อยครั้งพวกเธอได้รับค่าแรงต่ำกว่าผู้ชายในงานเดียวกัน
[ 🔥 ด้านมืดที่ต้องเล่า ]
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับตัวให้ชีวิตเรียบง่ายขึ้น ประหยัดขึ้น คนในชุมชนมีกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น แต่ปัญหาเศรษฐกิจก็ยังเป็นเรื่องที่หนักหนา สร้างรอยร้าวในครอบครัวและปัญหาสังคมได้ เช่น
1. ทำให้ครอบครัวแตกแยกและเกิดปัญหาสุขภาพจิต
ความเครียดทางการเงินส่งผลทางจิตใจ โดยเฉพาะกับผู้ชายที่อยู่ๆ ก็ไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ อัตราการฆ่าตัวตายพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 1933
ชีวิตคู่ตึงเครียดขึ้น แต่อัตราการหย่าลดลงเพราะหลายคู่ไม่มีเงินพอจะแยกทางกัน แต่การทอดทิ้งครอบครัวกลับเพิ่มขึ้น บางคนหนีครอบครัวเพราะความอายหรือท้อแท้ จนถูกเรียกว่า “การหย่าของคนจน”
ประมาณกันว่ามีคนกว่า 2 ล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้าน วัยรุ่นรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของครอบครัวและออกเดินทางหางาน บางคนแอบโดดขึ้นรถไฟหรือรถขนส่งสินค้าอย่างผิดกฎหมายเพื่อย้ายไปยังต่างเมือง ไม่ก็รวมตัวกันไปตั้งแคมป์ในกระท่อมสังกะสี “ฮูเวอร์วิลล์” (ตั้งชื่อล้อประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์)
2. อาชญากรรมถูกทำให้เป็นตำนาน
โจรคู่รักชื่อดัง บอนนี่กับไคลด์ อาละวาดปล้นธนาคารทั่วประเทศเป็นเวลา 2 ปี ในขณะเดียวกัน ลูกชายของนักบินชื่อดัง ชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก ถูกลักพาตัว เรียกค่าไถ่
ในช่วงเวลานั้น เหตุการณ์อาชญกรรมถูกนำมาตีแพร่ซ้ำๆ ทางวิทยุและพาดหัวหนังสือพิมพ์ เพื่อสร้างความรู้สึกว่าประเทศไร้กฎหมายและอาชญากรรมระบาด แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่เกินจริง แม้อาชญากรรมจะรุนแรงขึ้นในช่วงแรกของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ระหว่างปี 1934 - 1937 อัตราการฆาตกรรมและอาชญากรรมรุนแรงทั่วประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว และลดต่อเนื่องไปจนถึงทศวรรษ 1960
🔚สรุป: ไม่ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยเพราะอะไร ชีวิตคนก็ต้องเดินหน้าต่อไป สิ่งที่พยุงเราไว้ได้เสมอ คือ ความพอดี น้ำใจของกันและกัน และสกิลพึ่งพาตัวเอง
#aomMONEY #GreatDepression #การเงิน #การเงินส่วนบุคคล #เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ #การปรับตัว
โฆษณา