18 ก.ค. เวลา 07:00 • ธุรกิจ

เนสท์เล่เฮ! ศาลเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว "ตระกูลมหากิจศิริ" ร้องแก้ไขมติบอร์ด QCP

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว “ตระกูลมหากิจศิริ” ร้องแก้ไขมติบอร์ด QCP - เนสท์เล่
ความคืบหน้าข้อพิพากระหว่างตระกูลมหากิจศิริกับเนสท์เล่ หลังจากที่เนสท์เล่ได้แจ้งยุติสัญญาที่ให้สิทธิ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ในการผลิตเนสกาแฟในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งการยุติสัญญามีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายโดยคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล โดยมีผลเป็นการเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2567
ภายหลังการยุติสัญญา ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัดได้ ส่งผลให้เกิดการยื่นฟ้องต่อศาลต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 กรกฏาคม 2568 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ตระกูลมหากิจศิริขอแก้ไขข้อบังคับการลงมติในที่ประชุมกรรมการบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักส์ จำกัด(QCP)
ดังนั้น คำสั่งเพิกถอนนี้จึงทำให้บริษัท QCP กลับมาใช้ข้อบังคับฉบับเดิมของบริษัท เป็นผลให้กรรมการกลุ่มตระกูลมหากิจศิริจะสามารถผ่านมติคณะกรรมการบอร์ด QCP ได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทฝ่ายเนสท์เล่ด้วยเท่านั้น
ทั้งนี้ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ยังคงดำเนินการพิจารณาคดีที่เนสท์เล่ขอให้เลิกกิจการบริษัท QCP ต่อไป และผู้ถือหุ้นตระกูลมหากิจศิริต้องจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย และบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของบริษัท QCP เป็นรายเดือน เพื่อจัดส่งต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เพื่อเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของบริษัท QCP และผู้ถือหุ้นฝั่งเนสท์เล่
เนสท์เล่ ขอยืนยันว่าบริษัทดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาลและปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และยินดีให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับทุกภาคส่วน
1
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้เนสท์เล่ ส่งคำขอแต่งตั้งบริษัท แกรนธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ให้เข้ามาบริหารทรัพย์สินของบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) หรือกลุ่มมหากิจศิริชั่วคราว ระหว่างการพิจารณาคดีข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นสองฝ่าย
แต่ต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีคำสั่งปฏิเสธคำขอของเนสท์เล่ ในการแต่งตั้งบริษัท แกรนธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด โดยให้เหตุผลว่า บริษัทแกรนธอนตันแม้มีประสบการณ์ด้านการฟื้นฟูกิจการ แต่ไม่เคยจัดการทรัพย์สินในกรณีที่ผู้ถือหุ้นมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงเช่นนี้ และยังมีข้อกังขาเรื่องความเป็นกลาง เนื่องจากได้รับการติดต่อจากฝ่ายผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียว
ทั้งนี้ศาลเห็นว่าการแต่งตั้งผู้จัดการภายนอก ณ เวลานี้ยังไม่เหมาะสม แต่เพื่อคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นฝ่ายผู้ร้อง ศาลมีคำสั่งให้กรรมการฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสาม (เฉลิมชัย-สุวิมล–ประยุทธ มหากิจศิริ กรรมการบริษัทคิวซีพี) จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย และบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของบริษัท คิวซีพีเป็นรายเดือน
เพื่อส่งให้ศาลและเนสท์เล่ตรวจสอบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป เพื่อตรวจสอบไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทคิวซีพี และเนสท์เล่ โดยที่การพิจารณาคดีขอยกเลิกกิจการบริษัทคิวซีพีที่เนสท์เล่ยื่นฟ้องยังดำเนินต่อไป
โฆษณา