4 มิ.ย. 2021 เวลา 02:29 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
กฏ 3 ข้อที่ทำให้หลุดรอดจากคดีฆาตกรรม
จาก How to get away with Murder สู่ลุงพลแห่งบ้านกกกอก
How to get away with Murder เป็นซีรีส์แนวสืบสวนเขย่าขวัญ จากช่อง ABC มีทั้งหมด 6 ซีซั่น (สามารถรับชมได้ทาง Netflix) เป็นเรื่องราวของ " แอนนาลิส " อาจารย์สอนกฏหมายที่รับว่าความให้กับผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตรกร เธอมักจะใช้ความรู้ทางกฏหมายช่วยเหลือฆาตกรให้หลุดพ้นจากข้อกล่าวหา
4
และนี่คือเนื้อหาที่เธอสอนให้กับนักศึกษาในชั้นเรียน " ทำอย่างไรถึงจะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาว่าเป็นฆาตกร ? " ก็ตรงตามชื่อของซีรีส์เลยครับ " How to get away with Murder ? "
แอนนาลิส ได้เลือกนักเรียนกฏหมายระดับหัวกะทิมา 5 คน เพื่อช่วยเธอว่าความคดีต่างๆซึ่งแต่ละคดีก็โหดและยากมากๆที่ผู้ถูกกล่าวหาจะหลุดรอดจากคดีได้ แต่ด้วยความฉลาดของแอนนาลิสบวกกับมันสมองของนักเรียน สุดท้ายพวกเขาก็ช่วยให้คนเหล่านั้นรอดไปได้
แต่ปัญหาไม่ได้จบแค่นั้นเพราะดันมีเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย ซึ่งผู้ต้องสงสัยก็คือนักศึกษาสาวที่ชื่อ " รีเบคก้า "
1
โดยเวสซึ่งเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่ช่วยทำคดีให้กับแอนนาลิสไม่เชื่อว่ารีเบคก้าเป็นฆาตกร เขาจึงพยายามช่วยเธอจนพบว่าผู้ต้องสงสัยในคดีนี้คือ " แซม " สามีของแอนนาลิสนั่นเอง
แต่แล้วเหตุการณ์ก็พลิกผัน เมื่อยิ่งสืบคดีไปปรากฏว่าในท้ายที่สุดพวกเขากลับกลายเป็นผู้ต้องสงสัยไปซะเอง พวกเขาจึงต้องใช้ความรู้ทางกฏหมายบวกกับเทคนิคที่ได้รับจากแอนนาลิสมาช่วยให้ตนเองรอดพ้นจากข้อกล่าวหาให้ได้
นี่คือเสน่ห์ของซีรีส์เรื่องนี้ เราจะได้ลุ้นไปกับตัวละครที่พยายามใช้แง่มุมทางกฏหมายเพื่อทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากคดี บวกกับการสืบสวนข้อเท็จจริงของคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยทำให้ซีรีส์เรื่องนี้มีความสนุก ครบรส จนกลายเป็นหนึ่งในซีรีส์ระดับตำนานไปแล้ว
แอนนาลิสได้สอนหลักที่จะทำให้ฆาตกรหลุดรอดจากคดี ด้วยกฏเหล็ก 3 ข้อ เมื่อเทียบเคียงกฏสามข้อกับคดีฆาตกรรมน้องชมพู่ เราจะพบสาเหตุว่าทำไมคดีนี้จึงใช้เวลาสืบสวนนานกว่าหนึ่งปีถึงจะออกหมายจับผู้ต้องสงสัยอย่าง " ลุงพล " ได้ ซึ่งกฏเหล็กสามข้อนั้น ก็คือ
1. ทำลายความน่าเชื่อถือของพยาน ( Discredit the witness)
คดีนี้มีพยานเป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละคนให้การไม่ตรงกัน บางคนอ้างว่าเห็นลุงพลเวลานั้นเวลานี้ ใส่เสื้อสีนั้นสีนี้ จนคดีสับสนวุ่นวายไปหมด แถมคดีนี้ยังมีพระ หมอดู หมอผี และสื่อมวลชนที่ต่างก็ออกมาให้เบาะแสไปคนละทิศละทาง
ทั้งหมดนี้เป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของพยาน แถมการนำเสนอข่าวที่ทำให้ลุงพลกลายเป็นขวัญใจของคนบางส่วนในสังคมก็มีผลกับพยานในการให้ปากคำ บางคนก็โดนกระแสแฟนคลับลุงพลกดดันจนทำให้ข้อมูลที่บอกกับตำรวจผิดเพี้ยนไป
2. หาผู้ต้องสงสัยคนใหม่ ( Find a new suspect )
1
ผู้ต้องสงสัยในคดีผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จากสื่อมวลชนที่ประโคมข่าว จากนักสืบโซเชี่ยลที่ตั้งข้อสงสัย ทำให้คดีนี้มีผู้ต้องสงสัยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พ่อ-แม่ น้องชมพู่ , น้าแตน (น้าของชมพู่) , ลุงพล , ชายลึกลับที่มีพยานอ้างว่าเข้ามาในหมู่บ้านในวันที่ชมพู่หายไป รวมไปถึงคนในหมู่บ้าน ( นายเต้ย ,นายแต , นายริน , นายเฉลิม ฯลฯ)
1
การที่มีผู้ต้องสงสัยมากขนาดนี้ทำให้ทีมสืบสวนจำกัดวงในการสืบสวนลำบาก จนคดีนี้ต้องสอบพยานมากมายหลายร้อยปาก วุ่นวายกันไปใหญ่ โชคดีที่ตำรวจได้เบาะแสจากคนรอบตัวน้องชมพู่ที่ว่า น้องจะให้อุ้มเฉพาะคนรู้จักที่สนิทเท่านั้น การสืบสวนจึงตีวงผู้ต้องสงสัยให้แคบลงมา แต่กว่าจะได้ก็สืบกันจนเหนื่อยทีเดียว
3. ฝังหลักฐาน ( Bury the evidence )
แอนนาลิสขยายความข้อนี้ว่า เราต้องเริ่มจากการโยนข้อมูลมหาศาลใส่ลูกขุน ทำให้คดีสับสน ยุ่งเหยิงไปด้วยข้อมูลและความสงสัย
ตรงนี้ผมคงไม่ต้องสาธยาย เพราะคดีนี้สื่อเล่นข่าวจนมีข้อมูลมากมาย หลากหลายสมมติฐานเหลือเกิน แถมตอนตามหาน้องชมพู่ก็มีคนร่วมค้นหาจำนวนมาก ในมุมนึงก็ทำให้หลักฐานต่างๆถูกอำพรางและเคลื่อนย้ายจากที่เกิดเหตุได้ง่าย
สุดท้ายตำรวจก็รวบรวมหลักฐาน ประกอบกับข้อมูลหลากหลายทาง ทั้งนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งข้อมูลที่ได้จากเครื่องจับเท็จ(ใช้ประกอบการพิจารณาแต่เป็นหลักฐานในศาลไม่ได้) จนนำมาสู่การออกหมายจับลุงพลในวันที่ 2 มิถุนายน 2564
บทสรุปของคดีนี้ยังไม่จบ ต้องต่อสู้กันต่อในชั้นศาล ผมหวังว่ากระบวนการต่างๆจะทวงคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียหายและนำคนผิดมาลงโทษให้สาสมกับความผิดของเขา
มีประโยคหนึ่งในซีรีส์ที่สะท้อนเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมที่อาจถูกบิดเบือนได้ในชั้นศาล ประโยคนั้นกล่าวว่า
“There’s no truth in the courtroom. There’s just your version of what happened versus theirs. That’s how the justice system works. It’s not what’s right and what’s fair.
It’s who tells the most convincing story.”
2
“ไม่มีความจริงในชั้นศาลหรอก มีแต่เพียงคำกล่าวอ้างของฝ่ายเราและอีกฝ่ายเท่านั้น นี่แหละ คือ กระบวนการยุติธรรม ไม่มีหรอก สิ่งที่ถูก หรือ สิ่งที่แฟร์ มันเกี่ยวกับว่าใครสามารถพูดให้เชื่อได้มากกว่ากันต่างหาก ”
4
อย่าให้ประโยคนี้เป็นจริงเลยครับ
โฆษณา