16 ส.ค. 2021 เวลา 13:37 • การศึกษา
มีคนเข้ามาถามว่าคำนี้ (طالبان) สรุปเขียนแบบไหน “ตาลิบาน, ตาลีบาน, ตอลิบาน, ตอลีบาน” ในแต่ละสำนักข่าวสะกดไม่เหมือนกันเลย
แอดมินเข้าใจว่า ทุกสำนักข่าวทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษอีกทีหนึ่ง จึงอาจจะไม่ได้เสียงที่ตรงกับภาษาต้นฉบับมากนัก ถ้าเอาตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสภา ควรสะกดว่า “ฏอลิบาน” มาจาก طالبان
ตัวอักษร “ط” ฏออ์ (tฺā) ในตำแหน่งพยัญชนะต้นเป็น “ฏ ปฏัก” เช่น طلاق = เฏาะลาก และในตำแหน่งพยัญชนะท้ายเป็น “ฏ ปฏัก” เช่น نشاط = นะชาฏ
พยางค์แรก คือ “طا” เป็น อักษร “ط” ฏออ์ (tฺā) + สระฟัตฮะฮ์ (เสียงอ้า) แทนด้วยสระอะ + อักษร “ا” อลิฟ (alif) เป็นตัวสะกด ทำให้เปลี่ยนเสียงจาก อ้า (อะ) เป็นเสียง อา ว่า ฏอ (طا) ใช้ ฏ ปฏัก
อักษร “ط” ฏออ์ (tฺā) พื้นเสียงเป็นเสียง ออ ไม่ใช่ เสียง อา เหมือนตัวอักษรอื่น ๆ ต้องใช้สระออ ไม่ใช่สระอา (พื้นเสียง ออ มี “خ” คออ์ (khā), “ر” รออ์ (rā), “ص” ศ้อด (sฺād), “ض” ฎ้อด (dฺād), “ط” ฏออ์ (tฺā), “ظ” ซออ์ (zā), “غ” ฆอยน์, เฆน (ghayn), “ق” ก๊อฟ (qāf))
พยางค์ที่ ๒ คือ “ل” เป็นตัวอักษรลาม (lām) + สระกัสเราะฮ์ (อี้) แทนด้วยสระอิ ไม่มีตัวสะกดทำให้อ่านว่า ลี้ แต่เมื่อทับศัพท์ใช้สระอิ เป็น ลิ ใช้สระ อิ (และไม่มีตัวอักษร “ي” ยาอ์ (yā) ตามหลังเป็นตัวสะกด (ถ้ามีจะทำให้คำนั้นอ่านยาว) เป็น อี)
และพยางค์ที่ ๓ คือ “بان” เป็นตัวอักษร “ب” บาอ์ (bā) + สระฟัตฮะฮ์ (เสียงอ้า) แทนด้วยสระอะ + อักษร “ا” อลิฟ (alif) + อักษร “ن” นูน (nūn) ทำให้เปลี่ยนเป็นเสียง อา ว่า บา จากนั้นมี อักษร “ن” มาเป็นตัวสะกดอีกตัว ทำให้อ่านว่า บาน
เพิ่มเติม สระเสียงสั้น คือ ฟัตฮะฮ์ (เสียงอ้า) แทนด้วยสระอะ กัสเราะฮ์ (อี้) แทนด้วยสระอิ ดอมมะฮ์ (อู้) แทนด้วยสระอุ แล้วการที่ตะเปลี่ยนเป็นสระเสียงยาวทั้ง ๓ สระต้องประกอบด้วยอักษรดังนี้
ฟัตฮะฮ์ + อักษร “ا” อลิฟ (alif) จะมีเสียงยาวว่า อา
กัสเราะฮ์ + อักษร “ي” ยาอ์ (yā) จะมีเสียงยาวว่า อี
ดอมมะฮ์ + อักษร “و” วาว (wāw) จะมีเสียงยาวว่า อู
ดังนั้น ตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสภา ควรสะกดว่า ฏอลิบาน (طالبان)
แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ภาษา เพราะภาษาคือการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็น “ตาลิบาน, ตาลีบาน, ตอลิบาน, ตอลีบาน” ถ้าสื่อสารเข้าใจว่าคือใคร กลุ่มไหน ก็น่าจะพอแล้ว ไม่ต้องไปขนาดว่า ต้องสะกดให้ถูกตามหลักของราชบัณฑิตยสภาเป๊ะ ๆ นะ
---------------------
ขอเพิ่มเติมอีกเรื่อง มีคนสังเกตว่า เราจะไม่ค่อยเห็นอักษร ญ จญ์ ษ ศ ฆ ฎ ฏ ฆ ฮ์ ห์ ในคำทับศัพท์ในภาษาอื่นเลยนอกจาก “ภาษาอาหรับ ”
โดยหลักทั่วไปของการทับศัพท์จะเป็นการ “ถอดรูป” มากกว่าการ “ถอดเสียง” หลาย ๆ คำจึงใช้เป็นคำอ่านที่ถูกต้องไม่ได้แบบเป๊ะ
เสียงในภาษาอาหรับมีเสียงที่แตกต่างกันเยอะมาก อักษรหลาย ๆ ตัวในภาษาอาหรับแม้จะออกเสียงต่างกัน แต่เมื่อถอดเสียงออกมาจะได้แค่ภาษาไทยตัวเดียว เช่น ث (ษาอ์) ذ (ษาล) ز (ซัย) س (ซีน) ص (ศ้อด) ظ (ซออ์) ถอดเสียงออกมาจะจะเป็นเสียง ซ ในภาษาไทยทั้งหมด
ปัญหาก็คือ ถ้าหลาย ๆ ตัวอักษรในภาษาอาหรับใช้อักษรไทยแค่ตัวเดียว เราก็จะไม่รู้ศัพท์ต้นทางเลยว่า เป็นตัวอักษรใดในภาษาอาหรับ เพราะหลักของการทับศัพท์ จะต้องสามารถแปลงคำในภาษาไทยกลับไปเป็นภาษาอาหรับได้
ในเมื่อภาษาอาหรับมีเสียงเยอะมาก และในภาษาไทยก็มีตัวอักษรเยอะเช่นเดียวกัน ราชบัณฑิตยสภาจึงนำตัวอักษรภาษาไทยที่ไม่ค่อยได้ใช้ในการทับศัพท์ นำมาใช้ทับศัพท์ในภาษาอาหรับ เราจึงเห็นอักษรแปลก ๆ ที่ไม่ค่อยได้ใช้ในการทับศัพท์ เช่น ญ จญ์ ษ ศ ฆ ฎ ฏ ฆ ฮ์ ห์
ตัวที่แอดมินคิดว่าแปลกตาก็น่าจะมี
ตัว “ج” (ญีม)
ในตำแหน่งพยัญชนะต้นเป็น “ญ หญิง”
เช่น جهاد = ญิฮาด
ในตำแหน่งพยัญชนะท้ายเป็น “จญ์”
เช่น حج = ฮัจญ์
ตัว “ذ” (ษาล)
ในตำแหน่งพยัญชนะต้นเป็น “ษ ฤๅษี”
เช่น ذهب = ษะฮับ
ในตำแหน่งพยัญชนะท้ายเป็น “ษ ฤๅษี”
เช่น رذاذ = เราะษาษ
ตัว “ص” (ศ้อด)
ในตำแหน่งพยัญชนะต้นเป็น “ศ ศาลา”
เช่น صلاة = เศาะลาฮ์
ในตำแหน่งพยัญชนะท้ายเป็น “ศ ศาลา”
เช่น ‎مصباح = มิศบาห์
ตัว “ض” (ฎ๊อด)
ในตำแหน่งพยัญชนะต้นเป็น “ฎ ชฎา”
เช่น ضلال = เฎาะลาล
ในตำแหน่งพยัญชนะท้ายเป็น “ฎ ชฎา”
เช่น اضحى = อัฎฮา
ตัว “ط” (ฏออ์)
ในตำแหน่งพยัญชนะต้นเป็น “ฏ ปฏัก”
เช่น طلاق = เฏาะลาก
ในตำแหน่งพยัญชนะท้ายเป็น “ฏ ปฏัก”
เช่น نشاط = นะชาฏ
ตัว “غ” (ฆอยน์, เฆน)
ในตำแหน่งพยัญชนะต้นเป็น “ฆ ระฆัง”
เช่น غلام = ฆุลาม
ในตำแหน่งพยัญชนะท้ายเป็น “ฆ ระฆัง”
เช่น مغرب = มัฆริบ
ดูข้อดูเพิ่มเติม ราชกิจจานุเบกษา เรื่อง หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอาหรับ (ลิงก์ :
สามารถติดตาม คําไทย ได้ผ่านช่องทางดังนี้
Facebook : คำไทย (คําไทย)
Twitter : @kumthai_ (twitter.com/kumthai_)
Blockdit : คำไทย (blockdit.com/kumthail.th)
โฆษณา