4 ก.ย. 2021 เวลา 11:37 • การศึกษา
“ปิ้ง” และ “ย่าง” ต่างกันอย่างไร ?
2
หนึ่งในคำถามยอดฮิตเลยก็ว่าได้ สำหรับคำถาม เรื่อง “ปิ้ง” และ “ย่าง” ว่าต่างกันไหม เหมือนกันหรือเปล่า ใช้แทนกันได้ไหม ถ้าใช้อีกแบบจะผิดไหม ฯลฯ
2
เมื่อเราเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๕๔ คำว่า “ปิ้ง” คำกริยาแปลว่า “ทำให้สุกด้วยการวางไว้เหนือไฟ มักใช้แก่ของแห้ง โดยปรกติใช้เวลาน้อยกว่าย่าง เช่น ปิ้งข้าวเกรียบ ปิ้งเนื้อเค็ม ปิ้งปลาแห้ง.” ส่วนคำว่า “ย่าง” คำกริยาแปลว่า “ทำให้สุกด้วยการวางไว้เหนือไฟ เพื่อให้สุกระอุทั่วกัน หรือให้แห้ง มักใช้แก่ของสด โดยปรกติใช้เวลานานกว่าปิ้ง เช่น ย่างไก่ ย่างหมู.”
14
จะเห็นได้ว่าทั้ง ๒ คำมีความหมายเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ “ทำให้สุกด้วยการวางไว้เหนือไฟ” แต่ที่จะทำให้แตกต่าง คือ ของที่ใช้ “ปิ้ง” มักใช้กับ ของแห้ง และ “ย่าง” มักใช้กับ ของสด (เพื่อให้สุกระอุทั่วกัน หรือให้แห้ง)
9
“ปิ้ง” มักใช้กับอาหารแห้งหรือสิ่งที่กินได้อยู่แล้ว เช่น กล้วย ไข่ ลูกชิ้น ข้าวเหนียว ส่ิงเหล่านี้คือการปิ้ง เรามักได้ยินคำว่า กล้วยปิ้ง ไข่ปิ้ง ลูกชิ้นปิ้ง ข้าวเหนียวปิ้ง แต่ไม่ชินหูกับคำว่ากล้วยย่าง ไข่ย่าง ลูกชิ้นย่าง ข้าวเหนียวย่าง
14
แต่สำหรับ “ย่าง” เรามักใช้กับอาหารที่สด รับประทานแบบดิบ ๆ ไม่ได้ และนั่นทำให้ต้องใช้เวลานานในการทำให้สุกถึงเนื้อใน จนบางครั้งก็มีการไหม้เกรียมเกิดขึ้นได้ อย่างเช่น เนื้อย่าง หมูย่าง ไก่ย่าง กุ้งย่าง
9
แล้วมันจำเป็นต้องจับคู่ (ปิ้ง = ของแห้ง, ย่าง = ของสด) แบบนั้นตลอดหรือเปล่า เรามาดูคำว่า “มัก” ที่ปรากฏในพจนานุกรมกัน คำนี้แปลว่า “โดยมาก, ค่อนข้าง, เนือง ๆ” นั่นแสดงว่า ความหมายในพจนานุกรมค่อนข้างจะมีความยืดหยุ่นพอสมควร เมื่อนำไปใช้งานจริง โดยมากอาจจะใช้แบบนั้น แต่ก็สามารถใช้อีกคำหรืออีกแบบได้เช่นกัน
1
อย่างเช่นของสดที่ควรจะใช้กับคำว่า “ย่าง” ตามความหมายในพจนานุกรม ไม่ว่าจะเป็นไก่หรือหมู แต่ในชีวิตจริงเราจะเจอทั้ง ไก่ปิ้งหรือไก่ย่าง หมูปิ้งหรือหมูย่าง ฯลฯ
3
ดังนั้น ให้เข้าใจว่า ถ้าเป็นคำว่า “ปิ้ง” ควรใช้กับของแห้ง คำว่า “ย่าง” ควรใช้กับของสด แต่สามารถใช้แทนกันสลับกันได้บ้างในบางกรณี ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดแต่อย่างใด
สามารถติดตาม คําไทย ได้ผ่านช่องทางดังนี้
Facebook : คำไทย (facebook.com/kumthai.th)
Twitter : @kumthai_ (twitter.com/kumthai_)
Blockdit : คำไทย (blockdit.com/kumthail.th)
โฆษณา