5 ก.ย. 2021 เวลา 04:50 • การศึกษา
การเขียนแบบโบราณ
พอดีมีคนมาถามว่า “...ทำไมป้ายตรงสะพานพุทธฯ เขียนแบบนี้ แล้วถูกหรือไม่...” ขอตอบว่า “...ถูกต้องแล้วจ้า...” เพราะในอดีตเราเขียนแบบนั้นจริง ๆ ซึ่งปัจจุบันไม่นิยมเขียนแล้ว ถ้าสนใจเข้าไปดูได้ที่เพจ อักษราร้อยวลีลิขิต เพราะเพจนี้ยังคงการเขียนแบบโบราณอยู่
ขอพูดเรื่อง “การพินทุ์อิ (ได้แก่ สระ อิ อี อึ อื)” เข้ากับพยัญชนะ แบ่งเป็น ๓ แบบ คือ
๑. กลุ่มพยัญชนะปรกติ ได้แก่ ก ค ฅ ง จ ฉ ช ซ ฎ ฏ ฑ ด ต ถ ท ธ ภ ร ล ว ศ ส ห อ ฮ เหล่านี้ให้เขียนพินทุ์อิ (สระ อิ อี อึ อื) ด้านบนตัวอักษรปรกติ
๒. กลุ่มพยัญชนะที่หางลากขึ้น โดย “ไม่เกิน” เส้นบรรทัด ได้แก่ ข ฅ ฆ ฌ ญ ฒ ณ น บ ผ พ ม ย ษ เหล่านี้ให้เขียนพินทุ์อิ (สระ อิ อี อึ อื) โดยลากต่อจากหางขึ้นไป
๓. กลุ่มพยัญชนะที่หางลากขึ้น โดย “เกิน” เส้นบรรทัด ได้แก่ ฐ ป ฝ ฟ ฬ เหล่านี้ให้เขียนพินทุ์อิ (สระ อิ อี อึ อื) โดยลากต่อจากหางขึ้นไปก่อน แล้วจึงใส่หางในรูปเครื่องหมาย “ทัณฑฆาต” ดังเช่นคำในรูป ปี และ เปิด จะเปลี่ยนรูปจาก “หาง” เป็น “ทัณฑฆาต”
แล้วการเขียน “สระอี” สมัยก่อน เส้นฝนทอง (เส้นตั้งสั้น ๆ คล้ายไม้เอก) ไว้กลาง ด้านบน ปัจจุบันเส้นฝนทอง ไม่ได้อยู่ตรงกลาง แต่อยู่ขวาสุดของสระ
ป.ล. ยังมีอีกหลายเรื่องเช่น การเขียน “ลากข้าง (สระอา)” ต่อจากพยัญชนะต้องเขียนอย่างไร โอกาสหน้าจะมานำเสนอ
สามารถติดตาม คําไทย ได้ผ่านช่องทางดังนี้
Facebook : คำไทย (facebook.com/kumthai.th)
Twitter : @kumthai_ (twitter.com/kumthai_)
Blockdit : คำไทย (blockdit.com/kumthail.th)
โฆษณา